ก๊าซ NGV ขาดแน่ในภาคใต้


นายชาครีย์ บูรณกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ได้เตรียมรับมือกรณีแหล่งก๊าซบงกชหยุดซ่อมท่อ ด้วยการแจ้งผู้ผลิตก๊าซแหล่งอื่นในอ่าวไทยให้ผลิตเต็มกำลังและไม่หยุดซ่อมบำรุง รวมถึงนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มเติมเพื่อทดแทนปริมาณก๊าซจากแหล่ง JDA ที่จะหายไปจากระบบ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และเตรียมสำรองน้ำมันเตาและดีเซลให้เต็มกำลัง แต่หากปริมาณก๊าซยังไม่เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้า ปตท.ก็จะสั่งให้โรงแยกก๊าซลดกำลังการผลิตลงเพื่อช่วยเพิ่มก๊าซในระบบ

นอกจากนี้ การหยุดซ่อมท่อก๊าซจากแหล่ง JDA ยังส่งผลกระทบต่อสถานีบริการก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) จำนวน 14 แห่ง ใน 3 จังหวัดภาคใต้ (นครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี-สงขลา) เนื่องจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติของบริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด (TTM) หยุดซ่อมบำรุงในช่วง 10 วันแรกที่แหล่งก๊าซ JDA หยุดซ่อมด้วย ส่งผลให้ก๊าซ NGV หายไปประมาณ 190 ตัน/วัน

ปตท.จะขนส่งก๊าซ NGV จากจังหวัดราชบุรีและสมุทรปราการมาให้บริการในพื้นที่แทน แต่ก็ไม่สามารถทดแทนได้ทั้งหมด เพราะรถบรรทุกก๊าซ 1 คัน สามารถขนก๊าซ NGV ได้เพียง 3-5 ตัน/เที่ยว จึงต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ โดยจะให้ความสำคัญกับกลุ่มรถโดยสารและรถขนส่งสินค้าก่อน และหลังโรงแยกก๊าซธรรมชาติของ TTM ซ่อมบำรุงเสร็จและกลับมาเดินเครื่องได้ก็จะมีก๊าซค้างท่อนำมาให้บริการก๊าซ NGV ได้ 110 ตัน/วัน แต่ก็ยังขาดก๊าซอยู่อีก 80 ตัน/วัน ดังนั้นจึงต้องขนส่งก๊าซ NGV จากกรุงเทพฯและราชบุรีต่อไปจนกว่าการซ่อมระบบท่อทั้งหมดจะแล้วเสร็จ

ด้านนายชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย ผู้ช่วยผู้ว่าการฝ่ายควบคุมกำลังการผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.มีแผนที่จะปรับปรุงระบบโรงไฟฟ้าจะนะ บล็อก 1 ให้เดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซล กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้โครงการได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) จากกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว และดำเนินการปรับปรุงตามแผนแล้วเสร็จตามกำหนดในเดือนมกราคมปี 2558 ส่งผลให้การหยุดซ่อมแหล่งก๊าซ JDA ในครั้งต่อไปไม่กระทบกับความมั่นคงของระบบ

นอกจากยังมีโครงการอื่น ๆ ที่จะช่วยเพิ่มความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าในภาคใต้ ได้แก่ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอมโรงทดแทน กำลังผลิต 900 เมกะวัตต์ แล้วเสร็จในปี 2559, โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และโครงการลงทุนระบบส่งขนาด 500 kV ไปถึงจังหวัดภูเก็ต ที่กำหนดแล้วเสร็จในปี 2562 ซึ่งหากเป็นไปตามแผนจะส่งผลให้ภาคใต้มีความมั่นคงทางไฟฟ้าไปถึงสิ้นสุดแผน PDP 2010 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3) ในปี 2573 แต่ถ้าโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ไม่เป็นไปตามแผนก็คงต้องผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงอื่นแทน

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1395717889
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่