ทำไมวัดเบญจมบพิตรต้องตัดแต่งกิ่งต้นไม้ริมคลองอยู่ตลอด?.

ทำไมวัดเบญจมบพิตรต้องตัดแต่งกิ่งต้นไม้ริมคลองอยู่ตลอด?.

ณ เวลานี้กำลังมีข้อพิพาทกันระหว่างพระภิกษุวัดเบญจมบพิตรกับเพจ BIG Trees จากกรณีการลงภาพวิจารณ์การตกแต่งต้นกระเบา ริมคลองน้ำภายในวัดเบญจมบพิตร โดยภาพดังกล่าวซึ่งเป็นสาเหตุของเรื่องนี้ได้ถูกบันทึกไว้ ๒ ภาพ โดยแอดมินของเพจ BIG Trees ตั้งแต่วันที่  ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๖ หรือเมื่อเกือบ ๖ เดือนที่แล้ว จนสร้างกระแสอยู่พักใหญ่ในเพจดังกล่าว ภาพแรกมียอดกดไลค์ ๓๔๘ ไลค์ กับอีก  ๘๑ แชร์ ส่วนภาพที่ ๒ มียอดกดไลค์ ๓๗๗ ไลค์ กับอีก ๔๓ แชร์ มีผู้แสดงความคิดเห็นรวมกัน ประมาณ ๑๓๐ คอมเม้น ปัญหาของเรื่องนี้เกิดจากข้อความที่แอดมินเพจ BIG Trees โพสประกอบรูป ข้อความแรกที่โพสคือ "เกิดอะไรกับการตัดต้นไม้มากมายขนาดนี้ในวัดเบญจมบพิตรครับ" ส่วนข้อความที่ ๒ คือ "ได้คำตอบละครับ "พระท่านให้ตัด ให้สว่าง คนจะได้มองเห็นตึก" ตอบโดยเจ้าหน้าที่ที่ตัดครับ...เศร้านะครับ ขนาดพระวัดหลวงยังมองคุณค่าวัตถุมากขนาดยอมตัดต้นไม้ที่อยู่มานานขนาดนี้ได้"

ในการโพสข้อความดังกล่าวนั้นแอดมินได้ใส่ความคิดเห็นอคติส่วนตัวลงไปด้วย เพื่อเป็นการกระตุ้นลูกเพจในการแสดงความคิดเห็น และแล้วก็เป็นดั่งที่คาด เมื่อลูกเพจได้รับข่าวสารแบบไม่รอบด้าน ไม่รู้ที่ไปที่มาของเรื่อง ภาพดังกล่าวก็ได้กระตุ้นอารมณ์โกรธ ไม่พอใจ ให้กับลูกเพจ หลายท่านก็เขียนข้อความต่างๆนานา ที่เสียหายกับวัดเบญจมบพิตรลงไปในคอมเม้น มีทั้งด่า เหยียดหยาม กล่าวพาดพึงถึงเจ้าอาวาสอย่างเสียหาย ซึ่งทั้งหมดโดยรวมก็คือทำให้วัดเสียชื่อเสียงนั่นเอง

เรื่องนี้ได้สร้างความเศร้าสลดแก่พระภิกษุสามเณรวัดเบญจมบพิตรเป็นอย่างมาก มีหลายท่านได้เขียนข้อความอธิบายไปในเพจดังกล่าว แต่ก็ไม่มีการตอบรับจากผู้ดูแลเพจแต่ยังใด ยังคงปล่อยให้ลูกเพจด่าว่าวัดอยู่ตลอดเวลา นี่จึงเป็นที่มาของข้อพิพาทนี้ และยังไม่ทราบว่าข้อพิพาทนี้จะจบลงอย่างไร จึงขอนำความรู้และวิธีการดูแลต้นไม้ภายในวัดเบญจมบพิตรมาให้อ่านกัน เผื่อจะไปประเทืองปัญญาของแอดมินเพจ BIG Trees ได้บ้าง  

ต้นกระเบา
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดกลาง สูง ๑๐-๒๐ ม. ลำต้นเปลา ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปใบหอกแกมรูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ปลายสอบเรียว โคนสอบหรือมน เบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบ เส้นแขนงใบ และเส้นใบย่อยเห็นได้ชัดทางด้านล่าง ดอกแยกเพศ อยู่ต่างต้น ดอกเพศผู้ออกเดี่ยวๆ ตามง่ามใบ กลิ่นหอมมาก กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ มีขนอ่อนนุ่มทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอก ๕ กลีบ สีชมพู เกสรเพศผู้ ๕ อัน ดอกเพศเมียออกเป็นช่อสั้นๆ ตามง่ามใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกเหมือนกับดอกเพศผู้ เกสรเพศผู้ไม่สมบูรณ์ ๕ อัน ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๕ แฉก รังไข่รูปไข่หรือรูปไข่กลับ มีขนสั้นๆ ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๘-๑๒ ซม. ผิวเรียบ เปลือกแข็ง มีขนหรือเกล็ดสีน้ำตาล มี ๓๐-๕๐ เมล็ด อัดกันแน่น เมล็ดรูปไข่ เบี้ยว ปลายทั้ง ๒ ข้างมน

สรรพคุณ :
ผลแก่สุก  - ใช้รับประทานเนื้อในเป็นอาหารคล้ายเผือกต้ม
น้ำมันในเมล็ด
- ใช้ดัดแปลงทางเคมีเป็นยารับประทานหรือยาฉีดหรือยาทาภายนอก บำบัดโรงเรื้อน มะเร็ง คุดทะราด และโรคผิวหนัง ผื่นคันที่มีตัวทุกชนิด เพราะมีรสเมา สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ดี
- ใช้ปรุงเป็นน้ำมันใส่ผมรักษาโรคบนศีรษะได้ด้วย

วิธีและปริมาณที่ใช้ - ใช้เมล็ดแก่เต็มที่ ๑๐ เมล็ด แกะเอาเปลือกออก ตำให้ละเอียด เติมน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันพืชพอเข้าเนื้อ ใช้ทาโรคผิวหนังได้แทบทุกชนิด

ข้อมูลเพิ่มเติม :  น้ำมันที่บีบได้จากเมล็ดเรียกว่า น้ำมันกระเบา (Chaulmoogra oil หรือ Hydnocarpus oil) มีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็น chaulmoogric acid และ hydnocarpic acid น้ำมันกระเบานำมาใช้รักษาโรคเรื้อน และโรคผิวหนังอย่างอื่นอีก เช่น โรคเรื้อนกวาง หิด นอกจากนี้ ยังใช้แก้อาการปวดบวมตามข้อ เนื้อผลกินได้

โทษ : ใบ และเมล็ดเป็นพิษ มี cyanogenetic glycoside
ที่มา : http://www.rspg.or.th/plants_data/plantdat/flacourt/hanthe_1.htm



เราก็ได้ทราบข้อมูลทางลักษณะทางพฤกษศาสตร์และสรรพคุณของต้นกระเบากันไปแล้ว ต่อไปก็เข้าเรื่องของต้นกระเบาในวัดเบญจมบพิตรกัน ขออ้างข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของวัดให้ได้ทราบกันก่อน ว่าที่มาที่ไปของต้นกระเบานั้นก่อนที่จะนำมาปลูกไว้ที่วัดเบญจมบพิตรนั้นมีเหตุจูงใจอย่างไร
    “คลองนี้โปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้นตั้งแต่เริ่มการสถาปนาวัด เพื่อแบ่งเขตเป็นส่วนพุทธาวาสและสังฆาวาส ใช้ดินที่ขุดขึ้นถมพื้นที่วัด เนื่องจากบริเวณวัดเดิม และที่ถวายเพิ่มเติมสำหรับสร้างวัด เป็นที่ต่ำเพราะเป็นที่สวนและที่นา กับเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคในสมัยนั้น โดยโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองเชื่อมต่อจากสวนดุสิต คลองเปรมประชากร และคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อให้น้ำถ่ายเทได้ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจันทรสุเทพ ก่อเขื่อน ๒ ข้าง สองฝั่งคูโปรดเกล้าฯให้ปลูกต้นกระเบา เนื่องจากเมื่อเสด็จฯไปจังหวัดสมุทรสงครามได้เสวยกับน้ำกะทิแล้วทรงโปรด และฝังเสาศิลายอดบัวตูม สอดเหล็กหล่อลายดอกไม้เป็นรั้วตลอดแนวทั้ง ๒ ข้าง เชิงสะพานตั้งตุ๊กตาจีนประดับ ๑๒ ตัว”

“สองฝั่งคูโปรดเกล้าฯให้ปลูกต้นกระเบา เนื่องจากเมื่อเสด็จฯไปจังหวัดสมุทรสงครามได้เสวยกับน้ำกะทิแล้วทรงโปรด”จากข้อความนี้ เราก็ได้ทราบแล้วว่าต้นกระเบาในวัดเบญจมบพิตรนั้นได้ปลูกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ หรือเมื่อ ๑๐๐ กว่ามีที่แล้ว มีบางต้นได้ตายลงบ้าง แต่ทางวัดก็หาต้นใหม่มาปลูกทดแทนจนใหญ่โตสวยงามอยู่ในปัจจุบัน ต้นใหม่กับต้นเก่านั้นสังเกตดูไม่ยาก ถ้าต้นไหนโคนใหญ่ กลางลำต้นเป็นโพรง หรือมีการซ่อมแซม นั้นคือต้นดั้งเดิม ส่วนต้นที่ปลูกแซมภายหลัง ลำต้นจะไม่ใหญ่มากนัก กิ่งก้านจะสมบูรณ์ ต้นกระเบานั้นเมื่อโตเต็มที่กิ่งและก้านจะเป็นพุ่มกลม สูงขึ้นบน ไม่บานออกข้างเหมือนต้นไม้ทั่วไป ส่วนการตกแต่งนั้นก็ทำมาตลอดตั้งแต่อดีต แต่ปัจจุบันนี้การตกแต่งต้นไม้ต่างๆภายในวัดเบญจมบพิตรนั้น ขึ้นต่อฝ่ายสาธารณูปการ โดยมีผู้ช่วยเจ้าอาวาสเป็นผู้ควบคุมดูแล มีคนงานของวัดเป็นผู้ดำเนินการตัดแต่ง ส่วนการซ่อมแซมต้นที่ผุหรือเป็นโพรงจะมีเจ้าหน้าที่ของเขตมาดูแลให้ การตัดแต่งแต่ละครั้งนั้นจะกระทำในช่วงเข้าพรรษาเท่านั้น เพราะเป็นกาลฝน อากาศไม่ร้อน ลำต้นได้รับความชื้นตลอด เหมาะแก่การแตกกิ่งก้านสาขาใหม่ๆ การตกแต่งนี้จะทำ ๒-๓ ปีต่อครั้ง ไม่ได้ทำติดต่อกัน เพื่อต้องการรักษาพุ่มของต้นไว้ให้นานที่สุด เพื่อเป็นร่มเงาให้กับนักท่องเที่ยวและประชาชนที่เข้ามาพักผ่อนภายในวัด แต่เมื่อกิ่งก้านแก่เต็มที่ ผุและแตก มีใบร่วงหล่น ก็กลับมาแต่งกันใหม่อีกครั้ง ตกแต่งอยู่อย่างนี้ตลอดมา ก็ยังไม่มีปรากฏว่าต้นไหนได้ตายลง หรือแห้งตายในสภาพที่ถูกตัดแต่งเลย อีกประการที่สำคัญที่ต้องตัดกิ่งให้สั้นลง เพราะต้นกระเบานั้นปลูกใกล้กับสถานที่สำคัญของวัดซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ นั่นก็คือ พระอุโบสถ วิหารคด ศาลาริมน้ำ พระที่นั่งทรงธรรม ศาลาสี่สมเด็จ และวิหารสมเด็จ ส.ผ. เมื่อมีลมพายุแรง กิ่งของต้นจะไปฟาดกับหลังคา ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และองค์ประกอบอื่นๆของที่นั้นๆ จนเกิดความเสียหายอย่างคาดไม่ถึงหรืออาจโค่นล้มทับโบราณสถานได้ และสิ่งนี้ก็เคยเกิดมาแล้วด้วย

ตามภาพที่ท่านได้เห็น ขนาดว่าทางวัดได้ป้องกันอย่างดีแล้ว แต่ก็ไม่สามารถจะยับยั้งการล้มลงได้ แต่การล้มของต้นไม้ในภาพ อยู่ทางด้านหลังพระอุโบสถ ล้มไปทางถนนศรีอยุธยา ทับเสาไฟหักและไปทับกำแพงวัดอายุร้อยกว่าปีแตกเสียหายดั่งภาพด้านล่าง

แต่ก็นับว่าเป็นความโชคดีของวัดที่ไม่ล้มใส่วิหารคด เพราะจะเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงที่ประเมินค่ามิได้ตามมาทันที และการซ่อมแซมโบราณสถานต่างๆภายในวัดเบญจมบพิตรนั้นใช้งบประมาณสูงมาก หรือหลายล้านบาท เพราะโครงสร้างของแต่ละอาคารนั้นเป็นไม้เนื้อดีแกะสลัก ฝีมือช่างชั้นสูง งานปิดทอง แกะลาย และต้องให้กรมศิลปากรดำเนินการเท่านั้น นี่คือความจำเป็นที่ทางวัดจะต้องดูแลโบราณสถานเหล่านี้อย่างดีที่สุด เพราะวัดแห่งนี้เป็นวัดที่พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างขึ้นด้วยพระทัยของพระองค์จริงๆ ทุกอย่างต้องเป็นของที่ดีที่สุด สวยที่สุด ถึงจะนำมาไว้ที่วัดเบญจมบพิตรได้ ขนาดพระภิกษุสามเณรชุดแรกที่พระองค์นิมนต์มาอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร พระองค์ยังรับสั่งกำชับให้ฝึกอบรมและเลือกเฉพาะพระภิกษุสามเณรที่มีความเฉลียวฉลาดเท่านั้นให้มาอยู่จำพรรษาที่วัดเบญจมบพิตรแห่งนี้ได้ สำหรับต้นกระเบาริมคลองนั้นที่ต้องตัดให้ความสูงไร่เรี่ยกัน คือไม่ให้สูงไปกว่าหลังคาของวิหารคดด้านหลังพระอุโบสถ ก็เพราะเหตุนี้นี่เอง คือถ้าให้สูงตามธรรมชาติเมื่อลมพัดแรงหรือลำต้นเปื่อยอาจจะล้มทับวิหารคดนั่นเอง แต่ก็มีแต่ต้นกระเบาริมคลองเท่านั้นที่ต้องแต่งกิ่งแบบนี้ ต้นไม้อื่นๆที่มีอายุเป็นร้อยปี ทางวัดก็ให้ขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ได้ตกแต่งอะไรมากนั้น เพราะไม่ได้ส่งผลต่อตัวอาคารของโบราณสถานภายในวัด

เมื่อพูดถึงต้นไม่ที่มีอายุเกิน ๑๐๐ ปี ในวัดเบญจมบพิตรก็มีอยู่หลายต้น ซึ่งทางวัดได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของต้นไม้เหล่านี้ ดูแลรักษาอย่างดี ไม่ไปตัดหรือตกแต่งให้เสียรูป ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ และมีอยู่ ๑ ต้น  ที่ปรากฏอยู่ในภาพถ่ายตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เริ่มสถาปนาวัด คือ

ต้นสะตือ สะตือเป็นไม้ต้น สูง ๘-๒๕ ม. ลำต้นมักแตกกิ่งต่ำ เรือนยอดเป็นพุ่มกว้าง ถึงค่อนข้างกลม เปลือกสีน้ำตาลเทา เรียบหรือแตกเป็นแผ่นหนา เปลือกชั้นในสีน้ำตาลถึงแดงเข้ม กิ่งอ่อน ยอดอ่อน และใบอ่อนมีขน และเกลี้ยงในเวลาต่อมา ใบ ประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียนสลับ ก้านใบรวมแกนช่อใบยาว ๔-๑๐ ซม. มีใบประกอบย่อย ๔-๖ ใบ เรียงสลับ แผ่นใบย่อยรูปไข่ กว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๓-๘ ซม. ปลายเป็นติ่ง โคนสอบ มีเส้นแขนงใบย่อย ๘-๑๐ คู่  ดอก เล็ก สีขาว ออกเป็นช่อเดี่ยวตามง่ามใบและปลายกิ่ง  ผล ค่อนข้างแบน รูปรี กว้าง ๓-๔ ซม. ยาว ๕-๖ ซม. มีเส้นนูนตามขวางด้านข้างฝักห่างๆ และมีขนสีน้ำตาลคลุมหนาแน่น ปกติมี ๑ เมล็ด

ประโยชน์    
เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อน แก่นสีน้ำตาลถึงน้ำตาลคล้ำ แข็งและเหนียว นิยมใช้ทำด้ามเครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร เครื่องเรือนและงานก่อสร้างทั่วไป ใบใช้ต้มอาบแก้โรคอีสุกอีใส โรคหัด เปลือกต้นใช้ปรุงเป็นยาแก้ท้องร่วง
สะตือมีการกระจายพันธุ์ตามชายห้วย หนอง และแม่น้ำลำธาร ในป่าเบญจพรรณและป่าดิบ ที่ความสูงตั้งแต่ระดับทะเลปานกลางถึง ๒๕๐ ม. ทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในต่างประเทศพบที่ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ออกดอกเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ผลแก่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

ต้นสะตือในวัดเบญจมบพิตรต้นนี้ลำต้นใหญ่มาก ประมาณ ๕-๖ คนโอบ ขึ้นอยู่ติดกับศาลาเพาะนิสัยชอบ ด้านหลังพระอุโบสถ ต้นสะตือต้นนี้แตกกิ่งก้านสาขามาก ใบเขียวสดรกทึบ สร้างร่มเงาให้กับสนามหญ้าด้านหลังพระอุโบสถอย่างดี เมื่อยามถึงเทศกาลรับปริญญาของมหาวิทยาลัยต่างๆ บรรดาพ่อแม่พี่น้องของนักศึกษาและประชาชนทั่วไป จะนำเสื่อมาปู นอนเล่น พักผ่อน ทานอาหาร เพื่อรอเวลาที่ลูกของตนออกมาจากสวนอัมพร ซึ่งเป็นภาพที่ไม่ได้เห็นกันบ่อยนักในวัดพระอารามหลวงใหญ่ๆ เมื่อชาวต่างชาติมาเห็นต่างก็ต้องอมยิ้มแปลกใจ ยกกล้องมาบันทึกภาพกันยกใหญ่เพราะมีคนปูเสื่อนอนพักผ่อนกันเต็มพื้นที่ไปหมด เขาเหล่านั้นเมื่อเห็นพระเณรเดินผ่านต่างก็ลุกขึ้น พนมมือไหว้อย่างเคารพ เหมือนแสดงออกว่าขอมาอาศัยหลบร้อนกับวัดสักหน่อยนั่นเอง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่