Badminton Man ❤️

กระทู้สนทนา


. . ผมมีกลุ่มเพื่อน ที่ชอบตีแบดมินตันด้วยกัน 2 กลุ่ม  

กลุ่มแรก  ผมเป็นขาประจำ ตีแบด ทุกบ่ายวันอาทิตย์   กลุ่มนี้ เป็นเพื่อน สมัย มัธยม

กลุ่มที่สอง ผมเป็นขาจร แวะไปตี เฉพาะ ตอนไปค้างบ้านเพื่อนรัก นาย McGuyver  
ตีกันประมาณ 3 ทุ่มกว่า ถึงเที่ยงคืน วันเสาร์
(พวกนี้ เป็นพวกค้างคาวราตรี เป็นเพื่อนตอนมหาลัย
ชอบออกกำลังกายกันดึก ๆ  พวกนี้บอกว่า อากาศดี  รถไม่ติด )

แบดมินตัน ที่ผมเล่นนั้น ก็เล่นกันแบบชาวบ้าน ไม่มีกรรมการตัดสิน
ไม่มีคนดูลูกออกเส้นให้ ต้องดูกันเอง ขานแต้มกันเอง
ส่วนใหญ่ก็เล่นประเภทคู่ มากกว่า เพราะเล่นเดี่ยวไม่ไหว  

การนับแต้ม

ถ้าเล่นกับเพื่อนสมัยมัธยม เราเล่นนับแต้ม แบบกติกาเก่า
คือ แต้มจะเดินต่อเมื่อ เป็นฝ่ายเสริฟ์  ถ้าฝ่ายเสริฟ์ตีเสีย แต้มไม่เดิน

กติกาจริง ๆ  (แบบเก่า) เล่นกัน ๑๕ ลูก (คะแนน)  
แต่พวกเราลงมติกันว่า ไม่ไหว  เล่นกันแค่ ๙ ลูก  ก็พอ
( ผมสงสัยเหมือนกันว่าทำไม ต้อง ๙  ก็คิดเอาว่า คงเป็นเลขมงคล
การเชื่อในตัวเลขนี่ เป็นกันทุกๆคนเลยนะครับ)

แต่ถ้าเล่นกับเพื่อนมหาลัย  เราเล่นกับแบบมาตราฐานสากล
คือ แต้มเดินตลอด (เขาเรียกว่า แบบ แรลลี่ )
ไม่ว่าฝ่ายเสริฟ์ หรือ ฝ่ายรับ เสริฟ์ลูกเสีย ตีลูกเสีย แต้มเดินตลอด
กติกาสากล (ที่ใช้กันทุกวันนี้) เล่นกัน ๒๑ ลูก (คะแนน)

และ เพื่อนๆ กลุ่มนี้ ใช้กติกา มาตราฐาน อย่าง เคร่งครัด  ๒๑ แต้ม คือ ๒๑ แต้ม
(ไม่ต้องสงสัยเลยครับว่า มันจะเหนื่อยขนาดไหน
ผมเล่นไปหอบไป โหดสุด ๆ ไม่ปรานีปราศรัยกันเลย)



หลังจากที่ได้เล่นแบดมินตัน กับ เพื่อนๆ ทั้ง ๒ กลุ่มนี้ มาหลายปีดีดัก
ผมได้ประมวลข้อสังเกต บางประการ ตามความคิดส่วนตัวของผม ที่ได้รับจากสนามแบด  ดังต่อไปนี้

1.  เวลาตีแบดเสีย ( ตีออก ตบไม่ลง หยอดไม่ข้าม Net )
เรามักจะทำเป็นดูไม้แบด จับเอ็นที่ยึดไม้ ว่าหย่อน ตึงเกินไปรึเปล่า ดูแล้วดูอีก (แก้เขิน)
(หากไม้แบด  มันพูดได้  มันคงบอกว่า แกตีไม่ดีเอง  ไม่ต้องมาโทษข้าเลยนะ)


2.  การดูลูกแบด ยังอยู่ในเส้น  หรือออกนอกสนาม
เราสามาถ ทายนิสัย ของคู่เล่นฝั่งตรงข้าม ได้เลยว่า เขาเป็นคนอย่างไร

หากเขาขานลูกว่า  ออกนอกเส้น  จนเ็ป็น "นิสัย"
แสดงว่า . . ให้ทำใจได้เลยว่า ถ่าลูกก่ำกึ่ง ให้เตรียมใจเสียคะแนน
(และแปลได้ว่า  น้ำใจนักกีฬา คงเหือดแห้งไปแล้ว  คนแบบนี้ หวังชัยชนะเป็นที่ตั้ง . . มิตรภาพเรื่องรอง)


3. การนับคะแนน  ก็บอก นิสัย คนได้
ถ้าชอบนับแต้มผิด  แบบว่า  ฝ่ายตัวเองมีคะแนนนำเสมอ   ( เราก็ต้องทำใจ )
ถ้าชอบเถียงแต้มกันบ่อย  ท้วงกันบ่อย ๆ  ว่ามีการนับแต้มผิด  ( คนแบบนี้ ถือว่า จริงจังในทุก ๆ เรื่อง)

แต่  ถ้านับแต้มไม่ถูก  ซึ่งแบบนี้  สำหรับผมเอง ซึ่งชอบเป็นคนขานแต้ม ให้เพื่อนๆ เวลาเล่น
ถ้าผมเริ่มนับแต้มไม่ถูกแล้ว ผมจะรู้ได้ทันทีว่า เกมส์นั้น ผมเหนื่อยมาก ๆ  จนจำแต้มไม่ได้  
หรือเจอคนเล่นหนัก ๆ มาก  จนต้องตั้งใจเล่น จนไม่สามารถจำคะแนนระหว่างเล่นได้เลย


4. การส่งลูก  เวลาเริ่มคะแนนใหม่
เวลาแต้มหยุด ลูกไปตกในสนาม นอกสนาม ใกล้ ไกลตัวเรา
คนที่จะเก็บลูกให้ ฝ่ายเดียวกัน หรือ ฝ่ายตรงข้าม เพื่อเริ่มเล่นแต้มใหม่

เราจะรู้ทันทีเลยว่า เพื่อนที่เราเล่นด้วย คู่เล่นฝั่งตรงข้าม มีน้ำใจไหม เวลาต้องส่งลูกให้กัน
(ผมวัดใจ  นิสัยเล็ก ๆ น้อย ๆ จากตรงนี้เลย  พวกที่ไม่ชอบเก็บลูก ให้คนอื่น นี่ก็ . . )


5. การบอกเทคนิคการเล่น  ระหว่างการเล่น
มีคนจำพวกหนึ่ง คือ ชอบเป็นกุนซือ ระหว่างการเล่น คอยสั่งสอน คู่เล่น ให้ทำอย่างโน่นอย่างนี่
อันนี้ ต้องดูด้วยว่า Work ไม่ Work  ผมเคยเจอทั้งเป็น กุนซือจริง กับกุนซือปลอม ๆ  

เราจะรู้เลย ว่า ให้ที่สอน ๆ นี้  เวลาเล่นกัน   กุนซือที่เล่นกับเรา   มันเป็นจริง ๆ รึเปล่า
(อันนี้วัดไม่ค่อยได้   เพราะบางคนสอนเทคนิคให้ดีจริง ๆ  แต่บางคนสอน  แต่กลับทำไม่ได้ก็มี)


6. การให้กำลังใจกัน
ผมติดนิสัย   ไม่ว่าฝ่ายเรา  ฝ่ายเขา  ตีแบดกัน  ลูกได้เสียยังไง ผมก็ชอบต้องตะโกนว่า " เยี่ยม " เสมอ
บางทีก้อ  "ปรบมือ"  ให้   บางที ก็  "ยกนิ้วโป้ง"  ชมว่ายอด  ต้องยกแต้มให้จริง ๆ  

ผมชอบทำแบบนี้บ่อย ๆ  เพราะผมเชื่อว่า  เรามาเล่นกันแบบชาวบ้าน  เพื่อน ๆ กันทั้งนั้น
เราไม่ได้มาเล่นกัน  "แบบกินบ้านกินเมือง"   ไม่ต้องซีเรียสคิดมาก จะต้องแพ้ชนะกันเอาเป็นเอาตาย
(แต่เราต้องจริงจัง  แสดงฝีมือเวลาเล่นนะครับ  ไม่ชอบพวกเล่นไม่เต็มร้อย)  

ดังนั้น เราต้องคอยให้ สถานการณ์ ในระหว่างการเล่น   มันรื่นเริงด้วย  หัวเราะบ้าง  ตบมือบ้าง
บรรยากาศจะได้ดูสบาย ๆ  กันเอง  และกระชับความเป็นมิตรด้วย


7.  การตำหนิ คู่เล่น   อันนี้ ต้องหลีกเลี่ยงนะครับ
ผมดูนิสัยคนก็ตรงนี้แหละ   บางคนพาล  โมโหโกรธาเพื่อนที่เป็นคู่เล่นฝ่ายเดียวกัน (ที่ฝีมืออ่อนกว่า)
อย่างที่บอก  เพื่อน ๆ กันทั้งนั้น  ไม่ได้เป็นทีมชาติ  คนเราบางทีก็มีขีดจำกัด

เวลาผมเห็นใครตำหนิเพื่อนแรง ๆ  ในการเล่น  ผมมักเห็นใจคนที่ถูกตำหนิมากกว่า
แต่ถ้าเป็นการแซวกัน   อำกัน  อันนี้ ผมถือว่าเป็นสีสัน
และผมก็ชอบจริง ๆ  คนไหนอำดี  มุขดี  กัด  จิก  แบบสนุก ๆ  

ผมจะสังเกตได้เลยว่า  คนนั้นเพื่อนจะรักมากเป็นพิเศษ
เพราะผมคิดว่า  เขาคงสนิทกันมาก  จนอำกันได้แบบไม่ถือสา
(แต่ถ้าอย่างพวกที่ตำหนิแรง ๆ  อันนี้  ผมเคยฟังคู่เล่นที่ถูกตำหนิมาระบายให้ฟังว่า ไม่อยากจับคู่เล่นกับคนนั้นเลยก็มี)


8.  การขอโทษและให้อภัยกันและกัน
บ่อยครั้งที่เราตีลูก  ดันไม่ข้าม  แต่ลูกดันไปโดนคู่เล่นของเราเอง  (เต็มหลัง)
บ่อยครั้งที่เราได้ลูกที่สวยงามเหมาะแก่การหยอด  ตบ  ตี  สวนกลับ  แต่เรากลับหวืด  (ทำเสียเอง)  
บ่อยครั้งที่เราตั้งใจมากไปหน่อย  วิ่งไปเล่นลูกโดยไม่ดูคู่เล่น  แล้วดันวิ่งชนกัน หรือเอาไม้ตีกัน  (ผมเรียกว่า ยักษ์ชนยักษ์)

บ่อยครั้งที่เราตั้งใจมาก ๆ  ตบลูกเต็มเหนี่ยวและมันก็ได้ผล  นอกจากลงในเส้นแล้ว มันยังไปถูกกบาลของฝ่ายตรงข้าม
บ่อยครั้งที่เรา ลืมตัว แสดงอาการแย่ ๆ ออกมา  เช่นเล่นไม่เต็มที่  หรือ เอาเป็นเอาตายเกินเหตุ  
สิ่งที่ไม่ดี  สิ่งที่ผิดพลาด  ผมเชื่อว่า่อาจเกิดขึ้นได้ในสนามทุกเมื่อ  ซึ่งบางทีเราก็ควบคุมไม่ได้
แต่สิ่งที่เราสามารถควบคุมได้แน่ ๆ   ก็คือ การขอโทษ และให้อภัยกันและกันครับ


9.  น้ำใจ  นอกสนาม
เคยไหม   เห็นเพื่อนบางคน  วิ่งออกไปซื้อน้ำมาให้เพื่อน ๆ  ออกเงินส่วนตัวไปก่อน
เคยไหม   เห็นเพื่อนบางคน  ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบัญชี  คอยคำนวณเงินค่าใช้จ่าย  โดยไม่มีใครร้องขอ
เคยไหม   เห็นเพื่อนบางคน  คอยเช็คว่ามีใครลืม ไม้แบด  สัมภาระของเพื่อน ๆ หลังเล่นเกมส์จบแล้ว
เคยไหม   เห็นเพื่อนบางคน  ออกเงินค่าเล่นแบด  ให้เพื่อนบางคน (ที่ไม่มี)  แล้วไม่เคยทวงคืนเลย

เคยไหม   เห็นเพื่อนบางคน  อยู่นอกสนาม  ก็ยัง Entertain ตบมือ ขานแต้ม  เชียร์ให้เพื่อนเฮฮา  จนเสียงแหบเสียงแห้ง
เคยไหม   เห็นเพื่อนบางคน  คอยแนะนำ กติกา เทคนิค การเล่น แบบไม่อมภูมิ
เคยไหม   เห็นเพื่อนบางคน  นอกจากเล่นแบดแล้ว  ยังดันทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา เรื่องอื่น ๆ อีก  โดยไม่คิดว่าเสียเวลาเปล่าเลย
เคยไหม   เห็นเพื่อนบางคน  ไม่หวงไม้แบดสุดโปรด  ราคาแพง  มีน้ำใจ  ยกให้เพื่อนโดยไม่ลังเลเลย


ผมเคยเห็น สิ่งดีๆ เหล่านี้มาแล้ว   แล้วมันก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง
ที่ทำให้ผมยังหลงทาง   หาทางออกจากสนามแบดแห่งนี้ . . ไม่ได้เลย  หัวใจ

.................................................................................................

ทิ้งท้าย . .  ปลายสนาม

การเล่น แบดมินตัน  เราอาจจำเป็นต้องพึ่งอุปกรณ์นอกกาย บางอย่าง ในการเล่น
แต่ สิ่งที่สำคัญ สำหรับ แบดมินตัน หรือ กีฬาอื่น ๆ ทุกประเภท  
กลับเป็น " สิ่งที่อยู่ภายในของเราเอง"
ก่อน  และหลัง  จบเกมส์  ในและนอกสนาม
คุณมี  "ใจ" ให้ กับการเล่น  และ
คุณมี  "น้ำใจ" ให้กับ ผู้ร่วมเล่น ทุก ๆ คนแล้วรึยัง ?

ผมเชื่อว่า การเล่น กีฬา สามารถแสดง "ธาตุแท้ในใจ" ของเรา บางส่วนออกมาได้
ทุกขณะที่ คุณเล่น กีฬาอยู่ บางที อาจมีใครกำลัง สังเกต ดูนิสัย คุณอยู่ก็ได้ ครับ


Bad Cheerful - by Pichaya
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=473072

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่