คูปองแลกกล่องทีวีดาวเทียม(7) : "สองแพร่ง"ถูกฟ้องแน่หรือเดินดินฉลุย

ใกล้วันที่เราจะรู้ผลว่าคูปองทีวีดิจิตอลจะมีราคาเท่าไหร่ แลกอะไรได้บ้าง ในวันพฤหัสบดีนี้ (24 กรกฎาคม)
ข่าวลือคือคูปองต่ำกว่า 1000 สูงกว่า 690 และแลกได้ทุกอย่าง

บทความล่าสุดในคอลัมน์คิดใหม่วันอาทิตย์ ของคุณอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ(Nation TV)
เขียนบทความถึง 2 แนวทางที่อาจจะเกิดขึ้นถ้า กสทช. ตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งออกไป เชิญอ่านครับ



วันที่ 24 ก.ค.นี้ คณะกรรมการกิจกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมคมแห่งชาติ (กสทช.) นัดประชุมวาระสำคัญพิจารณาผลสรุปประชาพิจารณ์ "การดำเนินโครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล" หรือสรุปภาษาง่ายคือ กสทช.จะต้องชี้ขาดว่าคูปองจากเงินประมูลทีวีดิจิทัลราคาเท่าไหร่ต่อครัวเรือน และให้แลกซื้ออุปกรณ์ได้กี่ประเภท

กสทช.น่าจะมีทางเลือกแค่ 2 ทางเท่านั้น

ทางแพร่งแรก เดินหน้าโดยไม่สนใจเงื่อนไขใดๆก่อนการประมูลทีวีดิจิทัล ด้วยการอนุมัติให้ราคาคูปองเพิ่มขึ้นจาก 690 บาทต่อครัวเรือนเป็น 1,000 บาทหรือเท่าไหร่ก็ได้ และสามารถแลกซื้ออุปกรณ์เพื่อรับชมทีวีดิจิทัลได้ทั้ง 4 ประเภท คือส่วนลดซื้อโทรทัศน์ที่มีจูนเนอร์ในตัวเครื่อง,กล่องรับสัญญาณภาคพื้นดิน( DVB-T2 ),กล่องรับสัญญาณจากดาวเทียม( DVB-S2) และกล่องรับสัญญาณจากเคเบิลทีวี( DVB-C )

ทางแพร่งที่สอง เดินหน้าไปตามเงื่อนไขก่อนการประมูล ด้วยการกำหนดมูลค่าคูปอง 690 บาทต่อครัวเรือนตามเงินประมูลขั้นต่ำและคูปองแลกซื้ออุปกรณ์ได้ 2 ประเภทตามมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.)ในวันที่ 14 ม.ค. 2556 คือเครื่องรับโทรทัศน์ที่มีจูนเนอร์ในตัว( iDTV ) และกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน( DVB-S2 )

ผมคงไม่มีความเห็นเพิ่มเติมในการแนะนำกสทช.ให้เดินหน้าไปทางเลือกไหน แต่อยากให้ลองอ่านข้อความบนโซเชียลมีเดีย Facebook/Natee Sukonrat และ Twitter @DrNateeDigital เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2556 อีกครั้งเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ลองทำความเข้าใจว่าข้อความของพ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานกสท.บนเฟซบุ๊กก่อนการประมูลทีวีดิจิทัลประมาณเกือบ 1 ปีแล้วมีความเข้าใจกันอย่างไร

กระบวนการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่โทรทัศน์ระบบดิจิทัล ( 15 ม.ค. 56 )

1.การประชุมคณะกรรมการกสท./กสทช. 14 ม.ค.56 มีการพิจารณาวาระสำคัญของการสนับสนุนกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัล
2.โดยกสท.ได้พิจารณาข้อเสนอคณะอนุกรรมการเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณโทรทัศน์ไปสู่ระบบดิจิทัลเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน
3.การเปลี่ยนผ่านจะเกิดผลกระทบต่อประชาชนโดยรวมทั้งประเทศ เนื่องจากเครื่องรับโทรทัศน์อนาล็อกเดิมจะไม่สามารถรับสัญญาณดิจิทัลได้

4.การแก้ไขปัญหาทำได้สองวิธีคือ(1) การมีกล่องแปลงสัญญาณหรือ Set-Top-Box หรือ (2) เปลี่ยนเครื่องรับโทรทัศน์ใหม่ระบบดิจิทัล
5.Set-Top-Box ใช้ในการรับสัญญาณดิจิทัลแล้วแปลงสัญญาณกลับเป็นระบบอนาล็อกเพื่อให้เครื่องรับโทรทัศน์อนาล็อกเดิมรับสัญญาณได้
6.กระบวนการเปลี่ยนผ่านเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก หน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่จำเป็นต้องสร้างกระบวนการเพื่อให้กระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด


7.ในกรณีประเทศไทยนั้นคณะอนุกรรมการเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณโทรทัศน์ไปสู่ระบบดิจิทัล ได้นำเสนอกระบวนการดังกล่าวต่อกสท.
8. โดสนับสนุนประชาชนให้ได้รับบริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลอย่างทั่วถึง ในรูปแบบการแจกจ่ายคูปองส่วนลดให้กับประชาชน
9.คูปองส่วนลดดังกล่าวใช้เงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่เพื่ออนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการโทรทัศน์บริการทางธุรกิจ

10.การแจกจ่ายคูปองส่วนลดควรแจกจ่ายให้กับทุกครัวเรือนโดยเท่าเทียมกัน เนื่องจากคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติของประชาชนทุกคน
11.คูปองส่วนลดควรมีความคล่องตัว ให้ประชาชนสามารถเลือกใช้เป็นส่วนลดในการจัดหาทั้งเครื่องรับโทรทัศน์ดิจิทัลหรือ Set-Top-Box ก็ได้
12.อนุกรรมการฯเสนอให้สนับสนุนเป็นจำนวนเงินขั้นต่ำของคลื่นความถี่ ซึ่งก็เป็นมูลค่าที่เป็นผลจากการประเมินทางวิชาการ


13.เนื่องจากรายได้การประมูลจะต้องนำส่งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง โทรทัศน์และโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ
14.กสท.มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของอนุกรรมการฯและให้นำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนฯเพื่อพิจารณาแนวทางดังกล่าว
15.ข้อเสนอของอนุกรรมการฯและมติของกสท.เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ประชาชนจะได้รับบริการโทรทัศน์ระบบใหม่อย่างรวดเร็ว

16.ผู้ประกอบกิจการที่เข้าประมูลก็จะมีความมั่นใจว่าจะมีผู้ชมโทรทัศน์ระบบดิจิทัลเพียงพอต่อการตัดสินใจในการประกอบกิจการทางธุรกิจ
17. การนำเงินรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่สาธารณะ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของกลับสู่ประชาชนทุกคนเป็นสิ่งที่เป็นธรรม และ
18.กระบวนการเปลี่ยนผ่านทำให้สามารถใช้คลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ต่อประเทศโดยรวมครับ

หากใครยังต้องการอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับคำถาม-คำตอบเรื่องคูปองที่ พ.อ.ดร.นทีได้พยายามอธิบายไว้หลายครั้งในช่วงก่อนการประมูลเพื่อทำความเข้าใจกับสื่อและสาธารณชน รวมทั้งผู้สนใจเข้าประมูลทีวีดิจิทัล ยังสามารถหาอ่านได้ในวันที่ 25 ม.ค.2556 ถาม-ตอบ แม่ลูกจันทร์(สำนักข่าวหัวเขียว)นสพ.ไทยรัฐ ฉบับ 24 ม.ค. 2556, 28 ม.ค.2556 ถาม-ตอบ เรื่องการสนับสนุนคูปองส่วนลด , 14 มิ.ย. 2556 การประมูลโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ตอนที่ 9 : เงื่อนไขการชำระเงินและการสนับสนุน STB

แต่หลังประมูลทีวีดิจิทัลเสร็จในสิ้นปี 2556 ช่วงหลังสงกรานต์ประมาณปลายเดือนเม.ย.2557 พ.อ.ดร.นทีได้เริ่มเขียนอธิบายเพิ่มเติมผ่าน Facebook และ Twitter อีกหลายครั้งในประเด็นคูปองส่วนลด แต่ดูเหมือนว่าเนื้อหาได้เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมากมีการชี้แจงอย่างละเอียดทำไมให้เพิ่มอุปกรณ์ที่ให้แลกซื้อได้อีก 2 ประเภทคือกล่องรับสัญญาณดาวเทียมและกล่องรับจากเคเบิล

ทั้งๆ ที่ในช่วงก่อนการประมูลไม่เคยเอ่ยถึงอุปกรณ์ 2 ประเภทหลังแม้แต่ครั้งเดียว จนทำให้คนทั่วไปและผู้สนใจประมูลมีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันว่าคูปองส่วนลดแลกซื้ออุปกรณ์ได้แค่ 2 ประเภทตามมติกสท.เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2556 โดยในช่วงหลังการประมูลทีวีดิจิทัลเสร็จ กสท.ยังมีมติสำคัญๆ อีกหลายเรื่องที่ต้องการเกื้อหนุนให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว

และกสท.ยังมีมติเมื่อวันที่ 3 ก.พ.จำกัดสิทธิ์ของช่อง 3 อนาล็อกให้ใบอนุญาตเดิมเผยแพร่รายการได้เฉพาะอนาล็อกภาคพื้นดิน แล้วยืนยันว่าหากช่อง 3 ยังต้องการออกอากาศบนโครงข่ายดาวเทียมและเคเบิลทีวีจะต้องมีใบอนุญาตทีวีดาวเทียมที่เป็นโทรทัศน์บอกรับสมาชิกที่อนุญาตให้มีโฆษณาได้ 6 นาที จนช่อง 3 ตัดสินใจฟ้องต่อศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราวในการออกอากาศผ่านโครงข่ายดาวเทียมและเคเบิล

หากผู้อ่านและคณะกรรมการกสทช.ได้อ่านข้อมูลย้อนหลังเงื่อนไขก่อนการประมูลทีวีดิจิทัล ไม่มีทางจะคิดเป็นอย่างอื่นไปได้ว่ากสท.บอกชัดเจนเป็นนโยบายว่าต้องการให้นำเงินจากการประมูลไปเปลี่ยนเป็นคูปองเพื่อให้ประชาชนนำไปแลกซื้อโทรทัศน์ที่มีจูนเนอร์ในตัวหรือแลกซื้อกล่องแปลงสัญญาณดิจิทัลภาคพื้นดินไปเสียบเข้ากับเสาอากาศเดิมและโทรทัศน์เก่าเพื่อไม่ให้เป็นภาระในการซื้อโทรทัศน์ใหม่ แต่จะทำให้ผู้บริโภครับชมทีวีดิจิทัลได้ 48 ช่องแบบเต็มอิ่มมากขึ้น

หากผู้อ่านและคณะกรรมการกสทช.ได้ทราบเงื่อนไขก่อนการประมูลทีวีดิจิทัลว่ากสท.ต้องการให้นำเงินประมูลทีวีดิจิทัลไปแลกซื้ออุปกรณ์ได้ 4 ประเภทเพิ่มเติมอีก 2 ประเภทคือกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมที่มีช่องทีวีดาวเทียมเดิมอยู่อีกประมาณ 200 ช่องที่มีรายได้จากการขายโฆษณาเหมือนกับทีวีดิจิทัลทางธุรกิจ 24 ช่องที่เปิดประมูลด้วยเงินสูงมากเริ่มต้น 15,900 ล้านบาท แต่ผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมไม่ได้ใช้เงินประมูลใดๆ เพียงแค่ยื่นขอใบอนุญาตแล้วเสียค่าธรรมเนียมรายปีไม่กี่พันบาทก็ได้รับอนุญาตแล้ว

คิดแบบเร็วๆ เอาหัวใจพ่อค้าเจ้าของบริษัทที่ซื้อซองประมูลจะแห่กันเข้าไปเคาะราคากันสนั่น จนราคาเพิ่มขึ้นเตลิดเปิดเปิงสูงไปกว่า 50,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาขั้นต่ำกว่า 4-5 เท่าตัวหรือไม่ แค่คำตอบที่ได้ก็แทบไม่ต้องชี้นำว่า กสทช.ควรจะเลือกอนุมัติแบบไหน ระหว่างเป็นไปตามเงื่อนไขก่อนการประมูลหรือไม่สนใจเงื่อนไขก่อนการประมูล ทางสองแพร่งนี้ชัดเจนว่าถ้าไม่สนใจเงื่อนไขก่อนการประมูลจะถูกฟ้องแน่ๆ ทั้งจากผู้ชนะการประมูลและผู้แพ้การประมูล รวมทั้งกลุ่มผู้บริโภคด้วย ข้อย้ำว่าไม่ใช่มีความ"เสี่ยง"แต่จะ"ถูกฟ้อง"แน่ๆ

ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/re-think/20140720/594065/%E0%B8%84%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1(7)-:-%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%89%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B8%A2.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่