แชร์ประสบการณ์การออมเงิน (ฉบับคนธรรมดา)

ก่อนอื่นต้องขอแนะนำตัวก่อนนะคะ ดิฉัน อายุ 23 ปี  ปัจจุบันเพิ่งเริ่มทำงานได้ปีกว่า ฐานะทางบ้านไม่ได้ร่ำรวย พอมีพอกิน (แต่ไม่พอเก็บ)
เราก็เลยต้องเริ่มเก็บด้วยตัวเอง และนี่เป็นที่มาของประสบการณ์ที่จะมาแชร์กันค่ะ


หลายๆคน คงจะเคยคิดว่าเราจะต้องออมเงินให้ได้เท่านั้น เท่านี้ แต่ทำไมนะ พอเอาเข้าจริงๆ มันก็ไม่ได้ตามที่เราตั้งไว้
การออมเงิน เป็นเรื่องง่าย สามารถทำได้ตั้งแต่เด็กยันแก่  แต่ต้องอาศัย "วินัย" เป็นอย่างมาก


วันนี้ก็เลยอยากจะมาแชร์ประสบการณ์การออมเงิน จากสมัยเด็กๆจนถึงปัจจุบัน  โดยส่วนตัวดิฉันเป็นคนชอบออมเงินมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ คุณแม่จะฝึกให้บริหารจัดการเงินเอง โดยสมัยประถม (ป.1-ป.2) จะให้เงินไปโรงเรียนวันละ 5-10 บาท แต่ห่ออาหารกลางวันไปทานที่โรงเรียน  (ป.3-ป.6) คุณแม่จะให้เงินไปโรงเรียนเป็นสัปดาห์ สัปดาห์ละ 100 บาท (จ-ศ 5 วัน  วันละ 20 บาท) คุณแม่จะแลกแบงค์20ใหม่จากธนาคารที่มีเลขบนธนบัตรเรียงต่อกันไว้จำนวนหนึ่ง สิ่งที่จูงใจในการเก็บเงินตอนนั้นคือ อยากเก็บแบงค์ใหม่ไว้เอง ไม่อยากให้ใคร ตอนนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของการออม



สมัยนั้นข้าวที่โรงเรียน จานละ 5 บาท พิเศษ 7 บาท น้ำหวานแก้วละ 1 บาท (น้ำเปล่าฟรี) ผลไม้ ขนมอื่นๆก็ 1-5 บาท
ด้วยความที่หวงแบงค์ใหม่ เราจึงกินเฉพาะข้าวจานละ 5 กับน้ำเปล่า (ฟรี) แต่เหตุการณ์ที่ทำให้เสียเงินมันไม่ใช่ตอนนี้ แต่มันคือตอนหลังเลิกเรียน ที่จะมีบรรดาพ่อค้า แม่ค้า เอาอาหาร ขนม นม เนย มาขายบริเวณหน้าโรงเรียน เดินผ่านทีไรก็เป็นอันต้องเสียเงินทุกที จะปีนกำแพงออกทางอื่นก็ไม่ได้เพราะขาสั้น ตัวเตี้ย ไม่มีทักษะในการปีนอีก และด้วยความเป็นเด็กเห็นอะไรมันก็หักห้ามใจยาก เลยเสียเงินไปกับขนมตอนเย็น 5-10 บาท เกือบทุกวัน  สรุปแล้วช่วงนั้นก็เก็บเงินได้วันละนิดวันละหน่อย เหลือแบงค์ 20 ใหม่ สัปดาห์ละ 1-3 แบงค์ พอถึงวันศุกร์กลับมาบ้านมานั่งชื่นชมแบงค์ใหม่ ดีใจเหมือนกับมีเงินล้าน


ชีวิตช่วงประถม วนเวียนอยู่กับเหรียญและแบงค์ พอสะสมได้เยอะๆก็จะให้พ่อพาไป ธ.สีชมพู เพื่อนำเงินไปฝาก แต่ตอนเด็กๆจะชื่นชมกับเงินที่จับต้องได้ มากกว่าตัวเลขในสมุดบัญชี ก็เลยไม่ค่อยเอาไปฝากสักเท่าไหร่ และมีครั้งหนึ่งเคยถามคุณแม่ว่า
เรา : แม่คะ ธนาคารนี่ต้องมีตู้เก็บเงินแยกๆเป็นล็อกๆกี่อันคะ คนเค้าฝากตั้งเยอะตั้งแยะ เค้าเอาเก็บแยกกันหมดรึเปล่า  
แม่  : เปล่าจ่ะ เค้าไม่ได้แยกกัน เงินที่เอาไปฝากไว้ที่ธนาคาร เค้าจะเอารวมกันจ้า
เรา  : แล้วเวลาที่เราไปเอาเงินออกมา เราจะได้เงินแบงค์ใหม่ที่เราเอาไปฝากไว้ไหมคะ
แม่  : ไม่ได้จ่ะ เพราะเงินเรา เค้าจะหมุนเวียนไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น แต่เค้าจะเอาเงินที่มีอยู่มาให้เราเวลาที่เราไปถอนเงินออกมา

ตั้งแต่วันนั้นก็เลยไม่เอาแบงค์ใหม่ไปฝากธนาคารเลย เอาแต่เหรียญไปฝาก แบบว่ายกกระปุกออมสินลูกหมูไปนับฝากที่ธนาคารเลย



เวลาล่วงเลยไปกว่า 6 ปี ที่เรียนชั้นประถม เราก็มานั่งนับเงิน อู๊ฮู้ว!!! เงินเยอะจัง มีตั้งหลายพันแหนะ นึกถึงแบงค์20ใหม่ๆที่เรียงกันเป็นบึกๆ เห็นแล้วมันชื่นใจจริงๆ เงินตั้งหลายพันเนี้ย ไม่ได้มาจากเงินที่คุณแม่ให้ไปโรงเรียนอย่างเดียวนะคะ เวลาไปเที่ยวคุณแม่ก็จะให้เงินติดตัวไว้เท่ากันกับพี่สาว ใครใช้หมดก็จะไม่ให้เพิ่ม ใครใช้เหลือก็ไม่เอาคืน สรุปว่าถ้าเหลือก็เก็บค่ะ ดังนั้นช่วงเวลานี้จึงเป็นเวลาแห่งการเก็บเงิน อยากได้อะไรก็จะอดไว้ก่อน ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ซื้อ คิดอย่างเดียวคือ เสียดายเงิน!!!  






พอขึ้นชั้นมัธยม เข้าโรงเรียนประจำจังหวัดต้องเดินทางไป-กลับทุกวัน วันละ 40 กิโล และต้องนั่งรถโดยสารไป คุณแม่จึงให้เบี้ยเลี้ยงวันละ 60 บาท ค่าใช้จ่ายช่วงมัธยมจะเยอะกว่าประถมมาก ไหนจะค่าเดินทาง ค่าอาหารที่แพงขึ้น(และกินเยอะขึ้น)  ค่าทำรายงาน  ค่าจัดบอร์ด ค่าฉลองวันเกิดเพื่อน+ของขวัญ และอื่นๆอีกมากมาย



จำได้ว่า ม.1 ค่ารถโดยสาร (ธรรมดา) 5 บาท , รถแอร์ 10 บาท (ราคานักเรียนนะคะ)และต้องต่อรถเมย์เข้าไปที่โรงเรียนอีก 5 บาท ซึ่งแต่ละวันตอนเช้าเราจะเลือกรถไม่ได้ เพราะมันเป็นทางผ่านของรถสายยาว คันไหนมาเราก็ต้องขึ้นคันนั้นเลย ถ้าหวังจะไปคันต่อไป แล้วรถมาไม่ทันเวลาก็คงต้องเข้าโรงเรียนสายและโดนทำโทษ โดยการวิ่งรอบสนามฟุตบอล
ค่าอาหารกลางวัน ข้าวจานละ 12-20 บาท น้ำ 3-10 บาท



พออยู่ ม.6 ค่าน้ำมันปรับขึ้นสูงมาก ทำให้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว รถธรรมดา (พัดลม) 10-15 บาท รถแอร์ 15-20 บาท (อันนี้ราคานักเรียน ถ้าใส่ชุดอื่นนอกจากชุดนักเรียนราคาก็จะสูงขึ้นอีก) คุณแม่ก็เลยต้องขึ้นเบี้ยเลี้ยงให้เป็นวันละ 100 บาท



ช่วงมัธยมเงินออมก็จะมาจากเงินเบี้ยเลี้ยงที่คุณแม่ให้ไปโรงเรียนในแต่ละวัน แต่ตอนนี้เริ่มไม่ได้แบงค์ใหม่แล้วนะคะ เริ่มจะสนใจการฝากเงินในธนาคาร เพราะได้ดอกเบี้ย (ถึงแม้มันจะน้อยนิดก็ตาม) เริ่มชื่นชมกับจำนวนเงินที่มากขึ้นๆๆทุกวัน จะเน้นการฝากกับธนาคารโรงเรียน พอเห็นจำนวนเงินแบบมีเศษ เช่น 1,291 บาท เราก็อดไม่ได้ที่จะเอาเงินไปฝากให้มันไม่มีเศษ ก็ต้องไปฝากอีก 9 บาท เป็น 1,300 บาท รู้สึกดีตั้งแต่เลขหลักร้อยเริ่มเพิ่มขึ้น และจะขยันไปฝากมากขึ้น เมื่อตัวเลขหลักพันจะเพิ่มขึ้น เช่น 1,980 บาท ถึงแม้ทั้งเนื้อทั้งตัว (หักค่ารถกลับบ้านออก) จะเหลือแค่ 20 บาท ก็จะเอาไปฝาก เพื่อให้เป็น 2,000  บาท ตัวเลขก็ขยับขึ้นๆๆ  เรื่อยๆ จบชั้นมัธยม มีเงินออมราวๆ 2-3 หมื่นบาท และมีรายได้เสริมอีกทางหนึ่งคือ การแข่งขัน ประกวดวิชาการต่างๆ เพราะการแข่งขันในระดับมัธยม มักจะมีเกียรติบัตร และเงินรางวัล ดิฉันก็เข้าร่วมทุกครั้งที่มีโอกาส ได้เงินมาไม่ต้องถามค่ะว่าเอาไปไหน  คำตอบเดียวคือ ธนาคารโรงเรียนค่ะ



ถึงช่วงนี้เงินออมขยับจากหลักสิบ  เป็นหลักร้อย  หลักพัน  จนมาเป็นหลักหมื่นแล้วค่ะ ความคิดตอนนั้นคือ ห๊าาาาา!! ฉันจะเป็นเศรษฐีนีในอนาคต
(มโนว่ายืนอยู่แล้วโยนเงินให้ลอยขึ้นไปในอากาศ เสมือนในหนังสมัยก่อนที่เศรษฐีเขาทำกัน)

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่