กฟผ.งัดไม้ตายซื้อไฟฟ้าจากมาเลย์ โดนโขกหน่วยละ8บาท

กระทู้สนทนา
กฟผ.งัดไม้ตายซื้อไฟฟ้าจากมาเลย์ โดนโขกหน่วยละ8บาท



กฟผ.งัด แผนสุดท้าย ขอซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียเสริมระบบอีก 150 MW ป้องกันไฟดับภาคใต้ หลังมีผู้ประกอบการเข้าโครงการลดการใช้ไฟ "ชดเชย" 4 บาท/หน่วย เพียง 250 ราย ลดการใช้ไฟลงได้แค่ 130 MW จากเป้าหมาย 250 MW หวั่นกระทบค่า Ft งวดต่อไปทำค่าไฟฟ้าตามรอบบิลหน้าพุ่งทะลุ 4 บาท

ในที่สุดก็ถึง ช่วงเวลาของการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย (JDA-A18) ซึ่งกินเวลาตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน-10 กรกฎาคม 2557 กับความกังวลที่ว่า ภาคใต้จะเกิดปัญหาไฟดับ/ตกในพื้นที่หรือไม่ เนื่องจากโรงไฟฟ้าจะนะจะต้องหยุดการผลิต ส่งผลให้ปริมาณไฟฟ้าในระบบขาดหายไป 710 เมกะวัตต์ กับความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเร่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่เหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงไฟฟ้ากระบี่ การส่งไฟจากภาคกลางลงไปช่วย และการขอความร่วมมือภาคเอกชนในการลดการใช้ไฟฟ้าในช่วง Peak ลงให้ได้ไม่ต่ำกว่า 250 MW

ล่าสุดได้มีความพยายามจากคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน (กกพ.) ที่จะอนุมัติ "เงินชดเชย" ให้แก่ผู้ประกอบการในภาคใต้ที่เข้าร่วมโครงการลดการใช้ไฟฟ้า ในอัตรา 4 บาท/หน่วย โดยนางพัลลภา เรืองรอง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า กกพ.ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 11 (3) ของ พ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงาน (กกพ. มีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรการเพื่อให้เกิดความมั่นคงและเชื่อถือได้ของระบบ ไฟฟ้า) สั่งจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้เข้าร่วมโครงการได้ทันที โดยไม่ต้องนำเรื่องมาขออนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์

"เราได้ส่งหนังสือยืนยันการจ่ายเงินชดเชย ถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาอุตสาหกรรมจังหวัดในภาคใต้ รวมถึงผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่ใช้มิเตอร์ MAR กว่า 1,000 ราย ให้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 250 ราย ลดใช้ไฟฟ้าได้ 130 MW ถือว่าน้อยกว่าเป้าหมายที่ 250 MW โดยในการลดใช้ไฟฟ้า 130 เมกะวัตต์ มาจากอาคาร/โรงงานควบคุม จำนวน 51.12 MW"

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินชดเชยหลังจากการหยุดแหล่งก๊าซ JDA เสร็จสิ้นประมาณ 1 เดือน โดย กฟผ.จะเป็นผู้จ่ายเงินที่นำมาจากอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดปัจจุบัน (พฤษภาคม-สิงหาคม) ที่เหลืออยู่ 55-60 ล้านบาท ซึ่งคำนวณแล้วสามารถจ่ายเงินผู้ลดใช้ไฟฟ้าในช่วงพีกจำนวน 250 MW ได้ใน 13 วัน"

นอกจากนี้ นายจรรยง วงศ์จันทร์พงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ได้หารือกับประเทศมาเลเซียเพื่อขอซื้อไฟฟ้าปริมาณ 150 MW ในช่วงที่ทางฝั่งไทยมีการร้องขอ โดยเฉพาะช่วงที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดคือ 18.00-21.00 น. ภายใต้อัตราค่าไฟฟ้าที่ 8 บาท/หน่วย หรืออาจจะได้อัตราค่าไฟฟ้าที่ต่ำกว่านี้ หากปริมาณไฟฟ้าในระบบของมาเลเซียเหลือมากกว่าปกติ

ด้าน ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า การเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้จะยึดแนวทางจากค่าไฟฟ้า "ถูกไปหาแพง" หากความต้องการใช้ในพื้นที่ยังอยู่ในระดับที่ระบบรองรับได้ที่ 2,300 MW และประชาชนทั่วไปและภาคอุตสาหกรรมลดใช้พลังงานได้ตามเป้าหมายที่ 200 MW การรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มจากประเทศมาเลเซียก็อาจ "ไม่จำเป็น"

ก่อน หน้านี้ กระทรวงพลังงานได้ประเมินผลกระทบค่าไฟฟ้าใน 2 กรณี คือ 1)สามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ 200 MW, โรงไฟฟ้ากระบี่ลดการใช้น้ำมันเตาเพียง 35.8 ล้านลิตร จากแผนที่วางไว้ 39 ล้านลิตร, โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ลดการใช้น้ำมันดีเซลเหลือ 2.6 ล้านลิตร จากแผนที่วางไว้ 9 ล้านลิตร มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 183.19 ล้านบาท จะกระทบต่อค่า Ft ที่ 0.32 สตางค์/หน่วย 2)กรณีไม่สามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ 200 MW และโรงไฟฟ้ากระบี่จะต้องใช้น้ำมันเตา 39 ล้านลิตร โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ต้องใช้น้ำมันดีเซล 9 ล้านลิตร จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 1,001.63 ล้านบาท กระทบต่อค่า Ft ที่ 1.76 บาท/หน่วย ต้นทุนข้างต้นได้คำนวณรวมไว้ในค่าไฟฟ้า Ft รอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2557 ไว้แล้ว ที่ กกพ.ได้พิจารณาปรับขึ้นค่า Ft อีก 10 สตางค์/หน่วย เมื่อรวมค่าไฟฟ้าฐาน ผู้ใช้จะเสียค่าไฟฟ้าตามรอบบิล 3.96 บาท/หน่วย หากกรณีจะต้องรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียเพิ่ม (8 บาท/หน่วย) รวมกับแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ค่าไฟฟ้าอาจมีโอกาสทะลุ 4 บาท/หน่วยได้

นายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า กฟผ.-กฟภ.ได้ตั้งวอร์รูมเพื่อประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้าแบบ Realtime ตลอด 24 ชม. ถ้า กฟผ.เห็นว่า มีความเสี่ยงในเวลา 15.30 น.ก็จะประสานให้เวียนดับไฟในบางพื้นที่ทันที ตามขั้นตอนที่วางเอาไว้ 19 ขั้นตอน ขั้นตอนละ 50 MW แต่จะเวียนดับไฟพื้นที่ละไม่เกิน 1 ชั่วโมง


ปล.  มาเลย์ขายแพงมาก ประเทศไทยยังคงต้องน้ำเข้าพลังงานเพื่อนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า ความมั่นคงทางพลังงานยังไม่มี  แบบนี้เพิ่ม adder พลังงานแสงอาทิตย์เป็น 10 บาทไปเลย จูงใจให้คนมาทำกันเยอะๆ  อีกทางบริษัทเน่าๆในตลาดหลักทรัพย์จะหมดไปเพราะจะหันมาทำธุรกิจพลังงานทดแทน  ไม่กี่ปีผ่านไป มาร์เก็ตแค็ปในประเทศไทยจะสูงเป็นที่ 1 ในเอเซีย 5555

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่