ประเทศอื่นสอนให้เด็กรับ ASEAN อย่างไร ทำไมเด็กไทยรู้จักแค่การทักทายและธงชาติ

เห็นเด็กๆ และโรงเรียนติดธงอาเซียน แต่งชุดอาเซียนกันใหญ่ ท่องชื่ออาหารประจำชาติ ดอกไม้ประจำชาติ คำทักทาย ......... แค่นั้น

แต่ไม่ค่อยเห็นการกล่าวถึงจุดเด่นจุดด้อยของประเทศต่างๆ การรับมือถ้าเปิดอาเซียนว่าเราจะไม่เสียเปรียบชาวบ้านเขาได้อย่างไร วิธีการหาประโยชน์จากประเทศเพื่อนบ้าน หรือพูดให้ตรงๆ คือ คนไทยจะเอาเปรียบเพื่อนบ้านให้มากที่สุดได้อย่างไรโดยที่ไม่น่าเกลียด และไม่ถูกโจมตีจากคนอื่น

ถ้าให้ว่ากันแบบตรงไปตรงมาผมไม่คิดว่าการเปิดอาเซียนนั้นประเทศต่างๆ จะมาเป็นมิตรกัน เกื้อกูลกันอย่างจริงใจ แต่มันต้องหาวิธีโกยผลประโยชน์เข้าประเทศตนแน่นอน เรื่องจะมาร่วมมือกันช่วยเหลือกันคงเป็นแค่ความฝัน ไม่มีอยู่จริง

เลยอยากทราบว่า ประเทศอื่นเขาสอนเด็กของเขากันอย่างไรบ้างในการรับมือการเปิดอาเซียน รวมทั้งนโยบายของประเทศต่างๆ ด้วยก็ได้ เพราะนอกจากประเทศไทยแล้วคงไม่มีประเทศไหนมองโลกในแง่ดีแบบประเทศไทยอีก คงหาวิธีแก่งแย่งกันน่าดู จึงเกิดความสงสัยขึ้นมา

ใครที่ได้ใช้ชีวิตในประเทศเพื่อนบ้านอยากให้ลองมาแบ่งปันประสบการณ์กัน
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 20
การศึกษามันคือทุกอย่างจริงๆครับ แต่ผมว่าไม่ใช่การศึกษาแบบไทยๆที่เอาอะไรที่ไม่สมควรจำมาให้จำ ตัวอย่างในอาเซียนคือ ดอกไม้ประจำชาติธงชาติ ภาษาประจำชาติ อาหารประจำชาติ แล้วก็มีการโรยหน้าด้วยธงชาติหน้าโรงเรียน คำขวัญอาเซียนตัวใหญ่ๆ แต่เรื่องนี้ก็ไปโทษคุณครูที่ รร.อย่างเดียวไม่ได้หรอกครับ เพราะระบบมันเป็นแบบนี้มาตั้งนานแล้วมีอะไรก็จำๆกันไว้ก่อน วิธีการแบบนี้ผมไม่รู้ว่าจะได้ผลมั้ยนะครับแต่ส่วนตัวที่เค้าให้จำแบบนี้ผมไม่ค่อยสนใจหรอกครับ คุณจะหาอะไรที่เป็นความจำก็เปิดเอาสิครับ Google เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีทันสมัยอยากรู้อะไรก็แปปเดียว แต่ก็ควรมีความรู้รอบตัวเพื่อสามารถวิเคราะห์ปัญหาต่างๆแก้ไขปัญหา ซึ่งการสอนทักษะการคิดวิเคราะห์ก็ไปดูตัวอย่างสิงค์โปร์ก็ได้ครับ เอามาปรับใช้

ผมได้ฟังจาก ดร.สุรินทร์ นะครับ ว่าการสอนของเมืองนอกกับเมืองไทยแตกต่างกันยังไง

- เมืองนอก  อาจารย์4คน ( วิชาสังคม+อังกฤษ+วิทยาศาสตร์+คณิตศาสตร์ ) จะให้งาน 1 ชิ้น ตัวอย่างเช่น ปีนี้ครบ100ปีเรือไททานิกก็จะให้เขียนรายงาน1ชิ้น โดย...อาจารย์วิชาอังกฤษก็จะตรวจการใช้ภาษาอังกฤษว่าถูกต้องหรือไม่  ...อาจารย์วิชาวิทยาศาสตร์ให้เด็กอธิบายว่ามันเกิดอะไรขึ้นในวันนั้นเรือจมไปครึ่งลำใช้เวลาเท่าไหร่ ...อาจารย์คณิตศาสตร์ให้ใช้สูตรอันเดียวเช่นมวลน้ำที่กลายมาเป็นน้ำแข็งกี่ส่วนที่อยู่ในน้ำกี่ส่วนที่ลอยเหนือน้ำใช้สูตรอะไร ....อาจาร์วิชาสังคมจะให้อธิบาย 3 ชั้นของเรือไททานิค ว่าแต่ละชั้นคน backgroud แบบไหน คนรวย นักธุรกิจ กรรมกร  

-เมืองไทย   เหตุการณ์เรือไททานิกเกิดขึ้นที่มหาสมุทรใด
                        1.แอตแลนติก
                        2.แปปซิฟิก
                        3.แอนตาร์กติก
                        4.ถูกทุกข้อ


ถ้ามีเวลาก็ชมแบบเต็มๆนะครับ http://www.youtube.com/watch?v=13s4AV4mChc
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 12
การศึกษาไทยคือท่องจำไปสอบ ไม่สอนให้เด็กวิเคราะห์

เรื่องจริงจากประสบการณ์ตรง เด็กไทยส่วนมากเาครูถามจะไม่มีใครกล้าตอบ ถ้าตอบผิดจะโดนหักคะแนนไม่ก็ประจารเลยกลัวเป็นปมด้อยว่าตอบผิด หาว่าโง่
แต่ถ้าตอบนอกเหนือจากนั้นก็จะหาว่านอกตำรา เราถามว่าทำไม ก็จะโดนหาว่าก้าวร้าวไม่เชื่อฟัง ซึ่งผู้สอนต้องอธิบายเหตุผลที่ถูกต้องและรับฟังเหตุผลของเด็กก่อน
ไม่ใช่ว่าเด็กก้าวร้าวเถียง หรือมายัดเยียดคำถามให้เด็ก แบบนี้ใครจะกล้าตอบ ตอบไม่ได้ก็หักคะแนน เลิกเถอะการสอนแบบนี้ อ่านผิดนิดเดียวหักคะแนนถึงขั้นประจาร

อีกกี่ปีการศึกษาไทยจะพัฒนา เลิกมองเด็กที่ท๊อปของห้องเหนือกว่าเด็กคนอื่นซะที ทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง คนเราเก่งไม่เหมือนกัน อยากให้มองการใช้ความคิดมากกว่าการเป็นที่ 1
ความคิดเห็นที่ 31
เราจบสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามาค่ะ เราก็รู้สึกเหมือนกันนะว่าไทยเราศึกษาเรื่องอาเซียน เรื่องเพื่อนบ้านน้อยมากจริงๆ
เรียนสาขานี้มา ไม่เคยต้องมานั่งจำค่ะว่าดอกไม้ประจำชาติของแต่ละชาติคืออะไร ส่วนตัวให้เรามานั่งจำเราก็ไม่จำนะ จุกจิกเกินไป ๕๕๕
แต่จริงๆเรื่องอาหารประจำชาตินี่น่าสนใจนะคะ มันสะท้อนอะไรได้เยอะมาก แต่ก็นะ เด็กๆก็เรียนกันแบบท่องจำ นี่ถ้าเราเองไม่ได้เรียนเอกนี้ก็คงไม่รู้เรื่องกับเขาเหมือนกัน

ขอยกตัวอย่างเรื่องอาหารสิงคโปร์ สิงคโปร์ชูจุดเด่นอาหารผ่านทางโฆษณาการท่องเที่ยวและสื่อต่างๆ จะมีอยู่ 4 อย่างค่ะ
1. ข้าวมันไก่
2. ปูผัดพริก
3. แกงกะหรี่หัวปลา
4. บักกุดเต๋
นี่คือการพรีเซนต์อาหารแต่ละเชื้อชาติที่อยู่ในสิงคโปร์ คละๆกันมาก อันนึงจีน อันนึงอินเดีย อันนึงมาเลย์ บางเมนูนี่ผสมสูตรกันจนออกมาเป็นรูปแบบเฉพาะตัวอย่างแกงกะหรี่หัวปลา ผสมกันมาเพื่อที่จะบอกอ้อมๆว่าประเทศนี้อยู่กันแบบหลายเชื้อชาติมากๆ ซึ่งเราว่ามันปรับหลักสูตรให้เอาไปใช้กับเด็กๆได้นะคะ มันเชื่อมโยงกับความเข้าใจของแต่ละประเทศได้ด้วย เพราะมันให้ความรู้สึกใกล้ตัว หากินเองได้ด้วย
(อาหารประจำชาติอย่างไม่เป็นทางการเหล่านี้ของสิงคโปร์ก็จะไม่พรีเซนต์อาหารทางจีนมากๆนักเพราะมองว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เดี๋ยวจะมองว่าโปรโมทแต่จีนนะ มาเลย์ล่ะ อินเดียล่ะ ฝรั่ง คนพื้นเมืองอีกล่ะ)
ตอนแรกเราเกือบได้เป็นครูสอนสังคม ถ้าได้สอนวิชาสังคมเราก็จะเอาเรื่องไปสอนเด็กนี่แหละ
นั่งคุยๆกันแล้วถามเด็กๆว่าทำไมอาหารอันนี้ถึงได้เป็นอาหารประจำชาติ ทำไมใช้วัตถุดิบอันนี้(สะท้อนเรื่องภูมิศาสตร์ได้แบบลางๆด้วย) แค่คิดก็สนุกแล้วค่ะ แต่ถ้าเด็กไม่ตอบ อันนี้คงไม่สนุกเท่าไหร่อะนะ ฮ่าๆ

หรืออย่างอินโดนีเซีย คำขวัญประจำชาติว่า เอกภาพในความหลากหลาย
เพราะอะไร? เพราะว่าอินโดมีหลายเชื้อชาติมาก พื้นที่บางส่วนกระจัดกระจาย เกาะเล็กเกาะน้อยมีเป็นพันๆ ภาษาก็มีเยอะมาก แต่ภาษาราชการมีภาษาเดียวเป็นภาษากลาง และถึงจะมีจำนวนคนนับถือศาสนาอิสลามเยอะที่สุดในประเทศ แต่ก็ไม่มีศาสนาประจำชาติ เพราะเดี๋ยวจะดราม่ากันว่าให้ความสำคัญแค่คนศาสนาใดศาสนานึง หรือชนชาติใดชนชาตินึง เพราะบางเกาะก็คริสเตียนเยอะ บางเกาะอย่างบาหลีก็เป็นฮินดู-พุทธกันเกือบยกเกาะ  ซึ่งจริงๆก็ดราม่ากันเรื่อยๆนะคะ ทำนองว่าทำไมภาครัฐสนใจแต่ชวา พัฒนาชวา แถมสวนสาธารณะสวนใหญ่ๆมีที่ชวา(จำพิกัดไม่ได้ว่าที่ไหน) ดันมีศาสนสถานให้ทุกศาสนาแต่มีศาสนาชวาให้ต่างหาก พิเศษเกินไปแล้ว! อะไรแบบนั้น เพราะงั้นเลยต้องผลักดันกลุ่มชนชาติอื่นๆกันบ้าง เพราะเรื่องแบบนี้เหมือนจะฟังดูเล็กๆน้อยๆ แต่มันอาจเป็นปัญหาใหญ่ตามมาก็ได้ อย่าง การแยกตัวของติมอร์ การพยายามแยกตัวของอาเจะห์(ซึ่งใกล้กับมาเลย์ หรือ3จังหวัดบ้านเรามากกว่าอินโดส่วนกลาง ซึ่งก็คือชวาซะอีก ฆ่ากันยิงกันตั้งนาน จนสุดท้ายได้เป็นเขตปกครองพิเศษถึงสงบ) การพยายามแยกตัวของปาปัว (ซึ่งใกล้กับออสเตรเลียมากกว่าชวาอีกนั่นแหละ แต่เคสนี้น่าจะสำเร็จยาก)

จริงๆเรื่องพวกนี้สร้างความเข้าใจและเชื่อมโยงกันตั้งแต่เด็กๆก็ดีค่ะ มีประโยชน์กว่านั่งดูรูปธง จำธง จำดอกไม้ จำอาหารกันไปแบบเป็นข้อๆ ไม่ได้เชื่อมโยงอะไรเลย พอไม่ได้เชื่อมโยง มันก็ลืมง่าย
ความคิดเห็นที่ 14
เอาง่ายๆเลย ไม่ใช่แค่เด็ก แต่วัยรุ่นไปจนถึงผู้ใหญ่หลายๆคนส่วนมากก็เป็นแบบนี้ บางคนไม่รู้ว่า ASEAN คืออะไร บางคนยังสับสนไม่รู้ว่า AEC กับ ASEAN มีความสัมพันธ์กันแบบใด บางคนยังพูดว่า นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นเลขาธิการฯอยู่ ทั้งๆที่จริงๆแล้วคือนายเลย์ เรือง มินห์ นั่นแสดงให้เห็นว่าบางครั้งโรงเรียนไม่ได้มีส่วนมากหรอก บางครั้งครูที่โรงเรียนก็อาจจะรู้เท่าที่สอนเด็กก็เป็นได้ แต่เป็นเพราะคนไทยส่วนใหญ่ สนใจแต่เรื่องของตัวเองมากจนเกินไป
        ยกตัวอย่างเอาแบบง่ายที่สุด เวลาเพื่อนชาวสิงคโปร์มาประเทศไทย เขาจะรู้หมดเลยว่า ร้านอาหารร้านไหนที่คนไทยกินกัน(จริงๆ) ที่เที่ยวไหนที่คนไทยเที่ยวกัน(จริงๆ) นายกฯคือใคร สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเป็นแบบไหน ควรทำอะไรไม่ควรทำอะไร ในขณะที่เพื่อนคนไทยซื้อทัวร์ไปสิงคโปร์ ไปถ่ายรูปกับเมอร์ไลออน ยืนขวางทางบันไดเลื่อน ข้ามถนนไม่สนสัญญาณไฟ กินข้าวมันไก่ ช็อปปิ้งออร์ชาร์ด แล้วก็กลับ โดยที้ยังไม่รู้เลยว่า ปธน.ชื่ออะไร นายกเป็นใคร มีความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจการเมืองและสังคมกับไทยอย่างไร
       การเปิด ASEAN อาจทำให้เราตาสว่าง และพยายามปรับตัวมากขึ้น ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะทันรึเปล่า  เพราะเชื่อว่าหลายๆคนยังไม่เห็นถึงความสำคัญตรงนี้ หลายๆคนไม่เคยรู้ว่าฟิลิปปินส์เป็นชาติแรกในอาเซียนที่มีรถไฟฟ้า และหลายคนก็ยังไม่รู้ว่ารถไฟฟ้าเมื่อ 40 ปีที่แล้ว กับตอนนี้ แทบจะมีสภาพไม่ต่างกัน เพราะปัญหาทางการเมือง คนไทยเรามีบทเรียนมากมายให้ได้ศึกษา คนไทยเรามีข้อได้เปรียบมากกว่าหลายๆประเทศ เพียงเพราะว่าเรายังสนใจเรื่องของตัวเองมากเกินไป จึงน่าจะเป็นที่มาว่า ทำไมเด็กถึงรู้จักแค่ธงชาติแล้วการทักทาย...สวัสดี
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่