รีไซเคิลโทรศัพท์มือถือ ร่วมปลูกป่า กับ “โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก”

กระทู้ข่าว


โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2555 มีการคาดการณ์ว่า ประเทศไทยมีปริมาณการจำหน่ายโทรศัพท์มือถือสูงถึง 15 ล้านเครื่อง แต่สิ่งที่ผู้บริโภคมักจะไม่ได้ตระหนักถึง คือ เมื่อโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริมหมดอายุการใช้งานหรือไม่เป็นที่ต้องการแล้ว เราจะจัดการกับขยะชนิดนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” (Electronic waste: E-waste) อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจและคาดการณ์ของกรมควบคุมมลพิษ คาดว่า ภายในปีพ.ศ. 2559 ประเทศไทยจะมีขยะมือถือกว่า 11 ล้านเครื่อง ซึ่งหากขยะเหล่านี้ถูกนำไปกำจัดอย่างไม่ถูกต้องก็จะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากชิ้นส่วนและอุปกรณ์ของโทรศัพท์มือถือเหล่านี้ ประกอบด้วยสารอันตรายและโลหะหนักหลายชนิด อาทิ ตะกั่ว แคดเมียม สารทนไฟจากโบรมีน ลิเทียม ซึ่งหากทิ้งปะปนไปกับขยะมูลฝอยหรือไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมแล้ว สารอันตรายอาจรั่วไหลลงสู่แหล่งนํ้าและดินก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบนิเวศและต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนได้

นอกจากการกำจัดที่อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว การเก็บโทรศัพท์มือถือเก่าหรือที่ไม่ใช้แล้วไว้ยังเป็นการสูญเสียโอกาสในการนำทรัพยากรมีค่ากลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกของโนเกีย พบว่า โทรศัพท์มือถือเก่ากว่า 44% จะถูกเก็บอยู่ในลิ้นชัก ไม่ได้มีการส่งคืนให้โรงงานเพื่อนำไปรีไซเคิล เช่นเดียวกับผลการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศไทยโดยกรมควบคุมมลพิษซึ่งพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่กว่า 69% ยังคงเก็บโทรศัพท์มือถือเก่าไว้ที่บ้านซึ่งเป็นการสูญเสียโอกาสในการรีไซเคิล ทั้งนี้ ส่วนประกอบของโทรศัพท์มือถือโดยทั่วไป ประกอบด้วย พลาสติก 45% ทองแดง 20% เซรามิกส์ 10% โลหะอื่นๆ เช่น อลูมิเนียมและทอง 20% วัตถุดิบที่ไม่ใช่โลหะ 5% พลาสติก โลหะ และเซรามิกส์ส่วนใหญ่เป็นส่วนประกอบที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ทั้งหมด ในขณะที่แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือสามารถนำมาสกัดแยกโลหะจำพวกนิกเกิล โคบอลต์ รวมทั้งสารประกอบลิเทียมซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ อีกทั้งการนำโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่องมารีไซเคิลยังสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 12.3 กิโลกรัม เนื่องจากกระบวนการรีไซเคิลใช้พลังงานน้อยกว่าการถลุงแร่หรือโลหะ เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตโทรศัพท์เครื่องใหม่



ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกจากขยะทั่วไปและการรีไซเคิลอย่าง ถูกวิธี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ร่วมกับบริษัท โนเกีย จำกัด ดำเนินโครงการ “จุฬาฯ รักษ์โลก” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 โดยมอบหมายให้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) เป็นผู้ดำเนินโครงการ โดยผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สามารถเก็บรวบรวมโทรศัพท์มือถือที่ไม่ใช้แล้วเพื่อนำไป รีไซเคิลอย่างถูกวิธี จำนวน 8,297 เครื่องและอุปกรณ์เสริมต่างๆ อีกกว่า 12,466 ชิ้น โดยได้รับความร่วมมือจากนักเรียน นิสิต ประชาชนทั่วไป หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งนี้ ในการดำเนินงานปีที่ 2 และ 3 นั้น โทรศัพท์มือถือที่เก็บรวบรวมได้ทุกๆ 1 เครื่อง บริษัท โนเกีย จำกัดได้มอบเงิน 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ สมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนาเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องมีการรณรงค์และให้ความรู้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ศสอ. จึงได้ดำเนินโครงการจุฬาฯ รักษ์โลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยมีแผนที่จะขยายขอบเขตการดำเนินกิจกรรมรณรงค์ไปยังโรงเรียน มหาวิทยาลัย ชุมชน ตลอดจนองค์กรและอาคารสำนักงานต่างๆ มากยิ่งขึ้น โดยการรณรงค์ในปีนี้ (1 พฤศจิกายน 2556 – 31 ตุลาคม 2557) ผู้ที่มีส่วนร่วมในการนำโทรศัพท์มือถือมา รีไซเคิลจะมีโอกาสร่วมฟื้นฟูป่าชายเลนด้วย โดยโทรศัพท์มือถือเก่าทุก 1 เครื่องที่โครงการฯ ได้รับ บริษัท โนเกีย จำกัด จะมอบเงินจำนวน 1 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 31 บาท) ให้กับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประเทศไทย (World Wide Fund for Nature-Thailand: WWF Thailand) เพื่อสนับสนุนโครงการฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่ ชุ่มนํ้า อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มนํ้า ในอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มนํ้า (Ramsar Convention) 1 ใน 12 แห่งของประเทศไทย

นอกจากกิจกรรมการรับคืนโทรศัพท์มือถือเก่า (ทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ) ในปีนี้ โครงการจะจัดให้มีการแข่งขันพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือเพื่อสังคมที่ยั่งยืน (Application Contest for Sustainable Society) เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสังคม สุขภาพหรือสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
นางสาวสุธาทิพย์ จิตต์วิวัต ผู้ประสานงานโครงการจุฬาฯ รักษ์โลก อีเมล ultrapandaz@gmail.com
โทรศัพท์ 0 2218 3959 www.facebook.com/ChulaLovestheEarth, www.hsm.chula.ac.th
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่