บทสัมภาษณ์ อาจารย์บรรจง บินกาซัน ประธานโครงการอบรมผู้สนใจอิสลาม มูลนิธิสันติชน

สัมภาษณ์ อาจารย์บรรจง บินกาซัน ให้กับนิตยาสาร Halal Life Magazine

500 คน คือจำนวนมุสลิมใหม่ในแต่ละปีที่ผ่านการอบรมให้ความรู้จากโครงการอบรมผู้สนใจอิสลาม มูลนิธิสันติชน

20 ปี คือระยะเวลาของการทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจในอิสลามให้กับคนต่างศรัทธา ด้วยถ้อยคำและภาษาที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อนและเป็นสากล ของ อ.บรรจง บินกาซัน ประธานโครงการอบรมผู้สนใจอิสลาม มูลนิธิสันติชน

ตัวเลขทั้งสองคงเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีถึงความสำเร็จและความมุ่งมั่นของหัวเรือหลักโครงการฯ อย่าง อ.บรรจง บินกาซัน ผู้เปรียบเสมือน “พ่อ” ของเหล่ามุสลิมใหม่นับพันคน

อ.บรรจง บินกาซัน บันฑิตคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สารานิพนธ์สมัยเรียนของเขากลายเป็นแม่แบบของธนาคารอิสลามในปัจจุบัน) อดีตเจ้าหน้าที่สถานฑูตญี่ปุ่นและสายการบินปากีสถาน นอกจากนี้เขายังเป็นนักเขียนและนักแปลคนสำคัญที่มีผลงานตีพิมพ์เป็นจำนวนมาก

จากที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะเชิญชวนคนเข้ารับอิสลามให้ได้ 1 คนในชีวิต แต่มาถึงวันนี้มีคนเข้ารับอิสลามผ่านการเชิญชวนของเขาแล้วนับพันคน เขาทำได้อย่างไร ใช้วิธีการแบบไหน ความลับจะถูกเปิดเผยในบรรทัดถัดไป

จุดเริ่มต้นของโครงการอบรมผู้สนใจอิสลาม

ผมทำมา 20 ปีแล้ว เป็นงานที่สานต่อจาก อ. อิสมาแอล วิสุทธิปราณี ซึ่งท่านก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นนักวิชาการผู้อาวุโส เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิสันติชน และผู้คนให้ความเคารพยกย่องในเรื่องความรู้ของท่าน และสันติชนเองก็มีวัตถุประสงค์ในการที่จะเผยแผ่อิสลามให้คนทั่วไปทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม เมื่อก่อนยังมีคนไม่มากที่มาเรียนกับครูแอ ส่วนใหญ่ก็จะป็นมุสลิมแต่ก็มีบ้างที่เป็นคนที่ไม่ใช่มุสลิมและมาเข้ารับอิสลามและมาเรียนกับครูแอ ซึ่งครูแอก็ต้องจัดชั้นเรียนให้อีกชั้นหนึ่ง เพราะว่าเป็นผู้ที่ไม่รู้อะไรเลย จะไปเรียนปะปนกับมุสลิมเดิมเดี๋ยวจะต่อกันไม่ติด อ.อับดุลฆอนี บริสุทธิ์ เลยมารับช่วงต่อ หลังจากนั้นกรรมการของมูลนิธิสันติชนก็ให้ผมเข้ามารับหน้าที่คอยดูแลแล้วก็จัดหลักสูตรให้เป็นกิจลักษณะ เพราะว่ายิ่งนานวัน คนที่สนใจอิสลามก็มีจำนวนมากขึ้น ตลอด 20 ปีที่ผมทำโครงการนี้ที่มูลนิธิสันติชน ไม่มีวันอาทิตย์ไหนที่ไม่มีคนหน้าใหม่ๆเข้ามาขอเข้ารับการอบรม และคนที่สนใจอิสลามก็มีการศึกษามากขึ้น บางคนเรียนจบปริญญาตรี ซึ่งการเรียนการสอนของเราตอนนั้นยังไม่เป็นระบบ ยังไม่มีหลักสูตร ยังไม่มีการประเมินผล ทำให้คนที่มาเรียนไม่รู้ว่าเขาจะเริ่มต้นอย่างไร จะจบเมื่อไหร่  จะมีการประเมินผลอย่างไร  ผมจึงจัดทำหลักสูตรให้ ซึ่งค่อนข้างจะลำบากพอสมควร เพราะว่าทุกวันอาทิตย์จะผู้สนใจเข้ามาใหม่ตลอด ตรงนี้เป็นเรื่องที่ยากลำบากมากในการจัดทำหลักสูตร เพราะหากใครเข้ามาเรียนแล้วเราไปบอกว่า คุณรออีกสองเดือน อีกสามเดือน จะเปิดคอร์สใหม่ มันไม่ได้ เพราะว่ามากันทุกอาทิตย์ เราถือว่าใครที่มาก็จะต้องได้เรียน ก็เป็นหน้าที่ที่ผมจะต้องเข้าไปจัดวางแผนผัง ระบบระเบียบการเรียน ก็เลยจัดเนื้อหาที่สำคัญและมีความจำเป็นที่มุสลิมใหม่จะต้องรู้แบ่งออกเป็น 15 หัวข้อ ที่จะครอบคลุมในเรื่องของหลักศรัทธา หลักปฏิบัติ หลักคุณธรรมจริยธรรม ซึ่ง 3 สิ่งนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของอิสลามอยู่แล้ว หนี้ไม่พ้น ถ้าเราพูดถึงเรื่องอิสลามก็จะต้องพูดถึงเรื่องหลักศรัทธา หลักปฏิบัติ และหลักคุณธรรมความดี

หลักสูตรเอามาจากไหน ?

หลักสูตรนี้ผมจัดของผมเอง คือเรื่องสำคัญที่เขาจำเป็นจะต้องรู้ ก็คือหลักศรัทธา 6 ประการ หลักปฏิบัติ 5 ประการ และเรื่องคุณธรรมความดี ในเรื่องของหลักศรัทธาเราต้องพยายามอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ เพราะเขาไม่ใช่มุสลิมและไม่มีพื้นฐานมาก่อน ถ้าจะไปพูดภาษาอาหรับมากเขาก็จะงง เพราะว่าคนต่างศาสนิกเองกระทั่งภาษาบาลีเป็นคำสวดของเขา เขาก็ยังไม่รู้ความหมาย ฟังพระเทศน์ด้วยภาษาบาลีมากๆ เข้า เขาก็จะเบื่อเพราะว่าไม่เข้าใจความหมาย ก็เช่นเดียวกันเวลาที่เขามาเรียนอิสลามเราก็ต้องอธิบายด้วยศัพท์ง่ายๆ ให้เขาได้เข้าใจแก่นแท้ของอิสลามด้วยภาษาไทยที่เป็นภาษาที่เขาสามารถที่จะเข้าใจได้ ผมก็มาเริ่มทำให้ตรงนี้ วางเนื้อหาของหัวข้อที่ครอบคลุม 15 หัวข้อที่จำเป็นสำหรับคนมุสลิมจะต้องรู้และใครที่มาเรียนก็จะได้เรียนตาม 15 หัวข้อนี้

มันเหมือนกับโรงหนังชั้นสองครับ นึกออกไหม คือถ้าคุณมาดูต้นเรื่องคุณก็นั่งดูไปเรื่อยๆ จนจบ 15 หัวข้อ แต่ถ้าคุณมากลางเรื่องตรงหัวข้อที่หกที่เจ็ดคุณก็นั่งดูกลางเรื่องไปจนกระทั่งจบเรื่องและคุณก็มาดูต้นเรื่องใหม่ แต่ถ้าคุณมาท้ายเรื่องคุณก็ดูตรงท้ายเรื่องและมาดูต่อต้นเรื่องในอาทิตย์ถัดไป เราใช้วิธีการแบบนี้ในการแก้ปัญหาซึ่งก็ได้ผล



ใครมาตอนไหนก็เรียนได้เลย ?

ครับเรียนได้เลย เพราะ 15 หัวข้อนี้ แยกเนื้อหาเด็ดขาดจบในตัวของมัน และใครที่มาครั้งแรกเราจะให้ปฐมนิเทศก่อน ให้ได้รู้เห็นโครงสร้างของอิสลาม เหมือนกับเราพาเขานั่งเฮลิคอปเตอร์และมองภาพรวม เหมือนกับไปชมป่าเขาใหญ่ว่าอาณาเขตของป่าเขาใหญ่มันติด 5 จังหวัดน่ะ ให้เห็นภาพโดยรวมก่อน



ภาพรวมที่ว่านี้เป็นอย่างไร ?

หนึ่งเขาจะต้องรู้ความหมายของคำว่าอิสลาม และมุสลิม การรู้ความหมายของชื่อศาสนาสำคัญเพราะชื่อของศาสนาเป็นตัวสะท้อนถึงแก่นธรรมของศาสนา ซึ่งแม้แต่มุสลิมเองที่เข้าไปนั่งฟังด้วยส่วนใหญ่เก้าสิบเปอร์เซ็นก็จะไม่รู้ ขณะเดียวกันชาวพุทธที่มาเรียนเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า พุทธแปลว่าอะไร ตัวเขาเองเขาก็ไม่รู้เหมือนกัน มันเป็นเรื่องปกติธรรมดาเพราะว่าเราเป็นศาสนิกกันตามปู่ ย่า ตา ยาย เป็นตามสำมะโนครัว เราถึงไม่รู้ความหมายของชื่อศาสนาที่ตัวเองนับถืออยู่ ฉะนั้นเมื่อไม่รู้ก็ไม่สามารถเข้าถึงแก่นธรรมของศาสนาตัวเองได้ เมื่อแก่นธรรมของศาสนาตัวเองยังไม่เข้าใจ แล้วคุณจะไปเข้าใจศาสนาของคนอื่นเขาได้อย่างไร เมื่อไม่เข้าใจซึ่งกันและกันการอยู่ร่วมกันก็ลำบาก เพราะมีการไม่เข้าใจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่ว่าแก่นแท้ของศาสนาทุกศาสนาจะสอนให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสงบ ก็เลยต้องสอนให้เขารู้ถึงที่มาของอิสลาม หลังจากนั้นก็บอกให้รู้ว่าอิสลามนั้นมาอย่างไร เป็นอะไร เราก็บอกพวกเขาว่า เป็นวัจนพระเจ้า ฉะนั้นคุณจะรู้จักอิสลามคุณต้องรู้จักพระเจ้าก่อน ถ้าคุณไม่รู้จักพระเจ้าคุณไม่เชื่อพระเจ้าคุณก็จะไม่รู้จักอิสลาม คุณก็จะไม่เชื่ออิสลามเพราะอิสลามเป็นวัจนของพระเจ้าอธิบายให้เป็นแบบนี้ และบอกถึงหลักศรัทธาว่าทำไมจำเป็นจะต้องศรัทธาในพระเจ้า ศรัทธาในมลาอิกะห์  ศรัทธาในคัมภีร์ ก็จะอธิบายให้เขาได้เห็นภาพรวมๆ ว่าความศรัทธาเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับชีวิตมันเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว ขณะเดียวกันความเชื่อก็เป็นตัวผลักดันพฤติกรรม ถ้าเชื่อผิด คิดผิด ก็ทำผิดโดยปริยาย ทำให้เขาได้เห็นว่าหลักศรัทธาที่ถูกต้องมีความสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิต สำหรับพฤติกรรมชีวิตของเรา

แต่เนื่องจากว่าหลักศรัทธาเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น มันเหมือนกับเมล็ดพืชที่อยู่ใต้ดิน เราไม่รู้ว่ามันจะมีชีวิตหรือเปล่าจนกว่ามันจะงอกออกมาเป็นลำต้นให้เราได้เห็น เราถึงจะรู้ว่าเมล็ดพันธุ์นั้นมันมีชีวิต เพราะมันงอกออกให้เห็นเป็นลำต้นแล้ว ส่วนลำต้นที่งอกออกมาก็คือหลักการปฏิบัติ ที่คุณจะต้องยืนยันด้วยวาจา การละหมาด ถือศีลอด จ่ายซะกาต ไปทำฮัจญ์ อันนี้ก็คือลำต้นที่งอกออกมาจากเมล็ดพันธุ์ของความศรัทธา แต่ว่าต้นไม้ก็ยังไม่สมบูรณ์จนกว่ามันจะแตกกิ่งก้านสาขาผลิดอกออกใบให้ผลให้ร่มเงาเป็นประโยชน์แก่บรรดาสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอบตัว นั่นก็คือเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม มารยาทต่างๆ ที่ทำให้ต้นไม้อิสลามนี้มีความสมบูรณ์สวยงาม ในทุกศาสนาก็จะมีหลักอย่างนี้เหมือนกัน มีหลักความเชื่อและหลักปฏิบัติเพื่อยืนยันความเชื่อ และมีเรื่องจรรยา มารยาท คุณธรรม ศีลธรรมต่างๆ แต่เราให้เห็นความต่างว่าอิสลามศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว เราไม่กราบไหว้สิ่งอื่นๆ ซึ่งในศาสนาอื่นๆ ถ้าหากศึกษาเนื้อหาจริงๆ แล้วการกราบไหว้วัตถุบูชารูปปั้นมันก็ไม่มีในเนื้อหาคำสอนของทุกศาสนา ถ้าลองกลับไปดูลึกๆ เราก็อธิบายให้เขาเข้าใจ ให้เขาได้เห็น พอเห็นภาพรวมแล้ว ก็จะประกอบไปด้วยหลักศรัทธา หลักปฏิบัติ คือถ้าคุณต้องการรายละเอียดเราก็จะพาคุณลงจากอากาศจากเฮลิคอปเตอร์ เราก็มาเดินดูต้นไม้แต่ละต้น หินแต่ละก้อน ดูในรายละเอียดซึ่งกล่าวไว้ใน 15 ชั่วโมง 15 หัวข้อ ถ้าเขาสนใจก็มาดูได้ในรายละเอียด คือคนที่มาครั้งแรกจะได้เห็นภาพรวมอิสลามแล้ว จากนั้นพอเข้าฟังบรรยายเขาก็จะต่อติด เพราะมีพื้นมาแล้ว


คนต่างศาสนิกมักศรัทธาและกราบไหว้สิ่งที่เขาเห็นเป็นรูปลักษณ์สิ่งที่เขาสามารถจับต้องได้ แต่ในอิสลามสิ่งที่เราศรัทธาในสายตาคนอื่นมันคือความว่างเปล่า อาจารย์มีวิธีอธิบายคนต่างศาสนิกในเรื่องนี้อย่างไร ?

ง่ายๆเลย เราก็บอกว่า การมองไม่เห็นไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นไม่มี สิ่งที่มีอยู่ไม่จำเป็นต้องมองเห็น สิ่งที่มองไม่เห็นมีมากกว่าสิ่งที่มองเห็น อย่างเช่นกลางวันนี้เรามองขึ้นไปบนท้องฟ้าเรามองไม่เห็นดวงดาวแต่ไม่ได้หมายความว่าดวงดาวไม่มีเพราะว่าแสงอาทิตย์มันบดบังดวงดาวต่างๆเอาไว้หมด ดาวพฤหัสใหญ่กว่าโลกพันเท่าเราก็มองไม่เห็นก็ไม่ได้หมายความว่าดาวพฤหัสไม่มี ไวรัส แบคทีเรียอยู่รอบตัวเรา เรามองไม่เห็นแต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มี ตาเราต่างหากที่มองไม่เห็น บางคนอาจแย้งว่าเดี๋ยวนี้มีกล้องจุลทรรศน์ แล้วเราก็ไม่ปฏิเสธก็ใช่เพราะว่ามันเป็นวัตถุสามารถมองเห็นได้เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ว่ายังมีสิ่งที่มองไม่เห็นแล้วมีอยู่อีก ยกตัวอย่างง่ายๆ ความรู้ความสามารถที่อยู่ในตัวของทุกคน เอาตั้งโต๊ะให้ผมดูหน่อยหรือเอากล้องจุลทรรศน์ กล้องโทรทัศน์มาส่อง ให้ผมเห็นความสามารถของคุณหน่อยทำได้ไหม ผมรู้ว่าคุณมีความรู้ความสามารถแต่คุณก็ทำไม่ได้ เพราะความรู้ความสามารถมันไม่ใช่วัตถุ แล้วเราจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าคุณมีความรู้ความสามารถ คุณก็ต้องแสดงผลงานให้ผมรู้ ให้ผมได้เห็น หมายความว่าถ้าคุณเป็นนักดนตรีคุณก็เล่นดนตรีให้ผมฟัง คุณเป็นช่างไม้ คุณเป็นคนทำกับข้าว คุณก็แสดงฝีมือความรู้ความสามารถให้ผมเห็นในรูปของผลงานออกมา เพราะฉะนั้นเวลาเรารู้จักพระเจ้าที่เรามองไม่เห็นเราก็ดูจากผลงานรอบตัวเรา ดาวนับแสนล้านดวง ต้นไม้ ภูเขา ถามว่าใครเป็นคนสร้างมัน มนุษย์หรือเปล่า ไม่ใช่มนุษย์ แล้วถามว่าธรรมชาติคืออะไร ถ้าบอกคือความบังเอิญ แต่ความบังเอิญไม่มีน่ะ ในศัพท์ทางวิทยาศาตร์เพราะวิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ของเหตุผล ธรรมชาติไม่ใช่ความบังเอิญ จริงๆแล้วธรรมชาติมาจากคำสองคำรวมกัน คำว่าธรรม แปลว่า ความจริง กับชาตะ คือ ต้นกำเนิดที่มาแต่เดิม ธรรมชาติรวมกันก็คือ ความจริงที่มีมาแต่เดิม พอเราเกิดมาเราเห็นดวงอาทิตย์ มันมีอยู่แต่เดิม ฉะนั้นดวงอาทิตย์ก็คือธรรมชาติ แต่ธรรมชาติก็คืองานรังสรรค์ งานสร้างสรรค์ของพระผู้เป็นเจ้าที่เรามองไม่เห็น เราบอกได้ว่าการที่เรามองไม่เห็นมันไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นไม่มี เพียงแต่เรามองไม่เห็น

ถ้าเราบอกว่าธรรมชาติคือความบังเอิญมันก็ขัดแย้งกับปัญญาของเรา ยกตัวอย่างเช่น เรานั่งกินข้าวกับเพื่อนสองคนมีรองเท้าแตะเก่าๆ ลอยมาตกใส่จานข้าวและเพื่อนบอกว่าอันนี้เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเป็นความบังเอิญ คุณจะยอมรับไหม เราก็อธิบายง่ายๆ อย่างนี้แหละ มันเป็นเรื่องของสติปัญญา เพราะฉะนั้นเวลาเราเชื่อพระเจ้า เราเชื่อจากสติปัญญา ไม่ใช่เพียงเพราะตาเห็น เพราะบางทีตาเห็นอาจจะไม่ใช่ของจริงก็ได้ อาจจะเป็นกลลวงต่างๆ สารพัด การที่ตามองเห็นมันยังไม่ใช่ความจริงเสมอไป แต่ถ้าเราใช้สติปัญญาคิดเราจะได้ความจริงที่เกินกว่าตามนุษย์มองเห็น

รายละเอียดเพิ่มเติ่มได้ที่ : http://www.knowislamthailand.org/orther-news/271-banjong
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่