คำถามที่พบบ่อยในนักเขียนหน้าใหม่ (FAQ 1)

ขอรวบรวมคำถามที่พบบ่อยสำหรับคนเขียนใหม่ๆ ที่มักมีคำถามซ้ำๆกันจนบางครั้งมาเยอะ มาถึ่ มาจนขี้เกียจจะตอบแล้วกันนะคะ

ปกติเราค่อนข้างเข้มงวดทั้งในแง่ทฤษฎีการเขียนและการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นคำตอบของเราจะเป็นลักษณะหนึ่งซึ่งหากใครต้องการแชร์หรือร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยกันก็ยินดีมากๆค่ะ

ไม่พล่ามละ เริ่มเลยดีกว่า

น้องA: อยากเป็นนักเขียนจัง แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง

เรา: พื้นฐานของการเขียนคือการอ่านค่ะ คำตอบของคำถามนี้ส่วนมากจะมุ่งเน้นให้อ่านหนังสือให้เยอะๆ และควรจะเป็นหนังสือที่ดีด้วย (อย่างที่เราชอบพูดบ่อยๆ You write what you read)

น้อง A: อ่านจนไม่รู้จะอ่านยังไงแล้วพี่ เลยอยากเขียนบ้าง ไม่งั้นจะมาถามทำไม

เรา: ลองมีคำบ่นนี้ในใจ แสดงว่ายังไม่พร้อมจะเป็นนักเขียนค่ะเพราะนั้นแปลว่าความคิดยังไม่ตกผลึกเต็มที่

โดยมากอารมณ์อยากเขียนคืออารมณ์อยากถ่ายทอดความคิดเห็น มุมมอง หรือทัศนะบางอย่างของผู้เขียน จากนั้นจึงค่อยจรดปากกาออกมา ถ้ามาถามว่าจะเริ่มเขียนยังไง คำตอบก็คือการจรดปากกาลงบนกระดาษนั่นแหละ (หรือจะใช้คอมก็ไม่ขัด) แต่ประเด็นก็คือ มี “สิ่ง” ที่อยากถ่ายทอดแล้วหรือยัง ถ้ายัง นั่นแหละแปลว่าความคิดยังไม่ตกผลึกดี หรือไม่ก็ยังไม่ตกผลึกเลยด้วยซ้ำ แล้วแบบนี้จะเขียนอะไรล่ะ ขอถามกลับบ้าง เพราะงั้นแนะนำให้กลับไปอ่านหนังสือต่อไปค่ะ งานศิลปะมันต้องรอเวลา รอแรงบันดาลใจ ตะแบงบังคับไป งานที่ได้ออกมาก็ไม่รุ่งหรอกค่ะ (เพราะบังคับมันไป คนเขียนก็ไม่สนุก แล้วพอไม่สนุก งานมันจะบอกเองว่าคนเขียนไม่ชอบ เมื่อคนเขียนไม่ชอบ คนอ่านจะไปชอบได้ยังไง)

แต่อะ ถ้าเตือนไปแล้วก็ยังอยากจะเขียนอะไรไม่รู้ จะจะทู่ซี้สนอง need ตัวเองที่อยากเขียนให้ได้ ไม่มีแรงบันดาลใจก็เหอะ จะต้องทำให้ได้ งั้นจะให้การบ้านไป (แต่ไม่ต้องเอามาส่งหรอก ไปฝึกเอาเอง)

อ้อ แล้วให้ทำเรียงลำดับตามโจทย์ด้วยนะคะ ห้ามกระโดดข้ามข้อ ห้ามขี้โกง รักจะเป็นคนเขียนหนังสือ อย่าโกหกตัวเองค่ะ มีศักดิ์ศรี มีความภูมิใจในตัวเองนะคะ นี่คือกฎเหล็กของการจะเป็นนักเขียนที่ดี

โจทย์ 1 ให้เขียนเรื่องราวของนิทานซินเดอเรลล่าลงไป ตั้งแต่ต้นจนจบเลยนะ (ไม่ต้องไปเปิดที่ไหนนะ เรื่องนี้รู้อยู่แล้วนี่ว่ามันเป็นยังไง) เขียนแบบเล่านิทานอ่ะ เอาให้จบให้ได้ ห้ามทิ้งกลางคันแล้วบ่นว่าให้ทำอะไรก็ไม่รู้น่าเบื่อ เพราะถ้าคุณดื้อดึงมาจนถึงบรรทัดนี้ได้ ก็จงดื้อดึงไปให้ตลอด) เขียนเล่าออกมาสัก 1 – 3 หน้ากระดาษ บรรยายอย่างเดียวล้วนๆ ห้าม! มีบทสนทนา

โจทย์ 2 ให้เขียนเล่าเรื่องซินเดอเรลล่าเหมือนเดิม ตั้งแต่ต้นจนจบ (ห้าม! ไปคว้าเอาโจทย์ข้อ 1 มาตัดแปะๆ นะคะ ให้เขียนใหม่ทั้งหมด) คราวนี้ข้อนี้ไม่จำกัดขนาดนั้น ยอมให้มีบทสนทนาได้ค่ะ แต่เอาเท่าที่มองว่าจำเป็นนะคะ อย่าลืมว่าเรายังคงเล่านิทานนะคะ คราวนี้อาจจะได้ออกมา 3-6 หน้ากระดาษ

ทำโจทย์ 2 ข้อนี้ให้เสร็จสมบูรณ์ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นเขียนที่ดีแล้ว แต่สองอันบนเป็นแค่แบบฝึกหัดการเขียน แต่สุดท้ายและท้ายสุด การเขียนก็คือการถ่ายทอดความรู้ ความคิด ความเห็นของคนเขียนอยู่ดี ถ้าข้างในยังกลวง แบบฝึกหัดก็ยังคงเป็นแบบฝึกหัดค่ะ


น้อง B: มีความคิดบางส่วนแล้ว แต่ไม่รู้จะเขียนออกมาเป็นเรื่องยังไงดี

ในที่นี้ขอยกตัวอย่างว่า ‘อยากมีตุ๊กแกในเรื่องจัง’

บางครั้งฟังดูไร้สาระว่าจะเขียนหนังสือแต่ดันอยากให้มีตุ๊กแกเนี่ยนะ จะเขียนทีมันต้องเกิดจากแรงบันดาลใจอย่างเช่น ‘รักออกแบบไม่ได้’ แบบนี้สิ เรื่องมันถึงจะดู cool อะไรอย่างนี้ แต่จะบอกว่าเรื่องบางเรื่องก็กำเนิดจากสิ่งที่คนคิดว่าไร้สาระนั่นแหละค่ะ อย่างน้อยที่สุด น้อง B ก็ยังดีกว่าน้อง A ตรงที่ว่ารู้แล้วว่าตัวเองต้องการอะไร แต่ปัญหาคือ จะต่อยอดยังไง

(จะบอกว่าถามอย่างนี้ค่อยน่าตอบหน่อย เพราะมันชี้แนะได้ แต่คำถามน้อง A นี่ไม่รู้จะให้แนวคิดยังไงเพราะขนาดเจ้าตัวยังไม่รู้เลยว่าตัวเองต้องการอะไรนอกจากตะแบงอยากเขียน)

กลับมาที่น้อง B บ้าง ถือว่า ‘ตุ๊กแก’ เป็นโจทย์ของน้อง B แล้วล่ะ ขั้นตอนนี้ไม่ใช่ขั้นตอนการเขียน แต่เป็นขั้นตอนการคิดว่าจะทำให้มันออกมาเป็นรูปแบบไหน

เรา: พูดถึงตุ๊กแก น้องคิดถึงอะไร

น้อง B: ก็...สัตว์ตัวปุ่มป่ำ น่าเกลียด ชอบอยู่ตรงห้องน้ำในวัด (ทำไมต้องเฉพาะในวัดฟระ พารากอนไม่ได้หรือไง) แล้วก็ชอบชาร์จพลังก่อนร้อง (อ๋อ ตะ ตะ ตะ ต๊กแก อิตรงข้างหน้านั่นเรียกว่าชาร์จพลัง)

สรุปโดยรวมก็คือ ตุ๊กแกตามความคิดของน้องน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของความน่ากลัว กับห้องน้ำวัด (อุเหม่ ให้ setting มาเสร็จสรรพ) ถ้าอย่างนั้นเรื่องที่กำลังจะเขียนน่าจะเขียนเป็นพวก Thriller ก็ได้ หรือไม่จะเล่นกับความคิดนี้ก็คือ เปลี่ยนตุ๊กแกให้เป็นเรื่องโรแมนติกซะเลย กระชาก norm ไปก็ได้ อืม สมมติว่าเอาแบบเป็นโรแมนติกละกัน

เรา: ถ้าทำเป็นเรื่องที่มีพระเอก นางเอก กับตุ๊กแกในห้องน้ำวัด คิดว่าเรื่องมันจะออกมาเป็นยังไง (สังเกต โจทย์เริ่มเพิ่มขึ้นแล้ว แสดงให้เห็นว่า scope ของความคิดไม่ได้กระจัดกระจายอีก การลำดับความคิดแล้วค่อยๆใส่โจทย์เข้าไปในเรื่องของตัวเองจะตบเรื่องของเราให้เข้าที่เข้าทางขึ้นค่ะ)

น้อง B: หวา ยากสินั่น งั้นพระเอกนางเอกอาจเป็นอาสาสมัครไปช่วยสร้างวัด แล้วต้องค้างคืนที่นั่น ตอนกลางคืนพระเอกเข้าห้องน้ำแล้วเห็นตุ๊กแกกรี๊ดตุ๊ดแตก...

เรา: เฮ้ย! ไม่ใช่ป่ะ

น้อง B: เอางี้แหละพี่ ผู้ชายกรี๊ดได้ถมเถ แล้วทีนี้นางเอกกำลังรอเข้าห้องน้ำอยู่ด้านนอกพอดี เห็นพระเอกโผล่พรวดออกมา แล้วนางเอกก็ไปช่วยไล่ตุ๊กแก นางเอกเข้าใจผิดคิดว่าพระเอกไม่ได้แมน

เรา: อ่อ เออๆ (น้องมันความคิดสร้างสรรค์เริ่มกระฉูด ได้ปมขัดแย้งมาแล้วเนี่ย) งั้นเอาเป็นว่าใส่เหตุการณ์อย่างอื่นให้พระเอกอาจจะชอบนางเอกละกัน แต่นางเอกยังเข้าใจผิดใช่ป่ะ อย่างนี้จะทำยังไงให้นางเอกเข้าใจถูกละว่าพระเอกไม่ใช่อย่างที่เขาคิด

อะ ขอตัดบทสนทนาแค่นี้ไปก่อน การสร้าง keyword ให้กับความคิดของตัวเองจะช่วยได้เยอะ แล้วค่อยๆสร้างปมขัดแย้งขึ้นมา (นางเอกเข้าใจว่าพระเอกไม่แมน) แล้วปมขัดแย้งอาจจะซับซ้อนขึ้น (ตัวอิจฉารู้เลยยิ่งเป่าหูนางเอกว่าพระเอกเป็นเกย์ ตอนนั้นนางเอกอาจจะเริ่มชอบพระเอกแล้ว) สุดท้ายคลี่คลายปมยังไง (เหตุการณ์ที่นางเอกเข้าใจพระเอกถูก)

มาถึงตรงนี้ ยังจำได้ไหมว่าเรื่องนี้มีกำเนิดมาจากตุ๊กแก บางทีถ้าเขียนเป็นเรื่องยาวออกมาตุ๊กแกอาจจะปรากฏแค่ฉากเดียวของเรื่องแล้วหายไป แต่สุดท้ายใครจะเชื่อว่าเรื่องนี้เกิดจากตุ๊กแกเป็นตัวเริ่มต้น

เรื่องต่างๆที่เป็นนิยายยอดนิยม อาจไม่มีใครรู้ว่าจุดกำเนิดของมันอาจจะเป็นแค่ตุ๊กแกเหมือนกัน แต่ความคิดและจินตนาการต่อยอดของคนเขียนต่างหากที่สร้างให้มันกลายเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ นี่เป็นจุดวัดความสามารถของคนเขียนด้วยเช่นกัน บางคนไม่อาจไปได้ไกล สุดท้ายเรื่องตุ๊กแกก็ยังคงเป็นตุ๊กแก ไม่สามารถกลายเป็นนิยายสุดยอดอภินิหารไปได้

ฝึกฝนกับความคิดเห็นกับการให้โจทย์ท้าทายตัวเองบ่อยๆ จะเป็นการเสริมสร้างจินตนาการของตัวเองต่อไปค่ะ

โอ๊ย! แค่ 2 ข้อยังพิมพ์มือหงิกเลย ไว้ค่อยต่อคราวหน้าละกันค่ะ เมื่อยมือแล้ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่