ใครที่จบ ปวช. ก็ต้องเลือกแล้วครับว่าจะไปทางไหนต่อดี ปวส. หรือ มหาวิทยาลัย

มีข่าวมาเเชร์ครับผม อันนี้ก็เอามาเผื่อเป็นเเนวทางของใครหลายๆคน
ผมคิดว่า มันน่าจะไม่ประโยชน์ ไม่มากก็น้อยครับผม
ขอบคุณข่าวจาก :www.dek-d.com

   สวัสดีค่ะ ช่วงนี้ก็ปิดเทอมกันซะเป็นส่วนใหญ่แล้ว ใครที่จบ ปวช. ก็ต้องเลือกแล้วค่ะว่าจะไปทางไหนต่อดี ปวส. หรือ มหาวิทยาลัย ถ้าใครยังสับสนเลือกไม่ได้ พี่แป้งแนะนำบทความนี้ >> สับสน!! เรียนต่อ ปวส. VS. เรียนต่อมหา'ลัย ... ทางไหนดี?  อาจจะช่วยให้สามารถช่วยให้ตัดสินใจง่ายขึ้นค่ะ

           มีรุ่นพี่คนนึงที่เขาเลือกแล้วว่า จบ ม.3 เส้นทางการเดินต่อของเขาจะเป็น ปวช. และต่อด้วย ปวส. แล้วค่อยต่อปริญญาตรี โดยการเทียบโอน ซึ่งตอนนี้ก็ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์เรียบร้อยแล้วค่ะ และประเด็นสำคัญ ... หล่อด้วยค่ะ ... (เดี๋ยว ๆ //กลับมาก่อน) พี่เขาเลือกเส้นทางการเรียนอย่างไร ไปติดตามกันเลยดีกว่าค่ะ
พี่แป้ง : ก่อนอื่นแนะนำตัวเองให้น้องๆ รู้จักกันก่อนเลยค่ะ
พี่โมชิ : สวัสดีครับ ... ผม โมชิ ครับ ชื่อเต็ม สุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ จบการศึกษา ปวช. -  ปวส.ที่ เจมส์บริหารธุรกิจเจแบ็คหนองคาย (สายคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ต่อ เทคโนโลยีสารสนเทศ) แล้วเรียนต่อ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ตอนนี้เรียนจบแล้วครับ

พี่แป้ง : เหตุผลอะไรที่ทำให้โมชิตัดสินใจว่าจะเรียนต่อปริญญาตรี ทั้งๆ ที่ก็จบ ปวส. มาสายเทคโนโลยีสารสนเทศ?
พี่โมชิ : ครั้งแรกผมคิดว่าจะไม่เรียนปริญญาตรีต่อครับ เพราะคิดว่าเราสามารถทำเว็บและพัฒนาตนเองไปได้อยู่แล้ว และช่วงนั้นก็ทำเว็บไซต์ตนเองหลายเว็บไซต์เช่น it4x.com และรับทำเว็บนอก (Freelance)  ซึ่งเป้าหมายในช่วงนั้นคือ อยากจะมีบริษัทรับทำเว็บไซต์เป็นของตนเอง แต่ได้รับคำแนะนำจากที่บ้าน พี่ๆที่ประสบความสำเร็จ และ ครูกับอาจารย์หลายท่านบอกให้เรียนต่อ อย่างน้อยเพื่อเพิ่มความรู้จะได้มีมุมมองที่แตกต่าง และจะได้มีวุฒิปริญญาตรีติดตัวเป็นอย่างน้อยครับ เลยตัดสินใจที่เรียนต่อ

พี่แป้ง : เรียนมหาลัยแค่ 2 ปี ไม่ทราบว่าเป็นหลักสูตรแบบไหน แล้วเทียบโอนอย่างไรคะ?
พี่โมชิ : จริง ๆ แล้วผมเรียนหลักสูตรปกติ 4 ปีครับ แต่เป็นแบบภาคพิเศษ คือเรียนแค่วันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งไม่ได้เรียนหลักสูตรต่อเนื่อง (ที่มหาลัยไม่มีครับ) แต่ว่าสามารถทำการเทียบโอนวิชาจาก ปวส. ซึ่งวิชาที่เทียบโอนได้ต้องมีเกรดเฉลี่ยเกิน 2.5 ขึ้นไป และ ถ้ารายชื่อวิชาไม่ตรงกันเราต้องหาคำอธิบายรายวิชา มาเทียบกันว่ามีการเรียนการสอนที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกันหรือไม่ มีหน่วยกิจเท่ากันหรือไม่ ถ้าหน่วยกิจไม่เท่าต้องเอาวิชาสองวิชามาเทียบมารวมกันเพื่อให้หน่วยกิจเท่าถึงจะเทียบโอนได้ครับ ก็เทียบโอนมาได้และเรียนต่ออีก 2 ปีครับ เลยใช้เวลาเรียนแค่ 2 ปี

พี่แป้ง : ทำไมถึงเลือกเรียน ปวช.-ปวส. ไม่เรียน ม.ปลาย คะ?
พี่โมชิ : ต้องบอกก่อนเลยครับ ตั้งแต่สมัยเรียน ปวช. ช่วงนั้นผมเป็นเด็กติดคอมพิวเตอร์มากๆ และยังไม่รู้เส้นทางที่แน่ชัดของตนเอง แต่เนื่องจากด้วยชอบคอมพิวเตอร์ ชอบเทคโนโลยีเลยตัดสินใจเรียนทาง คอมพิวเตอร์ธุรกิจ (ซึ่ง ม.ปลาย ไม่มีครับ) ได้เรียนพวกเขียนโปรแกรม การซ่อมคอมพิวเตอร์ การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ และในตอนนั้นคิดว่าการเรียนสายนี้น่าจะได้จับคอมพิวเตอร์มากกว่าสายสามัญ จึงเลือกทางสายอาชีพนี้ครับ

พี่แป้ง : คิดว่าการเรียนช่วงไหนที่สนุกที่สุดคะ?
พี่โมชิ : ช่วงที่เรียนสนุกที่สุดคงเป็นช่วง ปวส. ครับ เพราะสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่เจมส์บริหารธุรกิจเปิดรับปีแรกครับ และคนที่มาเรียนก็เพื่อน ๆ กันทั้งนั้น จึงสนิทกันอยู่แล้ว พอเวลาเรียนได้เรียนอยู่ห้องคอมฯเป็นส่วนใหญ่ ก็จะได้เรียนเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรม, ฐานข้อมูล, การทำเว็บไซต์, แคลคูลัส, ระบบเครือข่าย ฯลฯ ช่วงระยะเวลานี้เองทำให้ผมทราบว่าตนเองชอบที่จะเป็น Web Programmer และอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับ ปวส. รุ่นของผมคือ เวลาว่างจะต้องเล่นเกมส์กันในห้อง Counter Strike, Ra2 เป็นต้น เลยรู้สึกว่าชีวิตช่วงนั้นสนุกมากจริง ๆ ครับ

พี่แป้ง : ตอนสมัยเรียนเป็นเด็กกิจกรรมหรือเปล่า และชีวิตในช่วงมหาลัยกับสมัยเรียน ปวช. - ปวส. ต่างกันอย่างไรบ้างคะ?
พี่โมชิ : เป็นเด็กกิจกรรมตลอดครับ  ไปเข้าแข่งขันต่างๆ เข้าชมรมดนตรี และเล่นดนตรีเวลาที่โรงเรียนมีกิจกรรมพิเศษ เล่นกีฬาสีเล่นบาสฯ เป็นประธานสี เป็นประธานชมรมดนตรี และเป็นรองประธานนักเรียนนักศึกษา เป็นคนไปแนะแนวน้องๆตามโรงเรียนต่างๆ หรือเปิดบ้านให้น้องมาเยี่ยมโรงเรียน ทำเยอะครับตอนสมัย ปวช.-ปวส. แต่ในช่วงมหาลัยไม่มีกิจกรรมเลยครับ เพราะเป็นภาคพิเศษส่วนใหญ่ผู้ที่เรียนด้วยจะเป็นวัยทำงานทั้งหมดแล้ว จะไม่มีเวลาว่างมาทำกิจกรรมแบบเด็กมหาลัยภาคปกติครับ ก็เลยเหงา ๆ ไป ตั้งใจเรียนให้จบครับ

พี่แป้ง : ตอนนี้ทำงานอะไรอยู่คะ?
พี่โมชิ : ตอนนี้ทำงานอยู่ที่ Dek-D ครับ เป็น Web Programmer ลักษณะงานที่ทำก็เขียน PHP, Javascripts, jQuery, Css, HTML, HTML5 ภาษาที่เป็นเว็บไซต์ส่วนใหญ่ครับ ถ้าใครไม่รู้จักก็จะบอกว่าเป็นภาษาต่างด้าวกันครับ 555+

พี่แป้ง : นอกจากการเรียนมหาลัยแล้ว เราได้ประสบการณ์จากอะไรบ้างคะ?
พี่โมชิ : ได้ประกวดผลงานเว็บไซต์ เข้าค่ายเว็บไซต์ ได้รับรางวัลกลุ่มชนะเลิศจากค่าย YWC และ รางวัลที่ 3 จากสภาเยาชนกรุงเทพมหานคร และ ในช่วงที่เราเรียน ปวส. เราก็รับงานทำเว็บไซต์แบบ FreeLance ครับ ก็เลยมีประสบการณ์เรื่องทำเว็บ และในช่วงที่เรียนปริญญาตรี ในวันปกติเราทำงานกับบริษัท 1HH ครับทำเกี่ยวกับระบบ SEO และรับทำเว็บไซต์ของลูกค้าทั่วไปครับ และมีการฝึกงานระบบ E-Auction ที่ CAT ในช่วงฝึกงาน เลยเก็บเกี่ยวประสบการณ์ตรงนี้ได้เยอะ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในชั้นเรียนครับ


ประสบการณ์ตรงรุ่นพี่! เรียนสายอาชีพด้านคอมฯ สู่นักโปรแกรมเมอร์


พี่แป้ง : คิดว่าเลือกผิดมั้ยที่เรียน ปวช.-ปวส.?
พี่โมชิ : คิดว่าเลือกไม่ผิดครับที่เรียนสาย ปวช. - ปวส. เพราะทำให้เรามีความรู้เรื่องคอมฯแน่นมากพอถึงระดับนึงเลยครับ และทำให้เราสามารถทำงานได้จริงเฉพาะทางไปได้เลย

พี่แป้ง : สุดท้ายนี้อยากให้ฝากอะไรถึงน้องๆ ที่อยากเรียนสายอาชีพด้วยค่ะ
พี่โมชิ : สำหรับในมุมมองของพี่ สายอาชีพน้องๆ จะดูมีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่าสายสามัญเยอะครับในหลายๆ เรื่อง และมีเพื่อนๆ น้องๆ ของพี่หลายคนมากๆ ที่ไม่จบสายอาชีพ เพราะสายอาชีพค่อนข้างไม่เคร่งครัดเท่าสายสามัญ มีปัญหาเยอะกว่าสายสามัญ ใครที่ควบคุบตัวเองไม่ได้ก็เรียนไม่จบครับ เพราะฉะนั้นน้องๆ ต้องควบคุมตัวเอง ตั้งใจเรียนกันให้มากๆ ขอให้เรียนจบและได้เกรดดีกันทุกคน ขอให้โชคดีนะครับ


           จุดเริ่มต้นคือเพราะชอบคอมพิวเตอร์เลยทำให้เรียนสายอาชีพ ... พี่แป้งว่าพี่โมชิก็มาถูกสายที่เขาถนัด และได้ทำงานที่ชอบ จริงๆ การเรียนสายสามัญกับสายอาชีพต่างกันนะคะ ใครที่รู้ตัวว่าชอบอะไรก็สามารถเลือกสายเรียนตั้งแต่ ปวช. ได้เลยค่ะ แต่ถ้าเกิดความชอบของใครต้องผ่านการเรียน ม.ปลาย ก็ต้องไปทางสายสามัญค่ะ เพราะฉะนั้นพี่แป้งว่าข้อดีของทั้ง 2 สายเรียนมีอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะเลือกทางไหนที่เหมาะกับเรามากที่สุด
credit:http://www.dek-d.com/education/34353/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่