คมนาคมสั่งบขส.ศึกษาย้าย 'หมอชิตใหม่' ไปใช้พื้นที่ 'หมอชิตเก่า'

คิดอย่างไรกับข่าวนี้กันบ้างครับ


คมนาคม สั่งบขส.ศึกษาแนวทางย้ายขนส่งหมอชิตใหม่ ไปหมอชิตเก่า ใช้รับส่งผู้โดยสารเท่านั้น และอาจสร้างทางพิเศษเชื่อมโทลล์เวย์ แก้ปัญหาจราจร ขณะที่ย้ายขนส่งเอกมัย เล็ง 2 ทำเล ย่านบางนา-สรรพาวุธ คาดใช้เวลา 2 ด.ก่อนเสนอ "ประจิน"...

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือ หมอชิตใหม่ ว่า ขณะนี้ทางกระทรวงคมนาคมได้เสนอแนวทางให้ บขส.มาศึกษาเพิ่มเติม ถึงความเป็นไปได้ในการกลับมาใช้พื้นที่สถานีขนส่งหมอชิตเดิม ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์ซ่อมและโรงจอดรถไฟฟ้าบีทีเอส จตุจักร โดยถือเป็นพื้นที่อีกหนึ่งทางเลือก หลังจากก่อนหน้านี้ได้ศึกษาไว้แล้วในการย้าย ไปย่านเมืองทองธานี ดอนเมือง และรังสิต

ส่วนเหตุผลที่ให้ศึกษาเพิ่มเติมในการย้ายไปหมอชิตเก่า เพราะเห็นว่าหมอชิตเก่ามีทำเลสะดวกเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งอื่นๆ ซึ่งเป็นแนวคิดเดิมในการย้ายกลับไปที่เดิม อย่างไรก็ตาม หากจะย้ายสถานีกลับมาใช้ที่หมอชิตเก่า คงเป็นแค่สถานีรับส่งผู้โดยสารเท่านั้นไม่ใช่เป็นอู่จอด เพราะมีพื้นที่ขนาดเล็กไม่กี่แสนตารางเมตร โดยรถบัสอาจต้องไปหาจอดที่อื่นแทน ขณะเดียวกันจะต้องดูว่าทำให้เกิดปัญหาจราจรตามมาหรือไม่ หรืออาจใช้วิธีสร้างทางพิเศษเชื่อมโยงกับทางด่วนโทลล์เวย์เพื่อแก้ปัญหา

นอกจากนี้ บขส.กำลังศึกษาการย้ายสถานีขนส่งเอกมัยแห่งใหม่ โดยเบื้องต้นมีทำเลที่สนใจในย่านบางนา และสรรพาวุธ ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่เหมาะสมประมาณไม่ต่ำกว่า 20 ไร่ คาดใช้เวลา 2 เดือน โดยประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด รวมถึงนำไปหารือกับพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ.ในฐานะรมว.คมนาคม คนใหม่ ก่อนจะประกาศให้เอกชนเสนอพื้นที่เข้ามาได้ ส่วนจะเป็นการซื้อพื้นที่เข้ามาดำเนินการเองหรือร่วมลงทุน คงต้องศึกษารายละเอียดให้ชัดเจน ขณะที่ที่ดินสถานีขนส่งเอกมัยปัจจุบัน จะพิจารณาว่าจะนำมาพัฒนาในรูปแบบใดให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่คงไม่เหมาะที่จะพัฒนาเป็นสถานีขนส่งอีกต่อไป

สำหรับแนวโน้มการดำเนินงาน บขส.ปีงบประมาณ 57 คาดจะมีกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 300-400 ล้านบาท แม้ช่วงครึ่งปีแรกได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง แต่ครึ่งปีหลังมีประชาชนใช้บริการเพิ่มขึ้น โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากการเดินรถในประเทศ การให้บริการขนส่งสินค้า รวมถึงการเดินรถระหว่างประเทศ สำหรับการให้บริการขนส่งสินค้าปัจจุบันมีรถ 8 คัน ทำรายได้ปีละ 100 ล้านบาท และหลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี 58 น่าจะมีการใช้บริการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น จึงจะมีการเพิ่มรถขนส่งสินค้าอีก 20 คัน  

ส่วนการให้บริการเดินรถระหว่างประเทศ ขณะนี้มี 14 เส้นทาง เป็นเส้นทางที่ไปประเทศลาว 12 เส้นทาง และกัมพูชา 2 เส้นทาง โดยการเดินรถถือว่าประสบความสำเร็จดี มีผู้โดยสารใช้บริการ 70-80% โดยเส้นทางที่มีผู้โดยสารใช้บริการมากที่สุด คือ มุกดาหาร-แขวงสะหวันเขต มีผู้โดยสารขึ้นเกิน 100% และรวมทุกเส้นทางสร้างรายได้ถึง 70 ล้านบาทต่อปี มีกำไร 7 ล้านบาท และหลังจากนี้จะศึกษาเส้นทางใหม่ไปลาวเพิ่มเติมอีกด้วย.

http://www.thairath.co.th/content/448028

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่