กทม.เวนคืนสร้างถนน13สาย เร่ง "พรานนก-สาย4" เสร็จ 4 ปี "สะพานข้ามเจ้าพระยา" ชะลอยาว

กทม.จัดโผถนนสายเก่า-สายใหม่ 13 โครงการเร่งด่วน ของบฯ 3.3 พันล้านเดินหน้าเวนคืนที่ดิน 1,147 แปลง บ้านเรือน 726 หลังสานต่องานก่อสร้าง เร่ง "พรานนก-พุทธมณฑลสาย 4" เสร็จใน 4 ปี เปิดโครงการเชื่อมนครปฐม เผยโครงการใหญ่ตกค้างอื้อซ่า ทั้งถนนใหม่ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 4 แห่ง

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้สำนักการโยธารวบรวมโครงการที่จะเวนคืนทั้งโครงการเก่าที่เร่งรัดให้เสร็จและโครงการใหม่ที่จะก่อสร้าง โดยจะขอจัดสรรงบประมาณปี 2558 เพื่อดำเนินการ มี 13 โครงการ คิดเป็นวงเงินที่ใช้ในปีแรก 3,307 ล้านบาท จากทั้งโครงการใช้เงินเวนคืน 7,605 ล้านบาท จ่ายค่าชดเชยที่ดิน 1,147 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 726 หลังคาเรือน

"ทั้งหมดเป็นแผนงานเดิมที่เตรียมไว้เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ แต่ที่ผ่านมาไม่มีเงิน ผู้บริหารปรับนโยบายใหม่ว่า ต่อไปจะเร่งก่อสร้างโครงการเก่าให้เสร็จโดยเร็ว ส่วนโครงการใหม่จะดูเท่าที่จำเป็น เพราะงบประมาณมีจำกัด"

เปิดโผเวนคืน 13 โครงการ

สำหรับโครงการจะของบฯปี 2558 แบ่ง 4 กลุ่ม กลุ่มแรก คือโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ 1.ถ.พหลโยธิน-รัตนโกสินทร์สมโภช ติดเวนคืนบริเวณหมู่บ้านสัมพันธ์วิลล่า วัดหนองผักชี จุดตัดระหว่าง ถ.สุขาภิบาล 5 กับบริเวณสุขาภิบาล 5 มีที่ดินถูกเวนคืน 224 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 135 หลัง ใช้เงินเวนคืน 1,050 ล้านบาท ปี 2558 ของบฯ 300 ล้านบาท

2.ขยาย ถ.ซอยรามอินทรา 14 มีเวนคืนที่ดิน 105 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 55 หลัง ใช้เงินเวนคืน 200 ล้านบาท ปี 2558 ของบฯ 100 ล้านบาท 3.ปรับปรุงผิวจราจรและทางเท้า ถ.จตุโชติช่วงที่ 3 เชื่อม ถ.เพิ่มสิน มีเวนคืนที่ดิน 52 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 33 หลัง ใช้เงินเวนคืน 236 ล้านบาท ปี 2558 ของบฯ 100 ล้านบาท

เร่งสร้างพรานนก-สาย 4

4.ถ.พรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 มี 2 ช่วง คือช่วง ถ.พุทธมณฑลสาย 2-ถ.พุทธมณฑลสาย 3 และช่วง ถ.พุทธมณฑลสาย 3-ถ.พุทธมณฑลสาย 4 เวนคืนที่ดิน 301 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 119 หลัง ใช้เงินเวนคืน 2,500 ล้านบาท ปี 2558 ของบฯ 1,580 ล้านบาท

"ช่วงพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 จะเร่งเวนคืนและก่อสร้างให้เสร็จ 4 ปี หรือในปี"62 เพื่อเชื่อมการเดินทางกับจังหวัดนครปฐม งบฯที่จะขอในปี"58 มีทั้งค่าเวนคืนและก่อสร้าง โดยสร้างต่อจากปัจจุบันถึงวงแหวนรอบนอก ต่อไปจนถึงพุทธมณฑลสาย 4" แหล่งข่าวกล่าวและว่า

แนวเส้นทางเริ่มจากสามแยกไฟฉายไปบรรจบกับ ถ.พุทธมณฑลสาย 4 เป็นถนนขนาด 6 ช่องจราจร มี 2 ช่วง คือ

1.ช่วง ถ.ราชพฤกษ์-พุทธมณฑลสาย 1 บรรจบกับ ถ.กาญจนาภิเษก 8 กม. ปัจจุบันกำลังก่อสร้าง 2.ช่วง ถ.กาญจนาภิเษก ตัดผ่านพุทธมณฑลสาย 2-3 บรรจบกับสาย 4 ที่ ต.กระทุ่มล้ม อ.สามพราน จ.นครปฐม 8.4 กม. รองรับการจราจรย่านบางกอกน้อย ตลิ่งชัน บางแค ภาษีเจริญ

เดินหน้า "พ.ร.ฎ.ตกค้าง"

แหล่งข่าวกล่าวว่า กลุ่มที่ 2 โครงการตาม พ.ร.ฎ. ประกาศเมื่อปี 2556-2560 มี 1.ถนนเชื่อม ถ.กำแพงเพชร 2 กับซอยวิภาวดีรังสิต 17 จะเวนคืนที่ดิน 22 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 14 หลัง ใช้เงินเวนคืน 100 ล้านบาท ปี 2558 ของบฯ 50 ล้านบาท

2.ขยายถนนเชื่อมระหว่าง ถ.ประดิพัทธ์กับ ถ.กำแพงเพชร มีเวนคืนที่ดิน 22 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 51 หลัง ใช้เงินเวนคืน 200 ล้านบาท ปี 2558 ของบฯ 50 ล้านบาท

กลุ่มที่ 3 โครงการที่ผู้ว่าราชการ กทม.อนุมัติค่าทดแทนแล้ว ได้แก่ 1.ถนนตัดใหม่ เชื่อมระหว่าง ถ.วิภาวดีรังสิตกับพหลโยธินซอย 50 ระยะทาง 2.2 กม. ต้นทางอยู่ใกล้โรงแรมบางกอกแอร์พอร์ตโฮเต็ล ตัดตรงไปทะลุ ถ.พหลโยธิน เชื่อม ถ.พหลโยธิน-รัตนโกสินทร์สมโภช มีเวนคืนที่ดิน 26 แปลง ใช้เงินเวนคืน 1,441 ล้านบาท ปี 2558 ของบฯ 500 ล้านบาท

2.ขยายถนนเชื่อมถนนดำรงค์รักษ์กับถนนบำรุงเมือง, ถนนจักรพรรดิพงษ์ และตรอกโรงเลี้ยงเด็ก มีเวนคืนที่ดิน 10 แปลง
สิ่งปลูกสร้าง 6 หลัง ใช้เงินเวนคืน 403 ล้านบาท ปี 2558 ของบฯ 61 ล้านบาท และ 3.ขยาย ถ.สุขาภิบาล 1 และ ถ.พัฒนาการเป็น 4 ช่องจราจร เริ่มต้นจาก ถ.เพชรเกษมแยกบางแคถึงแยก ถ.พัฒนาการ ระยะทาง 1 กม. มีเวนคืนที่ดิน 108 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 94 หลัง ใช้เงินเวนคืน 380 ล้านบาท ปี 2558 ของบฯ 170 ล้านบาท

โครงการนโยบายทำก่อน

ส่วนกลุ่ม 4 โครงการตามนโยบาย ได้แก่ 1.ปรับปรุง ถ.พระรามที่ 2 ซอย 82 มีเวนคืนที่ดิน 45 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 15 หลัง ใช้เงินเวนคืน 25 ล้านบาท 2.ปรับปรุง ถ.เอกชัยซอย 101 มีเวนคืนที่ดิน 17 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 4 หลัง ใช้เงินเวนคืน 20 ล้านบาท

3.ทางเชื่อม ถ.ลาดกระบังกับฉลองกรุง เวนคืนที่ดิน 5 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 28 หลัง ค่าเวนคืน 300 ล้านบาท ปี 2558 ของบฯ 100 ล้านบาท และ 4.ถ.ต่อเชื่อมถนนลาดปลาเค้า ตัดผ่านซอยมัยลาภถึง ถ.ประดิษฐ์มนูธรรม ช่วยการจราจร ถ.ลาดปลาเค้าและเกษตร-นวมินทร์ มีเวนคืนที่ดิน 156 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 172 หลัง ใช้เงินเวนคืน 750 ล้านบาท ปี 2558 ของบฯ 100 ล้านบาท

โปรเจ็กต์ใหม่รองบฯตรึม

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับโครงการที่กทม.ศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ยังอยู่ในแผน แต่จะต้องรอจัดสรรงบฯปีต่อ ๆ ไป เช่น ขยายถ.พุทธมณฑลสาย 1 ระยะทาง 9.6 กม. เชื่อม ถ.เพชรเกษมซอย 60/2 กับทางรถไฟสายใต้ที่ตลิ่งชัน จะออกแบบเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร ช่วยแก้จุดตัด 8 จุด ที่ ถ.เลียบทางรถไฟสายใต้ สวนผัก บรมราชชนนี บางระมาด พัฒนา ชมรมบางเชือกหนัง บางแวก และเพชรเกษม เสริมโครงข่ายพื้นที่ฝั่งธนบุรี

โครงการทางยกระดับคร่อมด้านบนซอยยาสูบ 1 ขนาด 2-4 ช่องจราจร เพื่อแก้การจราจรบริเวณหมอชิตเก่า และเชื่อมการเดินทางกับ ถ.วิภาวดีรังสิต พหลโยธิน กำแพงเพชร 2, ขยายถ.เพชรเกษมซอย 69 เชื่อมถ.บางบอน 3 มาบรรจบจุดตัดถ.เอกชัย 6 กม. ,ก่อสร้างถนนเชื่อมศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะกับ ถ.กำแพงเพชร 6 ลดความแออัดภายในศูนย์ราชการ, ขยายถนนซอยเอกชัย 131 ถ.บางบอน 5 และซอยเพชรเกษม 81 ระยะทาง 6 กม. เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร

4 สะพานเจ้าพระยาก็โดน

ส่วนโครงการใหญ่มีหลายโครงการ เช่น ถนน ช.2 เชื่อม ถ.นวมินทร์กับสุขุมวิท 103 ขนาด 4-6 ช่องจราจร 19 กม. เงินลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท, ถนน ง.3 เชื่อม ถ.สุขสวัสดิ์-พระรามที่ 2-ถ.สามแยกตากสิน-ถ.เพชรเกษม-ถ.วงแหวนรอบนอกด้านใต้ ขนาด 4 ช่องจราจร 21 กม. เงินลงทุน 25,000 ล้านบาท ,โครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 4 แห่ง เงินลงทุน 18,837 ล้านบาท ได้แก่ สะพานเกียกกาย 9,100 ล้านบาท, สะพานจันทน์-เจริญนคร 4,000 ล้านบาท, สะพานลาดหญ้า-มหาพฤฒาราม 4,764 ล้านบาท และสะพานราชวงศ์-ท่าดินแดง 837 ล้านบาท

ถนนใหม่-อุโมงค์ชะลอด้วย

โครงการแก้ไขปัญหาจราจร เช่น ถ.อโศกมนตรี จากพระราม 9-บริเวณ ถ.สุขุมวิท (แยกอโศก) สร้างทางยกระดับ 3-4 กม., โครงการแก้จุดเชื่อมต่อ ถ.รามคำแหง นิมิตรใหม่ สีหบุรานุกิจ ร่มเกล้า สุวินทวงศ์

ในพื้นที่เขตมีนบุรีจะก่อสร้างถนนใหม่ ทางต่างระดับหรืออุโมงค์ทางลอดเชื่อมต่อ ถ.ร่มเกล้ากับถ.นิมิตรใหม่ , แก้จุดตัดถ.ลาดพร้าว นวมินทร์ เสรีไทย รามคำแหง และศรีนครินทร์ จะสร้างถนนใหม่ เชื่อมระหว่าง ถ.ศรีบูรพา-กรุงเทพกรีฑา สร้างทางต่างระดับหรืออุโมงค์ทางลอด บริเวณแยกนิด้า บ้านม้า และแยกอื่น ๆ รวมถึงโครงการถนนตามผังเมือง เช่น สาย ค.3 เชื่อม ถ.รามอินทรา-บางนา-ตราด เป็นถนนใหม่ 6 ช่องจราจร 9 กม. เป็นต้น

Credit ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 14 กพ 2557

ติดตามข้อคิดการเงินได้ที่ Maibat Fanpage
https://www.facebook.com/maibat.thailand
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่