กสทช.แกล้งโง่? คนบ่นด่าทีวีดิจิตอล

กระทู้สนทนา
https://www.thairath.co.th/content/425429
--------------------------------------------------------

ปมประเด็นปัญหาของทีวีดิจิตอลในปัจจุบัน ชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างสับสนว่า ทีวีดิจิตอลที่กำลังโฆษณาว่า พบกับช่องนั้นช่องนี้ ในรูปแบบ ของ HD แต่พอเปิดดูกลับไม่ใช่ความคมชัดแบบ HD กลายเป็นความคมชัดธรรมดาแบบทั่วไป ไม่ได้วิเศษอะไร เหมือนกับที่โฆษณาและคุยไว้

แปลกตรงที่...ช่องที่แสดงโลโก้ว่าเป็น HD แต่ความคมชัดกลับไม่มีความแตกต่างอะไรไปจากช่องที่ไม่ได้แสดงว่าเป็น HD เลย?

อนันต์ แป้นทองคำ หนึ่งในผู้ที่ชื่นชอบเทคโนโลยี อธิบายว่า ในความเป็นจริงแล้ว หากต้องการชมภาพความคมชัดในแบบ HD ทีวีดิจิตอล ต้องเป็นการรับสัญญาณในแบบภาคพื้นดินเท่านั้น พูดง่ายๆคือรับสัญญาณผ่านเสาอากาศหนวดกุ้ง หรือปีกเสาอากาศทีวีแบบเก่า ไม่ใช่การรับชมจากจานดาวเทียมอย่างที่กำลังเข้าใจกัน

“การรับชมจากเสาอากาศนั้น จะใช้เสาอากาศหนวดกุ้งที่แถมมา หรือใช้เสาอากาศทีวีแบบเก่า ที่สามารถรับความถี่ย่าน UHF ก็ได้ จากนั้นนำสายสัญญาณมาเสียบเข้าที่กล่องตัวรับ กล่องจะแปลงสัญญาณให้เป็นดิจิตอล สำคัญว่าเราต้องเสียบสายสัญญาณเข้าช่อง HDMI

เท่านั้น ไม่ใช่ช่อง AV คุณภาพของความคมชัดจึงเป็นในแบบ HD จริงๆ”

ส่วนการรับชมผ่านจานดาวเทียมนั้น ไม่ได้เป็นการรับชมในแบบ HD แต่อย่างใด หากแต่เป็นเงื่อนไขของทาง กสทช. ที่ได้กำหนดไว้ว่า ทีวีดิจิตอลต้องดูได้ทุกช่องทาง ทั้งภาคพื้นดินแบบเสาอากาศ จานดาวเทียมทุกระบบ และ ทางเคเบิลทีวี ซึ่งทาง กสทช.ได้กำหนดไว้แค่ต้องให้รับชมได้ แต่ไม่ได้กำหนดว่าการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมนั้น ช่องที่เป็น HD ต้องออกอากาศในแบบ HD ด้วย

ชัดเจนว่า ผู้รับชมจากจานดาวเทียมจะไม่ได้รับความคมชัดในระบบ HD แน่นอน เพราะผู้ส่งดาวเทียมไม่ได้ส่งเป็นแบบ HD มาให้ มีขั้นตอนบีบลดคุณภาพสัญญาณให้เป็นในแบบความคมชัดทั่วไป

อนันต์บอกว่า เป็นความจริงที่ทาง กสทช.ลืมคิดไปว่าสถานการณ์การรับชมทีวีของประเทศไทย คนส่วนใหญ่เปลี่ยนการรับสัญญาณทีวีจากเสาอากาศ ไปรับจากจานดาวเทียม เพราะคุณภาพของภาพและเสียงจะชัดและใสหมดทุกช่อง ไม่มีเม็ดฝน ไม่มีภาพเงา ภาพไม่ซ้อน และภาพไม่เต้น บวกกับปัจจัยที่เกื้อหนุนต่อการเปลี่ยนแปลงคือราคา ซึ่งจานดาวเทียมในตอนนี้ถูกกว่าเสาอากาศเยอะ หาซื้อได้ง่าย ตลาดนัดยังมีวางขาย

สำหรับการติดตั้งก็ไม่ได้ยากเหมือนเก่า แค่ตั้งจานให้ได้องศาตามที่กำหนด ก็จะรับชมรายการต่างๆได้ชัดเจน แถมยังรับชมรายการได้จำนวนช่องมากกว่าในแบบเสาอากาศด้วย

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เราจะสังเกตว่า เสาอากาศแบบที่ใช้แป๊บน้ำขึ้น สองท่อน สามท่อน แล้วใช้ลวดผูกโยงตามบ้านจะเริ่มหายไป กลายมาเป็นจานดาวเทียมขนาดเล็ก จนไปถึงจานดาวเทียมขนาดใหญ่กันหมด

เพราะฉะนั้น การเกิดของทีวีดิจิตอลในประเทศไทยจะเรียกว่าเกิดช้าไป หรือคนกำหนดนโยบายไม่มีวิสัยทัศน์ หรือไม่เข้าใจในสถานการณ์ปัจจุบันก็ตาม แต่เรื่องที่จะให้คนส่วนใหญ่ที่เปลี่ยนการรับชมไปเป็นแบบจานดาวเทียม แล้วจะให้กลับมารับชมทีวีในแบบดิจิตอล ในแบบต้องขึ้นเสาอากาศแบบเก่านั้น คงจะเป็นเรื่องยากอย่างแน่นอน

ในปัจจุบันการส่งออกอากาศของทีวีดิจิตอล มีออกอากาศในขณะนี้ทั้งหมด 27 ช่อง จากทั้งหมด 49 ช่อง ส่งสัญญาณในย่านความถี่ UHF เสาส่งสัญญาณอยู่ที่ตึกใบหยก ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร ผู้ที่มีกล่องรับสัญญาณและอยู่ในรัศมีที่เสาส่งบนตึกใบหยกส่งถึง จะได้รับชมทีวีดิจิตอลได้ทุกช่องรายการ ทั้งความคมชัดในแบบ HD และความคมชัดในแบบธรรมดาทั่วไป

ส่วนผู้ที่ซื้อเครื่องรับไป แต่อยู่ต่างจังหวัด ไม่ต้องไกล แค่จังหวัดชลบุรี ถ้าใช้เสาอากาศหนวดกุ้งที่แถมมา รับรองได้ว่า ไม่มีทางรับสัญญาณได้อย่างแน่นอน แต่ถ้าต้องการที่จะรับชม จำเป็นต้องไปซื้อปีกเสาอากาศทีวีแล้วติดตั้งให้สูง พร้อมกับหันเสาอากาศไปในทิศทางให้ตรงกับตึกใบหยก และดูมาตรวัดของสัญญาณให้ได้แรงที่สุด ก็จะสามารถรับสัญญาณได้

อนันต์ บอกว่า พูดง่ายๆก็คือ ทีวีดิจิตอลในแบบฉบับของ กสทช. พ.ศ.นี้ จะรับสัญญาณได้ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและใกล้เคียงเท่านั้น ส่วนต่างจังหวัดที่อยู่ไกลออกไป รับชมไม่ได้อย่างแน่นอน

ถามว่า ภายใน 3-5 ปี โอกาสที่สัญญาณทีวีดิจิตอลจะครอบคลุมทั้งประเทศเป็นไปได้ไหม

อนันต์ตอบว่า ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะทีวีระบบเก่าติดตั้งมากี่สิบปี สัญญาณก็ยังไม่ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศเลย...ในหลักการของการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลนั้น ไม่ได้แตกต่างอะไรกับการส่งสัญญาณในแบบช่องฟรีทีวี 3 5 7 9 11 TPBS แบบเก่า คือต้องมีการติดตั้งสถานีทวนสัญญาณในจังหวัดต่างๆ ให้กับพื้นที่ที่สัญญาณอ่อน

สมัยก่อน คนที่อยู่อำเภอเมืองชลบุรี อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 60 กิโลเมตร ขึ้นปีกเสาทีวี หันหน้าปีกเข้า กทม. รับสัญญาณฟรีทีวีทั้ง 6 ช่องได้ชัดเจนทุกช่อง แต่คนที่อยู่อำเภอสัตหีบ ของจังหวัดชลบุรี อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 120 กิโลเมตร หากหันหน้าปีกเสาทีวีไปรับสัญญาณทางกรุงเทพมหานคร ก็ได้ภาพที่ไม่ค่อยชัด เป็นเพราะระยะทางของอำเภอสัตหีบอยู่ไกลจากกรุงเทพฯมากกว่าอำเภอเมืองชลบุรี จึงทำให้รับสัญญาณได้ไม่ดีพอ

วิธีทางแก้ก็คือ ต้องหันเสาอากาศไปยังสถานีทวนสัญญาณของจังหวัดระยอง สัญญาณที่รับได้จะมีความคมชัดมากกว่า เป็นเพราะระยะทางของระยองกับสัตหีบนั้นอยู่ห่างไม่ไกลกันมาก ซึ่งหากไม่มีการจัดตั้งสถานีทวนสัญญาณที่จังหวัดระยองขึ้น คนสัตหีบก็ต้องรับสัญญาณทีวีผ่านจากเสาส่งสถานีในกรุงเทพมหานคร

...ซึ่งอาจจะได้ความคมชัดไม่มาก บางช่องอาจจะมีเม็ดฝน ภาพเป็นเงา ก็มีอีกทางแก้ก็คือ ต้องขึ้นเสาอากาศให้มีความสูงมากขึ้นกว่าเดิม ปีกเสาอากาศต้องใหญ่ขึ้น และอาจจะต้องใช้บูสเตอร์ เพื่อมาช่วยขยายคุณภาพสัญญาณให้ชัดเจน

เช่นเดียวกัน กรณีทีวีดิจิตอลชั่วโมงนี้ยังไม่มีการติดตั้งสถานีทวนสัญญาณที่ใดเลย หากคนจังหวัดชลบุรีต้องการดูทีวี ต้องติดตั้งปีกรับสัญญาณ แล้วหันหน้าปีกไปรับสัญญาณไปที่ตึกใบหยก ส่วนคนอำเภอสัตหีบก็ต้องเพิ่มความสูงเสาอากาศให้สูงมากขึ้นกว่าคนในชลบุรี แล้วหันหน้าของปีกเสาอากาศมาในทิศทางของตึกใบหยกเช่นกัน ซึ่งคุณภาพของสัญญาณอาจจะรับได้หรืออาจจะรับไม่ได้เลย ก็ขึ้นอยู่ในแต่ละสภาพของภูมิประเทศ

ส่วนคนในพื้นที่อื่นๆ ระยอง จันทบุรี ตราด รวมไปถึงภาคเหนือ อีสาน ใต้ คงต้องร้องเพลงรอ การขยายสถานีทวนสัญญาณของทีวีดิจิตอลไปก่อน
แต่กระนั้น ก็ยังมีประชาชนอีกไม่น้อยที่ได้ตื่นตัวกับการเกิดของทีวีดิจิตอล จนรีบตัดสินใจไปซื้อเครื่องรับ แต่แล้วกลับต้องพบกับความผิดหวัง เพราะไม่สามารถรับชมได้ นิเวศ ขาวเหลือง หรือทิดเวศ บางแสน เล่าว่า บ้านของเขาอยู่ใกล้กับหาดบางแสน ตำบลแสนสุข อำเภอเมืองจังหวัดชลบุรี เมื่อก่อนที่บ้านดูทีวีแบบเคเบิล เสียค่าบริการรายเดือน เดือนละ 300 บาท มีช่องรายการหลายช่องให้ดู

แต่พอมาได้ยินว่า ประเทศไทยเปิดให้บริการทีวีในแบบดิจิตอล มีช่องรายการอีกหลายสิบช่อง และไม่ต้องเสียค่ารายเดือน เขาไม่รอช้า รีบไปยกเลิกการเป็นสมาชิกของเคเบิลทีวีทันที แล้วรีบไปหาซื้อกล่องทีวีดิจิตอลมา เขาได้แบบที่มีเสาอากาศหนวดกุ้งแถมมาให้ มาลองนั่งปรับอยู่หลายวันสัญญาณก็ไม่มา ถามร้านที่ซื้อบอกว่า สัญญาณคงไปไม่ถึงที่บ้าน ไม่มีทางเลือกอื่น ต้องกลับไปสมัครเป็นสมาชิกเคเบิลทีวีเหมือนเก่า

งานนี้ใครจะแกล้งโง่?...ฉวยโอกาสหากินกับเทคโนโลยี กสทช.เจ้าภาพหลัก คงหนีไม่พ้นความรับผิดชอบ.
โหวตข่าวนี้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่