ชุมนุมเทวดา

กระทู้สนทนา
นิทานชาวสวน

เรื่องแรก

ชุมนุมเทวดา

        เมื่อ วันเสาร์ที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๓ ได้ไปทำบุญที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ ท่าพระจันทร์ ตามปกติที่ไปทำบุญทุกวันอาทิตย์ เมื่ออาทิตย์แรกของเดือนมกราคม คืออาทิตย์ที่ ๓ ไปทำบุญที่วัดอินทรวิหาร และวัดระฆังโฆสิตาราม

        วันอาทิตย์ที่ ๑๐ อยู่บ้าน เพราะได้ไปทำบุญบริจาคเงินที่ มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง เมื่อวันเสาร์ที่ ๙ ซึ่งเป็นวันเด็กแห่งชาติแล้ว

        วันอาทิตย์ที่ ๑๗ ไม่ค่อยสบายอยู่บ้าน รุ่งขึ้นวันจันทร์ที่ ๑๘ ก็ไปทำบุญที่ วัดปทุมวนาราม แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าใบเสร็จหมด จึงไปบริจาคเงินบำรุงโรงพยาบาลสงฆ์แทน

        วันที่ ๒๓ มกราคมนี้พระทีเป็นเจ้าหน้าที่รับบริจาคให้หนังสือมาสองเล่ม คือวารสารพุทธจักรรายเดือน และหนังสือที่ระลึก งานบำเพ็ญกุศลอุทิศให้เจ้าของทุน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ครบรอบ ๔๕ ปี ประจำปี ๒๕๕๓ หนังสือชื่อ นิธิกถา ซึ่งก็แปลว่า เรื่องของมูลนิธิ ที่ท่านเจ้าคุณพระเทพสุวรรณโมลี (สะอิ้ง สิรินันโท) เจ้าคณะสุพรรณบุรี วัดป่าเลไลยก์ ได้เทศน์ไว้เมื่อปีที่แล้วนั่นเอง

        เนื้อเรื่องที่เทศน์คือการปรารภถึงการก่อตั้ง และการดำเนินงานของมูลนิธิ ฯ ซึ่งได้เริ่มก่อกำเนิดมาเมื่อประมาณ พ.
ศ.๒๕๐๗ มีทุนเพียงน้อยนิดเมื่อดำเนินการมาจนถึงบัดนี้ ก็มีทุนอยู่เพียง ๑๔๐ ล้านบาทเศษเท่านั้น โดยเฉพาะในเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ ดอก
ผลที่ได้จากธนาคารจึงไม่พอกับค่าใช้จ่ายของมูลนิธิ ฯ

        สรุปว่าท่านหวังว่าถ้ามีต้นทุนสัก ๕๐๐ ล้านบาทก็คงจะพอ และองค์แสดงพระธรรมเทศนา ก็อธิบายถึงบุญที่ได้จากการบริจาคเงินให้มูลนิธิ ฯ และเชิญชวนให้ร่วมกันบริจาคให้มากขึ้น

        เราเองเมื่อแรกที่มาบริจาคเพียงสองร้อยบาท โดยตั้งใจว่าจะมาทำทุกเดือน พระท่านก็ชวนให้ตั้งมูลนิธิเข้าร่วมกับมูลนิธิ มจร. แต่เราคิดว่าอีกไม่นานก็จะตายแล้ว เงินก็ยังไม่งอกออกมาสักเท่าไร จึงถวายเป็นค่าอาหารภิกษุสามเณร ที่มาศึกษาในมหาวิทยาลัยทั้งหมดจะดีกว่า เพราะถ้าบริจาคครบปีได้ต้นทุน ๒๔๐๐๐ บาท จะได้ดอกเบี้ยอย่างมากร้อยละสาม ก็คงจะได้เงินมาใช้ประโยชน์เพียง ๖๐๐ กว่าบาท ยิ่งมาถึงสมัยนี้ คงจะไม่ถึง ๓๐๐ บาทเสียด้วยซ้ำ แม้ว่าต้นทุนจะสูงขึ้นปีละ ๒๔๐๐๐ บาทก็ตาม จึงขอให้ท่านที่มีเงินมาก ๆ บริจาคเป็นกองทุนไว้เถิด เราขอให้เท่าที่มีก็แล้วกัน คาดว่าทางมูลนิธิคงจะไม่ผิดหวังกับความคิดของเราสักเท่าไรนัก

        ในหนังสือที่ได้รับมาจากวัดมหาธาตุ ฯ นี้ ยังมีบทความอีกเรื่องหนึ่งคือ อานุภาพพระปริตร ซึ่งพิมพ์จากปาฐกถาของ พระธร
รมโกศาจารย์ (ประยูร ธัมมจิตโต) อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เมื่อ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๒ ในขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวรมุนี

        ท่านได้อธิบายถึงพระคาถาที่สวดชุมนุมเทวดา ที่ขึ้นต้นก่อนที่สวดพระปริตร มีข้อความเป็นคาถาดังต่อไปนี้

         สัคเค กาเม จะ รูเป คิริสิขะระตะเฏ จันตะลิกเข วิมาเน

         ทีเป รัฏเฐ จะ คาเม ตะรุวะนะคะหะเน เคหะวัตถุมหิ เขตเต

         ภุมมา จายันตุ เทวา ชะละถะวิสะเม ยักขะคันธัพพะนาคา

         ติฏฐันตา สันติเกยัง มุนิวะระวะจะนัง สาธะโว เม สุณันตุ

        ซึ่งมีคำแปลว่า ขอเชิญเทวดาทั้งหลาย ผู้สิงสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นกามภพด้วย ในชั้นรูปภพด้วย ผู้สิงสถิตอยู่บนยอดเขา และที่หุบผาด้วย ทั้งที่สถิตอยู่ในวิมานบนอากาศด้วย และภุมมเทวดาทั้งหลาย ซึ่งสิงสถิตอยู่ในทวีป ในรัฐ ในหมู่บ้าน บนต้นไม้ ในป่าชัฏ ในเหย้าเรือน และเรือกสวนไร่นา รวมทั้งบรรดายักษ์ คนธรรพ์ และนาคทั้งหลาย ผู้เป็นสาธุชน ซึ่งสิงสถิตอยู่ในน้ำ บนบก ณ ที่ลุ่มที่ดอน ที่ใกล้คียง จงมาชุมนุมกัน ขอเชืญฟังคำของพนะมุนีเจ้าผู้ประเสริฐกันเถิด

        แล้วพระท่านก็ประกาศต่อไปว่า

         ธัมมัสสะวะนะกาโล อยัมภะทันตา สามจบ แปลว่า

         ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เวลานี้เป็นเวลาฟังธรรม

         ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เวลานี้เป็นเวลาฟังธรรม

         ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เวลานี้เป็นเวลาฟังธรรม

        จากนั้นท่านประธานสงฆ์จึงเริ่มสวด ด้วยบทนมัสการพระรัตนตรัย ตามด้วยไตรสรณาคมณ์ ต่อด้วยบทสรรเสริญพระ
พุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จากนั้นจะเริ่มสวดพระปริตรสิบสองตำนานตามลำดับ

        ตรงนี้ที่น่าสนใจว่า เราไม่เคยเรียนรู้มาก่อนเลยว่า คำสวดชุมนุมเทวดา ที่ได้ยินพระท่านสวดนำก่อนเจริญพระพุทธมนต์ ในงานพิธีต่าง ๆ ตั้งแต่เด็กจนแก่ และแม้จะเคยบวชเป็นพระมาแล้วนั้น มีคำแปลว่าอย่างไร

        ได้รู้แล้วจึงเข้าใจว่า ทำไมพุทธศาสนิกชนที่เคารพนับถือพระรัตนตรัย ยังคงเคารพบูชาเทวดา เทพเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายร่วมไปด้วยเป็นส่วนมาก


เรื่องที่ ๒

การปฏิบัติธรรม


        ตั้งแต่เข้ามาใน ถนนนักเขียน ห้องสมุดพันทิป เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘ จนถึงบัดนี้ ได้ตอบคำถามของผู้ที่อยากจะเป็นนักเขียน หลายครั้งหลายคราว ด้วยข้อความที่ว่า อย่าเพียงแต่คิดต้องลงมือเขียนทันที ขั้นแรกก็ลองเขียนบันทึกประจำวัน ค่ำลงก็ลงมือเขียนว่า วันนี้ทำอะไร พบเห็นอะไร ติดต่อคุยกับใคร ตั้งแต่เช้าจนหมดวัน ต้องเป็นคนช่างสังเกตและจดจำ จึงจะมีเรื่องมาเขียน ถ้าปล่อยให้ทุกอย่างผ่านไปวันหนึ่ง ๆ แล้วก็ลืมหมด ไม่มีอะไรจะเขียน ก็เลยไม่ได้เขียนสักที

                 ข้อความข้างบนนั้น ไม่ได้สักแต่บอกคนอื่น ตนเองก็ได้ทำมาแล้วตลอดชีวิต จึงได้มีเรื่องอะไรต่ออะไรมาเขียนอยู่ได้ตั้ง ๕๐-๖๐ ปี เรื่องหนึ่งที่บันทึกไว้ก็คือ ธรรมะสำหรับตนเอง เขียนไว้เพื่อสอนใจตนเอง ให้ลดความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้เบาบางลงถึงจะลดไม่ได้มาก แต่ก็พยายามทำบ่อย ๆ ให้เกิดความเคยชินเป็นนิสัย กว่าจะตายก็คงลดได้บ้างหรอกน่ะ

                 ในรอบปีหนึ่ง มีวันสำคัญทางพุทธศาสนาอยู่เพียงสี่วันเท่านั้น คือ มาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ความสำคัญทั้งสี่วันนั้น ทุกคนย่อมรู้มานานแล้วตั้งแต่เป็นนักเรียน ผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชน ต่างก็ตั้งใจปฏิบัติธรรมในวันสำคัญเหล่านี้ ด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามความเชื่อหรือความสามารถของแต่ละคน เริ่มตั้งแต่การสมาทานศีลห้า ศีลแปด หรือปฏิบัติ วิปัสนากรรมฐาน อย่างน้อยก็ทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน ฟังเทศน์ฟังธรรม เป็นต้น

                 เราเองเมื่อยังรับราชการอยู่ ก็ตักบาตรทำบุญ รับศีลฟังธรรมไปตามโอกาส ส่วนชีวิตประจำวันก็ทำบาปไปตามปกติธรรมดา ฆ่าสัตว์เล็กสัตว์น้อย โลภมากอยากได้แต่ไม่ถึงกับเป็นโจร จีบเด็กเสริฟบ้างตามโอกาส โกหกหรือพูดไม่จริงเยอะมากแต่ไม่เคยหลอกลวงใครให้เสียหาย ดื่มสุราเป็นอาจิณ

                 ครั้นพอเกษียณอายุราชการแล้ว ไม่ค่อยมีการเกี่ยวข้องกับผู้อื่นมากนัก นอกจากการเขียนหนังสือขาย โอกาสที่จะทำบาปก็น้อยลง พอเกษียณมาได้สิบปี ก็รู้ตัวว่าเวลาในการทำชั่วน้อยลง และเรี่ยวแรงที่จะไปทำความชั่ว ก็น้อยลงเช่นกัน จึงคิดว่าอย่ากระนั้นเลย ลองพยายามละเลิกความชั่ว ที่ท่านระบุไว้ในศีลห้าข้อดูบ้างซิ ว่าชีวิตจะขาดรสชาติไปสักแค่ไหน

                 แต่ความที่เคยชินมาเป็นเวลานานมาก จึงต้องค่อย ๆ ลดลงทีละน้อยก่อน คือตั้งใจจะรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ในวันสำคัญทางพุทธศาสนาก่อน ปีหนึ่งก็มีเพียงสี่ครั้งเท่านั้น ต่อมาก็เพิ่มเป็นวันอาทิตย์ ถ้าทำได้ตลอดปลอดโปร่ง ปีหนึ่งก็จะได้ทำบุญทำกุศลให้แก่ตนเอง ถึงห้าสิบกว่าครั้ง

                 คิดได้แล้วก็ลงมือทำ แต่ก็ไม่ค่อยครบ เพราะมีมารมาคอยขัดขวางอยู่เป็นประจำ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นบัตรเชิญงานต่าง ๆ ที่มักจะจัดกันในวันอาทิตย์ ไม่ว่าจะเป็นงานวันเกิด งานอุปสมบท งานแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ฉลองในโอกาสต่าง ๆ หรืองานฌาปนกิจศพ ถ้าขืนอ้างว่าฉันจะปฏิบัติธรรม เจ้าภาพก็คงจะกล่าวหาว่าบ้า จึงต้องยอมผ่อนผันไปบ้าง แต่ทุกสิ่งที่มีกติกา ถ้าสามารถละเมิดได้สักครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะอ้างเหตุความจำเป็นสักเพียงใด โอกาสที่ละเมิดในคราวต่อ ๆ ไปก็จะมีมากขึ้น ดังนั้น ในปีที่ผ่านมาแล้ว จึงปฏิบัติธรรมไม่ถึงสามสิบครั้งสักปีเดียว

                 การปฏิบัติธรรมที่คนส่วนมากเข้าใจนั้นก็คือ การนุ่งขาวห่มขาว ไปอยู่ที่วัดคืนหนึ่งหรือสองคืน ได้สวดมนต์ภาวนา รักษาศีลอุโบสถ ฟังธรรม เป็นต้น แต่ท่านอาจารย์บางท่านบอกว่า ไม่ต้องเสียเวลาขนาดนั้นหรอก ปฏิบัติธรรมที่บ้านก็ได้ ขอให้มีสติระลึกอยู่ทุกขณะ อย่าผิดศีลก็ใช้ได้แล้ว

###########
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ 
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่