ลูกทาส ละครคุณภาพต่อยอดจากขุนศึก

มิพักต้องสงสัยว่าละครลูกทาสเรื่องนี้ บรรดาแฟนานุแฟน จากเรื่องขุนศึกคงคาดหวังกันไม่น้อยว่า

ผู้จัดจะพัฒนางานต่อยอดจากละครขุนศึก ที่ไปได้รับรางวัลละครยอดเยี่ยมจากต่างประเทศ อย่างสมศักดิ์ศรีชาวอุษาคเนย์
ทั้งที่มีข้อจำกัดในด้านงบประมาณ เวลา อุปกรณ์ ที่ใช้ถ่ายทำ แถมอุปสรรคช่วงน้ำท่วม ที่สาหัสไม่น้อย

โดย บท ผู้กำกับ ต่อตัด เสียง ศิลป์ ทำได้ดีมากตามข้อจำกัด ถ้าเทียบกับละครทุนสูงของชาติอื่นนับกว่า
กรรมการให้รางวัลเพราะเข้าใจแก่นแท้ของงานผลิต มากกว่าปัจจัยเปลือกนอก ที่บรรดาหนัง ละครทุนสูง บางเรื่องเคยตกม้าตายมาแล้ว

ลูกทาส ผลิตด้วยงบประมาณที่สูง มีความประณีตในการถ่ายทำใกล้เคียงภาพยนตร์ และใช้กล้องhd แบบไฮสปีดเฟรม
เพื่อให้ได้ภาพช้าในจากการต่อสู้ที่ตื่นเต้น หรืออารมณ์เคลื่อนไหวของบรรยากาศ สายน้ำ ละอองลม ที่พริ้วไหว อย่างเชื่องช้าเหงา เศร้า
กอปรกับใช้ย้อมสีภาพร่วมด้วย เพื่อสื่ออารมณ์ในขณะนั้น ซึ่งอารมณ์ภาพต่างจากเรื่อง ฟ้าทะลายโจร น่าจะรับอิทธิพลความเหงามาจาก

หว่องกาไว เจ้าของฉายา "เดี่ยวดายโรแมนติค"
จางอี้โหม่ว ที่ใช้สีสื่ออารมณ์จากใจ จากเรื่อง อิงสง หรือ Hero

ถ่ายภาพ
รับอิทธิพลจาก Christopher Doyle ช่างภาพคู่บุญของ หว่องกาไว และมารับงานถ่ายเรื่อง อิงสงด้วย
คิวบู๊ เน้นการใช้สายฝน ต่อสู้ในความมืด ดูง่าย เน้นท่ายากด้วยภาพช้า แต่มีพลัง รับอิทธิพลจาก หยวนหวูปิง ที่กำกับคิวบู๊ เช่น
เสือซุ่มมังกรซ่อน ,เมตทริซไตรภาค ,ปรมาจารย์ยิปมัน(Grand master)


http://ppantip.com/topic/31739814
มุมภาพหลากหลาย และใช้มุมสูง ฉากที่ฝนพร่ำ ผู้คนกางร่ม ตอนเปิดเรื่องได้งดงาม ภาพให้ความนุ่มนวล
แต่จะจัดแสงไปทางมืดแบบโลว์คีย์ในบางฉาก ถ้าโทรทัศน์แสดงความเปรียบต่างของภาพไม่ดี อาจจะไม่เห็นรายละเอียดของฉากได้หมด
ในช่วงแรก การถ่ายภาพออกจะใช้มุมแคบ จนงงที่ว่าฉากจัดไว้ใหญ่และแน่นมาก เหตุใดจึงไม่ถ่ายมุมกว้างบ่อยๆ กล้องก็เคลื่อนไหวเยอะ

ฉากแสดงความรุนแรง ในการเฆี่ยนตี ทรมาน ตาย ไม่รุนแรงไปสื่อความได้ดี เหมาะกับเด็กๆ

คิวบู๊
ดีมาก ลื่นไหล ดูง่าย โดยเฉพาะ กลุ่มอังยี่ โนสลิง โนแสตนอิน ไม่แพ้ฮ่องกง แสดงความเป็นมวยจีน กับไทยได้ต่างกัน
และมีจังหวะเข้าทำคนละแบบ ท่าเผด็จศึกต่างกัน เพลงมวยเท้า มือ ต่างกัน ในแง่ใช้จริง หวังว่าจะมีเยอะๆในตอนต่อๆไป

CG
ในเรื่องจึงเป็นการสื่ออารมณ์ บรรยากาศ ที่ตัวละครรู้สึก "ดั่งภาพฝัน หรือ ห้วงคำนึง" โดยเฉพาะฉากเข้าพระเข้านาง ฉากองค์พระ


(“ผู้หญิงในสวน” (Woman in a Garden) – ค.ศ. 1867, พิพิธภัณฑ์เฮอร์มืทาจ, เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก)
คล้ายกับภาพแบบอิมเพสรชั่นนิสของ โคลด โมเนต์ อาจจะไม่คุ้นกับบางท่าน ที่ดูมัวๆไม่คมชัด ซึ่งดูขัดแย้งกับความจริงที่โหดร้าย


(“ผู้หญิงกางร่ม” (Woman with a Parasol) – ค.ศ. 1867, พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติ, วอชิงตัน ดี.ซี., สหรัฐอเมริกา)


http://ppantip.com/topic/31739814
ส่วนเรื่องพระใหญ่ ถ้าดูจากโบราณสถานริมแม่น้ำ จะพบได้ เช่น ซำปอกง วัดพนัญเชิง อยุธยา แต่เดิมไม่มีวิหาร ประดิษฐานกลางที่โล่ง
ลุถึงสมัยร.4 แห่งรัตนโกสินทร์ โปรดให้สร้างวิหารครอบองค์พระ เพียงแต่ภาพฝันที่ปรากฏอาจไม่ต้องใจผู้ชมบางท่านก็นานาจิตตัง


กำกับศิลป์
เครื่องประกอบฉาก ละเอียดและใส่ใจ มีสีสัน และดูเป็นพื้นบ้าน อย่างร้านขนมชิ้นจะใหญ่ ใส่ในภาชนะไม้ ไม่ใช่กระเบื้อง
มีใบตอง ใบบัวห่อ รองของกิน แต่ปืนมาโนชล้ำยุคจริงๆ เมาเซอร์แม็กกาซีน ยิงแม่นอีกต่างหาก เป็นแค่ขุนไปหามาจากไหน
ของเจ้าคุณยังลูกโม่ พอหาได้ง่ายกว่า

เครื่องแต่งกาย
ผู้คนชาวบ้านก็นุ่งผ้าสีพื้น แสดงชนชั้นในเรื่องได้ดี พ่อค้า ขุนนาง ดูออกง่าย เครื่องประดับมีรายละเอียด สมัยนี้ใส่เดินไม่ได้แน่
แต่นางเอกนุ่งผ้าสีเดียวบ่อยมาก นานๆเปลี่ยนที แต่งหน้านักแสดงได้ดี ไม่มีขนตาปลอม และไม่ใช่หน้าใสตลอดเวลา
(ขอพูดถึงสามีตีตรา ในเรื่องแต่งหน้า ซึ่งทำได้ดีเช่นกัน ไม่ใช่คนป่วยนอนโรงหมอ ขนตายาวงอน แก้มชมพู ปากแดง)

ดนตรีประกอบ
ไพเราะ ร่วมสมัยตั้งเครื่องดนตรีไทยฝรั่ง สอดคล้องประสานกัน  
เพลงร้องเนื้อหาดี แสดงความรู้สึกถึง "ดอกฟ้ากับหมาวัด" ได้ดี

ทำให้นึกถึงวรรคทองใน ท้าวแสนปม พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ความว่า

เห็นแก้วแวววับที่จับจิต            ไยไม่คิดอาจเอื้อมให้ถึงที่
เมื่อไม่เอื้อมจะได้อย่างไรมี       อันมณีฤาจะโลดไปถึงมือ

อันของสูงแม้ปองต้องจิต          ถ้าไม่คิดปีนป่ายจะได้ฤา
มิใช่ของตลาดที่อาจซื้อ           ฤาแย่งยื้อถือได้โดยไม่ยอม

ไม่คิดสอยมัวคอยดอกไม้ร่วง     คงชวดดวงบุปผาชาติสะอาดหอม
ดูแต่ภุมรินเที่ยวบินดอม            จึ่งได้ออมอบกลิ่นสุมาลี


บท
เล่าเรื่องได้กระชับ แต่ไม่ขาดรายละเอียด มีการกระจายบทให้ตัวละครที่เดินเรื่อง มีความสำคัญและเชื่อมต่อกันกับเหตุการณ์ต่างๆ
ในเวลาต่อมา ไม่มีกรณีเด่นอยู่คนเดียว จนทำให้เรื่องเสียอรรถรส และทุกตัวละครล้วนมีความสำคัญ ในการเดินเรื่อง
การเล่าเรื่องแทรกเสริมได้ดี ทำให้ผู้ชมเข้าใจทั้งเรื่องราวมหภาคในการพัฒนาประเทศ และเรื่องราวจุลภาคของตัวเอกที่ดำเนินอยู่


นักแสดง
ตัวเอกให้ความรู้สึกเกินจริง แต่ดูดีแบบละคร ไม่ใช่สารคดี พระรองลงไป เลือกได้ดี ฝีมือ เก๋าๆทั้งนั้น แม้แต่หน้าใหม่ก็เหมาะสมกับบท

พระเอก ดูๆไปถ้าเป็นอย่างราวณะ แห่งลงกา ก็เรียกแม่ยกยาก เลยต้องตี๋หน่อย ประมาณลูกครึ่งพ่อโล้สำเภามา
ขาว หล่อ ล่ำ พูดเพราะ สุภาพบุรุษ ขยัน บู๊ได้ คนดูไม่ติดภาพลักษณ์ สาวๆในเรื่องรักพระเอกหมด
ถ้าเลือกคนอื่นๆที่ตี๋ๆอาจไม่ดีเท่า ขายต่างชาติไม่ยาก

ส่วนนางเอก พออนุโลม เพราะหน้าหวาน พูดเพราะน่าฟัง หางเสียงนิ่ม  กิริยาท่าทาง นุ่มนวล คล้ายแม่พลอยสี่แผ่นดิน ใส่สไบขึ้น
โครงหน้าคมนิด จมูกเด่นหน่อย ตามแบบนางเอกไทย แบบมีเชื้อเปอร์เซีย เชื้อกรีก โปรตุเกส วิลันดา สืบจากสมัยอยุธยา ว่ากันไป
ดูเด่นในฉาก เห็นบุ๊บรู้เลยว่านางเอก

บุญเจิม เหมาะม้าดีดกระโหลกแท้ ตัดกับนางเอกได้ดี แสดงดีกว่าเรื่องที่ผ่านๆมาจนเห็นได้ชัด

คุณพระ ช่วงอายุ ฝีมือ เลือกได้เหมาะมาก เสริมให้พระเอกได้ลงตัว

เรื่องนี้สาวสวยเยอะมาก เหมาะสมทุกช่วงวัย ดีที่พระเอกไม่เจ้าชู้ไม่งั้นคงไม่ได้อยู่จนแก่ เป็นถึงพระยานาหมื่นไปได้ ได้ดีเพราะรักจริงแท้ๆ

ตัดต่อ
จังหวะกำลังดี ไม่เร็วไป ช้าไป เพราะเรื่องมีรายละเอียดมาก และเล่าเรื่องแบบเส้นตรง คนดูดูแล้วไม่ตกรายละเอียด
ฉากต่อสู้ช่วงแรกถ่ายใกล้ไป ตัดแล้วดูแคบ ช่วงหลังถ่ายภาพกว้าง ตัดแล้วดูลื่นไหลต่อเนื่อง

ฉากที่แม่นิ่ม นำของเจ้าคุณไปส่งยังงานเลี้ยง ตัดต่อได้ดีมากทั้งภาพและเสียง ทำให้งานหน้ากล้องสื่อได้เต็มที่กับผู้ชม

กำกับการแสดง
ทำได้ดีไม่ผิดหวัง ดึงศักยภาพของนักแสดงออกมาได้เป็นธรรมชาติ

โดยเฉพาะนางเอก แววตาที่สื่อ ความในใจที่กลัดกลุ้ม ตรอมตรม หาทางออกไม่ได้ แต่กิริยาที่เรียบร้อยเก็บงำไว้
หากไม่เอื้องเอ่ยวาจา ก็หารู้ความในไม่ เล่นเอาตัวละครในเรื่องอกหักไปตามๆกันเมื่อรู้ว่า พระนางรักกันมานานแล้ว

ดูแล้วนึกถึง ดารารายพิลาส ใน จุฬาตรีคูณ ที่ไม่มีวันได้เห็น “คงคาสวรรค์” มาบรรจบกับมหานทีทั้งสอง คือ คงคา แล ยมุนา
มีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัวว่าจะต้องอาสัญด้วยวังน้ำวน ณ จุฬาตรีคูณสถาน เฉกเช่นแม่ของนาง ด้วยความงามเป็นเหตุ
(ถ้าผู้จัด คิดผลิตเรื่องนี้จะขอบคุณมาก เพราะคณะทำงานมากฝีมือ ผกก.มีวิสัยทัศน์ กล้าคิดกล้าทำ เบล่าเป็นนางเอกได้
และช่วยแก้ฉากจบ โดยสร้างพระเอกคนนอก มาแทนจอมโหดอริยวรรต จะเป็นพระคุณยิ่ง)

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

คำร้อง  แก้ว อัจฉริยกุล
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน
ขับร้อง มัณฑนา โมรากุล

http://www.4shared.com/mp3/KqeXG_Xg/__-_.html
เดอะฮอทเปปเปอร์ นำมาเรียบเรียงใหม่ได้ไพเราะและร่วมสมัย

แต่เรื่องนี้จบแบบสมหวังเปี่ยมสุข ก็มีแต่มุ่งมั่นที่จะฝ่าฝันอุปสรรคเพื่อรักแท้ แบบต้นร้ายปลายดี


เนื่องจากพระเอก จะไปบวชเรียนเป็นภิกษุ หวังใจจะสอบบาลีให้ได้ประโยคสาม เพื่อออกมารับราชการ
ซึ่งมีมาแต่สมัยพ่ออยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยาว่า ผู้ใดจะรับราชการต้องบวชเรียนมาก่อน

เปรียญธรรม สาม ประโยค (ชื่อย่อ ป.ธ.3) เป็นระดับชั้นการศึกษาแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย
เรียกพระภิกษุผู้สอบไล่ได้ในชั้นนี้ว่า "พระมหา" และสามเณรว่า "สามเณรเปรียญ"
กระทรวงศึกษาธิการเทียบวุฒิผู้สอบได้ในชั้นนี้ให้เทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนต้น

ทิดที่สึกไปแล้ว ถ้าเขาเรียกกันโดยมี "มหา" นำหน้าชื่อ เป็นเครื่องแสดงว่าสอบเปรียญธรรมสามประโยคได้แล้ว
แม้สอบได้สูงไปกว่านั้นถึงประโยคเก้าก็เรียกแค่นี้ จนกว่าจะได้สถาปนาพัดยศ ถึงเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ

การสอบสมัยก่อน ยากกว่าสมัยนี้มาก มีการสอบข้อเขียน ปากเปล่า ไม่ได้แยกแบบนักธรรมสมัยนี้
ผู้เรียนต้องรู้และจำได้ครอบคลุม และเจาะเรื่องที่คิดว่าจะออกสอบ กรณีที่พระ หรือ เณรที่เก่งมากๆ ถ้าสามารถสอบปากเปล่าได้
ก็จะสอบรวดเดียวถึงจากประโยคหนึ่ง ถึงประโยคเก้า แต่มีไม่กี่รูปที่ทำได้ ในประวัติศาสตร์แม่กองบาลีสนามหลวง

นอกจากสอบกันหลายครั้งกว่าจะได้แต่ละประโยค ยังต้องเตรียมตัวทั้งข้อเขียนและปากเปล่าเป็นแรมเดือนแรมปี

หวังว่าตอนต่อไปจะสนุก น่าติดตามยิ่งๆขึ้นไป สมกับที่ผู้ชมตั้งตารอ
ขอบคุณผู้จัด คณะทำงาน และช่อง3 ที่ผลิตงานคุณภาพ ให้ผู้ชม แม้จะมีต้นทุนที่สูงขึ้นมาก

ท้ายนี้ผิดพลาดประการ ผู้เขียนต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ ขอบคุณครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่