ลูกทาส ปิดเรื่องประทับใจ

สามตอนที่เหลือ เล่าเรื่องได้ดีมีพัฒนาการของพระเอก อย่างเป็นเรื่องเป็นราวไม่มีทางลัด

นางเอกจะแสดงออกทางอารมณ์ที่เปิดเผย เมื่ออยู่กับพระเอกสองต่อสองขึ้นเรื่อยๆ
ไม่เก็บงำมากยิ่งพระเอกเป็นเสมียนแล้วจะชัดเจนยิ่งขึ้น จนไปช่วยพิทักษ์สิทธิสตรีภรรยาบ้านเจ้าคุณ จนพระเอกเป็นงง

ปัญหาที่ดารา ระแวงว่าลูกชายของตุ๊กตาจะมาแย่งสมบัติ จึงคิดจะใช้เงินฟาดหัว
ดีกว่าบังคับให้ลูกชายเมียไพร่บวชไม่สึก จนเจ้าคุณที่มีใจเป็นธรรมเหลืออดนั้น
จะเห็นได้ว่าดารา กลัวจะไม่ได้เป็น "เอกภรรยา" ถึงจะได้ตราตั้ง แต่ไม่ได้เป็นจอมใจก็ทนไม่ได้

ประเภทของเมีย ชั้นต่างๆ อ้างอิงจากกระทู้นี้ มีเพื่อนสมาชิกให้ความกระจ่างแล้ว
http://ppantip.com/topic/31201337

ตามกฎหมายตราสามดวง สมัยต้นรัตนโกสินทร์ สามารถแบ่งเมียออกได้ ๔ ประเภท

ประเภทแรก คือ เมียพระราชทาน ซึ่งแบ่งออกเป็น สองชั้น
- เมียอันทรงพระกรุณาพระราชทานให้ (พระราชทานให้เองเป็นบำเหน็จ)
- เมียอันทูลขอพระราชทานให้ (พระราชทานตามที่ขอ)

ขอยกตัวอย่างเมียพระราชทาน เท่าที่นึกได้ในประวัติศาสตร์ เช่น
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระราชทาน พระราชธิดาที่ประสูติแต่พระอัครมเหสี(พระสุริโยทัย)
แก่ พระมหาธรรมราชา คือ พระวิสุทธิกษัตรีย์(พระชนนี พระนเรศ)
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระราชทาน เจ้าจอมมารดาปราง แก่ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์ ณ นคร)
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระราชทาน เจ้าจอมมารดาจวน แก่ เจ้าพระยานครราชสีมา

ประเภทที่สอง คือ เมียกลางเมือง หมายถึง เมียอันบิดา มารดากุมมือให้เป็นเมีย ถือเป็นเอกภรรยา กฎหมายให้มีศักดินากึ่งนาผัว
โดยเมียกลางเมือง  จะมีศักดิ์เป็นภริยาหลวงหรือแม่เจ้าเรือน คือปกครองบ้านเรือน และรับบรรดาศักดิ์คุณหญิงหรือท่านผู้หญิงได้
แต่หากมีการพระราชทานหญิงอื่นให้สามีอีกภายหลัง(ซึ่งในทางปฏิบัติมักจะไม่โปรดพระราชทาน)

ฐานะภรรยาหลวงก็ไม่ได้ลดลงมาเป็นอนุแต่อย่างไร แต่ศักดิ์ของภรรยาพระราชทานจะมากว่าภรรยาหลวง

ประเภทที่สาม คือ เมียกลางนอก หมายถึง เมียที่ชายขอมาเลี้ยงดูเป็นอนุภรรยา มีฐานะเป็นรองจากเมียกลางเมือง
และมีศักดินากึ่งนาเมียกลางเมือง

ประเภทที่สี่ คือ เมียกลางทาสี หมายถึง หญิงที่ทุกข์ยากชายช่วยไถ่ตัวมาและรับเลี้ยงดูเป็นเมียทาสภรรยา ยังคงมีศักดินาเท่ากับทาสเช่นเดิม
(แต่พ้นจากความเป็นทาสแล้ว บางแหล่งว่าต้องมีลูกด้วย ความเป็นเมียถ้านับแบบโบราณ คือ หญิงได้เสียเมื่อใดก็เป็นเมียชายเมื่อนั้น)


เมียแบบโบราณมี ๓ แบบคือ
๑) ภรรยาเอก หมายถึง ภรรยาคนแรกของสามี
๒) เอกภรรยา หมายถึง ภรรยาที่สามารถ "ยก" ให้เป็นอันดับหนึ่ง โดยไม่ว่าจะเป็น ภรรยาเอก หรือ เมียคนแรก หรือไม่
๓) อนุภรรยา หมายถึง เมียน้อย คือ ภรรยาที่มาที่หลังโดยสามียกย่องและเลี้ยงดูในฐานะเมีย

ถามว่า การยกย่องเมียคนหนึ่งคนใดเป็น เอกภรรยา ก็แล้วแต่สามีว่า
จะยกย่องผู้ใด โดยไม่คำนึงถึงยศศักดิ์ของเมียคนนั้น เว้นเสียแต่ว่า
"เมียพระราชทาน" ซึ่งหมายถึง เมียที่พระมหากษัตริย์พระราชทาน หรือ มีพระบรมราชานุญาต ให้แต่งงานกัน
ซึ่งมักจะได้รับการยกย่องว่าเป็น "เอกภรรยา"

กรณี แม่แช่ม แม่ของพลอย (สี่แผ่นดิน) แม่พลอย เป็น เอกภรรยา ของพระยาพิพิธ แต่ไม่ใช่ ภรรยาเอก
ซึ่งได้รับเครื่องยศเป็น "คุณหญิง" ซึ่งกรณีแบบนี้เกิดขึ้นได้เสมอในอดีต

ถามว่าแล้วทำไมเมื่อได้รับการยกย่อง จึงไม่ได้เป็นคุณหญิง ก็เพราะว่า ในช่วงเวลาที่แม่แช่ม มาเป็นเอกภรรยา
เป็นเวลาหลังจากที่พระยาพิพิธฯ เป็นพระยาแล้ว และภรรยาเอกในขณะนั้น ก็ได้รับการยกย่องเป็น เอกภรรยา จึงเป็นได้คุณหญิง

การเป็นเอกภรรยา ไม่จำเป็นต้องมีลูกหรือไม่ แต่เพียง สามี ยกย่องให้เมียคนใดเป็นที่หนึ่ง คนนั้นก็จะเป็นเอกภรรยาทันที

มีกรณีตัวอย่างในสมัยรัตนโกสินทร์ที่น่าสนใจ ลองไปอ่าน ชีวิตเหมือนฝันของคุณหญิงมณี สิริวรสารดูนะคะ
(หลายคนเชื่อว่าคือตัวละครในมาลัยสามชาย)
คุณหญิงเล่าว่า สมัยก่อนเธอและคุณแม่ไปเที่ยวบ้านตระกูลเก่าแก่ตระกูลหนึ่งบ่อยๆ ตระกูลนี้เป็นเจ้าพระยาและพระยามาหลายชั่วอายุคน
บ้านนี้มีบุตรชาย 3 คน

คนโตสมรสกับสตรีตระกูลเก่าแก่เช่นเดียวกันมีบุตรชายฝาแฝดน่ารักสองคน

คนกลางมีภรรยาสองคน ภรรยาคนแรกเป็นเมียแต่งแต่มิได้อยู่ในฐานะภรรยาหลวง
แต่มีภรรยาพระราชทานมาทีหลังเป็นภรรยาหลวงแทน
เพราะภายหลังปรากฏว่าบุตรชายคนกลางของบ้านนี้ ได้รับพระราชทานภรรยาเชื้อสายขุนนางเขมรมา
แต่ภรรยาทั้งสองรักใคร่กันดี

คนสุดท้องมีภรรยาเดียวแต่เป็นชาวเกาหลี

เคยมาถามในห้องนี้แหละว่าตกลงว่ากรณีนี้เทียบกับสร้อยฟ้าศรีมาลาได้ไหม ตามลักษณะของกฎหมายตราสามดวงที่ข้างบนกล่าวถึง
แสดงว่าภรรยาทั้งสองมีฐานะเท่ากัน แต่......คนที่จะแต่งขาวตามเจ้าคุณไปถือน้ำในวังได้ต้องเป็นเมียที่ศักดิ์สูงที่สุดเท่านั้น
นั่นหมายความว่า ถ้ามีเมียพระราชทานก็เป็นเมียพระราชทาน นั่นแหละที่เข้าวังไปถือน้ำตามสามีและรับตราคุณหญิง
แต่ฐานะ ศักดินาของเมียกลางเมืองก็มีได้ลดด้อยลงไปแต่อย่างใด พูดแล้วเหนื่อยนะ

ถ้าเป็นอย่างสังคมจีนโบราณ สังคมจีนจริงๆเป็นสังคมผัวเดียวเมียเดียว อ๊ะๆ หลายคนอาจเถียง
แต่ไปเจอบทความมาบทความหนึ่งเป็นภาษาจีน เพื่อนแปลให้ฟังว่า

สังคมจีนเป็นสังคมแบบเมียหนึ่ง หนูฉาย(บ่าว)อีกสิบ เข้าทำนอง

มีดอยู่ในเรือนให้นับว่าพร้า เมียรองๆอยู่ในเรือนให้นับว่าเป็นข้า

สังคมจีนโบราณผู้ชายมีเมียหลายคนได้ แต่เฉพาะเมียแต่งเท่านั้นถึงจะนับเป็นเมีย ที่แต่งเข้ามาทีหลังนับเป็นบ่าวหมด
ไม่นับว่าเป็นเมีย ถึงจะขึ้นชื่อว่าคุณนายที่สอง ที่สาม แต่ก็ถือว่าตำแหน่งไม่มีทางสูงเท่าคุณนายใหญ่
(ต่อให้มีนางบำเรอเป็นเมียมาก่อนโดยทางบ้านหาให้ ก็ไม่นับจะนับเฉพาะเมียแต่งออกหน้าออกตาอย่างเดียว แต่ไม่ทอดทิ้ง
ซึ่งผู้ดีจีน ไทย จะมีส่วนคล้ายคลึงกัน และภูมิภาคอื่นก็ไม่ต่างกันมานัก ส่วนชาวบ้านก็ไม่เคร่งมากนัก แต่มีเยอะลำบาก
และถ้าขึ้นศาลทวงสิทธิ์กฎหมายโบราณได้กำหนดเรื่องนี้ไว้แล้ว จึงมีเรื่อง แย่งสมบัติ สลับลูกชายฯ เพื่อให้ได้สิทธิ์ตามที่กฎหมายกำหนด)


ทีนี้สำหรับสังคมไทย เท่าที่เข้าใจคือ
ถึงจะมีเมียบ่าวมาก่อนกี่คนก็ตาม แต่เมียบ่าวเหล่านั้นไม่ได้ถือว่าเป็นเมีย ถือเป็นบ่าว
อาจจะได้ทองหยองเงินทองไว้ มีสถานะดีกว่าบ่าว แต่ก็ไม่มีทางหลุดพ้นจากฐานะบ่าว จนมีลูกนั่นแหละถึงได้มีเรือนเป็นของตน

เมียเหล่านี้ได้มาเฉยๆไม่มีพิธีใดๆ เฉพาะเมียที่เขาไปสู่ขอมา มีพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายเป็นพยาน มีสินสอดทองหมั้นเป็นประจักษ์เท่านั้น
เขาถึงจะถือว่าเป็นเมียกลางเมือง แต่งขาวเข้าวังไปถือน้ำตามสามีได้ รับตราตั้งเป็นคุณหญิงได้

อย่าเรื่องรัตนโกสินทร์ แม่ช้องหลานสาวพระราชวินิจฉัยหนีตามพ่อสนหลานชายเจ้าพระยามหาเสนาไป เธอหวังจะได้ตำแหน่งเมียกลางเมือง
แต่พ่อสนไม่สนใจจะสู่ขอให้เป็นเรื่องเป็นราว เธอก็เป็นได้แค่เมียกลางบ้าน เพราะเจ้าพระยาเกรงใจตาเธออยู่
เธอเป็นใหญ่กว่าเมียบ่าวทั้งหมดของพ่อสน แต่ไม่ใช่เมียแต่ง ไม่ใช่เมียกลางเมือง

จนพ่อสนไปเจอแม่เพ็ง ก็ถูกใจจะให้เจ้าคุณตาไปขอมาเป็นเมียแต่ง เป็นเมียกลางเมือง ทั้งๆที่ตอนนั้นพ่อสนมีเมียเป็นสิบๆ
นี่ก็แสดงว่าปูมหลังของฝ่ายหญิงก็สำคัญนะ ถ้าเป็นผู้หญิงที่ทางบ้านค่อนข้างมีศักดิ์ อย่างแม่ช้องตาเป็นคุณพระ
ผู้ใหญ่ในบ้านก็เกรงใจส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่ถึงขั้นยกย่องเป็นเมียกลางเมืองเพราะพ่อแม่ไม่ได้ไปสู่ขอมา


กรณีชาวบ้าน ชายจะนิยม "ฉุด" หญิงที่หมายตาไว้ จากนั้นก็กล่อมให้หญิงยอม แถบปริมณฑลก็มีเรื่องแบบนี้
ในสมัย40ปีก่อน ลอย เมืองนนท์ ในเรื่องก็ปรึกษาพระเอก แต่พระเอกแนะนำให้เข้าตามตรอกออกทางประตูจะดีกว่า

หรือ "หนีตามกัน" กรณีมีอุปสรรคขวางทางรัก เป็นความพร้อมใจทั้งชายหญิง

บริบทในเรื่องนี้ระหว่าง ผู้ดี กับ ชาวบ้าน จะต่างกันในเงื่อนไข

คิวบู๊ตื่นเต้น ดุดัน และมีคนร่วมฉากมาก ครูฝึกจากขุนศึกแสดงดี ดุดัน สตันท์ก็ล่ำสัน มาดนักรบ
ฉากตะลุมบอนกลุ่มอั้งยี่ด้วยกันมีความต่างที่เห็นชัด แยกได้สามกลุ่มตามรูปแบบอาวุธ
ขวานซิ่ง(ขว้างได้ แบบมีดบิน)
ปังตอคู่(ส่วนคมมีดจะมากกว่า มีดปกติ)
กรรไกรขาเดียว
ถ้าดูเรื่องคนเล็กหมัดเทวดา จะเข้าใจภาพอั้งยี่ที่เห็นในละคร แต่ภาษาที่เรียก ลูกพี่ใหญ่ไม่ใช่สำเนียงแต้จิ๋ว
คงมาจากมณฑลใกล้ๆกัน เรื่องผิวคล้ำคนจีนใต้มีอยู่เยอะ แถบไห่หนาน(ไหหลำ)จะพบไม่ยากและใช้ภาษาตระกูลไต-กระได

คิวบู๊ตอนฉุดนางเอก แสดงได้ดี แต่ถ่ายเจาะแต่ละคู่น้อยไปนิด พ่อลอย โดนหลายดอกแต่แก้ทางมวยจีนได้ดี มีถอยดึงจังหวะ
คิวจะเน้นพระเอกมาก แต่ท่าเผด็จศึก ศิษย์เมืองนนท์ทำได้ดีมาก เหยียบ นั่งค่อมบ่า ตีเข้ากระหม่อม แบบเน้นๆ
พระเอก สู้กับเค้ง อดีตนักกีฬาทีมชาติ สามารถหันไปมองหาเนินสูงขณะต้านกรรไกรที่แทงมา
เพื่อใช้เข่าลอยพิฆาตแบบ จาพนมได้ จอมพลัง หนังเหนียวจริงๆ กระสุนฝังในก็ยังมีแรงทุ้มมาโนชได้
สงสัยระหว่างบวชเรียน คงเรียนวิชาคงกระพันชาตรีมา ฉากนี้ตัดต่อและถ่ายดี ไม่รุนแรงแต่สื่อความได้ เด็กดูได้

ฉากดวลปืนเจ้าคุณ เฉียวหู ใช้cg เพื่อไม่ให้ฉากเสียหาย คิวปืนถ่ายดูรู้เรื่อง ถ้ามีภาพมุมสูงจะเห็นภาพรวมดีกว่านี้
ทั้งสองฝ่ายหลบในกำบังยิงไป ใส่กระสุนไป ไม่ใช่ยืนจังก้า แต่ยิงกันไม่โดนสักที
และมีอ้นคอยถามว่าเหลือกระสุนกี่นัด ทำไมอั้งยี่กระสุนเยอะจัง จนต้องไปล่อเป้าให้กระสุนหมด เจ้าคุณจึงได้จังหวะ
(พวกผู้ร้ายเรื่องนี้ใช้เมาเซอร์ แม็กกาซีน 10นัด-Mauser C96 พวกพระเอกใช้ลูกโม่หกนัด)

การเดินเรื่องตอนสุดท้ายทำได้ดี เก็บรายละเอียดได้หมด ใช้เวลาเล่าเรื่องกระชับ
เข้าใจที่มาที่ไปในการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง เปิดโอกาสให้พระเอกไต่เต้าจนได้ดี

ฉากตอนที่พ่อนางเอก อวยพรพระเอก น้ำเสียงสะอื้อไห้ อารมณ์ร่วมนักแสดงมาเต็ม ทำให้ผู้ชมสะเทือนใจ
ฉากจบเล่าเรื่องอธิบาย ลูกชายคนซ้ายสุดว่ามาจากไหน ไม่มีตกหล่น แต่งหน้าดี สูงวัยแต่ดูดี

เนื่องจากละครเรื่องนี้ ถ่ายทำด้วยระบบhd ตลอดเรื่องแต่ออกอากาศแบบsd ทำให้อัตราภาพต่างกัน
ซึ่งจะพบกรอบภาพเสมือน คือวัตถุหน้ากล้องเบลอเพราะหลุดโฟกัสลอยอยู่ เพื่อเน้นให้จุดที่โฟกัสเด่นขึ้น
ต่อเมื่อชมภาพแบบhd จะได้อรรถรสในการชมเต็มที่กว่า ถ้ามีdvd ภาพแบบ16:9 จำหน่ายจะดีมาก

การซ้อนบลูกรีน ยังไม่เนียน และมีการจัดแสงที่โดดจากภาพที่ซ้อน ในเรือนสมมุติ คงต้องปรับปรุงในเรื่องนี้ต่อไป
เพราะไม่ทราบว่าทำการซ้อนภาพที่ความละเอียดเท่าใด เนื่องจากต้นทุนต่างกัน ยิ่งความละเอียดสูงยิ่งแพง
และในเรื่องนี้มีจำนวนการทำcg หลายฉาก

กล้องที่ใช้ถ่ายทำ ถ้าได้ระดับred epic หรือSCARLET DRAGON จะดีมาก เพราะกล้องที่มีdrสูง ระดับ13-18 สต๊อป
จะทำให้ภาพสวยงามแบบฟิล์มภาพยนตร์ เนื่องจากลงทุนไปกับสิ่งต่างๆมากแล้ว และทำได้ดีด้วย
ถ้าได้กล้องดีถ่ายที่4-5k ที่50-120เฟรม หรือ 2k ที่50-300เฟรม แบบrawfile แล้วนำมาแปลงเป็น 2k 4:4:4 12-16bit
จะทำcgได้ง่ายและเนียนกว่าเดิม สามารถตัดต่อไปฉายโรงได้ด้วย หรือลงแผ่นบลูเรย์ รีรัน ขายต่างประเทศ
และรองรับระบบ4k ที่จะเริ่มทดลองออกอากาศในต่างประเทศ คุ้มค่ากับการลงทุนในระยะยาว
(พันท้ายนรสิงห์ ของพร้อมมิตรใช้ red one ที่5k ถ่ายทำละครทั้งเรื่อง จึงให้ภาพที่งามแบบภาพยนตร์)

ซึ่งละครเมกา ก็ใช้กล้องระดับนี้ถ่ายทำหลายเรื่องแล้ว เช่น หน่วยชิลด์ของมาร์เวล
(สามารถนำฟุตเทจโยกไปลงกับเรื่องอื่นได้สะดวก)

บันทึกเสียง ใช้ได้แต่บางฉากก็มีปัญหาที่หน้างาน จนต้องมาแก้ไขภายหลัง เช่นเดียวกับการถ่ายภาพที่มีไฟรถเข้ามากวน

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ปรากฏในฉากทำได้ดี อย่างช่างตัดผมสมัยก่อนจะเดินเร่ ใครจะตัดผมก็มานั่งหน้าบ้านตัดจนเสร็จ
จนมีร้านตัดผม ลูกค้าถึงเดินมาที่ร้าน

ขอขอบคุณผู้จัดและคณะ ช่อง3 ที่ผลิตงานคุณภาพ ให้ผู้ชมได้มีความสุขกับการรับชม

ท้ายนี้ผิดพลาดประการใด ผู้เขียนต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ ขอบคุณครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่