"กำไร-ปันผล" อนาคตใหม่ EFORL

กระทู้สนทนา
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

  

ธุรกิจสื่อโฆษณาตัวการณ์ทำ EFORL “ขาดทุน 4 ปีซ้อน” ทว่าวันนี้คนบนดอยมีแววได้สัมผัสเงินปันผลครั้งแรก

เศรษฐกิจผันผวนและความไม่แน่นอนทางการเมือง ถือเป็น “ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ” ของธุรกิจสื่อโฆษณา ความผันผวนเหล่านั้นได้ผลักดันให้ “บมจ.อี ฟอร์ แอล เอม” หรือ EFORL ตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และให้บริการและผลิตสื่อโฆษณาภายในอาคาร (In-store Media) ชื่อเดิม “บมจ.แอปโซลูท อิมแพค” หรือ AIM ตกอยู่ใน “มุมมืด” มาตั้งแต่ปีแรก (2552) ที่เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2552-2555) บริษัทแสดงผลขาดทุน 54.96-124.51-51.26-65.43 ล้านบาท

ก่อน EFORL จะหันมาให้รุกธุรกิจจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในช่วงปลายปี 2556 การพึ่งพิงรายได้จากการให้บริการสื่อโฆษณาสูงถึงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็น “จุดตำนิ” ที่ทำให้บริษัทประสบผลขาดทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนที่เหนือการควบคุม “ความเครียด” จึงค่อยๆก่อตัวขึ้นในสมองของ “ปริญ ชนันทรานนท์” ในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2548

หลังบริษัท “ขาดทุนติดกัน 3 ปี” บมจ.อาดามัส อินคอร์ปอเรชั่น หรือ ADAM จึงตัดสินใจขายหุ้น AIM ทั้งหมด 428,214,100 หุ้น ก่อนจะประกาศเพิ่มทุนในเดือนก.ย.2555 จาก 280 ,000,000 บาท เป็น 280,000,900 บาท ต่อมาในเดือนมิ.ย.2556 บริษัทได้เพิ่มทุนเป็น1,380,002,025 บาท โดยจัดสรรให้กับบุคคลในวงจากัด และผู้ถือหุ้นเดิม ราคาขายต่อหุ้น 0.10 บาท

ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ของ EFORL ออกแนวกระจัดกระจาย โดย 5 อันดับแรก คือ “ศุภชัย วัฒนาสุวิสุทธิ์” สัดส่วน 6.01เปอร์เซ็นต์ รองลงมาเป็น “พิชชุดา ชาน” จำนวน 5.68 เปอร์เซ็นต์ “ทัศนีย์ วงศ์มณีโรจน์” 4.89 เปอร์เซ็นต์ “พิสิฏฐ์ ภิสสาสุนทร” 4.89 เปอร์เซ็นต์ และ “จักรพงษ์ โลหะเจริญทรัพย์” 4.62 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลข ณ วันที่ 18 มี.ค.2557

ทันทีที่ EFORL ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ด้วยการหันมาทำจำหน่ายครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ยี่ห้อ“Hamilton” และยี่ห้อ “NIHON KOHDEN” โดยมีเขตความรับผิดชอบทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย “แสงสว่างเริ่มสาดส่องมาที่ปลายอุโมงค์” โดยในปี 2556 บริษัทสามารถพลิกกลับมามี “กำไรสุทธิ” 26.46 ล้านบาท หลังมีรายได้จากการจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ 82 ล้านบาท ล่าสุด EFORL ได้ขายหุ้นทั้งหมดของบ.เอนโม ผู้ประกอบกิจการสื่อออนไลน์ให้กับ "กิติพงษ์ ธรรมชุตาภรณ์" ในราคา 4.83 บาทต่อหุ้น

เมื่อ “ความสวย” ค่อยๆเคลื่อนตัวแทนที่ “ความขี้เหร่” ทำให้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 บริษัทมี “กำไรสุทธิ” มากถึง 46.41 ล้านบาท หลังมีรายได้จากการขายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ 194.85 ล้านบาท

“จากหุ้นไม่มีอนาคตกำลังจะกลายเป็นหุ้นเทิร์นอะราวด์” “ธีรวุทธิ์ ปางวิรุฬห์รักข์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อี ฟอร์ แอล เอม เล่าว่าความเชื่อของตัวเองให้ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” ฟัง

“ผมรู้จัก “ปริญ” มานานหลายสิบปี วันหนึ่งเขาเดินมาปรับทุกข์ด้วย หลังกุ้มใจที่ทำให้บริษัทต้องตกอยู่ในภาวะขาดทุนนานถึง 4 ปี ตอนนั้นเขาพูดว่า ต้องการหาธุรกิจใหม่ๆเข้ามาเสริมรายได้ของบริษัท เขามีความมุ่งมั่นอยากคืนกำไรให้ผู้ถือหุ้นบ้าง” เพื่อนสนิทต่างวัยของ “ปริญ” (อายุ 54 ปี) เล่าถึงที่มาของการเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจของ EFORL

“ชายวัย 51 ปี” เล่าต่อว่า ด้วยความที่เรานั่งเป็นกรรมการใน “บริษัท อี ฟอร์ แอล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด” ประกอบกับมีความสัมพันธ์ทางอ้อมกับเจ้าของบริษัทแห่งนี้ “ธีรวุทธิ์” ไม่ยอมระบุความสัมพันธ์ชัดเจน จึงตัดสินใจนำเรื่องดังกล่าวไปเสนอต่อผู้ถือหุ้นใหญ่

ตอนนั้นเราไปถามหุ้นใหญ่ว่า สนใจนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯในลักษณะที่ไม่ต้องขายหุ้น IPO หรือไม่ หลังจากเกริ่นเรื่องนี้ไปไม่นาน เราใช้เวลาคุยกันต่ออีก 3-4 เดือน EFORLก็ประกาศขายหุ้นเพิ่มทุนให้นักลงทุนในวงจำกัด ต่อจากนั้นกระบวนการปรับโครงสร้างธุรกิจจึงเกิดขึ้น

“เมื่อธุรกิจกำลังรีเทิร์น ผู้ถือหุ้น EFORL ย่อมมีโอกาสได้รับเงินปันผล”

“ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” เล่าแผนธุรกิจสั้นๆในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า (2557-2561) ว่า เราจะเน้นขยายการเติบโตในธุรกิจจำหน่ายเครื่องมือแพทย์เป็นหลัก โดยจะเพิ่มแบรนด์ใหม่ๆเข้ามา เพื่อดันยอดขายให้เพิ่มขึ้น ทำไมต้องรุกหนักธุรกิจนี้ เขาตอบว่า “มาร์จิ้นสูงมาก”

ด้วยความที่ธุรกิจดังกล่าวมีทั้ง “ขาขึ้นและขาลง” บริษัทจึงจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือแพทย์ ล่าสุดอยู่ระหว่างศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจความงามและสุขภาพ ปลายปีนี้คงได้ข้อสรุป โดยบริษัทจะใช้กระแสเงินสดที่มีอยู่มาลงทุน (บริษัทมีกระแสเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ วันที่ 31 มี.ค.2557 ประมาณ 409.74 ล้านบาท)

“3 ปีข้างหน้า (2557-2559) รายได้รวมต้องแตะ 3,000 ล้านบาท”

“ธีรวุทธิ์” ขยายความต่อว่า ในปี 2557 รายได้จากการจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ต้องยืนระดับ 1,500 ล้านบาท โดยเราจะพยายามจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ให้ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์มากขึ้น ปัจจุบันมีการประสานงานติดต่อแบรนด์สินค้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศมากกว่า 30 ยี่ห้อ โดยจะเร่งดำเนินการขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้า ล่าสุดได้นำเข้าสินค้ามาแล้ว 14-15 ยี่ห้อ

ที่ผ่านมาบริษัทเน้นเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์ จากแบรนด์ที่มีชื่อเสียง เช่น Hamilton GE และ Olympus เป็นต้น ขณะเดียวกันบริษัทยังจะเพิ่มทีมงานที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญมาเสริมทัพให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจเชิงรุก ด้วยการเดินเข้าหาลูกค้าภายในประเทศที่เป็นกลุ่มโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน

“ปีนี้จะเป็นปีแห่งการเทิร์นอะราวด์ เขาย้ำ เนื่องจากอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์เป็นสินค้าที่มีการเติบโตสอดคล้องกับธุรกิจด้านการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งเมืองไทยและภูมิภาคอาเซี่ยนยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก”

เขาบอกว่า ปัจจุบันตลาดอุตสาหกรรมด้านสุขภาพของเมืองไทยมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 400,000 ล้านบาท คิดเป็น 4 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ของประเทศ แบ่งเป็นธุรกิจอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ 10 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็น 40,000 ล้านบาท

ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รวบรวมค่าเฉลี่ยอัตราการใช้เครื่องมือแพทย์ของประเทศที่เจริญแล้วไว้ระดับ 12 เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP ประเทศ จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยยังมีความต้องการอีกมาก ขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั้งโลกอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์

“ธีรวุทธิ์” พูดทิ้งท้ายว่า อยากเห็นด EFORL มีธุรกิจอยู่เหนือคู่แข่ง มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่าอุตสาหกรรม และมีกระแสเงินสดคอยหล่อเลี้ยงต่อเนื่อง ที่สำคัญอยากให้บริษัทมีความเป็นสากลมากขึ้น

ส่วนในแง่ของการลงทุนอยากให้นักลงทุนถือหุ้น FORL“ระยะยาว” ไม่อยากให้มองเป็นการลงทุนสั้นๆ หรือเก็งกำไร เพราะธุรกิจของเราจะมีการเติบโตอย่างแน่นอน หากอุตสาหกรรมขยายตัว

“หากไม่มีอะไรผิดพลาดปี 2558 บริษัทจะย้ายการซื้อขายจากตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) ไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ (SET) เมื่อย้ายไปแล้วราคาหุ้นคงดีขึ้น”

“ธีรวุทธิ์ ปางวิรุฬห์รักข์” เล่าเรื่องลงทุนสั้นๆให้ฟังว่า เริ่มรู้จักตลาดหุ้นมาตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรีใหม่ๆ ด้วยความที่อยู่ในแวดวงการเงินมาตลอด เพราะจบปริญญาตรี คณะบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท การบริหารการจัดการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ช่วงแรกของการลงทุนเน้นกลยุทธ์ “เก็งกำไร” ควักเงินลงทุนก้อนแรกจำไม่ได้ว่า จำนวนเท่าไหร่ แต่ลงทุนครั้งแรกในปี 2527 เพื่อซื้อ “กองทุนศรีภิญโญ” ช่วงนั้นตลาดหุ้น “บูม” มาก สาเหตุที่เลือกซื้อกองทุน เพราะว่าสมัยนั้นมีหุ้นให้เลือกน้อยไม่เหมือนปัจจุบัน

ลงทุนครานั้นได้กำไร “ร้อยเปอร์เซ็นต์” ส่วน “หุ้นรายตัว” ตัวแรกที่ลงทุน คือ หุ้น ผาแดงอินดัสทรี หรือ PDI ได้ผลตอบแทนคืนกลับมา “ร้อยเปอร์เซ็นต์” เช่นกัน

เขาบอกว่า หลังจากมีงานประจำทำ วิธีการลงทุนเริ่มเปลี่ยนไป ปัจจุบันหันมาลงทุนแบบ “ระมัดระวัง” แบ่งพอร์ตการลงทุนออกเป็น 2 ลักษณะ คือ “ระยะสั้น-ยาว” โดยพอร์ต “ระยะยาว” มีสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ เน้นลงทุนพันธบัตร และหุ้นพื้นฐานดี จ่ายปันผลสม่ำเสมอ

ส่วนพอร์ตลงทุนแบบ “ระยะสั้น” มีสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ เน้นหุ้นรายตัวทั้งหมด ส่วนใหญ่จะถือแค่ 1-3 เดือน ลงทุนหาค่าขนม (หัวเราะ) อีก 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงินเก็บไว้ใช้จ่ายส่วนตัว สำหรับกลยุทธ์การลงทุนจะให้ความสำคัญกับบริษัทที่มีธุรกิจอยู่เหนือคู่แข่ง และอุตสาหกรรมไปต่อได้

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่