ศึก International Crown มีอะไรมากกว่าเวทีช่วงชิงความเป็นมหาอำนาจทางกีฬากอล์ฟสตรี?

กระทู้สนทนา
ความพ่ายแพ้ของทีมสหรัฐอเมริกาบนผืนแผ่นมาตุภูมิเป็นครั้งแรกเมื่อปีก่อนยังร้าวรานอยู่ในความทรงจำ ยิ่งไปกว่านั้น การกรีฑาทัพสู่ชัยชนะอย่างทิ้งห่างไม่เห็นฝุ่นของทีมยุโรปในรายการ Solheim Cup ยังทำลายความเชื่อมั่นและขวัญกำลังใจของนักกอล์ฟสตรีอเมริกันไปเสียแหลกลาน

คำถามที่เกิดขึ้นในขณะนั้น คือ เกิดอะไรขึ้นกับมหาอำนาจแห่งกีฬากอล์ฟสตรีในช่วงทศวรรษนี้? นับตั้งแต่การเดินขบวนเข้ามาของนักกอล์ฟหญิงเอเชียทั้งเกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, จีน, ไต้หวัน และไทยที่มีฝีไม้ลายมือไม่ธรรมดาจนสามารถ 'ยึดครอง' Leaderboard ของการแข่งขันรายการต่างๆ ของ LPGA TOUR ชนิดที่เจ้าบ้านยังอาย  รวมทั้งนักกอล์ฟนานาชาติที่มิใช่อเมริกันต่างก็จับจองแชมป์เมเจอร์กันไปอย่างไม่ไว้หน้าอเมริกา (ที่เจ็บใจที่สุดคงเป็นรายการ U.S. Women Open ที่เป็นรายการเมเจอร์ประจำชาติอเมริกา แต่แชมป์ระหว่างปี 2005-2014 กลับเป็นสาวแดนโสมขาวถึง 6 คน ขณะที่เจ้าถิ่นได้ไปเพียงแค่ 3 คนเท่านั้น) วงการกอล์ฟสตรีอเมริกาจึงต้องรับมือกับคำถามและข้อข้องใจของแฟนกอล์ฟเจ้าบ้านมากมายว่าเกิดอะไรขึ้นกับศักดิ์ศรีของนักกอล์ฟหญิงอเมริกัน ทำไมถึงสู้สาวเอเชียและยุโรปไม่ได้

ความรู้สึกถดถอยลงที่ผู้ชมกอล์ฟอเมริกันมีต่อนักกอล์ฟของพวกเขานี่เองที่ทำให้เกิดคำว่า 'Asian Invasion' ขึ้นมาโดยมีนัยในแง่ลบต่อนักกอล์ฟหญิงเอเชียที่เข้ามาเป็นภัยต่อสำนึกชาตินิยมของพวกเขา ด้วยเหตุนี้จึงมิใช่เรื่องน่าแปลกใจที่แฟนกอล์ฟอเมริกันหลายคนตั้งตารอศึก International Crown ที่จะเปิดฉากขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงนี้ เพราะมันเป็นโอกาสเดียวที่พวกเขาจะสามารถกอบกู้ศักดิ์ศรีและทวงความเป็นมหาอำนาจทางกีฬากอล์ฟคืนมาจากเกาหลีใต้ได้ (สังเกตจากตารางแข่งขันก็รู้ว่าครับ เพราะอเมริกาและเกาหลีผ่านการคัดเลือกเข้ามาเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ ทั้งสองประเทศจึงจัดว่าเป็น Top Seat หรือมือวางอันดับหนึ่งในกลุ่ม A และกลุ่ม B แยกกัน เป็นนัยว่าท้ายที่สุด พวกเขาอยากเห็นการดวลดันตัวต่อตัวระหว่าสหรัฐฯ และเกาหลีใต้นั้นเองครับ หลักฐานมีตั้งแต่บทความทั้งใน LPGA Tour.com และ Golf Channel ที่พยายามบิ้วท์อารมณ์ผู้ชมมาหลายวันก่อนหน้านี้)

กระนั้น Golfista ก็มีข้อสังเกตเหมือนกับแฟนกอล์ฟชาวไทยว่าการคาดชื่อประเทศอย่าง 'ไทย, สเปน, ออสเตรเลีย, ไต้หวัน,ญี่ปุ่น และสวีเดน ซึ่งทั้งทีมประกอบด้วยสุดยอดนักกอล์ฟ ออกไปเพียงเพราะต้องการ Hightlight การช่วงชิงความเป็นหนึ่งระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ นั้นเป็นสิ่งที่ผิดพลาดมหันต์ เพราะในเกมการเล่นแบบ Match Play โดยเฉพาะรอบคัดเลือกแบบ Four-Ball Better Ball นั้น อันดับโลกเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง ความเป็นทีมเวิร์ค การรู้จักวางแผน ความเข้าขากัน (เหมือนให้พี่น้องโมเมจับคู่กัน) เป็นกุญแจสำคัญสู่ชัยชนะของการเล่นประเภทนี้ หลายครั้งเราเห็นนักกอล์ฟที่เก่งสุดยอดอย่างไร้เทียมทาน กลับล้มเหลวไม่เป็นท่าเมื่อต้องมาเล่นจับคู่กับเพื่อนในการแข่งขันประเภททีม ไม่ว่าจะเป็นอัตตา (Ego) รูปแบบการเล่นที่แตกต่างกันที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการแข่งขันแบบจับคู่ 'การเล่นแบบข้ามาคนเดียว ข้าเก่งคนเดียว' มิได้การันตีความสำเร็จในการเล่นประเภททีมแต่อย่างใด
(ดังเช่น World Cup ปีนี้ที่ทีมเยอรมันเล่นเข้าขากันได้เป็นทีมมากกว่าชาติอื่นๆ เพราะพวกเขารู้ไส้รูุ้พุงกันมานาน เป็นปึกแผ่นมากกว่าจนสามารถคว้าแชมป์โลกไป)

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญมาก หากมองข้ามการชิงดีชิงเด่นระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ อย่างที่สื่ออเมริกันชอบประโคมข่าวออกไป เราจะเห็นการเติบโตอย่างรวดเร็วของกีฬากอล์ฟสตรีที่บัดนี้ได้แพร่ขยายสาขาออกไปประดุจต้นไม้ที่ยืนรากแข็งแกร่งแล้วยื่นกิ่งก้านสาขาออกไปในทั่วทุกมุมโลก วงการกอล์ฟโลกกำลังเติบโตอย่างมั่นคง และในปี 2016 นี้ กอล์ฟก็จะกลับไปเป็นหนึ่งในกีฬาแข่งขันในโอลิมปิกอีกครั้งหนึ่ง เนื่องเพราะมันมิใช่เป็นเพียงแค่กีฬาของคนบางประเทศ บางกลุ่มอีกต่อไป หากแต่เป็นกีฬาของคนทั้งโลก ที่มีทั้งผู้เล่นและผู้ชมจากทั่วทุกมุมโลก พัตต์สุดท้ายในรายการเมเจอร์มิได้เปลี่ยนผู้เล่นคนหนึ่งให้กลายเป็นแชมป์รายการเมเจอร์เท่านั้น แต่เมื่อพัตต์ลูกนั้นลงหลุมไป เขาหรือเธอได้กลายเป็นแชมปฺโลก เป็น World Champions

และนี่คือสิ่งที่ Golfista คิดว่ากอล์ฟน่าจะได้ประโยชน์จากรายการ International Crown มากกว่าการช่วงชิงความเป็นจ้าวแห่งวงการกอล์ฟสตรีครับผม

ขอบคุณมากที่อ่านครับ ยิ้ม)

ติดตามความเคลื่อนไหวและบทความสั้นเกี่ยวกับวงการกอล์ฟได้ที่แฟนเพจ Golfista ครับ

www.facebook.com/golfistathailand

ขอบคุณครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่