จะวัดอาการ "เมาจนครองสติไม่ได้" ได้ัยังไงบ้างครับจึงจะน่าเชื่อถือ?

หมายเหตุ : tag หว้ากอด้วยนะครับ เผื่อมีนักวิทย์ฯ ในห้องนี้คิดออก


-----------------------------

ปัญหา 'เมาแล้วกร่าง' ภัยสังคมที่รอการแก้ไข


ขึ้นชื่อว่า “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ใครๆ ก็รู้ว่าทำให้ความสามารถในการควบคุมตนเองลดลง จนแสดงกิริยาอาการที่ไม่เข้าท่าเข้าทีออกมา เรียกว่า “คนเมา” ซึ่งก็หลายแบบ ทั้งเมาแล้วหลับไม่รู้เรื่อง เมาแล้วพูดไม่หยุด หรือแม้กระทั่งเมาแล้วร้องไห้ ซึ่งคนเมาประเภทนี้ไม่มีพิษมีภัยกับใคร ยกเว้นอาจจะดูน่าเบื่อหน่ายกับคนรอบข้างเท่านั้น

แต่คนเมาอีกประเภทที่ถือว่าเป็น “บุคคลอันตราย” เพราะเมาแล้วมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง เช่นออกไปขับรถอย่างคึกคะนองจนเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนผู้อื่นบาดเจ็บล้มตาย หรือเมาแล้ววิญญาณนักเลงอันธพาลเข้าสิง ใครพูดจาไม่เข้าหูก็จ้องจะท้าตีท้าต่อยอย่างเดียว คนเมาประเภทนี้เองที่ก่อความเดือดร้อนรำคาญไปทั่ว อย่างล่าสุดกรณีวัยรุ่นอยู่ในสภาพเมาสุราไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ร้านสะดวกซื้อ เมื่อพนักงานไม่สามารถขายให้ได้เพราะอยู่นอกเวลาจำหน่าย (11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น.) วัยรุ่นคนดังกล่าวกลับข่มขู่และด่าทอพนักงาน

“มีครั้งหนึ่ง เขามาซื้อเบียร์หลังเที่ยงคืน มันก็หมดเวลาขายไปแล้ว เขาก็บอกจะซื้อ..มีอะไรหรือเปล่า? ก็บอกไปว่า ขอโทษนะคะต้องจำหน่ายตามเวลาที่กฎหมายกำหนดค่ะ ขายได้ถึงเเค่เที่ยงคืนเลยเวลาแล้วจำหน่ายไม่ได้ แต่เขาก็ไม่ยอม ก็ยังเดินไปที่ตู้ แล้วหยิบเบียร์มาเปิดแล้วก็ถามว่า..เปิดแล้วจะขายไหม? เราก็บอกไม่ขาย เขาก็ไม่พอใจบอกว่า..ไม่ขายก็ไม่ต้องขายซื้อกินเองละกัน..”

อดีตพนักงานร้านสะดวกซื้อรายหนึ่ง เปิดเผยกับเราถึงประสบการณ์เมื่อต้องพบเจอลูกค้าสภาพเมาสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่ช่วงกะดึก ซึ่งแม้ว่าจะพยายามชี้แจงอย่างสุภาพ แต่กลับทำให้อีกฝ่ายไม่สบอารมณ์และแสดงพฤติกรรมก่อกวน เคราะห์ดีอยู่บ้างที่พนักงานรายนี้ไม่ถูกทำร้ายร่างกายไปด้วย

พนักงานรายนี้ เล่าต่อไปว่า โดยนโยบายต้นสังกัดแล้วพนักงานทำอะไรไม่ได้มากนัก เนื่องจากต้องให้ความใส่ใจกับงานบริการมาก่อนแม้ว่าลูกค้าจะแสดงกิริยาไม่ดีก็ตาม จึงทำได้เพียงพยายามพูดจาให้ลูกค้าเมาแล้วกร่างเหล่านั้นสงบลงเท่านั้น เว้นแต่กรณีหนักจริงๆ เช่น มีการทำร้ายร่างกายพนักงาน จึงจะไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย

จากเหตุการณ์ที่มีผู้โพสต์คลิปพนักงานร้านสะดวกซื้อย่านพระราม 2 ถูกวัยรุ่นซึ่งอยู่ในอาการเมาพูดจาข่มขู่เนื่องจากไม่ยอมขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเวลาจำหน่าย ซึ่งเหตุเกิดเวลาประมาณ 03.00 น. นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ให้ความเห็นว่า กรณีพนักงานหญิงรายนี้ไม่ยอมขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเวลาที่กฎหมายกำหนดถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายและเป็นการรับผิดชอบต่อสังคม

ถึงกระนั้น ก็แสดงความเป็นห่วงสวัสดิภาพของพนักงานร้านสะดวกซื้อซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานที่ต้องทำงานช่วงกลางคืนจะมีความเสี่ยงสูงมาก จึงอยากเรียกร้องทั้งกับสถานประกอบการและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้หามาตรการมาดูแลความปลอดภัยของพนักงานด้วย

“กรณีแบบนี้มันก็ยังมีอยู่ แต่มันไม่ถูกเปิดเผย ไม่เป็นข่าว แต่กรณีล่าสุดนี้เราก็คิดว่า เราต้องเข้ามาเพื่อชี้ให้เห็นว่ามันไม่ควรจะทำแบบนี้ เพราะถ้าเราไม่ออกมาพูดอะไร สถานการณ์มันก็จะลุกลามไปเรื่อยๆ แล้วก็กลายเป็นว่า คนที่ทำก็ทำได้ ไม่ยอมรับกฎหมาย จริงๆ มันต้องมีการบังคับใช้ ถึงได้เกิดการรณรงค์ ถ้าไม่มีมาตรการแล้ว ผมเชื่อว่าคนทำงานกลางคืนคงจะหวาดเสียว

ถึงได้มีข้อเสนอว่าอย่างน้อยควรจะประสานงานกับตำรวจในพื้นที่ หรือจะทำยังไงให้มีตำรวจมาตรวจเป็นช่วงๆ ซึ่งผมคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องที่จำเป็น กรณีนี้อาจยังไม่ถึงขั้นเอาอาวุธมาทำร้าย แต่อนาคตมันก็น่าห่วง ถ้าเกิดไม่ทำแบบนี้ มันอาจถึงขั้นเอาอาวุธมาทำร้ายได้ ซึ่งเราก็ห่วงอยู่ แล้วพนักงานบางทีก็ไม่รู้ว่าจะป้องกันยังไง”
ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าว

อีกด้านหนึ่ง นายธีรภัทร์  คหะวงศ์  ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ที่หลังทราบเหตุการณ์ในคลิปดังกล่าว ได้นำสมาชิกเครือข่ายจำนวนหนึ่งเดินทางไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อยื่นหนังสือพร้อมหลักฐาน ร้องเรียนต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อ 14 มี.ค. 2557 ที่ผ่านมา

ทว่าในมุมของตำรวจเองก็หนักใจไม่น้อย เพราะแม้จะมีกฎหมายเกี่ยวกับคนเมา ทั้ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 378 ระบุว่า..ผู้ใดเสพสุราหรือของเมาอย่างอื่น จนเป็นเหตุให้ตนเมา ประพฤติวุ่นวายหรือครองสติไม่ได้ขณะอยู่ในถนนสาธารณะหรือสาธารณสถาน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท..

หรือ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 29 (2) ระบุว่า..ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้..ซึ่งผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษตาม มาตรา 40 คือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ..แต่ปัญหาคือในทางปฏิบัตินั้นทำได้ยาก เพราะยังไม่มีนิยามตามกฎหมายที่ระบุว่า “คนเมาจนครองสติไม่ได้” นั้นหมายถึงอาการอย่างไร

             “ล่าสุดกรณีที่พระราม 2 อันนี้ดำเนินคดีไปเรียบร้อย ส่วนตำรวจตอนนี้เขายังไม่มีมาตรการอะไรออกมาชัดเจน มีแต่เพียงออกมาบอกว่าจะไปคุยกับกระทรวงสาธารณสุข เพราะมันจะมีกฎหมายที่ห้ามขายให้คนเมาครองสติไม่ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีมาตรฐานมาวัดว่าอะไรคือคนเมาครองสติไม่ได้ ซึ่งตอนนี้กำลังเร่งพิจารณาและกำลังจะออกแนวปฏิบัติมา เราไปขอให้ออกแนวปฏิบัติหรือคำแนะนำจากตำรวจ แต่เขายังไม่ออกตัวนี้มา” คุณธีรภัทร์ ระบุ

ปัญหา “เมากร่าง-ก่อกวน-ป่วนเมือง” ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุภาพสตรีที่ต้องทำงานช่วงกลางคืน ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าคนเมาหลายรายเมื่อถูกขัดใจก็มักจะตอบโต้ด้วยความรุนแรง จนผู้ถูกกระทำถึงขั้นบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตก็มีมาแล้ว

อีกไม่กี่วัน ฤดูหยุดยาวเพื่อฉลองใหญ่ของคนไทย คือเทศกาลสงกรานต์ก็จะมาถึง คงต้องฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งมีหน้าที่บังคับใช้กฏหมาย ให้เข้มงวดกวดขันกับเรื่องนี้ด้วย

ที่มา : http://www.naewna.com/scoop/96192

--------------------------------

ทีนี้มาดูกฏหมายที่เกี่ยวข้องนะครับ

พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551

ที่มา : http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538973950&Ntype=19


มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้

“เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” หมายความว่า สุราตามกฎหมายว่าด้วยสุรา ทั้งนี้ ไม่รวมถึงยาวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

“ผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” หมายความว่า บุคคลที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพร่างกายหรือจิตใจ โดยการดื่มนั้นมีลักษณะที่ต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้น และเมื่อหยุดดื่มจะมีอาการแสดงของการขาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร่างกาย

“ขาย” หมายความรวมถึง จำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า

“โฆษณา” หมายความว่า การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยินหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงการสื่อสารการตลาด

“การสื่อสารการตลาด” หมายความว่า การกระทำกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายสินค้า บริการหรือภาพลักษณ์ การประชาสัมพันธ์ การเผยแพร่ข่าวสาร การส่งเสริมการขายการแสดงสินค้า การจัดหรือสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมพิเศษ และการตลาดแบบตรง

“ข้อความ” หมายความรวมถึง การกระทำให้ปรากฏด้วยตัวอักษร ภาพ ภาพยนตร์ แสง เสียง เครื่องหมายหรือการกระทำอย่างใด ๆ ที่ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจความหมายได้

“ฉลาก” หมายความว่า รูป รอยประดิษฐ์ กระดาษหรือสิ่งอื่นใดที่ทำให้ปรากฏข้อความเกี่ยวกับสินค้าซึ่งแสดงไว้ที่สินค้าหรือภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุสินค้า หรือสอดแทรก หรือรวมไว้กับสินค้าหรือภาชนะบรรจุหรือ-บห่อบรรจุสินค้าและหมายความรวมถึงเอกสาร หรือคู่มือสำหรับใช้ประกอบกับสินค้า ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่สินค้าหรือภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุสินค้านั้น

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ

“คณะกรรมการควบคุม” หมายความว่า คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมควบคุมโรค

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลดังต่อไปนี้
(1) บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
(2) บุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้

มาตรา 40 ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยฝ่าฝืนมาตรา 29 หรือมาตรา 30 (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

---------------------------

จะเห็นว่าตามกฏหมายไม่มีการนิยามไว้ครับ ว่า "บุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้"

และจะไปใช้เกณฑ์ของตำรวจจราจร กับกรณี "ดื่มแล้วขับ" ก็คงไม่ได้ เพราะหลายคนดื่มเข้าไปแล้วยังขับรถได้ พูดคุยกับตำรวจที่ตั้งด่านรู้เรื่อง แต่พอเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ก็พบว่าเกินกว่าที่กฏหมายกำหนด ( 50 mg มั้งถ้าจำไม่ผิด )

อยากให้ทุกท่านมาลองคิดกันครับ ว่าจะมีวิธีตรวจวัดอาการเมาจนครองสติไม่ได้อย่างไร จึงจะน่าเชื่อถือและใช้ยืนยันตามกฏหมายครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่