20 สาขาวิชาสุดแปลก สอนจริง...เรียนจริง ปริญญามิกกี้เม้าส์!!!

หลายคนอาจยังไม่เคยได้ยิน และยังคงสงสัยว่า “ปริญญามิกี้เมาส์” หมายถึงอะไร? วันนี้ Life on campus จะมาบอกเล่าท้าวความให้ฟังกันก่อนเกี่ยวกับปริญญามิกกี้เมาส์ ชื่อน่ารักแต่เอ๊ะมันคืออะไร? “Micky Mouse” เป็นสัญลักษณ์ในการกล่าวคำเสียดสี และถูกนำมาใช้เปรียบเปรยเรื่องการศึกษาในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 โดยนิตยสารแทบลอยด์ในอังกฤษ กล่าวถึง มหาวิทยาลัยที่มีชื่อหลักสูตรในระดับปริญญาแปลกๆ โดยเรียกว่าเป็นปริญญามิกกี้เมาส์ "Mickey Mouse degrees" ซึ่งมีการเรียนจริง สอนจริงในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก ไม่เท่านั้นบางวิชายังเปิดสอนในมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ อีกด้วย เอาเป็นว่าเกริ่นกันมาพอสมควรแล้ว อยากรู้แล้วใช่ไหมว่า "สาขาวิชาแปลกๆ" ที่ว่ามานี้มีวิชาอะไรกันบ้าง เผื่อใครสนใจอยากจะไปลงทะเบียนเรียนดูบ้างไม่ว่ากัน.

1. สาขาวิชาอวัยวะเพศศึกษา (The Phallus)

หลักสูตรวิชานี้เป็นของวิทยาลัย “Occidental College” ของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นหลักสูตรที่เจาะลึกเกี่ยวกับลึงค์และอวัยวะเพศ, ความหมายของลึงค์, phallologocentrism, ลึงค์เลสเบี้ยน, ลึงค์ยิวลึงค์ละติน และความสัมพันธ์ของลึงค์และไสยศาสตร์ และยังรวมไปถึงการสำรวจตามแต่ละเขตปกครองในเรื่องของลึงค์ เพื่อจะนำมาซึ่งทฤษฎีที่สำคัญ และความยุติธรรมทางสังคมด้วย

2. สาขาวิชาว่าด้วยความโง่ (Stupidity)

วิทยาลัยออกซิเดนทอล (Occidental College) วิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเกิ้ล ร็อค ใกล้กับลอสแอนเจลิส ได้เปิดหลักสูตรวิชาว่าด้วยความโง่ (Stupidity) ที่มีเนื้อหาวิชาเกี่ยวกับสมติฐานเรื่องความโง่ โดยจะหาบทพิสูจน์ว่าคุณโง่จริงหรือเปล่า โง่เรื่องอะไร เรื่องอวัยวะหรือเรื่องผู้หญิง และเมื่อเรียนจนสำเร็จการศึกษาออกมาก็จะได้รู้สักทีว่าเราโง่หรือฉลาดกันแน่? หรือโง่ตอนเรียนแล้วจบออกมาฉลาด? อันนี้ก็แล้วแต่ดุลพินิจและวิจารณญาณของแต่ละบุคคลนะ

3. สาขาวิชาสังคมธุรกิจสื่อลามก (Cyberporn and Society)

หลายคนที่เคยแอบดูเว็บโป๊ในชั่วโมงเรียน โดนจับได้และโดนอาจารย์ประจานหน้าชั้นเรียน แต่ตอนนี้มันจะไม่เป็นอย่างนั้นอีกต่อไปแล้ว เพราะ The State University of New York at Buffalo ได้เปิดสอนวิชา “Cyberporn and Society” ในระดับปริญญาตรี เอาใจหนุ่มๆ โดยเฉพาะ โดยนักศึกษาสามารถสำรวจเว็บไซต์ลามกทางอินเทอร์เน็ต และตรวจสอบประเด็นของความลามกอนาจาร สิ่งที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมหนังเรตต่างๆ ในโลกไซเบอร์ และการกำหนดภาพลามกอนาจารในรูปแบบที่แตกต่างกัน เพราะอุตสาหกรรมหนังผู้ใหญ่ มีมูลค่าหลายพันล้านเหรียญต่อปี ดังนั้น ชั้นเรียนนี้จึงเป็นการสำรวจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เพื่อที่นักเรียนจะมีโอกาสต่อยอดธุรกิจในด้านหนังผู้ใหญ่ต่อไป

4. สาขาวิชาซิมป์สันและปรัชญา (The Simpsons and Philosophy)

หลักสูตร “ซิมป์สันและปรัชญา” นี้เป็นหลักสูตรแปลกผลงานของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-เบิร์คลีย์ของสหรัฐฯ ที่นำเอาเรื่องราวต่างๆ ของการ์ตูนซิตคอมยอดฮิตในสหรัฐอเมริกาอย่างครอบครัว “เดอะ ซิมพ์สัน” ที่มีเนื้อเรื่องตลกเสียดสีวิถีชีวิตชนชั้นกลางของชาวอเมริกัน โดยผ่านตัวละครในครอบครัว คือ โฮเมอร์, มาร์จ, บาร์ต, ลิซา และ แม็กกี้ มีเนื้อหาที่ถากถางมุมมองของสังคมมนุษย์วัฒนธรรมอเมริกัน และจิตวิทยาครอบครัว ซึ่งผู้เรียนจะได้พบกับแง่มุม ข้อคิด ปรัชญาการใช้ชีวิตต่างๆ จากการ์ตูนเรื่องนี้ โดยเอามาศึกษาเปรียบเทียบในเชิงปรัชญากับผลงานของปรมาจารย์อย่างเพลโตและโฮเมอร์

5. สาขาวิชาเดวิด เบ็คแฮมศึกษา (David Beckham Studies)

หลักสูตร “เดวิด เบ็คแฮมศึกษา” เปิดสอนในระดับปริญญาตรี ในปี 2002 ที่มหาวิทยาลัย “The Staffordshire University” ของประเทศอังกฤษ สำหรับนักศึกษาด้านกีฬา การแพทย์และวัฒนธรรม ซึ่งจะมีการเรียนแบบเจาะลึกในทุกเรื่องราวของนักฟุตบอลชื่อดังอย่างเดวิด เบ็คแฮม ใน 12 สัปดาห์แรก คุณจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับทรงผมต่างๆ ของเดวิด เบ็คแฮม ที่มีอิทธิพลต่อบริบททางสังคม ไปจนถึงการแต่งงานของเขากับวิคตอเรียกับบทบาทที่เปลี่ยนไป

6. สาขาวิชาวิพากษ์บียอนเซ่ (Politicizing Beyonce)
   
มหาวิทยาลัยรัทเจอร์ส (Rutgers) ในนิว เจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา ได้เพิ่มวิชาที่เกี่ยวกับนักร้องสาวผิวสีชื่อดังแห่งยุค “บียอนเซ่” ไว้ในหลักสูตรที่มีชื่อว่า “Politicizing Beyonce” หรือวิชาวิพากษ์บียอนเซ่ โดยศึกษาทั้งบทบาทศิลปิน บุคลิกลักษณะและการทำงาน เรื่องการเมือง เพศ ประเด็นทางเชื้อชาติ และคนผิวสีในสังคมอเมริกัน นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเกี่ยวกับนักร้องสาวคนอื่นๆ อย่าง เลดี้ กาก้า ซึ่งก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ได้เปิดสอนวิชาที่เกี่ยวกับแรพเปอร์หนุ่ม “เจย์-ซี” สามีของเธอในชื่อวิชา “สังคมวิทยาของฮิปฮอป: เจย์-ซี” อีกด้วย

7. สาขาวิชาเลดี้กาก้าและสังคมวิทยาความโด่งดัง (The Sociology of Fame and Lady Gaga)

เลดี้กาก้ามีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมและสังคมยุคใหม่ จนทำให้มหาวิทยาลัยเซาธ์แคโรไลนา (University of South Carolina) ของสหรัฐอเมริกา ได้เปิดสอนหลักสูตรใหม่ในสาขาวิชา "เลดี้กาก้าและสังคมวิทยาความโด่งดัง" โดยมีจุดประสงค์เพื่อเปิดเผยประเด็นทางสังคมในมุมมองความมีชื่อเสียงโด่งดังของกาก้าที่เกี่ยวข้องกับเพลง วิดีโอ แฟชั่น และความพยายามทางศิลปะของเธอ

8. สาขาวิชาแฮร์รี่ พอตเตอร์และยุคแห่งภาพลวงตา (Harry Potter and the Age of Illusion)

หลักสูตรที่คนรักแฮรี่พอตเตอร์ ไม่ควรพลาด โดยมหาวิทยาลัยเดอแฮม (University of Durham) มหาวิทยาลัยเก่าแก่ของอังกฤษที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ.1832 ได้เปิดการเรียนการสอนสาขาวิชา “แฮร์รี่ พอตเตอร์และยุคแห่งภาพลวงตา” ในระดับปริญญาตรี โดยรวมไว้ในคณะศึกษาศาสตร์ และได้กำหนดให้เป็นวิชาบังคับในการเรียนชั้นปีที่สองของคณะศึกษาศาสตร์ จิตวิทยา เมื่อปี ค.ศ. 2010 หลายคนอาจคิดว่าหลักสูตรนี้มีการเรียนเวทมนต์คาถา จบมาเป็นพ่อมดแม่มดขี่ไม้กวาดบินได้ แต่ความจริงแล้วหลักสูตรนนี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับงานของ เจ.เค.โรว์ลิ่ง ที่สะท้อนให้เห็นถึงสังคมยุคปัจจุบัน ความไม่เป็นธรรมและความเป็นพลเมืองของประเทศนั่นเอง

9. สาขาวิชาคนเหล็กศึกษา (Terminator studies)

มหาวิทยาลัยชื่อดังที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ในโลกอย่าง "มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University)" ก็ได้เปิดสอนหลักสูตรวิชาแปลกๆ กับเขาเหมือนกันอย่างหลักสูตรวิชา “คนเหล็กศึกษา” (Terminator studies) เปิดสอนอย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ.2010 สร้างความฮือฮาและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่ไม่น้อย โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งหลักสูตรนี้คือ มาร์ติน จอห์น รีส หรือท่านลอร์ด รีสแห่งลัดโลว์ วัย 70 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ระดับแถวหน้าของเมืองผู้ดี ซึ่งเคยออกมาคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่เผ่าพันธุ์มนุษย์อาจถึงคราวต้องล่มสลายหายไปจากโลกภายใน ค.ศ. 2100 จึงได้เปิดหลักสูตรให้มีการศึกษาอย่างจริงจังต่อภัยคุกคามของพวกจักรกลและคอมพิวเตอร์ ที่มีต่อมวลมนุษยชาติ

10. สาขาวิชาภาษาเอล์ฟ (Elvish, the language of “Lord of the Rings”)

ครั้งหนึ่งที่ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง “Lord of the Rings” เป็นที่โด่งดังไปทั่วโลก มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน (University of Wisconsin) จึงได้เปิดหลักสูตรการเรียนรู้ภาษาภูติ (Elvish) สำหรับคนที่สนใจบทสนทนาระหว่าง เลโกลัส และ ธรันดูอิล จากการเรียนภาษา “Sindarin” (ซินดาลีน) เป็นภาษาที่ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ศาสตราจารย์ด้านภาษาศาสตร์ได้ประดิษฐ์คิดค้นภาษาเอล์ฟขึ้นมาใช้ในนวนิยายชุดมิดเดิลเอิร์ธของเขาเอง จนสามารถใช้งานได้จริง มีไวยากรณ์ และคำศัพท์มากพอจะใช้งานในชีวิตประจำวันได้ คือ ภาษาเควนยา และภาษาซินดาริน ซึ่งในนิยายระบุว่าทั้งสองภาษาเป็นภาษาที่เอล์ฟในมิดเดิลเอิร์ธใช้งานกันเป็นภาษาหลัก อย่างในภาพยนตร์ไม่ว่าจะเป็นชื่อคน ชื่อสถานที่ต่างๆ รวมทั้งอักขระที่จารึกบนประตูทางเข้าเหมืองมอเรีย ก็ล้วนเป็นภาษาซินดารินทั้งสิ้น








ปล.บางวิชาที่ไม่น่ามี ก็มีได้น่ะ เออ...ช่างคิดน่ะคนเราเนี่ย 5555
ปล1. มีอีก 10 สาขาวิชา เดี๋ยวทยอยเอาลงน่ะค่ะ!

คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 8
มาต่อค่ะ

11. สาขาวิชาซอมบี้ศึกษา (Zombie Studies)

มหาวิทยาลัยบัลติมอร์ (University of Baltimore) สหรัฐอเมริกา เอาใจคนรักผีดิบ ด้วยการเปิดหลักสูตรวิชา “ซอมบี้ศึกษา” ในระดับปริญญาตรี เกี่ยวกับการวิเคราะห์ภาพยนตร์ผีดิบที่เป็นที่นิยม เพื่อให้นักศึกษารู้เท่าทันภัยคุกคามของพวกซากศพคืนชีพ และเตรียมรับมือวันที่ซอมบี้ออกอาละวาด หรือในวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia College) ในชิคาโก ก็มีการเปิดคอร์ส “ซอมบี้ในสื่อยอดนิยม” (Zombies in popular Media) เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ ความสำคัญและทัศนคติต่อผีดิบในภาพยนตร์สยองขวัญและแฟนตาซี ทฤษณีต่างๆ เกี่ยวกับซอมบี้ ซึ่งมาจากสื่อทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาประวัติของชาววูดูในประเทศเฮติ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของซอมบี้อีกด้วย
       
12. สาขาวิชาการเดาโดยใช้คณิตศาสตร์ (Street-Fighting Mathematics)

วิชาสุดแปลกนี้เป็นหลักสูตรที่เปิดสอนในสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT) ที่ไม่เพียงขึ้นชื่อเรื่องมาตรฐานการศึกษาในระดับโลกแล้ว MIT ยังมีสาขาวิชาแปลกๆ ที่เปิดสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้อีกมากมายด้วยเช่นกัน อย่างเช่นวิชา “Street-Fighting Mathematics” ที่สอนวิธีการเดาอย่างมีหลักการโดยใช้คณิตศาสตร์ทุกแขนงไม่ว่าจะเป็นตรีโกณมิติ ตรรกศาสตร์ ความน่าจะเป็นและอื่นๆ อีกมากมาย โดยจะให้นักศึกษาคาดคะเนผลลัพธ์ของทุกๆ อย่างเช่น จิตใจของมนุษย์ว่าคนๆ หนึ่งจะตัดสินใจอย่างไร? ไปจนถึงการใช้คณิตศาสตร์เพื่อหาตัวอาชญากรตามแบบซีรี่ย์ชุด Numb3rs

13. สาขาวิชาเดินยังไงไม่ให้เบื่อ (Art of Walking)

ศาสตร์แห่งการเดินนี้ไม่ใช่วิชาที่เรียนเพื่อพัฒนาบุคลิกหรือเดินเพื่อสุขภาพแต่อย่างใด แต่สาขาวิชานี้เริ่มต้นจาการที่สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งที่เมืองแดนวิลล์ รัฐเคนทักกี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นเมืองที่ค่อนข้างห่างไกลความเจริญหากเทียบกับเมืองอื่นๆ การจะเดินไปยังร้านขายของชำขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ห่างไกลไปหลายไมล์ อาจทำให้ใครหลายคนรู้สึกเซ็งและเบื่อหน่ายได้ ดังนั้น จึงได้เปิดหลักสูตร "สาขาวิชาเดินอย่างไรไม่ให้เบื่อ" ขึ้นมา เพื่อให้เรารู้ถึงวิธีการเดินอย่างไรไม่ให้เบื่อ เพื่อที่จะสามารถเดินเท้าเป็นระยะทางไกลๆ ได้ แทนการใช้รถยนต์ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศถือเป็นการช่วยโลกไปอีกทางหนึ่งด้วย

14. สาขาวิชาล่าท้าผี (Psychology of Exceptional Human Experiences)

เป็นหลักสูตรที่เปิดขึ้นมาสำหรับคนที่มีสัมผัสพิเศษและชอบความลี้ลับโดยเฉพาะ เปิดสอนใน Coventry University ในประเทศอังกฤษ เนื้อหาของวิชานี้จะเน้นในเรื่องของการสื่อสารกับผี โดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ในการค้นหาผี จากการวัดคลื่นความถี่ การถ่ายภาพ อัดวีดีโอเทป เข้าไปบุกตามบ้านผีสิงที่ร่ำลือ หรือตามสถานที่เฮี้ยนๆ คล้ายกับรายการคนอวดผีในบ้านเรา จากนั้นก็นำหลักฐานต่างๆ ที่ได้มาวิเคราะห์ว่าในสถานที่นั้นมีผีจริงหรือไม่?

15. สาขาวิชาการเถียงกับผู้พิพากษาจูดี้ (Arguing with Judge Judy)

ถ้าคุณพบว่าตัวเองกำลังกรีดร้องอยู่หน้าจอทีวีขณะกำลังดูรายการ “Judge Judy” เพราะไม่พอใจในคำตัดสินแล้วหละก็ ให้มาลงทะเบียนเรียนวิชา “Arguing with Judge Judy” ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลี (UC Berkeley) ได้เลย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันอาจเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะเถียงเพื่อเอาชนะผู้พิพากษาที่เปรียบเสมือนตราชั่งความยุติธรรมอันสูงสุด แต่หลักสูตรนี้จะสอนให้นักเรียนสามารถโจมตีทุกคนด้วยคำพูดสุดเจ็บได้ นอกจากนั้นยังมี “Popular 'Logic on TV Judge Shows” ที่เนื้อหาเกี่ยวกับการเรียนรู้ตรรกะที่ได้รับความนิยมมากของรายการเรียลริตี้โชว์ การสร้างความผิดหวังเล็กน้อยให้กับผู้ชมเพื่อเรียกเรตติ้ง ไม่ว่าจะเป็น “ผู้พิพากษาจูดี้” หรือ “ศาลประชาชน” ซึ่งทั้งหมดนั้นคือกลยุทธ์เรื่องความผิดพลาดที่อยู่คู่กับความสนุกสนานในรายการบันเทิงนั่นเอง

16. สาขาวิชาเทคนิคชนะการประกวดนางงาม (How to Win a Beauty Pageant)

หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่เปิดมานานตั้งแต่ปี 1920 จนถึงปัจจุบันของวิทยาลัย “Oberlin College” ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเปิดสอนเกี่ยวกับวิธีการที่จะชนะการประกวดนางงาม ต้องเรียนรู้ในเรื่องเพศ, ชนชั้น, เพศที่สาม, ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เอกลักษณ์ประจำชาติของสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงการวิเคราะห์วาทกรรม เพื่อเป็นประโยชน์ในการตอบคำถามอย่างไรให้ชนะใจกรรมการ บุคลิกการวางตัวทั้งหลายแหล่ที่จะทำให้คุณเอาชนะคู่แข่งในทุกๆ ทาง ไปจนถึงเวทีนางงามระดับโลก
((( อยากเรียนมากค่ะ อร๊ายยยย!! 555 )))

17. สาขาวิชาตัดสินใจศาสตร์ (Decision science)

ที่มหาวิทยาลัยกรีนนิช (University of Greenwich) แห่งกรุงลอนดอน มีหลักสูตรปริญญาตรีทางคณิตศาสตร์สำหรับศาสตร์ในการตัดสินใจ (BSc in Mathematics for Decision Science) ซึ่งจะให้นักเรียนมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับช่วงเวลาของการตัดสินใจ เทคนิคการจำลอง และการเพิ่มประสิทธิภาพของทักษะ EQ ซึ่งจะช่วยให้มีความสามารถในการตีความ และการสื่อสารเพื่อการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้น

18. สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเป็นฮีโร่ (The Science of Superhero)

เป็นอิทธิพลมาจากการดูภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับซูเปอร์ฮีโร่ ที่หลายคนมักสงสัยว่า คนอะไรจะเหาะเหินเดินอากาศได้ ดังนั้นมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเออร์ไวน์ (University of California : Irvine) จึงได้เปิดหลักสูตรวิชาวิทยาศาสตร์กับการเป็นฮีโร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาควิชา Physics and Astronomy เพื่อไขข้อข้องใจเหล่านั้น โดยเนื้อหาวิชาจะเน้นที่เรื่องราวต่างๆ ของฮีโร่ ไม่ว่าจะเป็น Superman, Batman, Spider-Man, Wonder Woman และอื่นๆ โดยการใช้หลักการวิทยาศาสตร์ เพื่อแก้ข้อสงสัยว่า ซุปเปอร์ฮีโร่เหาะเหินเดินอาการได้จริงรึเปล่า ถ้าจริงจะทำได้ด้วยวิธีใด โดยอ้างอิงถึงหลักการ ทางวิทยาศาสตร์ แล้วทีนี้จะได้รู้กันว่าเราจะสามารถเรียนแบบฮีโร่ หรือทำแบบที่ฮีโร่ทำได้จริงๆ หรือไม่

19. สาขาวิชาการออกแบบชีวิต (Designing Your Life)

ปัญหาของนักศึกษาส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยดังๆ มักจะเป็นพวกความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด หลายคนเรียนเก่งแต่ไม่รู้จักวิธีการจัดการชีวิตของตัวเอง ดังนั้นสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) จึงได้เปิดสอน วิชาการออกแบบชีวิต ขึ้นเพื่อช่วยเหลือนักศึกษา โดยมีเนื้อหาที่สอนตั้งแต่การใช้ชีวิตให้มีความสุข พอใจกับสิ่งที่มี การจัดการเงินเดือนให้พอใช้จ่ายและมีเงินเก็บ การเข้าสังคม การทำงาน รวมไปถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวอย่างการมีแฟน และการพูดคุยกับพ่อแม่ ซึ่งในตอนแรกได้เปิดสอนเป็นคอร์สสั้นๆ แต่ผลตอบรับที่ได้ดีเกินคาด จึงต้องบรรจุไว้เป็นวิชาประจำไปในที่สุด

20. สาขาวิชาสื่อและการผจญภัย (Adventure and Media)

ถ้าคุณเป็นคนรักการผจญภัย ชอบเล่นอะไรผาดโผน เราขอแนะนำ สาขาวิชาสื่อและการผจญภัย (Adventure Media) ของมหาวิทยาลัย Cumbria University หลักสูตรปริญญาตรี 3 ปี โดยนักเรียนจะพัฒนาทักษะกลางแจ้ง เช่น การปีนป่ายภูเขา หน้าผา พายเรือแคนู พายเรือคายัค การขี่จักรยานภูเขา และการสำรวจถ้ำ เรียนควบคู่ไปกับทักษะในการพัฒนาและผลิตสื่อ โดยผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชานี้ สามารถไปทำงานในตำแหน่งทหารรักษาพระองค์ (HM Forces) และกองบริการฉุกเฉิน (emergency services) ได้




จะว่าไปแต่ละสาชาวิชามันก็ไม่ได้แปลกอะไรหรอกน่ะค่ะ แต่แค่ว่ามันมีไม่กี่ประเทศที่เรียนสาขาวิชาแบบนี้
ถึงมันจะแปลก แต่มันก็สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้เนอะ
ถ้าเรียนแล้วมีความสุข เรียนแล้วได้ความรู้ เรียนแล้วสามารถนำไปใช้ได้
ก็สนับสนุนให้เรียนค่ะ

CR: http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9570000085273
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่