ร่วมรณรงค์แก้ไข พระราชบัญญัติประกันสังคม ที่ไม่เป็นธรรม

ร่วมรณรงค์แก้ไข พระราชบัญญัติประกันสังคม ที่ไม่เป็นธรรม
ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมทุกท่าน ทราบหรือไม่ว่า
พระราชบัญญัติประกันสังคม มาตราที่ 77 ทวิ กล่าวไว้ว่า
“มาตรา ๗๗ ทวิ ในกรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อย
แปดสิบเดือนให้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่อายุครบห้าสิบห้าปีบริบูรณ์
เว้นแต่เมื่อมีอายุครบห้าสิบห้าปีบริบูรณ์และความเป็นผู้ประกันตนยังไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา ๓๘ หรือ
มาตรา ๔๑ ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
ในกรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไม่ครบหนึ่งร้อยแปดสิบเดือนและความเป็น
ผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงตามมาตรา ๓๘ หรือมาตรา ๔๑ ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ”

เมื่อทราบข้อความในมาตรา 77 ทวินี้แล้ว ผู้ประกันตนลองตรวจสอบดูว่า ปัจจุบันท่านได้จ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาแล้วรวมกี่เดือน ซึ่งประกันสังคมเริ่มเก็บเงินกรณีชราภาพมาตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2541

หากท่านผู้ประกันตน ที่ตั้งใจจะรับ เงินบำนาญชราภาพ ขอให้ท่านเลิกสนใจและไม่ต้องติดตามอ่านข้อมูล ที่จะอธิบายต่อไปนี้ได้เลยครับ
แต่ถ้าสนใจว่าพวกเราผู้ประกันตนที่ส่งเงินเข้าสู่ระบบประกันสังคมมา 10 กว่าปี ถูกจำกัดสิทธิ์ในการรับผลประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคมอย่างไร พระราชบัญญัติประกันสังคมไม่มีความเป็นธรรมต่อผู้ประกันตนแค่ไหน ขอให้ติดตามต่อได้เลย

        ขออธิบายความหมายคำว่า “เงินบำนาญชราภาพ กับ เงินบำเหน็จชราภาพ” กันก่อนนะ
        เงินบำนาญชราภาพ  หมายถึง เงินเลี้ยงชีพรายเดือน
        เงินบำเหน็จชราภาพ หมายถึง เงินบำเหน็จที่จ่ายให้ครั้งเดียว

จะขออธิบายแจกแจงแยกประเด็นข้อความตามมาตรา 77 ทวิ ให้ ดังนี้
1.    ถ้าท่านส่งเงินมาแล้วตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป และอายุของท่านครบ 55 ปีในขณะนี้ และท่านสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน (การสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน จะเกิดขึ้นเมื่อไร จะค่อยๆ อธิบายต่อไปครับ) นั่นหมายความว่า ท่านจะได้รับเป็นเงินบำนาญชราภาพเท่านั้น  ไม่ใช่ได้รับเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ
2.    หากท่านส่งเงินมาแล้วตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป และอายุของท่านครบ 55 ปี แต่ท่านยังไม่สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน (คือยังทำงานอยู่ในบริษัทของท่านต่อไป) ท่านก็ยังไม่ได้รับเงินบำนาญชราภาพ จนกว่าท่านจะสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน (คือลาออกจากงานและแจ้งการลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนกับโดยการแสดงความจำนงต่อสำนักงานประกันสังคมอย่างเป็นทางการ) ท่านถึงจะได้รับเป็นเงินบำนาญชราภาพใน
เดือนถัดจากการสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน (การคำนวณเงินบำนาญชราภาพจะได้รับกันท่านละเท่าไร จะอธิบายต่อไป)
3.    หากท่านส่งเงินมาแล้วตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป และอายุของท่านยังไม่ครบ 55 ปี และยังไม่สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน (คือยังทำงานอยู่ในบริษัทของท่านต่อไป) ท่านก็ยังไม่ได้รับเงินบำนาญชราภาพ จนกว่าท่านจะอายุ 55 ปีบริบูรณ์และสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนมาแล้ว  ท่านถึงจะได้รับเป็นเงินบำนาญชราภาพในเดือนถัดจากเดือนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
4.    หากท่านส่งเงินมาแล้วตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป และอายุของท่านยังไม่ครบ 55 ปี และสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนอย่างเป็นทางการแล้ว (อธิบายคือขณะนี้ท่านไม่ได้ทำงาน (ตกงาน) หรืออาจจะประกอบอาชีพอิสระไม่ได้เป็นลูกจ้างพนักงานของบริษัทใดอีก เป็นต้น) และไม่ได้ส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามมาตรา 39 (จะอธิบายมาตรา 39 ให้ต่อไปนะครับ) ท่านก็ยังไม่ได้รับเงินบำนาญชราภาพ จนกว่าท่านจะอายุ 55 ปีบริบูรณ์และสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนมาแล้ว  ท่านถึงจะได้รับเป็นเงินบำนาญชราภาพในเดือนถัดจากเดือนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

อ่านมาถึงตอนนี้ จากทั้ง 4 กรณี เห็นหรือยังครับ ว่า ผู้ประกันตนที่ส่งเงินมาแล้วมากกว่า 180 เดือน จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเท่านั้น และจะได้รับก็ต่อเมื่อ อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์และสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน

คราวนี้ลองมาพิจารณาประเด็นตามข้อความในมาตรา 77 ทวิ นี้ว่า ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ ในกรณีไหนบ้าง อย่างไร

5.    หากท่านส่งเงินมาแล้วไม่ถึง 180 เดือน(คือน้อยกว่า 179 เดือน) และอายุของท่านครบ 55 ปีในขณะที่อ่านอยู่นี้  แต่ท่านยังทำงานกับบริษัทอยู่(คือยังไม่สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน)  หากท่านต้องการรับเป็นเงินบำเหน็จ (ขอย้ำว่าท่านต้องการเงินบำเหน็จ) ท่านจะต้องสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน นั่นคือ ท่านต้องลาออกจากการเป็นลูกจ้างบริษัทเดี๋ยวนี้เลยครับ  และแจ้งการลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคมอย่างเป็นทางการ ท่านถึงจะมีสิทธิ์ได้รับเงินบำเหน็จ
6.    หากท่านส่งเงินมาแล้วไม่ถึง 180 เดือน(สมมุติว่าขณะนี้ส่งเงินมาแล้ว 179 เดือน) และอายุของท่านยังไม่ถึง 55 ปี และยังทำงานกับบริษัทอยู่  แต่ท่านต้องการรับเงินบำเหน็จ ท่านก็ยังรับไม่ได้เพราะยังทำงานอยู่และอายุยังไม่ถึง 55 ปี  ซึ่งแน่นอนว่าบริษัทนายจ้างของท่านจะต้องหักเงินนำส่งเข้าประกันสังคม ของเดือนที่ 180 แน่นอน  ทำให้ท่านเข้าเงื่อนไขในข้อ 3.  คือท่านไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินบำเหน็จ  ท่านจะได้รับสิทธิ์เป็นเงินบำนาญเท่านั้น

อ่านมาถึงตรงนี้ สรุปคือ ท่านจะได้บำเหน็จก็ต่อเมื่อท่านต้องไม่เป็นลูกจ้างแล้วและมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ หากอายุตอนนี้ยังไม่ถึง 55 ปี ท่านต้องรอถึงอายุ 55 ปีและต้องไม่เป็นลูกจ้างกับบริษัทไหนอีกเลย ท่านจึงจะได้รับเงินบำเหน็จซึ่งเป็นเงินก้อนจากประกันสังคม (อธิบายง่ายๆ คือ ท่านต้องอยู่ระหว่างไม่ได้ทำงานหรือประกอบอาชีพอิสระนั่นเอง เพราะหากท่านได้เข้าทำงานเป็นลูกจ้างกับบริษัทไหนอีกในช่วงระหว่างรอให้อายุถึง 55 ปี นายจ้างใหม่ต้องหักเงินจากท่าน จะทำให้ท่านส่งเงินเข้าประกันสังคมอีกเป็นเดือนที่ 180 ทันที)

คราวนี้ลองมาดูกันซิว่า จำนวนเงินบำนาญที่ได้รับ แตกต่างกับจำนวนเงินบำเหน็จที่ได้รับมากน้อยแค่ไหน

ขอสรุปข้อมูลเกี่ยวกับกรณีของภรรยาผม (ซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39) เพื่อให้เห็นว่าจำนวนเงินที่ภรรยาผมจะได้รับ หากเขาไม่ติดในเงื่อนไขข้อ 1,2,3 คือส่งเงินเข้าประกันสังคมไปมากกว่า 180 เดือน (ส่งไปจริง 181 เดือน) โดยที่ภรรยาผมจะเลือกเป็นบำเหน็จ  เขาจะได้รับบำเหน็จประมาณ 102,000 บาท (หนึ่งแสนสองพันบาท) แต่กฎหมายประกันสังคมที่ไม่มีความเป็นธรรม ไม่สามารถให้เลือกว่าจะเลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญ  แต่กำหนดบังคับให้ได้สิทธิ์เฉพาะรับเงินบำนาญเท่านั้น ทำให้ภรรยาผมได้รับเงินบำนาญทุกเดือนเดือนละ 960 บาท (เก้าร้อยหกสิบบาท) ไปตลอดชีวิต แต่ขณะนี้เขาอายุยังไม่ถึง 55 ปี แต่ได้แจ้งลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนแล้ว ยังต้องรออีก 3 ปี ถึงจะได้รับเงินบำนาญชราภาพ 960 บาท ไปตลอดชีวิต  

        ทั้งๆที่พวกเราผู้ประกันตนส่งเงินเข้าสู่ระบบประกันสังคมมา 10 กว่าปี สำนักงานประกันสังคมนำเงินของพวกเราผู้ประกันตนไปลงทุนได้ผลประโยชน์มากมาย เป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุด มีเงินทุนเป็นจำนวนล้านล้านบาท แต่กฎหมายประกันสังคมกลับมาจำกัดสิทธิ์ของผู้ประกันตนที่ส่งเงินมากกว่า 180 เดือนและสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน ให้รับเป็นบำนาญชราภาพ เท่านั้น

        ยิ่งไปกว่านั้นการถูกกำหนดให้ผู้ประกันตนได้รับเงินผลประโยชน์ทดแทนไม่ว่าจะเป็นบำเหน็จหรือบำนาญ ตามหลักเกณฑ์ทั้ง 6 ข้อที่กล่าวมาแล้วคือ จะต้องลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน นั่นคือ สิทธิ์ที่จะได้เบิกค่ารักษาพยาบาลก็ต้องหมดไป   กรณีของภรรยาผมที่ได้สิทธิ์ให้รับเป็นเงินบำนาญเพียงเดือนละ 960 บาท จะเพียงพอหรือไม่ แถมสิทธิ์ในการเบิกรักษาพยาบาลก็ไม่ได้เพราะออกจากการเป็นผู้ประกันตนแล้ว  พวกเราคิดดูซิว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม มาตรา 77 ทวิ  มีความเป็นธรรมหรือไม่ สมกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติประกันสังคมช่วงหนึ่งจากทางหน้า Web site ของสำนักงานประกันสังคมว่า “เจตนารมณ์ที่พระราชบัญญัติประกันสังคมกำหนดให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเป็นบำนาญรายเดือนให้แก่ผู้ประกันตนไปตลอดชีวิต  เพื่อให้ผู้ประกันตนมีเงินพอเลี้ยงชีพทุกเดือนไปจนตลอดชีวิต”    ผมขอเรียนถามว่าเงินบำนาญชราภาพที่ภรรยาผมได้รับเดือนละ 960 บาท จะเพียงพอต่อการดำรงชีพได้หรือไม่?  สมกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติหรือไม่?  


*** จึงขอเรียกร้องให้ผู้ประกันตนที่ส่งเงินเข้าประกันสังคมที่ใกล้ถึง 180 เดือน หรือเกิน 180 เดือนไปแล้ว และต้องการรับเป็นเงินบำเหน็จ
ร่วมกันร้องเรียน ขอให้ ฯพณฯ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจดูแลกระทรวงแรงงาน ที่เป็นต้นสังกัดของสำนักงานประกันสังคม
ขอให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไข พระราชบัญญัติประกันสังคม มาตรา 77 ทวิ เพื่อความเป็นธรรมให้พวกเราผู้ประกันตน ให้มีสิทธิ์ที่จะเลือกรับเป็นบำเหน็จหรือบำนาญก็ได้ และมีผลย้อนหลังให้กับผู้ประกันตนทุกๆ ท่าน ***

ขอดูเสียงสะท้อนกระทู้นี้ของผมก่อน ว่าเพื่อนๆ เห็นด้วยหรือไม่  หลังจากนี้ผมจะแจงรายละเอียดวิธีการคิดเงินบำเหน็จ บำนาญ ของประกันสังคมให้ทราบอีกครั้งหนึ่งครับ

ร่วมมือ ร่วมใจ เรียกร้องความเป็นธรรม อย่าให้กฏหมายมาบังคับ มาเอาเปรียบผู้ประกันตน ต่อไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่