ร่วมกัน SHARE ข้อความนี้ออกไป รู้ทันพลังฝ่ายค้านเสียงข้างน้อยผู้สืบเนื่องมาจากกลุ่มเจ้านายและขุนนางในระบอบเก่า (สปป)

สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย
17 mins ·

ร่วมกัน SHARE ข้อความนี้ออกไป รู้ทันพลังฝ่ายค้านเสียงข้างน้อยผู้สืบเนื่องมาจากกลุ่มเจ้านายและขุนนางในระบอบเก่า เป้าหมายหลักแห่งการต่อต้านคัดค้านของเขา คืออำนาจอธิปไตยของปวงชนและประชาธิปไตยที่คนไทยมี1สิทธิ 1 เสียงเท่ากัน

-----

หลังสภาผู้แทนราษฎรลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ...... (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ซึ่งมักเรียกกันว่า พ.ร.บ.เงินกู้ ๒ ล้านล้าน) ด้วยเสียงข้างมาก ๒๘๔ เสียงจากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น ๔๖๔ คน เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ศกก่อน ได้มีผู้นำบทกลอนของคุณอภิชาติ ดำดี นักพูดนักกลอนชื่อดังเรื่อง “คืนนี้ไปสวดมนต์หรือปล้นดี” ซึ่งเขียนไว้ตั้งแต่วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ มาโพสต์เผยแพร่ต่อในสื่อสังคมออนไลน์ Facebook ดังนี้:

โจร 9 เสียง กับพระ มี 1 เสียง
ต่างพร้อมเพรียง ชุมนุม ประชุมใหญ่
มี...ญัตติ เร่งรัด ตัดสินใจ
คืนนี้ไป สวดมนต์ หรือปล้นดี ?”

อภิปราย ประท้วงลั่น สนั่นเสียง
โจรกับพระ ถกเถียง กันเต็มที่
แล้วยกมือ ลงมติ ในทันที
ญัตตินี้ โจรชนะ พระแน่นอน

เสียงข้างมาก ตัดสินใจ ให้ไปปล้น
เสียงข้างน้อย สวดมนต์ ทนไปก่อน
จึงต้องปล้น อุกอาจ ราษฎร
ตามขั้นตอน เสียงข้างมาก ลากกันไป

เสียงข้างมาก ต้องมีธรรม นำชีวิต
สุจริต เพื่อประโยชน์ คนส่วนใหญ่
เสียงข้างมาก ไม่มีธรรม ส่องนำใจ
จะพาชาติ บรรลัย ในไม่ช้า

ประชาธิปไตย ใช่ดูแต่ แค่รูปแบบ
ต้องยลแยบ ดูให้ซึ้ง ถึงเนื้อหา
เสียงข้างมาก ไม่มีธรรม คอยนำพา
ก็เป็นเพียง โจรา ธิปไตย...

อุปมาอุปไมยอันคมคายเรื่อง “สภาโจร ๙ เสียงกับพระ ๑ เสียง” ที่เป็นหัวใจของบทกลอนข้างต้นนี้ เอาเข้าจริงดัดแปลงผลิตซ้ำมาจากวาทกรรมแบบฉบับคลาสสิคของการวิพากษ์ “ระบอบประชาธิปไตยโดยเสียงข้างมาก” (Majoritarian Democracy) อันเป็นที่รู้จักมักคุ้นกันดีในวงการการเมือง ไทย นับแต่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชแห่งพรรคประชาธิปัตย์ฝ่ายค้านเสียงข้างน้อยใช้นามปากกา “แมลงหวี่” เขียนคัดค้านโจมตีรัฐบาลของนายกฯพล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์แห่งพรรคสหชีพกับพรรคแนวรัฐธรรมนูญที่กุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ว่า:

“ประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่าเป็นการปกครองที่ถือเอาข้างมากแต่เสียงเท่านั้น เพราะถ้าเอาโจร ๕๐๐ คนมาประชุมกับพระ ๕ องค์และเสนอญัตติให้อภิปรายกันว่าจะไปปล้นเขาดีหรือไม่ดี เมื่อลงมติกันทีไร โจร ๕๐๐ ต้องลงมติไปปล้นเขาเพราะเอาชนะพระได้ทุกที แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความเลยว่ามติของเสียงข้างมากที่ให้ไปปล้นเขานั้นเป็นการถูกต้องด้วยทำนองคลองธรรม...

“การปกครองโดยเสียงข้างมากที่เรียกว่าประชาธิปไตย จะต้องไม่ถือเกณฑ์เอามากแต่เสียงเป็นใหญ่ ยังต้องมากด้วยวิชาความรู้ ความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมืองและความสุจริตซื่อสัตย์ต่อ ประชาชนด้วยจึงจะเป็นการปกครองที่ดี เพื่อประโยชน์ความสุขสมบูรณ์ของประชาชนพลเมืองสมชื่อประชาธิปไตย...” (แมลงหวี่, “เบื้องหลังประวัติศาสตร์”, ๒๔๙๐)

วิกฤตเศรษฐกิจและความขัดแย้งทางการเมืองสมัยนั้นในที่สุดก็นำไปสู่รัฐประหาร ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ โดยคณะทหารในและนอกราชการ ซึ่ง ม.ร.ว. เสนีย์ฟันธงชัดเจนว่าเปรียบไปแล้ว “รัฐประหารแบบธรรมปฏิวัติ” นี้ก็ยังดีกว่าการอยู่ภายใต้รัฐบาลเสียงข้างมากต่อไปเพราะเสี่ยงต่อ “การปฏิวัติแบบโลกาวินาศนองเลือด” :

“บุคคลที่เป็นกลางและไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ต้องยอมจำนนต่อเหตุผลฝ่ายคณะปฏิวัติ ๙ พฤศจิกายนก็เพราะเหตุอันเดียวกันนี้ และต้องยอมรับว่าถ้ารัฐประหารแบบธรรมปฏิวัติวันที่ ๙ พฤศจิกายนไม่เกิดขึ้นเสียก่อน ด้วยผลที่ไม่มีการหยาดโลหิตของคนไทยแม้แต่หยดเดียวนั้นแล้ว การปฏิวัติแบบโลกาวินาศนองเลือดที่ ๓๐ พฤศจิกายน (หมายถึง “แผนการมหาชนรัฐ” โคมลอยที่คณะรัฐประหาร ๙ พฤศจิกายนกล่าวอ้างเผยแพร่โดยปราศจากพยานหลักฐานแท้จริงที่เชื่อถือได้ - ผู้เขียน) ก็จะบังเกิดขึ้น.....” (แมลงหวี่)

ในทางกลับกัน ระบอบ “ประชาธิปไตย” ที่ดีในสายตา ม.ร.ว. เสนีย์ย่อมมีลักษณะดังนี้คือ:

“ผมไม่นิยมระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ในฐานะนักประชาธิปไตย ผมต้องการให้มีพระมหากษัตริย์ ผมถวายความจงรักภักดีแด่พระองค์อย่างสุดชีวิตจิตใจและหวังว่าสถาบันกษัตริย์จะสถิตสถาพรสืบไปชั่วกัลปาวสาน” (อ้างใน Paul Handley, The King Never Smiles, p. 91)

“ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิผลที่สุดไว้ให้เราป้องกันเผด็จการ ตราบใดที่อำนาจสูงสุดยังอยู่กับพระมหากษัตริย์ และฉะนั้นจึงปลอดพ้นเงื้อมมือของพวกมักใหญ่ใฝ่สูงทางการเมืองแล้ว ตราบนั้นก็จะไม่มีความปรารถนาในหมู่นักการเมืองที่จะเป็นจอมเผด็จการ” (อ้างใน Michael Connors, Democracy and National Identity in Thailand, p. 185)

จากตัวอย่างข้างต้นนี้จะเห็นได้ว่าธง “เสรีนิยม” ในความหมาย “จำกัดอำนาจของผู้ปกครอง & ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลและเสียงข้างน้อย” ถูกชักเชิดชูขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ในนามของสถาบันกษัตริย์ โดยพลังฝ่ายค้านเสียงข้างน้อยที่สืบเนื่องมาจากกลุ่มเจ้านายและขุนนางในระบอบเก่าอันมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทน, เป้าหมายหลักแห่งการต่อต้านคัดค้านของเสรีนิยมแบบไทยๆ จึงเป็นอำนาจอธิปไตยของปวงชนและประชาธิปไตยโดยเสียงข้างมาก (popular sovereignty & majoritarian democracy) ของรัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ยิ่งกว่าที่จะต่อต้านคัดค้านเผด็จการทหาร ตราบที่เสรีนิยมแบบไทยๆ สามารถใช้เผด็จการทหารนั้นเป็นเครื่องมือล้มล้างประชาธิปไตยเสียงข้างมากลงได้ และเผด็จการทหารนั้นอยู่ภายใต้พระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งอาจสรุปเป็นสูตรสำเร็จได้ว่า:

[เสรีนิยมแบบไทยๆ + เผด็จการทหาร + มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข] vs. [อำนาจอธิปไตยของปวงชน & ประชาธิปไตยโดยเสียงข้างมากของรัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง]

ท่าทีและการจัดแถวความสัมพันธ์ทางการเมืองของเสรีนิยมรอยัลลิสต์แบบไทยๆดังกล่าว ปรากฏให้เห็นเป็นแบบแผนซ้ำแล้วซ้ำอีกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนับแต่นั้นมา กล่าวคือ ในรัฐประหาร ๒๔๙๐ ต่อกลุ่มปรีดี-เสรีไทย, รัฐประหาร ๒๕๐๐ + ๒๕๐๑ ต่อฝ่ายจอมพลป.-พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์แห่งพรรคเสรีมนังคศิลา, รัฐประหาร ๒๕๔๙ ต่อเครือข่ายทักษิณ ณ ไทยรักไทย, และ ความพยายามปฏิวัติของมวลมหาประชาชนโดยสุเทพ ณ กปปส. + ขบวนการตุลาการกับองค์กรอิสระประหารรัฐ ต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์แห่งพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน

และด้วยที่มา, ฐานคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองในประวัติศาสตร์ดังกล่าว พลังเสรีนิยมรอยัลลิสต์แบบไทยๆ จึงย่อมจำกัดสิทธิเสรีภาพของปวงชนไว้ในกรอบราชาชาตินิยมและอุดมการณ์ความเป็นไทยแบบอนุรักษ์นิยมอุปถัมภ์ ที่ซึ่งการเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ เพื่อป้องกันการฉวยใช้สถาบันกษัตริย์ไปเป็นเครื่องมือโจมตีให้ร้ายกันทางการเมือง, หรือเรียกร้องให้ออกกฎหมายลบล้างผลพวงของการรัฐประหารเพื่อป้องกันการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยในภายภาคหน้า ฯลฯ กลับถูกตราหน้าว่าไม่จงรักภักดี, ไม่ไทย, อึดอัดนักหรือไม่รักพ่อก็ออกไปจากที่นี่ซะ เป็นต้น

(นอกเหนือจากงานที่อ้างอิงถึงข้างต้น ท่านผู้สนใจประเด็น “เสรีนิยมรอยัลลิสต์แบบไทย ๆ” อาจค้นคว้าเพิ่มเติมได้ในเอกสารต่อไปนี้: สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการ ต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามครั้งที่สอง (พ.ศ. ๒๔๙๑ - ๒๕๐๐); ธงชัย วินิจจะกูล, ประชา ธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง; และ Michael K. Connors, “Article of Faith: The Failure of Royal Liberalism in Thailand”, Journal of Contemporary Asia, 2008.)

ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ

สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย
คอลัมน์การเมืองวัฒนธรรม
มติชนสุดสัปดาห์ 4-10 เมษายน 2557





https://www.facebook.com/Assemblyforthedefenseofdemocracy/posts/709524075758995:0
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่