เรื่องดับทุกข์นั้นง่าย แต่เรามาทำให้มันยากกันไปเอง

ความทุกข์ที่พระพุทธเจ้าสอน คือความทุกข์ของจิตใจ (ไม่ใช่ความทุกข์ของร่างกาย) เช่น ความเศร้าโศก ความแห้งเหี่ยวใจ ความตรอมใจ ความเร่าร้อนใจ ความไม่สบายใจ เป็นต้น

ความทุกข์เกิดเมื่อใด ก็แสดงว่ามันกำลังมีเหตุของมันเกิดอยู่ ซึ่งเหตุของมันก็คือ อุปาทาน คือความยึดถือว่ามีตัวเรา ที่เกิดขึ้นมาเพราะตัณหา คือ ความอยาก กับ ไม่อยาก โดยมีอวิชชา (ความรู้ผิดว่ามีตัวเรา) เป็นต้นตอ (ตามหลักปฏิจจสมุปบาท)

ดังนั้นเมื่อเราทำให้เหตุของมันหายไปเมื่อใด ความทุกข์มันก็จะหายไปเมื่อนั้น (คือทำให้อวิชชาและตัณหา-อุปาทานดับหายไปเมื่อใด ทุกข์ก็จะดับหายไปเมื่อนั้น)

แต่ถ้าเหตุของมันเกิดขึ้นมาอีก ทุกข์มันก็เกิดขึ้นมาได้อีก จนกว่าเราจะกำจัดต้นเหตุของมันได้หมด ทุกข์ก็จะไม่เกิดอีกอย่างถาวร (โดยใช้ปัญญา ศีล สมาธิ หรืออริยมรรคมีองค์ ๘)

หลักการดับทุกข์ของพระพุทธเจ้านี้จะมีความจริงมารองรับ ซึ่งมันไม่ได้ยุ่งยากหรือเป็นเรื่องลึกลับเลย แต่ที่มันยากก็เพราะเราไปมีความเชื่อที่งมงาย จึงทำให้ไม่ยอมรับความจริง คือไปเชื่อเรื่องว่ามีเราที่ไม่ดับหายไปแม้ร่างกายจะตายไปแล้ว ดังนั้นจึงทำให้เข้าใจเรื่องทุกข์ของพระพุทธเจ้าผิด คือไปเข้าใจว่าความทุกข์คือความทุกข์ของร่างกาย และเข้าใจผิดว่าต้นเหตุของทุกข์คือการเกิดร่างกายขึ้นมา แล้วก็ทำให้เข้าใจผิดต่อไปอีกว่า การไม่เกิดร่างกายขึ้นมาอีกนั้นคือการดับทุกข์ หรือนิพพาน แล้วก็ทำให้เกิดการปฏิบัติที่ผิดต่อไปอีก คือกลายเป็นว่าการปฏิบัติของอริยมรรคคือเป็นการปฏิบัติเพื่อที่จะไม่ให้มีการเกิดร่างกายขึ้นมาอีก

ซึ่งนี่คือการทำเรื่องที่มันง่ายให้มันยากจนปฏิบัติไม่ได้จริง จึงทำให้ผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติเกือบทั้งหมด เกิดความท้อถอยและละทิ้งการปฏิบัติ เพราะเข้าใจผิดว่าต้องสั่งสมบารมีอีกหลายหมื่นหลายแสนชาติจึงจะดับทุกข์ได้ แต่ถ้าเราจะศึกษาให้ถูกต้อง เราก็จะเข้าใจได้ว่า เรื่องการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของพระพุทธเจ้านั้นไม่ได้ยากเย็นเลย เพราะเราทุกคนสามารถปฏิบัติได้ในชีวิตจริงในปัจจุบัน เพียงศึกษาจากสิ่งที่เรามีอยู่จริงในปัจจุบัน และปฏิบัติอยู่ในการดำเนินชีวิตของเราในปัจจุบันนี่เอง
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ศาสนาพุทธ ปฏิบัติธรรม
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่