(เกียวโต, ญี่ปุ่น) แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวศาลเจ้าฟุชิมิ อินาริ (Fushimi Inari Taisha) พร้อมภาพสีน้ำประกอบค่ะ ^^

ไม่ได้เขียนกระทู้รีวิว/แนะนำสถานที่เที่ยวในญี่ปุ่นซะนานเลยค่ะ
แอบไปซุ่มอยู่น่ะเอง  ^^

วันนี้กลับมาแนะนำที่เที่ยวท๊อปฮิตของเกียวโต ในเชิงลึกกัน  
ครั้งจะไม่ได้รีวิวเป็นย่านใหญ่ๆอย่างอะราชิยามะ  ทาคาโอะ อะไรแบบนั้นแล้ว   ขอเจาะลึกที่เดียวแต่เอาเกร็ด เอาประวัติศาสตร์อะไรไปด้วยแล้วกัน
เป็นสถานที่ที่คนส่วนใหญ่ไปกันแค่แตะๆ แต่เรารู้สึกว่า ถ้าได้รู้จักมันจริงๆแล้วจะชอบขึ้นมากเลยค่ะ  นั่นคือ ศาลเจ้าฟุชิมิ อินาริ

และ  แต่น แต๊นนน   มีภาพวาดสีน้ำประกอบด้วยค่ะ



แนะนำและติชมได้ ไม่ต้องเกรงใจนะคะ  ถ้าข้อมูลตรงไหนผิดพลาด ตกหล่นยังไง ขอประทานอภัย และช่วยแนะนำด้วยนะคะ



ศาลเจ้าฟุชิมิ อินาริ (伏見稲荷大社 / Fushimi Inari  Taisha)

ภาพโทริอิสีแดงเรียงยาวสุดสายตา น่าจะเป็นภาพที่เราคุ้นตา แต่มีคนจำนวนไม่มากนักที่รู้ว่าภาพนั้นคือศาลเจ้าแห่งหนึ่งในเกียวโตที่ชื่อศาลเจ้าฟุชิมิ อินาริ

อาจจะเพราะเมื่อทุกคนวางแผนมาเกียวโตกัน ก็จะมี วัดน้ำใส วัดทอง เรียวอัน-จิ เป็นภาพจำ จนลืมนึกถึงบางอย่างที่กระตุ้นให้เราอยากมาเที่ยวญี่ปุ่นในเบื้องแรกอย่างโทริอิ  

ที่นี่เป็นหนึ่งในสถานที่โปรดของเรา สามารถมาได้ทุกฤดู แต่จะสวยงามที่สุดในช่วงใบไม้แดง และน่าสนใจที่สุดช่วงปีใหม่  (ศาลเจ้าที่เป็นที่นิยมไปสักการะในวันขึ้นปีใหม่ของเกียวโต คือศาลเจ้าฟูชิมิ อินาริ และศาลเจ้ายาซากะ ((八坂神社 / Yasaka Jinja)  เฉพาะที่ศาลเจ้าฟูชิมิ อินาริ แต่ละปีในวันขึ้นปีใหม่มีผู้มาสักการะกว่าสองล้านคน นับว่าจำนวนมากที่สุดในภูมิภาคตะวันตกของญี่ปุ่น)
ช่วงเวลาของวันที่เหมาะกับการมาสักการะคือช่วงเย็นที่พระอาทิตย์ใกล้ตก สามารถมองเห็นวิวเมืองยามเย็นได้จากจุดชมวิวบนเขาที่ไม่พลุกพล่าน สวยงามและทำให้รู้สึกสดชื่นค่ะ

เทพที่สถิตย์ที่นี่เรียกรวมว่า เทพอินาริ (稲荷大神 / Inari Kami) ซึ่งที่จริงแล้วประกอบด้วยเทพห้าองค์ คือ เทพอุคะ โนะ มิทามะ (Uka no mitama no okami), เทพซะตะฮิโกะ (Satahiko no okami), เทพโอมิยะ โนะ เมะ(Omiya no me no okami), เทพทะนะคะ (Tanaka no okami) และเทพชิ (Shi no okami)  สามองค์แรกมีตั้งแต่แรกเริ่ม ส่วนอีกสององค์หลังเพิ่มเติมมาช่วงปี ค.ศ. 1266  โดยมีเทพสูงสุดในกลุ่มคือเทพอุคะ โนะ มิทามะ
เอกลักษณ์ของฟุชิมิ อินาริ คือโทริอิสีแดงนับพันนับหมื่นต้น และจิ้งจอก  

จนบางทีก็เรียกศาลเจ้าแบบนี้ง่ายๆว่า ศาลเจ้าจิ้งจอก  

ศาลเจ้าอินาริในญี่ปุ่นมีกว่า 4 หมื่นแห่ง แต่ที่เกียวโตถือว่าใหญ่ที่สุดและเป็นศาลเจ้าหลักของศาลเจ้าอินาริทั้งหลาย

ฉากหนึ่งในหนังเรื่องเกอิชา ที่นางเอกวิ่งผ่านโทริอิมากมายไปขอพรก็คือโทริอิของที่นี่นั่นเอง (แต่จุดที่ไปยืนขอพรในเรื่องไม่ใช่ของศาลเจ้านี้)

ศาลเจ้าถูกสร้างในช่วงคริสศตวรรษที่ 8   วตำนานเล่าว่าคนในตระกูลชาวเกาหลีที่อพยพมา ใช้แป้งโมจิเป็นเป้าในการซ้อมยิงธนู แต่เมื่อศรเข้าเป้า แป้งโมจิกลับกลายเป็นพิราบขาวแล้วบินมายังยอดของภูเขา ก่อนจะกลายร่างเป็นต้นข้าว  ชื่ออินาริ มาจากคำว่า อิเนะ (稲 / ine) และนาริ  (成り / nari) ที่แปลว่าการเพาะปลูกข้าว  ดังว่า ตระกูลฮาตะจึงได้สร้างศาลเจ้าขึ้นที่เขานี้ เพื่อสักการะสามเทพคือ เทพแห่งข้าว อุคะโนะมิทามะ, เทพแห่งน้ำ โอมิยะโนะเมะ และเทพแห่งผืนดิน ซะตะฮิโกะ  และต่อมาเมื่อมีการย้ายเมืองหลวงมายังเกียวโตก็ได้บริจาคพื้นที่ที่ถือครองให้กับราชวงศ์ญี่ปุ่น
ส่วนสาเหตุที่ได้ชื่อว่าเป็น “Taisha” ซึ่งใช้เรียกศาลเจ้าใหญ่ที่มีความสำคัญ  ก็เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับวัดโท-จิ (東寺 / Tou-ji) วัดประจำเมืองเกียวโต ที่มีพระคุณเจ้าคูไค ผู้ก่อตั้งนิกายชินกอน (ซึ่งองค์จักรพรรดิในสมัยนั้นให้การสนับสนุน) เป็นเจ้าอาวาสคนแรกของวัด  

ตำนานเกี่ยวกับพระคูไคมีว่า ท่านได้พบชายแก่เดินแบกถุงข้าวอยู่บนเขาอินาริ และท่านก็ตระหนักว่า ที่เห็นไม่ใช่คนธรรมดา แต่เป็นคือเทพเจ้าแห่งธัญญาหาร  การที่ท่านตระหนักได้ว่าคนที่พบระหว่างทางไม่ใช่ชายแก่ธรรมดา  ทำให้พระคูไคเองได้รับการสักการะไปด้วยแม้ว่าจะเป็นพระในพุทธศาสนา (การบูชาเทพอินาริเป็นความเชื่อของชินโต) บนเขาอินาริเอง ก็มีหลายๆจุดที่เราจะได้เห็นการสักการะพระคูไค  ไม้ที่นำมาใช้สร้างวัดโท-จิ ก็นำมาจากบนภูเขาอินาริ และท่านคูไคได้อัญเชิญเทพประจำฟุชิมิ อินาริ ให้เป็นเทพผู้ปกปักษ์วัดโท-จิ  ตั้งแต่นั้นมาวัดโท-จิและศาลเจ้าอินาริ จึงมีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด

อาคารหลักของศาลเจ้ามีขนาดใหญ่มาก มีการประกอบพิธีสำหรับเด็กทารกและพิธีอื่นๆ (ยกเว้นพิธีแต่งงาน)
เช่นเดียวกับศาลเจ้าอื่นๆ ที่จะมีการโยนเหรียญ สั่นกระดิ่ง และไหว้ขอพรเมื่อไปสักการะ แต่สำหรับผู้ที่จริงจังแล้ว การมาสักการะศาลเจ้าฟุชิมิ อินาริ คือการเดินขึ้นไปยังยอดเขาและขอพรกับทุกศาลเจ้ารายทางไปจนถึงยอด (หยอดเหรียญใส่กล่อง หรือจุดเทียน หรือถวายโทริอิจิ๋วไปด้วย) ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1.5 - 2 ชั่วโมง

*ข้อสังเกตของชื่อสถานที่ว่าที่ใดเป็นพุทธหรือชินโต ให้ดูที่ส่วนลงท้าย
-ji, -dera, -in, -do ใช่สำหรับวัด  
-Jinja ศาลเจ้า
-Taisha ศาลเจ้าขนาดใหญ่  
-Jingu ศาลเจ้าขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์
-Tenmangu ศาลเจ้าที่สักการะ Michizane นักวิชาการในสมัยเฮอันที่ได้รับการยกย่องเป็นเทพแห่งการศึกษาหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่