กระทู้สำหรับคนรักสัตว์: "Dr. Dolittle" ตอนที่ 3 "คุณค่าของสัตว์เลี้ยง" (ตอนจบ)

สำหรับท่านที่ยังไม่ได้อ่านครับ
ตอนที่ 1 http://ppantip.com/topic/32063764
ตอนที่ 2 http://ppantip.com/topic/32067981

ใจความของกระทู้นี้ต้องการแนะนำต้นเรื่องของซีรี่ย์ Dolittle ที่ฉายอยู่ทาง TPBS ด้วยครับ รบกวนพี่พันอย่าลบ Tag สถานีโทรทัศน์ TPBS เลยครับ ร้องไห้

จริงๆตั้งแต่ตอนแรกผมได้ติด Tag ปัญหาสังคมไป แต่พี่พันก็ได้ลบ Tag ผมออก ผมไม่รู้ว่าผู้ลบได้อ่านเนื้อหาหรือไม่ ถ้าไม่ได้อ่านหรืออ่านผ่านๆผมก็ไม่ซีเรียสครับ แต่ถ้าได้อ่านผมว่ามันก็เป็นภาพสะท้อนที่ดีอย่างหนึ่งว่าทุกวันนี้ยังมีคนที่ไม่คิดว่าปัญหาสัตว์เลี้ยงเป็นปัญหาสังคม ผมมักจะเจอกระทู้เกี่ยวกับสัตว์ที่ก่อความเดือดร้อนในเว็บแห่งนี้ เอาที่ดังๆล่าสุดก็คือกรณีคุณแพนเค้กกับเพื่อนบ้าน จะเห็นได้ว่าปัญหาสัตว์เลี้ยงนั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ในประเทศที่เจริญแล้วต่างก็มีกฎหมายและบทลงโทษเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่เข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการต้องขึ้นทะเบียนในการเลี้ยงสัตว์ การร้องเรียนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ถูกต้อง การจัดการสัตว์จรจัด การเข้มงวดดูแลสัตว์นำเข้าที่อาจส่งผลต่อระบบนิเวศน์ของประเทศ การดูแลสัตว์ป่า และอื่นๆอีกมาก กระทู้นี้เกิดขึ้นได้เพราะความต้องการที่จะจุดประกายให้เกิดจิตสำนึกในการดูแลสัตว์ในบ้านเราครับ ผมหวังเพียงว่ากระทู้นี้จะเป็นดั่งคลื่นเล็กๆที่กระเพื่อมในทะเลสังคมอันกว้างใหญ่ครับ

การลักพาตัวด้วยเจตนาดี

ในตอนนี้มีหญิงสาวที่ไปเก็บนกนางแอ่นที่ตกอยู่ในสวนของตนเองโดยนกตัวนี้ตัวโตพอสมควรแล้วแต่บินไม่ได้จึงเข้าใจว่าบาดเจ็บเลยพามาหาคุณหมอ

ทตโทริ: ไม่ต้องรักษาหรอก กฎหมายห้ามไม่ให้เอานกป่ามาเลี้ยง เอามันกลับไปไว้ที่เดิมเถอะ
แฟนของหญิงสาว: พูดอะไรบ้าๆ นกอ่อนแอแบบนี้เดี๋ยวก็ถูกแมวหรืออีกาจับไปกิน
ทตโทริ: แล้วจะทำไมเหรอ นี่ล่ะวงจรชีวิตในธรรมชาติ!!

หลังจากทะเลาะกันคุณหมอก็บอกให้หญิงสาวเลี้ยงมันเพื่อให้จากรังได้ (บินได้นั่นเอง) แล้วก็ปล่อยมันกลับสู่ป่า โดยคุณหมอได้สอนวิธีการให้

อาสึกะ: ปีกก็มีแล้ว ตัวก็โตแล้วแต่ยังบินไม่ได้แบบนั้นต้องมีอะไรผิดปกติแน่ค่ะ แต่คุณหมอกลับไม่ยอมตรวจให้ดี

ทตโทริ: บ้าน่า ถึงจะมีปีกหรือมีกำลังมากพอที่จะบิน แต่ถ้าบินไม่ถูกวิธีมันก็ต้องบินไม่ได้เป็นธรรมดา คนเราก็มีทั้งพวกที่เก่งกีฬาและพวกไม่เอาไหน นกก็เหมือนกันถึงจะมีกำลังแล้วแต่นกบางตัวก็ยังบินไม่ได้เพราะจับหลักการไม่ได้ แม่นกจะพยายามชักจูงลูกให้ออกจากรัง ลูกนกส่วนมากบินได้ในครั้งแรก แต่ก็มีลูกนกบางตัวที่บินไม่ได้จนตกลงมาบนพื้น ถ้าเป็นแบบนั้นแม่นกก็จะคอยดูลูกนกที่ตกลงไปให้ฝึกการออกจากรัง สักอาทิตย์เดียวลูกนกก็จะบินได้ แต่คนซึ่งไม่รู้พฤติกรรมแบบนี้ของนกกลับไปเก็บลูกนกที่ตกอยู่มา

อาสึกะ: แต่ก็เป็นเพราะปรารถนาดีนี่คะ

ทตโทริ: ใช่แล้ว ความใจดีแบบนั้นแหละที่ทำให้ลูกนกเสียโอกาสที่จะบินได้ด้วยตัวเอง นั่นคือการลักพาตัวด้วยเจตนาดี

สัตว์เลี้ยงก็คือสัตว์เลี้ยง สัตว์ป่าก็คือสัตว์ป่า ในเมื่อมนุษย์เราได้ปรับปรุงสัตว์ไว้สำหรับเลี้ยงหลายชนิดแล้ว เราจึงไม่ควรไปจับสัตว์ป่ามาเป็นสัตว์เลี้ยง สาเหตุสำคัญ (นอกไปจากกฎหมาย) ก็เนื่องมาจากข้อมูลในการเลี้ยงดูสัตว์ป่านั้นยังมีไม่เพียงพอที่จะดูแลสัตว์ป่าได้อย่างถูกต้อง สัตว์แพทย์ส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถที่จะตรวจรักษาสัตว์ป่าได้ การเลี้ยงดูสัตว์ป่าให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้นจึงนับเป็นเรื่องยากมาก โดยเฉพาะเวลาที่ความปรารถนาดีของเราไม่ได้ช่วยสัตว์แต่กลับเป็นการทำร้ายธรรมชาติของมัน ในโลกของมนุษย์เองก็มีพฤติกรรมตามธรรมชาติแบบนี้เช่นกัน คนเป็นแม่ที่ต้องรับผิดชอบชีวิตของลูกน้อยก็ปรารถนาที่จะฝึกฝนให้ลูกของตนพึ่งพาตัวเองได้ มีคำสอนว่าหากลูกเล็กหกล้มไม่ควรไปพยุงเขาแต่ต้องสอนให้เขาลุกขึ้นได้ด้วยตัวเอง แม่ที่ยืนอยู่เฉยๆแม้ลูกจะร้องไห้ไม่ใช่การแสดงออกถึงความไม่รัก แต่เพราะรักและปรารถนาดีต่างหาก คนเป็นแม่จึงต้องกล้ำกลืนความเจ็บปวดและรอคอยให้ลูกน้อยของตนลุกขึ้นยืนด้วยกำลังของตัวเอง การเลี้ยงดูลูกนกด้วยความปรารถนาดีเฉพาะหน้าเป็นเรื่องง่าย แต่แม่นกก็จะพยายามพัฒนาความสามารถในการดำรงชีวิตให้ลูกนกเพื่ออนาคตของลูกนกเอง สัตว์ที่อยู่ในโลกธรรมชาติจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเองเพื่อเอาตัวรอดจากอันตรายรอบด้าน คนเป็นพ่อแม่และนั้นไม่สามารถคอยอยู่ใกล้ๆได้ตลอดเวลา การคอยดูแลอยู่ห่างๆจึงเป็นการแสดงออกถึงความรักที่เหมาะสม หากหญิงสาวผู้นี้ไม่ได้มาหาดูลิตเติ้ล และเลี้ยงนกนางแอ่นตัวนี้แบบผิดๆจนทำให้มันบินไม่ได้และเสียคุณสมบัติจากสัตว์ป่ากลายเป็นสัตว์เลี้ยง การกระทำเช่นนี้จึงก่อให้เกิดคำถามว่า หญิงสาวผู้นี้ได้ช่วยเหลือสัตว์หรือช่วยสนองอัตตาของตัวเองกันแน่

สัตว์ป่าไม่ใช่สัตว์เลี้ยง สัตว์ป่าก็มีศักดิ์ศรีของมัน ถ้าจะปกป้องสัตว์ป่า ก็ต้องยอมรับศักดิ์ศรีนั้นและอย่าล้ำเส้น
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่