Tempy Movies Review วิจารณ์หนัง: The Master {Paul Thomas Anderson}, 2012


ภายใต้ใบหน้าที่หยาบกร้าน รอยแผลเป็นเหนือริมฝีปากบน พฤติกรรมวิตถารต่างๆที่ถาโถมเข้าใส่เราเหล่าผู้ชมในตอนต้นของหนังอย่างไม่บันยะบันยัง และนิสัยติดเหล้าของเฟรดดี้ ตัวละครเอก เราทายได้ไม่ยาากเลยว่าเข้าได้ผ่านพ้นเรื่องราวที่ต้องหนักหนาสากรรจ์ ไม่ใช่น้อย ถึงเปลี่ยนจากนายทหารเรือหนุ่มที่ขี้อายเมื่ออยู่ต่อหน้าคนรัก กลับกลายมาเป็นคนสติฟั่นเฟือนได้อย่างสิ้นเชิง จนกระทั่งเขาได้มาพบกับลัทธิ The Cause ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การสำรวจความทรงจำและแก้ไขมันให้สมบูรณ์ ชีวิตของเฟรดดี้ได้เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

ถ้าเรามองว่าลัทธิดังกล่าวเป็นเหมือนสภาวะจิตของเฟรดดี้ที่ถึงคราวสงครามระหว่างฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว ที่ผ่านมาหลังจากที่เขาผ่านสนามรบ จิตใจของเขาขาดวิ่น ไม่เป็นปกติเหมือนเช่นเคย คงสืบเนื่องมาจากการเห็นความโหดร้ายมามาก กอปรกับเบื้องลึกเบื้องหลังของตัวเขาเอง กล่าวคือ เขาตกเป็นทาสของจิตใจฝ่ายชั่ว ไม่สามารถพาตัวเองออกจากหลุมดำของความทรงจำได้ เขาหมกมุ่นอยู่กับอดีตที่ไม่อาจกลับไปแก้ไขได้อย่างแท้จริง ตอกย้ำด้วยการที่แม้แต่เจ้าของลัทธิก็ยังไม่อาจปฏิบัติตนให้ถูกครรลองคลองธรรมได้เลย ซึ่งตลอดช่วงเวลาที่เฟรดดี้อาศัยใต้ร่มเงาของลัทธิ ก็ถูกปฏิบัติไม่ต่างอะไรจากสัตว์เลี้ยงตัวหนึ่ง

ในท้ายที่สุดเฟรดดี้ก็เลือกที่จะหนีจากอดีต และเผชิญหน้ากับโลกแห่งความเป็นจริง ไปตามหาคนรัก และค้นพบว่าเธอคนนั้นได้แต่งงานกับทหารเรือและมีครอบครัวที่อบอุ่นไปเรียบร้อยแล้ว เฟรดดี้ไม่เลือกที่จะติดใจและมีความสุขกับปัจจุบัน จนกระทั่งมีโทรศัพท์มาจากอังกฤษ อย่างไม่ต้องสังสัยเพราะปลายสายคือเสียงเจ้าของลัทธิที่เขาหลีกหนีออกมา หรือจะมองอีกนัยหนึ่ง นั่นคือการทดสอบเฟรดดี้ว่า ในเมื่อเขาเลือกจะสนใจในโลกปัจจุบัน และพบกับความจริงที่ทิ่มแทงหัวใจ เขายังอยากจะอยู่ในโลกนั้นต่อไป หรือกลับไปคร่ำครวญถึงอดีตที่ทำได้อย่างมากก็คือนอนหลับให้ใครบางคนสะกดจิตเรา และล้วงเอาความลับเพื่อมาตอกย้ำความเจ็บปวด เป็นใครก็ต้องปฏิเสธรวมไปถึงเฟรดดี้ถึงแม้ผู้นำลัทธิจะอ้อนวอนแล้วก็ตาม

เมื่อมีฉากหนึ่งที่เฟรดดี้กับคนในลัทธิออกมาในภูมิประเทศที่ห่างไกลจากผืนน้ำทะเลที่เราเห็นจนชินตาในตอนแรก นั่นคือทะเลทรายที่กันดาร กอปรกับรถมอเตอร์ไซค์ เราอดไม่ได้จริงๆที่จะนึกถึง Lawrence of Arabia, 1962 ของเดวิด ลีน The Master แทบจะเรียกได้ว่าเป็นภาคต่ออยู่นัยๆ เพราะว่าเป็นการพูดถึงผลกระทบทางจิตใจของนายทหารหลังจากไปได้เรียนรู้หลายๆสิ่งมาจากสงคราม เราชอบสัญลักษณ์ที่ผู้กำกับใส่ไว้อยู่ตลอดทั้งเรื่องซึ่งสื่อถึงการยึดติดกับอดีต ไม่ว่าจะเป็นรอยแผลเป็นบนใบหน้า อาชีพถ่ายรูป การถ่ายภาพให้เห็นเกลียวคลื่นท้ายเรือ การที่เฟรดดี้บอกพนักงานต้อนรับในอาคารลัทธิว่าเขาเป็นคนถ่ายรูปนี้เองกับมือ และพฤติกรรมติดเหล้า

ภาพที่เฟรดดี้เดินใต้อุโมงค์ต้นไม้ซึ่งมีแสงแดดเรืองรอง ทำให้เรารู้สึกอิสระ ผ่อนคลายอย่างบอกไม่ถูก ราวกับบอกเราว่าสงครามในจิตใจเฟรดดี้ได้จบลงแล้ว  แม้ว่าในตอนท้ายเราจะเห็นกิจวัตรของเขาแทบจะไม่มีอะไรแตกต่างจากเดิม วิปลาส เมาเหล้า มั่วเซ็กส์ หรือก่อกองทรายเป็นรูปสตรีร่างยักษ์นอนเปลือยท่ามกลางผู้คนที่เดินผ่านไปมามากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปนั่นคือรอยยิ้มขณะที่เขานอนเคียงกองทรายที่เขาสร้างขึ้นมา มันเป็นรอยยิ้มที่เราไม่เคยพบเห็นมาตลอดทั้งเรื่อง มันคือรอยยิ้มที่เขาค้นหามาตลอด เขาได้ค้นพบมันแล้ว

ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับภาพยนตร์ทางเฟสได้เลยน่ะครับ https://www.facebook.com/survival.king
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่