ข้อมูลจากวงใน... ทำไมสหรัฐไม่ยื่นมือช่วยไทย ใน"วิกฤติต้มยำกุ้ง"?

กระทู้คำถาม
ข้อมูลจากวงใน... ทำไมสหรัฐไม่ยื่นมือช่วยไทย ใน"วิกฤติต้มยำกุ้ง"?
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 24 กรกฎาคม 2557 01:00
http://bit.ly/1pEL8Cb

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ทิมโมที ไกท์เนอร์ เขียนหนังสือบันทึกความทรงจำ เรื่องวิกฤติการเงิน

ที่เกือบทำเอาสหรัฐเจ๊ง และเบื้องหลังของการวิ่งหาทางออกกันจ้าละหวั่นอย่างน่าสนใจยิ่ง

หนังสือชื่อ Stress Test ซึ่งในภาษาการเงินการธนาคารหมายถึง การใช้วิธีวิเคราะห์อย่างเข้มข้นเพื่อประเมินว่าหากมีวิกฤติจริง จะมีเงินทุนพอที่จะฟันฝ่าปัญหาหนักที่สุดได้มากน้อยแค่ไหน

เหมือนหมอสั่งให้คนไข้ที่สงสัยว่า เป็นโรคหัวใจขึ้นวิ่งสายพานและเร่งให้ความเร็วสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้หัวใจทำงานเต็มอัตราเพื่อวัดว่าเส้นเลือดเส้นไหนตีบมากน้อยแค่ไหนหรือไม่

ที่น่าสนใจสำหรับคนไทยคือ ตอนที่เขาเขียนถึง “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ของไทยเมื่อปี 1997 เขามีตำแหน่งเป็นรองผู้ช่วยรัฐมนตรีคลัง และรับรู้ว่ารัฐบาลสหรัฐขณะนั้นไม่ได้ช่วย เหมือนที่จีนและญี่ปุ่นกระโดดออกมาโอบอุ้มไทย

ไกท์เนอร์เคยอยู่เมืองไทยตอนเป็นเด็ก เรียนที่โรงเรียนอินเตอร์อยู่พักหนึ่ง เพราะคุณพ่อทำงานกับมูลนิธิฟอร์ดในกรุงเทพฯ

เขาเขียนในบันทึกนี้ว่า เขาไปร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังของประเทศต่าง ๆ ที่โตเกียวในเดือนสิงหาคมนั้น (ไทยเจอวิกฤติตั้งแต่ 1 กรกฎาฯปีนั้น) และรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศให้ไทยกู้ 4,000 ล้านดอลลาร์

“ผมต้องอธิบาย (ให้ที่ประชุมทราบ) ว่าสหรัฐไม่สามารถจะสร้างความผูกมัดโดยตรงเรื่องนี้ได้แม้ว่าเศรษฐกิจของเราขณะนั้นจะแข็งแกร่งกว่าของญี่ปุ่น...มันเป็นสถานการณ์ที่น่าอึดอัดเป็นอย่างยิ่งสำหรับผม และผมคิดว่าสำหรับสหรัฐด้วย...” เขาบอก

(…I had to explain that the US could not make a direct commitment, even though our economy was in stronger financial shape than Japan’s…It was a deeply uncomfortable situation for me - and, I thought, for the United States.”)

ต่อมากองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ยอมให้กู้ 4,000 ล้านดอลลาร์ และระดมจากแหล่งอื่นอีก 13,000 ล้านดอลลาร์

เพื่อนเก่าแก่อย่างสหรัฐไม่ยื่นมือออกมาช่วยเลย โดยอ้างข้อจำกัดภายใต้กฎหมายของวุฒิสภา ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่นานวอชิงตันก็ได้ควักเงินก้อนใหญ่อุ้มเพื่อนบ้านเม็กซิโกอย่างสุดกำลัง

ไกท์เนอร์ยอมรับในหนังสือเล่มนี้ว่า “การที่เงินช่วยเหลือไม่มีส่วนไหนมาตรงจากเราเลยย่อมทำให้คนไทยรู้สึกว่าถูกเราทรยศ...และประเทศเอเชียอื่น ๆ ก็รู้สึกไม่พอใจเราเช่นกัน ทำให้ญี่ปุ่นเจาะจุดอ่อนนี้ของเราและเสนอให้มีการตั้งกองทุนการเงินเอเชีย ซึ่งจะมีบทบาทมาแทนไอเอ็มเอฟในเอเชีย...”

(…but the package didn’t look as generous as Mexico’s, and the Thais felt betrayed that none of it came directly from us. Other Asian countries were offended, too…)

ผมจำได้ว่าบิล คลินตัน ซึ่งเป็นประธานาธิบดีขณะนั้นเคยเขียนไว้ในหนังสือชีวประวัติส่วนตัวว่า เมื่อมองย้อนกลับไปแล้วก็รู้สึกผิดเหมือนกันที่ไม่ได้ยื่นมือช่วยเหลือประเทศไทย ในยามที่เพื่อนเก่าแก่เผชิญกับปัญหาทางการเงินที่หนักหน่วงเช่นนั้น

ในจังหวะนั้นเองที่เพื่อนในเอเชียอย่างจีนและญี่ปุ่นแสดงถึงความเป็น “มิตรในยามยาก” ให้ไทยได้เห็นด้วยการยอมให้กู้เงินและผ่อนปรนในเรื่องที่จะช่วยเหลือได้เพื่อให้ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สามารถฟันฝ่าวิกฤติไปได้

มิตรแท้หรือไม่พิสูจน์กันตอนวิกฤตินี้แหละ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่