จากคอลัมน์“หนังช่างคิด”Dawn of the planet of the apes เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์“สงคราม”คือความจำเป็น...ดูหนังละครแล้วย้อนดูตัว

กระทู้สนทนา
Dawn of the planet of the apes เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ “สงคราม” คือความจำเป็น!
คอลัมน์ “หนังช่างคิด” โดย Oldboyบางคูวัด


     แม้หน้าหนังจะดูเป็น “หน้าลิง” หรือ ขายความเนี๊ยบเนียนในภาพความเคลื่อนไหว-แสดงอารมณ์อย่างสมจริงของเผ่าพันธุ์ “วานร” บวกกับแอ็คชั่นเร้าใจ อลังการจากสงคราม คนVSวานร

     แต่ “พิภพวานร” เวอร์ชั่นล่าสุด Dawn of the planet of the apes  พาผู้ชมไปได้ไกลมากยิ่งขึ้นทั้งในด้านความสนุกสนาน ตลอดจนประเด็นแหลมคมชวนขบคิดตลอดทั้งเรื่อง



     จากชุดความคิดเรื่อง “คนเท่ากัน”  Dawn of the planet of the apes  อาจเป็น “ขั้นกว่า” หรือพยายามพาเราไปไกลกว่า เมื่อเนื้อเรื่องนำเสนอความท้าทายที่ว่าด้วย “เผ่าพันธุ์” ที่แตกต่างกัน แต่จะอยู่ร่วมหรือต้องแตกหัก ทำลายล้างอีกฝ่ายหนึ่งให้สิ้นซากหรือ

     มีการนำเสนอประเด็นของ  เผ่าพันธุ์  ที่ “ดีกว่า” หรือ “เหนือกว่า” กับเผ่าพันธุ์ที่  “ด้อยกว่า” ได้อย่างน่าสนใจ

     พร้อมกับแตกแขนงไปสู่ประเด็นย่อย ว่าด้วยเรื่อง ความสัมพันธ์, ครอบครัว, ความเชื่อใจ, อำนาจ, ความเป็นผู้นำ ฯลฯ

บนความต่างระหว่างเผ่าพันธุ์ อาจถูกแทนที่คู่ขัดแย้งระหว่าง คน-วานร ด้วย นักล่าอาณานิคม-ชนเผ่าผู้ล้าหลัง, ตะวันตก-ตะวันออก, คนเมือง-คนชนบท, คนดี-คนไม่ดี ฯลฯ  

     กระนั้นก็น่าชื่นชมว่า ผู้กำกับภาพยนตร์ Matt Reeves (กับทีมเขียนบทที่ยังมี Rick Jaffa    Amanda Silver 2 ตัวหลักขากภาคก่อนหน้านี้มาทำงานต่อ)เลือกใช้วิธีเล่าเรื่องโดยเกลี่ยน้ำหนักให้ผู้ชม รับรู้และเข้าใจ ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้ง 2 เผ่าพันธุ์ ได้แบบไม่ชี้นำหรือเลือกข้างชัดเจนมากนัก

     โครงเรื่องหลัก เล่าเหตุการณ์ต่อเนื่องจากภาค  Rise of the planet of the apes(2011) (กำกับภาพยนตร์โดย Rupert Wyatt เขียนบทโดย Rick Jaffa    Amanda Silver ) ที่นอกจากผลการทดลองพัฒนาสมอง ประสาทการรับรู้/เรียนรู้ จะยกระดับให้ ลิงหรือ “วานร” มีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด โดยมีหัวหน้า หรือจ่าฝูงที่ชื่อ “ซีซาร์” แล้ว
     การระบาดของเชื้อไวรัสยังคร่าชีวิตเผ่าพันธุ์มนุษย์เสียแทบจะสูญพันนธุ์หมดไปจากโลก รูปแบบอารยธรรมและวิถีชีวิตแบบเดิมล่มสลาย แถมยังต้องเผชิญหน้ากับปรปักษ์อย่าง “วานร” ที่เก่งกาจฉลาดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ



     มนุษย์กลุ่มหนึ่งกำลังจนตรอกเพราะพลังงานใกล้หมดสิ้น จึงต้องหาทางกลับไปซ่อมเขื่อนเพื่อนำพลังงานกลับมาใช้อีกครั้ง นั่นกลายเป็นโจทย์ที่ทำให้พวกเขารุกล้ำเข้าไปในอาณาเขตของ วานร ซึ่งมี “ซีซาร์” เป็นผู้นำ เคียงข้างกับ “โคบา” ขุนศึกมือขวา(เหมือนจะเป็น แม่ทัพสายเหยี่ยวกระหายสงครามนิยมความรุนแรง)



     ขณะที่ ซีซาร์ ดูฉลาด เข้มแข็ง ทว่าก็ยังเชื่อในการเจรจา แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ราวกับจะเป็นตัวแทนสายพิราบที่รักสันติ

     จากจุดเริ่มที่เผชิญหน้ากันด้วยความหวาดระแวง พัฒนาไปสู่เหตุการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาทดสอบ “ความเชื่อใจ” ระหว่าง 2 เผ่าพันธุ์ กระทั่งเกิดจุดพลิกผันหลายครั้ง หลายรอบ สร้างความตื่นเต้น น่าติดตามให้กับผู้ชมได้ตลอดทั้งเรื่อง

     และไม่ใช่เพราะความยอดเยี่ยมของงานด้านภาพ-CG ที่แทบไม่มีที่ติสำหรับสิ่งที่เราเห็นเป็น วานร เคลื่อนไหว แสดงออกทางอารมณ์

     หากแต่เป็นบทภาพยนตร์ตลอดจนบรรยากาศแวดล้อมที่ทำให้ผู้ชมค่อยๆ ลืมไปว่า เรากำลังติดตามดู 2 ฝ่าย ที่เป็น “มนุษย์” และ “วานร”

     ไม่มีบทสรุปที่แน่ชัดใดๆ ว่าฝ่ายไหนถูก ฝ่ายไหนผิด แต่ละฝ่ายมีทั้งคนดีและคนเลว แรงขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายของแต่ละฝ่ายก็สามารถหยิบยกมาเป็นข้ออ้างได้ไม่ต่างกันว่า ...เพื่อตัวเรา เพื่อครอบครัวเรา เพื่อเผ่าพันธุ์ของเรา ..




     และไม่ว่าท้ายที่สุดของความพยายามที่จะเชื่อมประสานระหว่าง

     คน-วานร,  นักล่าอาณานิคม-ชนเผ่าผู้ล้าหลัง, ตะวันตก-ตะวันออก, คนเมือง-คนชนบท, คนดี-คนไม่ดี ฯลฯ  

     คำตอบสำเร็จรูปก็ยังคงเป็น “สงคราม” อยู่นั่นเอง

     ไม่ว่าจะในฉากของภาพยนตร์เรื่องนี้, ในป่าดิบชื้นลุ่มน้ำอะเมซอน, บนแผ่นดินแอฟริกา..

     กระทั่งในฉนวนกาซา  ยูเครน หรือ ทุกสมรภูมิบนพื้นพิภพนี้

     เรายังคงเดินหน้าสู่สงครามทั้งเปิดเผยและซ่อนรูป ด้วยข้ออ้างและเหตุผลที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

     เพื่อสิทธิ เพื่ออำนาจ เพื่อผลประโยชน์  เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ของเรา ... เท่านั้นเอง



มติชนออนไลน์
26 กรกฎาคม พ.ศ. 2557
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1406287512

                                        ?????????????????????????????????????????????????


อ้ะ...อ้ะ...
แค่เอาบทวิจารณ์หนังมาเล่าสู่กันฟัง...คับ....
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่