อาชีวะจิตอาสา'Believe Be Live'ขับขี่ปลอดภัยช่วงเทศกาล

เทศกาลสงกรานต์ เป็นช่วงที่มีวันหยุดยาว ปีนี้ กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ร่วมรณรงค์และช่วยลดอุบัติภัยทางถนน โดยจับมือกับกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม จัดโครงการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2557 ภายใต้แนวคิด “Believe Be Live” สร้างความเชื่อมั่นในการขับไม่เร็ว ไม่แซง ไม่ปาด คาดเข็มขัดนิรภัย ใส่ใจวินัยการขับขี่ มีน้ำใจบนท้องถนน ง่วง เมา ไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย

           กิจกรรมที่ สอศ.ร่วมดำเนินการคือ จัดนักศึกษาอาชีวะที่มีจิตอาสา และเรียนสาขาช่างยนต์ เทคโนโลยียานยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ให้อยู่ประจำศูนย์ที่มีขึ้นทุกช่วงเทศกาลสงกรานต์ นั่นคือ ศูนย์อาชีวะ ร่วมด้วย ช่วยประชาชน จำนวน 250 ศูนย์ บนถนนสายหลัก และสายรองทั่วประเทศ แบ่งย่อยเป็น 5 ภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร 32 ศูนย์ ภาคกลาง 43 ศูนย์ ภาคเหนือ 51 ศูนย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 83 ศูนย์ และภาคใต้ 41 ศูนย์ ซึ่งนักศึกษาอาชีวะจิตอาสาที่อยู่ประจำทุกศูนย์จะต้องเข้ารับการฝึกอบรมเข้มข้นจำนวน 7 วัน จากช่างประจำศูนย์รถยนต์ชื่อดังหลายยี่ห้อ ซึ่งช่างเหล่านี้ได้มาเป็นพี่เลี้ยงให้นักศึกษาอาชีวะตามเต็นท์ศูนย์อาชีวะ ร่วมด้วย ช่วยประชาชน ที่เป็นศูนย์ใหญ่ตั้งอยู่ระหว่างทางเชื่อมรอยต่อสำหรับการเดินทางไปสู่ภูมิภาคต่างๆ

           บนเส้นทางถนนสายหลัก สายรอง จะเห็นเต็นท์สีส้มตั้งอยู่ริมทาง แต่ละเต็นท์จะมีนักศึกษาอาชีวะประจำอยู่เต็นท์ละ 5-6 คน รวมทั้งมีคุณครูและพี่เลี้ยงที่เป็นช่างประจำศูนย์รถอยู่ด้วย ความมีจิตอาสาพร้อมใจกันปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เวลา 08.30-24.00 น. ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2557 ตั้งแต่การตรวจสภาพรถ ทั้งรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนยางรถยนต์ เติมลม และแก้ไขอาการของเครื่องยนต์ที่เกิดขึ้นแบบกะทันหัน มีบริการนวดผ่อนคลายความเมื่อยล้าโดยนักศึกษาอาชีวะแผนกพาณิชย์และคหกรรมที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว ทุกเต็นท์จะมีที่พักให้ผู้ขับรถที่ต้องการพักผ่อนช่วงสั้นๆ มีน้ำเย็น ชา กาแฟไว้บริการด้วย

           แสนศักดิ์ เอี่ยมทอง นักศึกษาระดับ ปวส.1 แผนกช่างยนต์ สาขาวิชาเครื่องกล วิทยาลัยการอาชีพปากท่อ จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า เรียนสาขายานยนต์มาตั้งแต่ ปวช. เพราะใจรัก ในช่วงเทศกาลแบบนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ฝึกประสบการณ์ นำความรู้ที่เรียนมาใช้ในการปฏิบัติจริง ความรู้และทักษะบางอย่างหาไม่ได้ในห้องเรียน สถานการณ์จริงจะทำให้แกร่งและเก่งขึ้น มีบทเรียนใหม่ๆ มาให้เรียนรู้ เพราะบางครั้งต้องเอารถไปยก ไปลาก ไปรับรถที่เสียกลางทางมาซ่อม โดยมีคุณครู และช่างพี่เลี้ยงคอยแนะนำ ภูมิใจที่ทำให้เจ้าของรถที่มาใช้บริการมีความสุข เรียนต่ออีกปีก็จบแล้ว มีงานรอแล้ว บริษัทที่ไปฝึกงานจองตัวไว้แล้ว

           ชลทิชา กันโอภาส นักศึกษาระดับ ปวส.1 แผนกช่างยนต์ สาขาวิชาเครื่องกล วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา บอกว่า ผู้หญิงเรียนแผนกช่างยนต์ได้ ไม่ว่าจะเป็นแผนกช่างยนต์ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ทุกวันนี้ซ่อมรถที่บ้านเอง ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าเอง อยากให้ผู้หญิงมาเรียนช่างกันจะได้รู้ว่าตัวเองมีศักยภาพมีคุณค่าแค่ไหน

           "การออกมาทำกิจกรรมที่ศูนย์อาชีวะ ร่วมด้วย ช่วยประชาชน ช่วงสงกรานต์นี้ เหมือนมาเข้าค่ายอยู่แคมป์ ได้แก้ไขรถยนต์ที่มีปัญหาแบบฉุกเฉิน เลือกโจทย์ไม่ได้ มีแต่ต้องตอบโจทย์ให้ได้ และได้ใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับคนอื่น ทั้งเพื่อน ครู เจ้าของรถ ตำรวจทางหลวง คนที่เดินทางผ่านไปผ่านมา เป็นแคมป์ช่างน่ะ บรรยากาศแบบนี้หาในห้องเรียนไม่ได้ เรียนจบแล้วจะไปเปิดร้านขายอะไหล่”  ชลทิชา เผย

           เช่นเดียวกับ ชาญชัย ทิพย์ชัย นักศึกษาระดับ ปวส.1 แผนกช่างยนต์ สาขาวิชาเครื่องกล วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา เล่าว่า พ่อแม่ไม่อยากให้เรียนช่าง กลัวเหนื่อย เลอะเทอะ แต่พอมาเรียนแล้วซ่อมรถจักรยานยนต์ได้ ซ่อมรถยนต์ได้ มีคนแถวบ้านมาตามให้ไปซ่อมที่บ้านจนเชื่อมือกัน มีลูกค้าประจำแล้ว รายได้ก็ตามมา ไม่ต้องรบกวนพ่อแม่ ตอนนี้พ่อแม่เลิกคิดอย่างนั้นแล้ว และคอยสนับสนุนด้วย ช่วยหาอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็นต่างๆ มาให้ จัดมุมช่างยนต์ในบ้านให้ด้วย

           การออกมาทำกิจกรรมช่วงสงกรานต์ถือว่าเป็นการเสริมความรู้ ที่สำคัญการช่วยเหลือคนที่ประสบปัญหาในช่วงเดินทางถือว่าได้บุญแรง เพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าจะเจอปัญหาอะไร ก็มีเครื่องยนต์ใหม่ๆ มาให้ซ่อมหลายคัน โชคดีที่มีครูกับพี่เลี้ยงช่วยแนะนำ คุ้มนะ ได้ความรู้เพิ่มด้วย ได้ช่วยคนให้เดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัยด้วย

http://www.komchadluek.net/detail/20140422/183278.html
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่