ถ้าสมมติประเทศจีนยังมีระบอบจักรพรรดิ.....?

ถ้าสมมติประเทศจีนยังมีระบอบจักรพรรดิ คิดว่ายังเป็นของราชวงศ์ชิงมั้ยครับ แล้วยังมีพระสนม,ขันทีมั้ย แล้วประทับในวังต้องห้าม แล้วประเทศจีนในตอนนี้เป็นอย่างไร
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 3
ถ้าได้แต่สมมติ ก็คงจะทำได้ครับ ในความเป็นจริง หากคำนึงถึงเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม คงยากครับ อย่างดีที่สุดจีนน่าจะมีการปกครองกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) แต่ก็อย่างความคิดเห็นข้างบนว่าเพราะราชวงศ์ชิงเป็นชาวแมนจูที่กดขี่ข่มเห่งชาวฮั่นมานาน ก็ไม่มีทางที่แม้จะเป็นแค่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตลอดไป อย่างเช่นปูยีที่ถูกขุนศึกหัวนิยมสาธารณรัฐไล่ออกจากวัง (ลองดูหนังเรื่อง The Last Emperor) กระนั้นถ้าสังเกตให้ดีความจริงยังมีคนจีนอีกมากที่จงรักภักดีต่อจักรพรรดิแม้ว่าจะเป็นชาวฮั่นก็ตามเพราะยังเชื่อในคติเรื่องโอรสแห่งสวรรค์  มีบันทึกของใครหลายคนยืนยันว่าในช่วงท้ายของชีวิตปูยี แม้จะเป็นสามัญชน ทำงานต่ำๆ แต่คนจีนจำนวนมากยังพินอบพิเทาและแสดงความเคารพต่อตัวเขา ยิ่งกว่าในหนัง

แต่ก็ลองมาสมมติอีกว่าถ้าสถาบันกษัตริย์ของจีนยังอยู่อย่างน้อยจนถึงปี 1949 และเป็นสถาบันศักดิ์สิทธิ์ในนามของกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ  ก็ต้องปะทะกับกระแสวัฒนธรรมตะวันตกเช่น เรื่องการมีมเหสีหลายพระองค์กลายเป็นสิ่งล้าสมัยไป หรือชีวิตความเป็นอยู่ที่หรูหราคงถูกจำกัด   จักรพรรดิของจีนก็คงจะต้องทรงปฏิบัติพระองค์ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงประมุขฝ่ายพิธีกรรม มีหน้าที่ลงพระนามในกฎหมาย เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ไทย อังกฤษ แต่กระนั้นเมื่อจีนเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ อย่างไรแล้วก็สถาบันกษัตริย์ก็ต้องถูกยกเลิก

ถ้าสมมติแบบหลุดโลกไปเลยว่าปัจจบันจีนยังเป็นระบบจักรพรรดิแบบสมบูรณาญาสิทธิราช และมีความเข้มแข็งเช่น ฐานะเศรฐกิจในท้องพระคลังยังดี คนจีนยังจงรักภักดีอยู่อย่างมั่นคง ก็คงยังสามารถรักษาความเป็นรัฐจีนไว้ได้ ไม่แตกแยกเหมือนในยุคของขุนศึก และสมมติว่าไม่ต้องปะทะกับเจียงไคเช็ค ไม่ต้องพบกับการรุกรานของญี่ปุ่น หรือพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตง แต่ปัญหาก็คือก็ต้องพบกับกระแสกับตะวันตกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นจะต้องพบกับกระแสของการเรียกร้องประชาธิปไตยจากบรรดาปัญญาชนและชนชั้นกลางอย่างไร สถาบันกษัตริย์จีนจะต้องตอบรับกับอำนาจของระบบทุนนิยมอย่างไร จะต้องปฏิบัตต่อระบบราชการและกลุ่มผลประโยชน์โดยเฉพาะกองทัพอย่างไร  ความสัมพันธ์กับต่างประเทศเป็นอย่างไร จะโปรสหรัฐฯ กับอียู หรือจะโปรรัสเซีย (ฮุฮุ) จนมาปัจจุบันสถาบันกษัตริย์ของจีนก็ต้องพบกับการคุกคามของชนชั้นกลางใหม่อันเป็นที่มาของ Arab spring (ดังนั้นจึงขอเรียกว่า China spring) ที่แรงกว่าที่เกิดขึ้นจตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989  เพราะประชาชนจะเข้าร่วมด้วยอย่างมหาศาล  เพราะจีนไม่ได้มีเงื่อนไขทางภูมิรัฐศาสตร์แบบบางประเทศที่เป็นสมบูรณาญาสิทธิราช ในปัจจุบันเช่นซาอุดิอาระเบีย หรือบรูไนที่รวยน้ำมัน  หรือเป็นประเทศล้าหลังอย่างเช่นสวาซิแลนด์

นอกจากนี้ สถาบันกษัตริย์จีนจะสามารถปรับองค์กรให้ทันสมัยเหมือนกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้หรือไม่ จะสามารถทำให้เป็น absolute monarchy  in Chinese characteristics ได้หรือเปล่า จะสามารถทำให้ประเทศทันสมัยไป มีชนชั้นกลาง มีเทคโนโลยีใหม่ๆ พร้อมกับการปกครองแบบเผด็จการปิดหูปิดตาประชาชนแบบพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้หรือไม่  แต่ปัญหาคือสถาบันกษัตริย์จะเน้นการสืบทอดอำนาจแบบสายเลือด แตกต่างจากพรรคคอมมิวนิสต์แม้ว่าจะปิดกว่าประชาธิปไตย ซึ่งมีรูปแบบเปิดกว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มีการสืบทอดแบบกลุ่มบุคคลโดยพิจารณาจากรายชื่อของผู้ภักดีต่อพรรคและมีระเบียบว่าจะต้องเปลี่ยนกลุ่มผู้บริหารรัฐบาลทุก 10 ปีเพื่อสอดคล้องกับโลกยุคใหม่  ดังนั้นสถาบันกษัตริย์ของจีนจึงต้องพบกับปัญหาเช่นนี้ ถ้าได้ผู้สืบทอดไม่เก่งเท่าหรือผู้ปกครองแก่มากจนตามโลกโลกาภิวัฒน์ไม่ทัน  ถาบันกษัตริย์จีนก็ต้องปรับองค์กรไม่งั้นก็อยู่ไม่รอด ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก

คิดว่าคงจะตอบในรูปแบบของคำถามแก่เจ้าของกระทู้แล้ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่