โรงแรมโซนม็อบเริ่มลดเงินเดือน/โละคน

กระทู้สนทนา
ชัตดาวน์ยืดเยื้อธุรกิจโรงแรม-ร้านอาหารโซน สุขุมวิท อโศก ราชประสงค์ ทองหล่อ ยอดร่วงหนักเผยอัตราเข้าพักลดต่อเนื่องเหลือ 10-20 % จนต้องงัดมาตรการรัดเข็มขัดเพิ่มเติม ทั้งปิดฟลอร์ ปิดห้องอาหาร  ลดวันทำงาน  ลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน บางแห่งเริ่มปลดคน ด้านส.ภัตตาคารไทย แจงยอดขายวูบไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาทต่อเดือน สะเทือนสมาชิก 3 หมื่นราย คาดลากยาวถึงมีนาคมส่อเค้าลดพนักงาน
    จากการสำรวจของ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงผลกระทบของธุรกิจโรงแรม ภัตตาคารร้านอาหารในพื้นที่ชุมนุมย่านสุขุมวิท อโศก ราชประสงค์ สีลม ทองหล่อ สี่แยกปทุมวัน ล่าสุดพบว่าได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องโดยธุรกิจโรงแรมมีอัตราเข้าพักราว 10-20 % เท่านั้นหลังจากก่อนหน้านั้นมีอัตราเข้าพักเฉลี่ยที่ 40 -50 % ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างหันมาใช้มาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อรับมือผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งหลัก ๆ คือการลดค่าใช้จ่าย ให้ธุรกิจอยู่รอด หลังจากได้เคยจัดโปรโมชันขายห้องพัก ห้องอาหาร ในราคาพิเศษเพื่อกระตุ้นยอดขายไปแล้ว
    ดร.รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัทโรงแรมเซ็นทรัล พลาซา จำกัด(มหาชน) หรือเซ็นเทล เผยว่า แม้โรงแรม 2 แห่งที่เป็นเจ้าของคือ เซ็นทารา แกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์ และ เซ็นทารา แกรนด์แอทเซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว ขณะนี้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ราว 20-40% ส่วนโรงแรมที่รับบริหาร อย่าง โรงแรมเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ มีอัตราเข้าพักเฉลี่ยราว 10%  เท่านั้นเนื่องจากตลาดไมซ์ มีการยกเลิกและเลื่อนการจัดงานออกไปเป็นจำนวนมาก ขณะที่โรงแรมในเครือต่างจังหวัดอัตราการเข้าพักยังอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยที่ 80-90 %
    ส่งผลให้สามารถลดค่าใช้จ่ายโดยโยกย้ายพนักงานที่ทำงานในโรงแรมพื้นที่ม็อบไปทำงานในโรงแรมต่างจังหวัด ที่ยังมียอดบุ๊กกิ้งสูง และต้องการพนักงานเพิ่มแทน ซึ่งพนักงานก็พึ่งพอใจ เนื่องจากได้ค่าเซอร์วิสชาร์จเพิ่ม นอกจากนี้ใช้มาตรการให้พนักงานที่ยังไม่ลาพักร้อนใช้สิทธิ์ในช่วงนี้ และพิจารณาหักค่าใช้จ่ายแก่พนักงานผู้ที่ใช้วันลาหยุดเกินกำหนดโดยจะเริ่มพิจารณาจากพนักงานที่มีตำแหน่งสูงก่อนรวมถึงการลดราคาอาหารเช่นมา 4 คนจ่ายเพียง 2 คน เป็นต้น ดร. รณชิตกล่าว
++ บีบหยุดงานไม่จ่ายเงินเดือน
    ด้านแหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงแรมในพื้นที่ ชุมนุม เผยว่า ในส่วนของโรงแรมที่ไม่มีเครือข่ายอยู่ต่างจังหวัด หรือมีเพียงแห่งเดียว ต่างกำลังเผชิญกับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ขณะนี้หลายโรงแรมในย่านนั้น ต้องใช้มาตรการลดค่าใช้จ่ายและประหยัดอย่างเข้มข้น โดยนโยบายหลัก  ๆ จะมีทั้งการปิดห้องพักบางชั้นที่ไม่มีลูกค้า ปิดห้องอาหารบางช่วง ลดปริมาณอาหาร หรือยกเลิกบริการบุฟเฟ่ต์ หันมาให้บริการสั่งอาหารตามเมนู ลดราคาขาย ตลอดจนถึงการให้ใช้วันพักร้อน การลดเงินเดือนด้วยการขอความร่วมมือให้หยุดงานโดยไม่จ่ายเงินเดือนหรือ (Leave without pay) ซึ่งมาตรการจะเข้มข้นขึ้นตามความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นและบางโรงแรมถึงขั้นปลดพนักงาน
    เช่น โรงแรมแกรนด์ มิลเลนเนียม สุขุมวิท ใกล้แยกอโศกมีนโยบายเลิกจ้างพนักงานที่อยู่ในช่วงทดลองงาน 4 เดือน จำนวน 15 คน โดยให้เวลา 1 เดือนเพื่อหางานใหม่ ส่วนพนักงานที่ยังทำงานอยู่ก็ขอให้หยุดโดยไม่จ่ายเงินเดือนเป็นเวลา 2-4 วันต่อเดือน ปิดห้องอาหารอเทลิเย่  บริการอาหารบุฟเฟ่ต์มื้อกลางวันและค่ำ และปิดห้องอาหารทาปาส อิ วีโน่ ช่วงกลางวัน เปิดเฉพาะมื้อค่ำเท่านั้น
++เรดิสัน บลู ยกเลิกเซอร์วิสชาร์จ  
    ส่วนโรงแรมโลตัส สุขุมวิท 33 ให้พนักงานหยุดโดยไม่จ่ายเงินเดือน 1 วัน โฮเทลมิวส์ ลดเงินเดือนสำหรับฝ่ายบริหาร โรงแรม เรดิสัน บลู สุขุมวิท 27  ยกเลิกการจ่ายเงินการันตีเซอร์วิสชาร์จ จากเดิมที่ตกลงไว้เดือนละ 5-6 พันบาท ช่วงเปิดโรงแรมอย่างไม่เป็นทางการ โรงแรมคอนราด บังคับให้ใช้วันพักร้อนในเดือนมกราคม เช่นเดียวกับโรงแรมโซฟิเทล  สุขุมวิท
    ขณะที่โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ให้หยุดโดยไม่จ่ายเงินเดือน 1 วัน โรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ ให้ใช้สิทธิ์ลาพักร้อน ในช่วงนี้ปรับปริมาณอาหาร บุฟเฟ่ต์ให้ลดลง เพื่อลดราคา และนำเบเกอรี่ มาวางด้านหน้าโรงแรม ส่วนห้องอาหารเดอะสแควร์ โรงแรมโนโวเทลสยามสแควร์ ลดค่าอาหาร 30% ช่วงวันหยุด และขอให้พนักงานสมัครใจหยุดโดยไม่รับเงินเดือน โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท ขอให้ใช้สิทธิ์ลาพักร้อนในช่วงนี้ และมีการปิดบาร์ ในกรณีไม่มียอดจอง เป็นต้น
    "หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นผู้ประกอบการอาจต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้น และถึงขั้นปลดพนักงานโดยเฉพาะโรงแรมไม่มีเครือข่ายจะได้รับผลกระทบมาก และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าผู้ประกอบการจะได้รับการเยียวยา เหมือนเมื่อครั้งที่ที่มีการชุมนุมของคนเสื้อแดง ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์หรือไม่" แหล่งข่าวกล่าวทิ้งท้าย
++ ร้านอาหารยอดขายตก
    ด้าน นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า  ธุรกิจห้องอาหาร ภัตตาคาร และร้านอาหารขนาดกลาง-ใหญ่ ในพื้นที่ที่มีการชุมนุมที่กระทบมากคือในย่านสุขุมวิท อโศก และทองหล่อ รวมแล้วที่เป็นสมาชิกของสมาคมรวมกว่า 3 หมื่นราย ยอดขายลดลงมากโดยร้านอาหารราคาแพงยอดขายลดลงเดือนละ 20% เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้
    "ประเมินว่าผู้ประกอบสูญเสียรายได้โดยรวมวันละราว 50 ล้านบาท เดือนละไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท ส่งผลให้ธุรกิจในพื้นที่ต่างใช้มาตรการรัดเข็มขัด นอกจากชะลอการลงทุนใหม่ ๆ แล้ว ลดค่าใช้จ่ายและการพิจารณาปรับลดพนักงานในอนาคต หากการชุมนุมทางการเมืองยืดเยื้อถึงเดือนมีนาคมนี้ แม้ว่าช่วงแรกที่ชุมนุมยอดขายร้านอาหารในพื้นที่ก็เพิ่มสูงขึ้นก็ตาม แต่เมื่อยืดเยื้อนานขึ้น ผู้ชุมนุมไม่นิยมใช้บริการร้านอาหาร ส่วนลูกค้านก็เดินทางไม่ได้ จึงทำให้ยอดขายเริ่มตกลงอย่างต่อเนื่อง"
    ส่วนนายชาย  ศรีวิกรม์ นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ เผยว่า ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในขณะนี้ คือ ธุรกิจโรงแรม เนื่องจากมียอดการเข้าพักเหลือเพียง 20% จาก 4 พันห้อง ขายได้ 800 ห้องเท่านั้น ขณะที่การจับจ่ายใช้สอยในย่านราชประสงค์ลดลงเหลือวันละ 150 ล้านบาท จากปกติราว 300 ล้านบาท หรือ  50 % ขณะที่ร้านอาหารย่านราชประสงค์ ยอดขายลดลงเหลือ 40 % ซึ่งทางสมาคมจะเรียกสมาชิกภายในย่านนี้เข้ามาหารือ เพื่อหามาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,922 วันที่ 13 - 15    กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557
http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=218585%3A2014-02-11-17-19-27&catid=85%3A2009-02-08-11-22-45&Itemid=417#.UwAP6cG7I1T.twitter  
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่