ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตแล้ว ลาว เพื่อนบ้านได้ประโยชน์เต็มๆ

ที่มา : คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง มติชนรายวัน

โดย ธีรภัทร เจริญสุข

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา องค์กรส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งญี่ปุ่น (JETRO) ได้ออกมาแถลงว่า บริษัทเอกชนสัญชาติญี่ปุ่นได้ทยอยย้ายการลงทุนจากประเทศจีนและประเทศไทยเข้ามายังประเทศลาว เนื่องจากปัจจัยอุปสรรคต่างๆ ได้แก่ ในประเทศจีน มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้ต้นทุนการปฏิบัติงานเกินกว่าระดับที่จะดำเนินการต่อไปได้ รวมถึงปัญหาข้อพิพาท จีน-ญี่ปุ่น ที่เมื่อเกิดเหตุจลาจลแต่ละครั้ง ก็ทำให้มีทรัพย์สินเอกชนญี่ปุ่นเสียหายเป็นมูลค่าสูง ส่วนกรณีของไทย มีสาเหตุจากภัยน้ำท่วมที่แนวทางการรับมือในอนาคตไม่ชัดเจน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความวุ่นวายทางการเมืองที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะจบลงเมื่อใด

บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นที่เข้าไปตั้งโรงงานในลาวแล้ว เช่น นิคอน โตโยต้า โดยฐานการผลิตสำคัญตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมสะหวัน-เซโน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน แขวงสะหวันนะเขต ส่วนอุตสาหกรรมอื่นที่ขยายฐานการลงทุนเข้ามาผลิตในลาว เป็นอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลการเกษตร อุตสาหกรรมพลังงาน ธุรกิจบริการการศึกษา สาธารณสุข และการขุดค้นแร่ธาตุตามลำดับ

นิคมอุตสาหกรรมสะหวัน-เซโนดังกล่าวนี้เอง ที่จะเป็นสถานีต้นทางของรถไฟฟ้าความเร็วปานกลาง (Medium-speed electrified railway) ซึ่งจะใช้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าและผู้โดยสารไปยังตอนกลางของเวียดนาม เพื่อเชื่อมต่อเข้ากับระบบโครงข่ายรถไฟของจีนในที่สุด

ภายหลังจากการเยือน สปป. ลาว ของนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ญี่ปุ่นยังได้ประกาศว่าจะก่อตั้งสำนักงานถาวรขององค์การ JETRO ขึ้นในนครหลวงเวียงจันทน์ โดยเป็นเอกเทศจากสำนักงานใหญ่อินโดจีนในกรุงเทพมหานคร และสนับสนุนเงินทุนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เพื่อขยายสนามบินนานาชาติวัดไตในระยะที่ 3 รวมถึงให้เงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำเพื่อบรรเทาความยากจนของประชาชนชาวลาวด้วย

ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศกัมพูชาก็ได้รับอานิสงส์ดังกล่าวเช่นกัน โดยอุตสาหกรรมที่ย้ายฐานการผลิตไปอยู่กัมพูชา ส่วนมากเป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลและยางพารา ทุกวันนี้หากไปเดินห้างสรรพสินค้าในประเทศพัฒนาแล้วเพื่อซื้อหาเสื้อผ้าแบรนด์เนม เมื่อพลิกป้ายราคาออกมา จากเดิมที่เคย

เขียนว่า "เมด อิน ไทยแลนด์" "เมด อิน ไชน่า" หรือ "เมด อิน เวียดนาม" ก็กลับกลายเป็น "เมด อิน แคมโบเดีย" หรือ "เมด อิน บังกลาเดช" แทน

โดยกัมพูชากำลังพัฒนาระบบรถไฟในประเทศขึ้นอีกครั้งด้วยเงินสนับสนุนจากจีนและญี่ปุ่น รวมถึงระบบขนส่งมวลชนในนครหลวงพนมเปญที่ญี่ปุ่นเข้ามาสนับสนุนการจัดระบบเช่นเดียวกับที่เคยทำให้เรียบร้อยในนครหลวงเวียงจันทน์

เช่นเดียวกัน ในการประชุมรัฐมนตรีอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Ministerial Conference) ครั้งที่ 19 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาวในกลางเดือนธันวาคม รัฐมนตรีจาก 4 ประเทศ ได้แก่จีน พม่า ลาว กัมพูชา ได้ลงนามในข้อตกลงจัดตั้งสมาคมรถไฟ 4 ชาติ เพื่อวางแผนเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมทั้งในระบบเดียวกัน (Intermodal) และต่างระบบ (Multi-modal transport) โดยจะร่วมมือสร้างระบบผ่านแดน และระบบตรวจสอบสินค้าที่เข้มแข็งด้วยกัน ซึ่งประเทศไทยไม่สามารถลงนามเข้าร่วมได้เนื่องจากอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ

ประเทศไทยเคยภาคภูมิใจว่าตนเองเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ เนื่องจากแรงงานมีฝีมือ สาธารณูปโภคที่สะดวกและเชื่อถือได้ ระบบขนส่งที่เชื่อมโยงโครงข่ายมากกว่าเพื่อนบ้าน แต่สิ่งเหล่านั้นหากเราหยุดชะงักไม่พัฒนา มิหนำซ้ำ การขาดเสถียรภาพทางการเมือง ความไม่มั่นคงในนโยบายระบบเศรษฐกิจ และการขาดความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรม ย่อมทำให้บริษัทเอกชนที่ต้องการแสวงหาโอกาสและกำไรที่ดีที่สุด พร้อมจะย้ายหนีออกจากประเทศไทยได้ทุกเมื่อ

และเมื่อนั้นคนที่เดือดร้อนย่อมเป็นคนไทยที่ทำงาน และระบบเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ซึ่งจะนำไปสู่ความตกต่ำของสภาพความเป็นอยู่ของคนไทยทุกคนอย่างถ้วนทั่ว เว้นเสียแต่ชนชั้นนำเพียงไม่กี่กลุ่มที่พร้อมจะหอบทุนหนีไปปักหลักทำธุรกิจอยู่ที่อื่นได้ไม่ยากเย็น

ที่มา http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1393564136&grpid=&catid=02&subcatid=0200
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  นักการเมือง การเมือง การลงทุน
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่