สี่แผ่นดินเดอะมิวสิเคิล มีใครดูแล้วคิดว่าเป็นเรื่องจริงบ้างคะ?

ดิฉันไม่ปฏิเสธเรื่องความดีเด่นของละครเวทีนี้นะคะ แต่จะพูดถึงอารมณ์และการรับรู้ของผู้ดูค่ะ
ว่าคุณดูจบแล้ว คุณรู้สึกกับว่ามันเป็นเรื่องจริงไหมคะ? ที่ถามเช่นนี้เพราะว่า

"อิทธิพลของละคร คือการทำให้คนดูรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องจริง"

ในสี่แผ่นดินฉบับเดอะมิวสิเคิล ดูแล้วเนื้อหามุ่งหวังโจมตีการอภิวัฒน์การปกครองเมื่อปี 2475
ยิ่งกว่าฉบับดั้งเดิมของคุณคึกฤทธิ์เสียอีก ซึ่งดิฉันไม่มีปัญหาหรอกค่ะ ถ้าบริบทในสังคมเรา
มันสามารถเปิดกว้างถึงข้อมูลได้ทุกด้าน แต่มันไม่ใช่น่ะสิคะ

คณะราษฎรถูกทำภาพลักษณ์ให้ดูเลวร้ายมาตลอดเวลาในวิชาประวัติศาสตร์ไทย(มีทั้งจริงและไม่จริง)
และนับวันภาพของคณะราษฎรในสังคมไทยยิ่งเลือนหายจากสังคม ทั้งๆที่ข้อดีและผลงานของตัวคณะราษฎรเองนั้น
มีอย่างมากมายและเป็นคุณต่อประเทศชาติมากนัก โดยเฉพาะตัวของคุณปรีดี พนมยงค์ หรือแม้กระทั่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ก็มีด้านคุณูปการต่อประชาชนเช่นกัน (ก็มีข้อเสียอีกเช่นกัน)

แต่ในสี่แผ่นดินเดอะมิวสิเคิล กลับยิ่งตอกย้ำการป้ายสีคณะราษฎรให้ดูเลวร้ายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะ
- บทบาทของอั้น
- วาทกรรมล้มเจ้า
- การนำเสนอบริบทเพียงแค่ด้านเดียวว่าการเปลี่ยนไม่แปลง "ไม่ดีขึ้น" โดยไม่สนใจในมิติอื่นๆ
หรือการกระทำอื่นๆเลย
- การเขียนบทให้รัฐบาลคณะราษฎรนั้นมีแต่ความเลวร้าย
- การหยิบประเด็นสละราชฯ ของร.7 โดยไม่กล่าวถึงเรื่องอื่นๆ
ฯลฯ

ถ้าคนเราดูแค่เพื่อความบันเทิง ดิฉันก็คงไม่รู้สึกร้อนเนื้อร้อนใจอะไร หากแต่ดิฉันเชื่อว่า
อิทธิพลของสิ่งเหล่านี้มันจะฝังลึกลงไปในจิตใจและนำพาอารมณ์ของเราให้คล้อยตามว่า
มันเป็นเรื่องจริง ว่า คณะราษฎรนั้น ชิงสุกก่อนห่าม มีแต่ความเลวร้ายชั่วช้า ไม่รู้ว่าเป็น
เจตนาของผู้เขียนบทละครเวทีหรือไม่?

แต่สำหรับคนที่ศึกษาประวัติศาตร์การเมืองไทยมาบ้าง(ที่ไม่ใช่กระแสหลัก)
ก็คงพอทราบว่า เบื้องลึกเบื้องหลัง มันมีอะไรบ้าง คณะราษฎรเลวร้ายจริงหรือ
และเจตนารมณ์ของคุณคึกฤทธิ์นั้นเป็นอย่างไร
(เอาจริงๆแล้ว ต้นฉบับยังมีความเป็นกลาง มากกว่า ฉบับละครเวที)

ดังนั้นจึงแค่อยากถามและฝากเตือนไว้นิดนึงค่ะว่า ถ้าจะเสพแค่ความบันเทิงก็คงไม่เป็นอะไร
หากแต่รู้สึกหรือคิดว่ามันเป็นจริง อาจต้องศึกษาข้อมูลหรือถกเถียงกันมากกว่านี้ค่ะ


ในกระทู้นี้ดิฉันขอไม่เขียนเรื่องราวใน ปวศ อีกด้าน เพราะมันคงยาวและมีความสุ่มเสี่ยงพอสมควร
หากแต่ท่านใดอยากรู้อยากถกเถียง ก็จะขอตอบเป็นรายความเห็นค่ะ

----
อันนี้ ไม่เกี่ยวกับกระทู้เท่าไหร่ แต่แค่อยากนำเสนอผลงานของคุณปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในผู้นำคณะราษฎร
(ข้ามได้ค่ะ)

ผลงานอ.ปรีดี

1. ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน, รัฐมนตรี, นายกรัฐมนตรี, ผู้สำเร็จราชการในรัชกาลที่ 8 และ รัฐบุรุษอาวุโส
2. ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าเสรีไทย เพื่อต่อสู้กับญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
3. ผู้เจรจาและยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทำให้ไทยเราได้รับ "เอกราชทางศาล" อย่างแท้จริง
(มีการแก้ไขมาเรื่อยๆก่อนหน้านั้น แต่ที่สำเร็จและเป็นผลอย่างสูงเกิดขึ้นโดยปรีดี)
4. จัดตั้งธนาคารชาติไทย ปัจจุบันคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย
5. ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อให้เป็นตลาดวิชาทุกคนเข้าเรียนได้(เหมือน รามฯในปัจจุบัน)
ตามเจตนารมณ์ของคณะราษฎรที่ว่า "จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร"
(เคยอ่านเจอว่า สมัยนั้น มธ คนเข้าเรียนถึง 7 พันกว่าคนมากกว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ)
6. เป็นผู้ก่อตั้ง ธนาคารแห่งเอเชียเพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม และให้ ธรรมศาสตร์ ถือหุ้นถึง 80%
เพื่อให้นำเงินมาใช้ในกิจการมหาวิทยาลัย (เป็นอิสระจากรัฐบาล) ก่อนจะถูกบังคับขายหุ้นทิ้งไป ปัจจุบัน คือ ธนาคารยูโอบี
7. เป็นผู้จัดระบบภาษีสมัยใหม่ ออกประมวลรัษฎากร เป็นครั้งแรกของไทย รวมถึงการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า (สมัยเป็น รมต คลัง)
8. เป็นเริ่มแนวคิดการจัดตั้ง สมาคมสหชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ เพื่อคานอำนาจกับชาติมหาอำนาจ (ก่อนเกิดแนวคิด อาเซียน)
9. พยายามผลักดันศาลปกครองแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ (ศาลปกครองในปัจจุบันคือที่พิพากษาข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับรัฐ เพื่อคุ้มครอง
ประชาชนจากอำนาจรัฐ ตั้งขึ้นสำเร็จตามรัฐธรรมนูญ 2540)
10. เป็นผู้มองการณ์ไกลนำเงินดอลลาร์มาเป็นทุนสำรองประเทศ
ฯลฯ

ยังมีผลงานของอ.ปรีดี อีกมากมายก่อนจะถูกรัฐประหารและลี้ภัยในต่างประเทศจนสิ้นชีวิตในที่สุด
ด้วยข้อหาใส่ร้ายว่าลอบปลงพระชนม์ รัชกาลที่ 8 (ซึ่งคุณคึกฤทธิ์เอง ก็มีส่วนในการป้ายสี จนต้องออกมาขอขมาในที่สุด)

แต่ไม่ว่าจะตัวของ ปรีดี จอมพล ป คึกฤทธิ์ หรือประชาธิปไตยก็ตาม ก็ล้วนมีข้อดีและข้อเสียเช่นกันค่ะ
เพียงแต่ข้อมูลที่เราเรียนรู้กันมาและสื่อนำเสนอ มีเพียงแต่ด้านแย่ๆบ้างแย่เกินจริงบ้าง และนำเสนอ
เพียงแค่มิติเดียว ไม่ได้มีความรอบด้านใดใดค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ละครเวที ประวัติศาสตร์ไทย สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่