[ทีวีดิจิตอล] มารู้จักการออกอากาศแบบคู่ขนาน (Simulcast) + หลักการที่ทำให้ทีวีดิจิตอลญี่ปุ่นเปลี่ยนผ่านได้เร็ว

สวัสดีครับ กลับมาสู่กระทู้ทีวีดิจิตอลน่ารู้กันอีกแล้วครับ
*สำหรับกระทู้เก่าๆที่ผมเคยทำ คลิ๊กที่ชื่อ FSX_1997 ได้นะครับ กระทู้เยอะแยะ *

ประเทศไทยกำลังจะมีทีวีดิจิตอลได้ดูจริงๆแบบเมืองนอกซักที (สิงคโปร์ ใกล้บ้านเรา ดูกันมา 8ปีแหละ) ซึ่งหัวข้อในวันนี้จะเกี่ยวกับการออกอากาศแบบคู่ขนาน หรือ Simulcast ข้อสำคัญที่คนที่จะดูช่องจากทีวีดิจิตอลจากทีวีดาวเทียมน่าจะรู้ไว้ และมาดูการวิเคราะห์ของผมเกี่ยวกับทีวีดิจิตอลประเทศญี่ปุ่น ว่าทำไมเปลี่ยนผ่านได้เร็ว แม้ปัญหาจะเยอะและเป็นประเทศแรกๆในโลกที่ออกอากาศทีวีดิจิตอล เชิญชมเชิญอ่านครับ...

* HD = 1080i, 720P   /   SD = 480i, 576i *

มารู้จักการออกอากาศแบบคู่ขนาน (Simulcast)

การออกอากาศแบบคู่ขนานหรือ Simulcast เป็นการออกอากาศรายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศแบบควบคู่กันทั้ง 2ระบบ หรือ 2ความละเอียด โดยทั้ง2ตัวนั้น มีเนื้อหารายการที่ออกอากาศเหมือนกัน ภาพที่เห็นก็ภาพเดียวกัน เป็นสิ่งที่นิยมทำกันกับช่องทีวีทั้งในฟรีทีวีและช่องทางเคเบิ้ลทีวี

หลักๆของการ Simulcast ที่มีการใช้งานอย่างเห็นได้ชัดๆจะมีอยู่ 2แบบคือ

1.ออกอากาศคู่ขนานระหว่างระบบดิจิตอลและอนาล๊อก

ช่องฟรีทีวีในหลายๆประเทศ ในระบบดิจิตอลจะออกอากาศภาพความละเอียดสูงแบบ HD ส่วนระบบอนาล๊อกก็เป็นภาพความละเอียดปกติแบบ SD โดยเนื้อหาของระบบอนาล๊อก จะเหมือนกับช่อง HD ทางดิจิตอล

เรื่องอัตราส่วนภาพก็แล้วแต่สถานี ส่วนใหญ่สำหรับช่อง HD เป็นอัตราส่วน 16:9 ส่วนทางอนาล๊อกก็ใช้แบบ 4:3 โดยอาจเป็นแบบเต็มจอ 4:3, 16:9 Letterbox หรือจะเป็น 16:9 Anamorphic (แบบเดียวกับ ThaiPBS) ก็ได้ แล้วแต่เลือกใช้

พอหมดทีวีอนาล๊อกก็จะมีให้เลือก2แนวทางคือจะยกเลิกการทำ Simulcast (จะเหลือช่อง HD อย่างเดียว เช่น ที่อเมริกา, ญี่ปุ่น, เกาหลี) หรือใช้วิธีการตามข้อ2ที่กำลังจะพูดถึงครับ


(HD, SD 16:9)


(SD 4:3 *สำหรับระบบอนาล๊อก ภาพจะถูกกินขอบเข้าไปอีกหน่อยนึง แต่ถ้าดูช่อง SD บนระบบดิจิตอลจะได้เต็มเฟรมดังภาพนี้*)


(SD 16:9 Letterbox)


2.การออกอากาศแบบ 2ความละเอียด โดยช่องอยู่ในระบบดิจิตอลทั้งคู่

วิธีการนี้จะนิยมกับฟรีทีวีและช่องเคเบิ้ลหลายๆช่องมาก โดยจะออกอากาศทั้งช่อง HD และ SD ในระบบดิจิตอลทั้งคู่ เนื้อหาและภาพเหมือนกัน เรื่องอัตราส่วนก็จะเหมือนกับในข้อ1 (ดิจิตอลสามารถตั้งส่ง 16:9 แท้มาได้เลย ไม่ต้องบีบภาพ)

ที่ทำแยกไว้เพื่อกล่องดาวเทียม (ทั้งแบบรับสัญญาณฟรีและPay TV) ที่ไม่รองรับภาพ HD หรือตัวรับทีวีดิจิตอลที่ไม่รองรับภาพ HD (จะเป็นกับกล่องที่ออกมาในทีวีดิจิตอลยุคแรกๆ) ก็ยังสามารถดูรายการของทางช่องได้ ประเทศที่มีแบบนี้ เช่น อังกฤษ ฟรีทีวีเดิมที่มีช่อง HD จะออกอากาศช่องแบบ SD ควบคู่กันไปด้วย


เรื่องโลโก้ช่องจะอยู่ตำแหน่งเดียวกันไหม?

สำหรับช่องทีวี ที่ออกอากาศแบบคู่ขนาน 2อัตราส่วนภาพ คือ 16:9 (HD) และ 4:3 (SD) หลายๆท่านคงสงสัยว่าเค้าจะเอาโลโก้ไว้กลางๆแบบนี้จนกว่าจะปิดอนาล๊อกไหม? (ซึ่งมันอีกตั้ง 5ปี นานไปนะ)


ตามหลักความจริง ไม่จำเป็นครับ...

เพราะการออกอากาศแบบคู่ขนานนั้น การออกอากาศในแต่ละระบบ หรือแต่ละความละเอียด จะมีการทำ On-Screen จากทางสถานีที่ต่างกันในแต่ละช่องหรือแต่ละระบบ

ยกตัวอย่าง ช่อง MBC ของเกาหลีใต้ ในช่วงที่อยู่ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิตอล (ค.ศ.2002-2012) ก็ต้องออกอากาศแบบคู่ขนาน โดยช่อง HD จะอยู่บนทีวีดิจิตอล และแบบ SD อยู่บนทีวีอนาล๊อก ดูง่ายๆจากโลโก้ครับ (ยกมาจากปี ค.ศ.2003 นะครับ) ...


(SD [ภาพที่เห็น อันนี้ทางช่องเค้าเอาเทป SD มาแปลงเป็นดิจิตอลแล้วมาอัพใน Youtube โลโก้มันก็อยู่ตำแหน่งนี้แหละครับ])


(HD ทางทีวีดิจิตอล......นี่เมื่อ 13ปีที่แล้วหรอเนี่ย ชัดโคตร)


ถ้าลองเอาไปเทียบกันให้ภาพตรงเป๊ะ ในความสูงของภาพที่เท่ากัน โลโก้ของช่อง HD จะขยับไปทางขอบจอมากกว่า เพราะมีการแยก On-Screen กันในแต่ละระบบ โดยส่วนควบคุมการออกอากาศของทางช่องจะดูแลส่วนนี้ เช่น โลโก้ช่อง โลโก้โอลิมปิก คำเตือนฉุกเฉิน อะไรประมาณนี้

ส่วนเนื้อเพลงนั้นที่เห็นกัน จะเห็นว่าตำแหน่งเดียวกันเลย และพวกกราฟฟิกของรายการ ตำแหน่งของช่อง SD และ HD จะตรงกัน (เน้นไว้กลางๆ ไม่ชิดริม) เพราะส่วนนี้ จะควบคุมโดยฝ่ายควบคุมรายการ (1สตูดิโอจะมี1ห้องควบคุมไม่ใหญ่มาก ส่วนฝ่ายออกอากาศทั้งสถานีมีห้องเดียวใหญ่ๆ)



(ห้องควบคุมรายการ 1สตูดิโอจะมี1ห้อง ควบคุมกล้อง ระบบไฟและกราฟฟิกต่างๆในรายการ)


ที่พวกกราฟฟิกยังทำไว้กลางจอและถ่ายคนเน้นให้อยู่กลางจออยู่ (โลโก้ช่องจะตำแหน่งไม่ตรงกันทั้ง 2ระบบหรือ 2อัตราส่วน) เพราะว่าคนที่ดูระบบอนาล๊อก หรือทางช่อง SD จะได้เห็นพวกคำ ตัวอักษร เนื้อหาได้ครบถ้วนเท่ากับคนที่ดูช่อง HD โดยช่อง HD ได้มากกว่าที่ความชัด+ภาพที่มีมุมมองกว้างขึ้น+สีสดใสขึ้น เพราะช่อง HD มีค่าสีที่มากกว่า

อ่ะ ถ้างงว่าการไว้กราฟฟิกกลางจอ และถ่ายคนในเน้นกลางจอเป็นยังไง ดูภาพตัวอย่างเอาครับ (ยกจากช่อง HD มา จะเข้าใจได้ง่ายกว่า)...




ที่ทำแบบนี้ เพื่อออกอากาศได้ทั้ง 2อัตราส่วนภาพ ซึ่งมันทำให้เล่นตำแหน่งมุมกล้องได้น้อยลง กว่าทำแบบเน้น 16:9 เต็มจอไปเลย
รูปที่มาจากซีรี่ส์ญี่ปุ่น ที่ตัวละครหลัก 2คนยืนมองหน้ากัน ที่จริงไว้มุมกล้องให้ดูห่างกว่านี้ อาจจะสวยกว่าก็ได้ แต่นี่ไว้แบบเต็มกรอบ เต็มๆจริง ซูมออกหรือถอยมากกว่านี้ก็หลุดเฟรม 4:3 ....ที่จริงคนทำซีรี่ส์เค้าอยากให้มันเต็มจอก็ได้ แต่ว่าการออกอากาศมันมาอย่างเนี้ย ก็ต้องทำตามไป (ในรายการเพลง ถ้าเอาMVที่เป็นแบบ 16:9 เต็มจอมาออกอากาศ ก็ต้องเอามาทำให้อยู่ในกรอบกลาง 4:3 ด้วยการย่อขนาดวิดีโอ ทำให้ดูอึดอัด)

แต่พอเลิกทำ Simulcast หรือมาทำเป็น 2ความละเอียด อัตราส่วนเดียวกัน (16:9 ทั้ง HD และ SD) ก็จะทำรายการแบบเต็มจอ 16:9 ได้อย่างสบายใจ เล่นมุมได้มากขึ้น เต็มตาขึ้น ไม่ต้องไปอู้กันกลางจอ ถ่ายหน้าคนได้ใกล้ขึ้นด้วย เอาแบบเต็มจอ เห็นหลุมบนใบหน้าไปเลยก็ได้ (แต่ที่จริง ตามหลักการเนี่ย จะเน้นกลางบ่อยอยู่แล้ว เพราะทำให้คนดูรู้ว่าทางผู้สร้างเค้าจะเน้นอะไร ส่วนการถ่ายข้างๆขอบจอ เป็นของเสริม ซึ่งมีประโยชน์มากเลยทีเดียว)






ในประเทศไทยนั้น ช่องฟรีทีวีที่เป็น HD ในระบบทีวีดิจิตอล จะไม่มีการทำ Simulcast แต่จะไปทำบนทีวีดาวเทียม ซึ่งคุณ ovenvever ได้ไปถามถึงสำนักงาน กสทช. ก็ได้คำตอบว่าจะมีการทำ Simulcast ให้กล่องดาวเทียมที่ไม่ HD สามารถดูได้ (น่าจะเป็นกฎที่ใช้แน่ๆในจานดำ C-Band แต่ในPay TVดาวเทียม ก็แล้วแต่ทางกล่อง และข้อนี้ตามข่าวจะเป็นกับฟรีทีวีเดิมซึ่งมี HD รวมกัน 5ช่อง ไม่นับช่อง HD ที่เจ้าใหม่ๆได้กัน)
โดยระยะของการ Must Carry ที่บังคับ Simulcast จะหมดหลังจากทีวีดิจิตอลครอบคลุมทั้งประเทศ (2-4ปี โดยประมาณ) ซึ่งหลังจากหมด Must Carry ทำให้ HD ช่องไหนไม่อยากออกอากาศแบบ Simulcast ก็สามารถถอดช่องออกได้โดยไม่ผิดกฎของ กสทช.

ช่องฟรีทีวีที่คาดว่าจะทำ Simulcast แบบอัตราส่วนเดียว (16:9 ทั้ง HD และ SD) คือ ThaiPBS (ทำแล้ว) และ ช่อง 5 โดยอาจมีฟรีทีวีช่องที่เหลือทำตามกันมา เพื่อการผลิตรายการที่ง่ายขึ้น

จบเรื่อง Simulcast แล้วครับ...

.... "หลักการที่ทำให้ทีวีดิจิตอลญี่ปุ่นเปลี่ยนผ่านได้เร็ว" อ่านได้ที่ คห.3 ....
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่