9 พฤษภาคม 2012
ดร.วิรไท สันติประภพ
Veerathai@post.harvard.edu
ผมนั่งเขียนบทความนี้ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นวันสำคัญยิ่งเพราะเป็นวันขึ้น 15 ค่ำเดือนหก หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว 2555 ปี วันนี้ถือได้ว่าเป็นวันพุทธชยันตี หรือวันที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ครบ 2,600 ปี (ถ้าปีนี้เป็นปีปกติไม่มีเดือนแปดสองหน วันนี้จะตรงกับวันวิสาขบูชาพอดี)
ในโลกนี้มีไม่กี่อย่างที่คงอยู่ได้ต่อเนื่องมาถึง 2,600 ปี รัฐไทยที่เราเริ่มนับกันในยุคสุโขทัยมีอายุไม่ถึง 800 ปี รัฐต่างๆ ที่เคยอยู่ร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้าได้ล่มสลาย หรือถูกกลืนไปเกือบหมดศาสนาหลักอื่นๆ เช่น คริสต์ และอิสลาม ต่างเกิดขึ้นหลังพุทธศาสนาหลายร้อยปี ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่หลายคนจะสงสัยว่าพุทธศาสนาพิเศษอย่างไร จึงดำรงอยู่ได้ต่อเนื่องถึง 2,600 ปี และหลายคนคงสงสัยต่อไปอีกว่า พุทธศาสนาจะดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างไรในระบบทุนนิยมที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกับธรรมะ เพราะทุนนิยมถือเอากลไกตลาดเป็นใหญ่ ส่งเสริมให้คนเอารัดเอาเปรียบและเห็นแก่ตัวมากขึ้นทุกวัน
สำหรับผมแล้วธรรมะกับทุนนิยมไม่ขัดแย้งกัน และผมยังเชื่ออีกว่าพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ต่อไปได้อีกนาน ทุนนิยมเป็นเพียงกฎของโลกหรือกติกาของสังคม ที่จะทำให้คนอยู่ร่วมกันได้โดยหวังว่าจะเปิดโอกาสให้คนกลุ่มต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนให้ดีขึ้น ถ้าเทียบกับอายุของพุทธศาสนาแล้ว ทุนนิยมเป็นเรื่องที่ใหม่มาก Adam Smith เขียนหนังสือเรื่อง The Wealth of Nations เพียงเมื่อ 236 ปีที่แล้ว ตลอดช่วงอายุ 2,600 ปีของพุทธศาสนา โลกได้ผ่านระบบสังคมและระบบเศรษฐกิจมาหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบสังคมแบบพอมีพอกิน ระบบทาสที่ถูกกษัตริย์และขุนนางปกครอง ระบบการค้าที่อาศัยเพียงการค้าต่างตอบแทน หรือระบบสังคมนิยม
ส่วนธรรมะตามหลักพุทธศาสนานั้นเป็นกฎของชีวิตหรือกฎของธรรมชาติ เป็นเรื่องของกายกับจิต ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่ากฎของโลกหรือกติกาของสังคมมาก ตราบใดที่คนยังต้องเกิดแก่เจ็บตาย มีความสุขและความทุกข์ มีสิ่งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ หนีไม่พ้นว่าจะต้องอยู่ภายใต้กฎของธรรมะธรรมะของพุทธศาสนาอธิบายชีวิตในมิติต่างๆ ได้อย่างรอบด้าน ธรรมะทำให้เข้าใจว่ามีชีวิตไปทำไม ให้หลักในการดำเนินชีวิต สอนให้เข้าใจถึงความเกี่ยวเนื่องของกายและจิต และที่สำคัญคือ ทำให้ชีวิตเป็นอิสระจากกรอบต่างๆ ที่ถูกสมมติขึ้นมา
ทุนนิยมจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวก็ต่อเมื่อระบบทุนนิยมนั้นเป็นธรรม วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาได้ทำให้ทั้งนักเศรษฐศาสตร์นักธุรกิจและคนทั่วไปเริ่มกังขาในระบบทุนนิยมแบบเดิมๆ ที่เชื่อว่ากลไกตลาดจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตของคนที่ดีขึ้นในระยะยาว แต่วิกฤตเศรษฐกิจได้แสดงให้เห็นถึงความไม่ยั่งยืนของทุนนิยมที่ขาดธรรม เราเห็นการล่มสลายของธนาคารพาณิชย์และบริษัทขนาดใหญ่ เห็นฟองสบู่ของราคาสินทรัพย์ที่ต้องแตกลง เห็นการเอาเปรียบของธุรกิจขนาดใหญ่ต่อธุรกิจขนาดเล็ก แรงงาน และผู้บริโภค และเห็นความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนที่นำไปสู่วิกฤตทางสังคม
เมื่อใดก็ตามที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น คุณภาพชีวิตของประชาชนจะถอยหลังลงไปมาก แม้ว่าระบบทุนนิยมจะสะท้อนธรรมชาติของมนุษย์มากที่สุดเมื่อเทียบกับระบบอื่นๆ แต่ระบบทุนนิยมแบบเดิมไม่เพียงพอที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน
วิกฤตเศรษฐกิจได้ทำให้ทั้งนักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจจำนวนไม่น้อยหันมาพิจารณาว่า จะปรับปรุงวิธีการบริหารธุรกิจและระบบทุนนิยมอย่างไร เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่จะดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน ในระดับประเทศ เราเห็นการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าและกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มข้นขึ้น เพื่อลดการเอาเปรียบของธุรกิจขนาดใหญ่ เราเห็นการปฏิรูปกฎเกณฑ์การกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินให้รัดกุมขึ้น และลดแรงจูงใจของผู้บริหารสถาบันการเงินจากการหากำไรระยะสั้น นอกจากนี้ เรายังเห็นการปรับปรุงระบบภาษีให้คนรวยต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ในระดับธุรกิจนั้นเราเห็นแนวคิดเรื่องการปฏิบัติดีต่อสังคม การพัฒนาหลักบรรษัทภิบาลเพื่อลดการเอาเปรียบของผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การต่อต้านการคอรัปชั่น การจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคมโดยไม่มีการนำกำไรไปแบ่งปันระหว่างผู้ถือหุ้น หรือการตั้งกรอบบริหารความเสี่ยงให้รัดกุมเพื่อไม่ให้ผู้บริหารกล้าได้กล้าเสีย โดยหวังแต่ผลประโยชน์ระยะสั้นจนเกินควร
อาจจะกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับระบบทุนนิยมนี้ เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับหลักธรรมะ แม้ว่าจะเกี่ยวกับองค์ธรรมเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น ธรรมะจะสามารถช่วยให้ระบบทุนนิยมสมดุลและยั่งยืนได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยมตะวันตก มักจะเป็นการกำหนดกฎเกณฑ์จากภาครัฐ หรือเป็นเพราะถูกแรงกดดันจากภายนอกองค์กรทำให้ธุรกิจต้องปฏิบัติตาม ส่วนใหญ่ยังไปไม่ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากภายในจิตใจของเจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารธุรกิจอย่างแท้จริง
ในประเทศไทยนั้นแนวคิดเรื่องธรรมะกับทุนนิยมไปไกลกว่าโลกตะวันตกมาก หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนำธรรมะมากำกับทุนนิยมได้อย่างชัดเจนที่สุด หลายท่านได้ยินชื่อหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว อาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นเพียงหลักปรัชญาพอมีพอกินไม่สอดคล้องกับระบบทุนนิยม แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแบ่งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้หลายระดับขั้น ตั้งแต่เรื่องการเกษตรพื้นฐานไปจนถึงการผลิตเพื่อการค้าและการแข่งขัน
ผมเคยมีโอกาสถามท่านผู้ใหญ่ถึงที่มาของชื่อหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่าทำไมทรงใช้คำว่าพอเพียง ได้รับคำตอบที่ลึกซึ้งมากว่า ทรงหมายถึงพอเพียงที่ใจ ถ้าทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค นักธุรกิจ หรือผู้บริหารนโยบายเศรษฐกิจมีความพอเพียงที่ใจแล้ว เราจะได้สังคมและระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
จะเห็นได้ว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นเรื่องของจิต หรือเป็นเรื่องที่ต้องระเบิดจากข้างใน ซึ่งแต่ละคนจะต้องตัดสินใจเองตามสภาวะแวดล้อมของตน ไม่ได้มีสูตรสำเร็จหรือมีกฏเกณฑ์จากภายนอกมากำหนดว่าควรทำ หรือไม่ควรทำในเรื่องใด อย่างไร
ความน่ากลัวที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ ธรรมะกับทุนนิยมมักจะถูกเชื่อมโยงไปในรูปแบบที่ไม่ถูกต้อง คือแทนที่จะนำธรรมะซึ่งเป็นกฎของชีวิตมากำกับทุนนิยม คนหลายกลุ่มหลายสำนักกลับนำธรรมะเข้าไปอยู่ใต้ทุนนิยมจนเกิดกิจกรรมในลักษณะพุทธพาณิชย์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเชื่อว่าจะขึ้นสวรรค์ชั้นใดขึ้นอยู่กับเงินที่ทำบุญ การทำผิดแล้วมาทำบุญแก้กรรม หรือการนำเสนอพระนักเทศน์ในลักษณะดารานักแสดง ความบิดเบือนเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะไม่ช่วยให้คนเข้าถึงธรรมะหรือเข้าใจกฎของชีวิตดีขึ้นแล้ว ยังจะทำให้คนทั่วไปเข้าใจพุทธศาสนาแบบผิดๆ ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับพุทธศาสนา และความยั่งยืนของสังคมที่เป็นธรรมในระยะยาว
ธรรมะเป็นกฎของชีวิต เป็นเรื่องของกายกับจิตที่กว้างไกลกว่า กฎของเศรษฐกิจและกติกาของสังคมที่เป็นเรื่องสมมติมาก เราจะไม่สามารถรับรู้หรือเข้าใจธรรมะได้ถ้าไม่ลงมือศึกษาและปฏิบัติภาวนาด้วยตนเอง ไม่ว่าธุรกิจจะกำไรหรือขาดทุน เศรษฐกิจจะเฟื่องฟูหรือเจอวิกฤตทุนนิยม จะคงอยู่หรือล่มสลาย เราทุกคนยังต้องเกิดแก่เจ็บตาย
ท่านใดที่ยังไม่คุ้นเคยกับพุทธศาสนาและสนใจที่อยากจะเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมะ ผมขอชวนให้ท่านแวะไปร่วม “งานวัดลอยฟ้า” ที่สยามพารากอน ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ งานนี้หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จัดขึ้นร่วมกับองค์กรพุทธศาสนาหลายสิบองค์กร เพื่อฉลองโอกาสพุทธชยันตี ในงานนี้จะมีการนำเสนอพุทธศาสนาในมิติต่างๆ เพื่อให้คนกรุงเทพที่อยู่ในกรอบทุนนิยมได้มีโอกาสศึกษาธรรมะและทดลองปฏิบัติภาวนา ทดลองดูนะครับแล้วผมเชื่อว่ามุมมองเรื่องชีวิต กายกับจิต (และทุนนิยม) ของท่านจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น
หมายเหตุ : ตีพิพม์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2555 คอลัมน์เศรษฐศาสตร์พเนจร
http://thaipublica.org/2012/05/dharma-and-capitalism/
" ธรรมะกับทุนนิยม "
ดร.วิรไท สันติประภพ
Veerathai@post.harvard.edu
ผมนั่งเขียนบทความนี้ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นวันสำคัญยิ่งเพราะเป็นวันขึ้น 15 ค่ำเดือนหก หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว 2555 ปี วันนี้ถือได้ว่าเป็นวันพุทธชยันตี หรือวันที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ครบ 2,600 ปี (ถ้าปีนี้เป็นปีปกติไม่มีเดือนแปดสองหน วันนี้จะตรงกับวันวิสาขบูชาพอดี)
ในโลกนี้มีไม่กี่อย่างที่คงอยู่ได้ต่อเนื่องมาถึง 2,600 ปี รัฐไทยที่เราเริ่มนับกันในยุคสุโขทัยมีอายุไม่ถึง 800 ปี รัฐต่างๆ ที่เคยอยู่ร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้าได้ล่มสลาย หรือถูกกลืนไปเกือบหมดศาสนาหลักอื่นๆ เช่น คริสต์ และอิสลาม ต่างเกิดขึ้นหลังพุทธศาสนาหลายร้อยปี ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่หลายคนจะสงสัยว่าพุทธศาสนาพิเศษอย่างไร จึงดำรงอยู่ได้ต่อเนื่องถึง 2,600 ปี และหลายคนคงสงสัยต่อไปอีกว่า พุทธศาสนาจะดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างไรในระบบทุนนิยมที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกับธรรมะ เพราะทุนนิยมถือเอากลไกตลาดเป็นใหญ่ ส่งเสริมให้คนเอารัดเอาเปรียบและเห็นแก่ตัวมากขึ้นทุกวัน
สำหรับผมแล้วธรรมะกับทุนนิยมไม่ขัดแย้งกัน และผมยังเชื่ออีกว่าพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ต่อไปได้อีกนาน ทุนนิยมเป็นเพียงกฎของโลกหรือกติกาของสังคม ที่จะทำให้คนอยู่ร่วมกันได้โดยหวังว่าจะเปิดโอกาสให้คนกลุ่มต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนให้ดีขึ้น ถ้าเทียบกับอายุของพุทธศาสนาแล้ว ทุนนิยมเป็นเรื่องที่ใหม่มาก Adam Smith เขียนหนังสือเรื่อง The Wealth of Nations เพียงเมื่อ 236 ปีที่แล้ว ตลอดช่วงอายุ 2,600 ปีของพุทธศาสนา โลกได้ผ่านระบบสังคมและระบบเศรษฐกิจมาหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบสังคมแบบพอมีพอกิน ระบบทาสที่ถูกกษัตริย์และขุนนางปกครอง ระบบการค้าที่อาศัยเพียงการค้าต่างตอบแทน หรือระบบสังคมนิยม
ส่วนธรรมะตามหลักพุทธศาสนานั้นเป็นกฎของชีวิตหรือกฎของธรรมชาติ เป็นเรื่องของกายกับจิต ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่ากฎของโลกหรือกติกาของสังคมมาก ตราบใดที่คนยังต้องเกิดแก่เจ็บตาย มีความสุขและความทุกข์ มีสิ่งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ หนีไม่พ้นว่าจะต้องอยู่ภายใต้กฎของธรรมะธรรมะของพุทธศาสนาอธิบายชีวิตในมิติต่างๆ ได้อย่างรอบด้าน ธรรมะทำให้เข้าใจว่ามีชีวิตไปทำไม ให้หลักในการดำเนินชีวิต สอนให้เข้าใจถึงความเกี่ยวเนื่องของกายและจิต และที่สำคัญคือ ทำให้ชีวิตเป็นอิสระจากกรอบต่างๆ ที่ถูกสมมติขึ้นมา
ทุนนิยมจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวก็ต่อเมื่อระบบทุนนิยมนั้นเป็นธรรม วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาได้ทำให้ทั้งนักเศรษฐศาสตร์นักธุรกิจและคนทั่วไปเริ่มกังขาในระบบทุนนิยมแบบเดิมๆ ที่เชื่อว่ากลไกตลาดจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตของคนที่ดีขึ้นในระยะยาว แต่วิกฤตเศรษฐกิจได้แสดงให้เห็นถึงความไม่ยั่งยืนของทุนนิยมที่ขาดธรรม เราเห็นการล่มสลายของธนาคารพาณิชย์และบริษัทขนาดใหญ่ เห็นฟองสบู่ของราคาสินทรัพย์ที่ต้องแตกลง เห็นการเอาเปรียบของธุรกิจขนาดใหญ่ต่อธุรกิจขนาดเล็ก แรงงาน และผู้บริโภค และเห็นความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนที่นำไปสู่วิกฤตทางสังคม
เมื่อใดก็ตามที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น คุณภาพชีวิตของประชาชนจะถอยหลังลงไปมาก แม้ว่าระบบทุนนิยมจะสะท้อนธรรมชาติของมนุษย์มากที่สุดเมื่อเทียบกับระบบอื่นๆ แต่ระบบทุนนิยมแบบเดิมไม่เพียงพอที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน
วิกฤตเศรษฐกิจได้ทำให้ทั้งนักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจจำนวนไม่น้อยหันมาพิจารณาว่า จะปรับปรุงวิธีการบริหารธุรกิจและระบบทุนนิยมอย่างไร เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่จะดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน ในระดับประเทศ เราเห็นการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าและกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มข้นขึ้น เพื่อลดการเอาเปรียบของธุรกิจขนาดใหญ่ เราเห็นการปฏิรูปกฎเกณฑ์การกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินให้รัดกุมขึ้น และลดแรงจูงใจของผู้บริหารสถาบันการเงินจากการหากำไรระยะสั้น นอกจากนี้ เรายังเห็นการปรับปรุงระบบภาษีให้คนรวยต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ในระดับธุรกิจนั้นเราเห็นแนวคิดเรื่องการปฏิบัติดีต่อสังคม การพัฒนาหลักบรรษัทภิบาลเพื่อลดการเอาเปรียบของผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การต่อต้านการคอรัปชั่น การจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคมโดยไม่มีการนำกำไรไปแบ่งปันระหว่างผู้ถือหุ้น หรือการตั้งกรอบบริหารความเสี่ยงให้รัดกุมเพื่อไม่ให้ผู้บริหารกล้าได้กล้าเสีย โดยหวังแต่ผลประโยชน์ระยะสั้นจนเกินควร
อาจจะกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับระบบทุนนิยมนี้ เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับหลักธรรมะ แม้ว่าจะเกี่ยวกับองค์ธรรมเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น ธรรมะจะสามารถช่วยให้ระบบทุนนิยมสมดุลและยั่งยืนได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยมตะวันตก มักจะเป็นการกำหนดกฎเกณฑ์จากภาครัฐ หรือเป็นเพราะถูกแรงกดดันจากภายนอกองค์กรทำให้ธุรกิจต้องปฏิบัติตาม ส่วนใหญ่ยังไปไม่ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากภายในจิตใจของเจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารธุรกิจอย่างแท้จริง
ในประเทศไทยนั้นแนวคิดเรื่องธรรมะกับทุนนิยมไปไกลกว่าโลกตะวันตกมาก หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนำธรรมะมากำกับทุนนิยมได้อย่างชัดเจนที่สุด หลายท่านได้ยินชื่อหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว อาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นเพียงหลักปรัชญาพอมีพอกินไม่สอดคล้องกับระบบทุนนิยม แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแบ่งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้หลายระดับขั้น ตั้งแต่เรื่องการเกษตรพื้นฐานไปจนถึงการผลิตเพื่อการค้าและการแข่งขัน
ผมเคยมีโอกาสถามท่านผู้ใหญ่ถึงที่มาของชื่อหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่าทำไมทรงใช้คำว่าพอเพียง ได้รับคำตอบที่ลึกซึ้งมากว่า ทรงหมายถึงพอเพียงที่ใจ ถ้าทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค นักธุรกิจ หรือผู้บริหารนโยบายเศรษฐกิจมีความพอเพียงที่ใจแล้ว เราจะได้สังคมและระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
จะเห็นได้ว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นเรื่องของจิต หรือเป็นเรื่องที่ต้องระเบิดจากข้างใน ซึ่งแต่ละคนจะต้องตัดสินใจเองตามสภาวะแวดล้อมของตน ไม่ได้มีสูตรสำเร็จหรือมีกฏเกณฑ์จากภายนอกมากำหนดว่าควรทำ หรือไม่ควรทำในเรื่องใด อย่างไร
ความน่ากลัวที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ ธรรมะกับทุนนิยมมักจะถูกเชื่อมโยงไปในรูปแบบที่ไม่ถูกต้อง คือแทนที่จะนำธรรมะซึ่งเป็นกฎของชีวิตมากำกับทุนนิยม คนหลายกลุ่มหลายสำนักกลับนำธรรมะเข้าไปอยู่ใต้ทุนนิยมจนเกิดกิจกรรมในลักษณะพุทธพาณิชย์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเชื่อว่าจะขึ้นสวรรค์ชั้นใดขึ้นอยู่กับเงินที่ทำบุญ การทำผิดแล้วมาทำบุญแก้กรรม หรือการนำเสนอพระนักเทศน์ในลักษณะดารานักแสดง ความบิดเบือนเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะไม่ช่วยให้คนเข้าถึงธรรมะหรือเข้าใจกฎของชีวิตดีขึ้นแล้ว ยังจะทำให้คนทั่วไปเข้าใจพุทธศาสนาแบบผิดๆ ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับพุทธศาสนา และความยั่งยืนของสังคมที่เป็นธรรมในระยะยาว
ธรรมะเป็นกฎของชีวิต เป็นเรื่องของกายกับจิตที่กว้างไกลกว่า กฎของเศรษฐกิจและกติกาของสังคมที่เป็นเรื่องสมมติมาก เราจะไม่สามารถรับรู้หรือเข้าใจธรรมะได้ถ้าไม่ลงมือศึกษาและปฏิบัติภาวนาด้วยตนเอง ไม่ว่าธุรกิจจะกำไรหรือขาดทุน เศรษฐกิจจะเฟื่องฟูหรือเจอวิกฤตทุนนิยม จะคงอยู่หรือล่มสลาย เราทุกคนยังต้องเกิดแก่เจ็บตาย
ท่านใดที่ยังไม่คุ้นเคยกับพุทธศาสนาและสนใจที่อยากจะเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมะ ผมขอชวนให้ท่านแวะไปร่วม “งานวัดลอยฟ้า” ที่สยามพารากอน ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ งานนี้หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จัดขึ้นร่วมกับองค์กรพุทธศาสนาหลายสิบองค์กร เพื่อฉลองโอกาสพุทธชยันตี ในงานนี้จะมีการนำเสนอพุทธศาสนาในมิติต่างๆ เพื่อให้คนกรุงเทพที่อยู่ในกรอบทุนนิยมได้มีโอกาสศึกษาธรรมะและทดลองปฏิบัติภาวนา ทดลองดูนะครับแล้วผมเชื่อว่ามุมมองเรื่องชีวิต กายกับจิต (และทุนนิยม) ของท่านจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น
หมายเหตุ : ตีพิพม์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2555 คอลัมน์เศรษฐศาสตร์พเนจร
http://thaipublica.org/2012/05/dharma-and-capitalism/