ขอถามท่านผู้รู้ว่า พุทธอิสระ ต้องอาบัติปาราชิก แล้วหรือไม่?

ขอถามท่านผู้รู้นะครับ...^^ ...ที่ผ่านๆมาเห็นแต่มีคนถามว่า ทำไมสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ไม่ไปเอาผิดและดำเนินการจับ “พุทธอิสระ”ลาสิกขาเสีย  ซึ่งก็พูดกันในข้อของกฎหมายบ้านเมืองเป็นหลัก และพุทธอิสระก็ออกมาโต้แย้งว่า ไม่สามารถจับตนลาสิกขาได้ เพราะตนเองไม่ได้ทำผิดวินัยสงฆ์ร้ายแรง(ตามความหมายคือวินัยบัญญัติปาราชิก4ข้อคือ เสพเมถุน(มีเพศสัมพันธ์), ลักทรัพย์, ฆ่าคน, และอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน ซึ่งถ้าพระกระทำแล้ว จะขาดจากความเป็นพระทันที)
แต่เมื่อผมมาคิดพิจารณาดูแล้ว "พุทธอิสระ" อาจต้องอาบัติ"ปาราชิก"ขาดจากความเป็นพระในเหตุเพราะสิกขาบทที่ 2 แห่งอาบัติปาราชิกแล้ว...ทุกท่านลองมาพิจาณาดูกันครับ

ในพระไตรปิฏกเล่ม 1 มหาวิภังค์ ปาราชิกข้อที่ 2 ได้กล่าวไว้ว่า

"อนึ่ง ภิกษุใด ถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี พระราชาทั้งหลาย จับโจรได้แล้ว ประหารเสียบ้าง จองจำไว้บ้าง เนรเทศเสียบ้าง ด้วยบริภาษว่า เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้าเป็นขโมย ดังนี้ ในเพราะถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ เห็นปานใด ภิกษุถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานนั้น แม้ภิกษุนี้ ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้"

โดยสรุปใจความก็คือ “หากพระตั้งใจถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ ก็จะขาดจากความเป็นพระ” แต่ก็ต้องมาดูคำอธิบายประกอบว่า การถือเอาเป็นเช่นไร ทรัพย์เป็นเช่นไร เท่าไร และที่ว่าเจ้าของไม่ได้ให้เป็นเช่นไรเป็นต้น ตามบทอธิบายขยายความ หรือว่าสิกขาบทวิภังค์ ซึ่งกล่าวต่อท้ายบทบัญญัตินั้นเอง...  
เมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติแล้วจะเห็นว่ามีประเด็นสำคัญที่จะพิจารณาอยู่ 4 ส่วนคือ
     1.ลักษณะแห่งความตั้งใจ
     2.ลักษณะแห่งการถือเอา
     3.ลักษณะแห่งทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้
     4.ราคาของทรัพย์
ซึ่งเมื่อพระภิกษุรูปใด ...มีลักษณะเจตนาหรือว่าตั้งใจตามที่พระวินัยได้บัญญัติและอธิบาย กระทำลักษณะแห่งการถือเอาตามที่พระวินัยได้บัญญัติและอธิบาย ถือเอาทรัพย์ตามลักษณะแห่งทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ตามที่พระวินัยได้บัญญัติและอธิบาย พร้อมทั้งราคาของทรัพย์นั้นมีมูลค่าครบตามราคาของทรัพย์ที่พระวินัยได้บัญญัติและอธิบาย... พระภิกษุรูปนั้นก็ต้องอาบัติปาราชิก จะขาดจากความเป็นพระทันที  
ดังนั้นจะขอยกสิกขาบทวิภังค์หรือว่าบทอธิบายเอามาให้ดู  เอาเฉพาะบทที่เห็นว่าเกี่ยวข้องโดยตรงเท่านั้นนะครับ
1.    ลักษณะแห่งความตั้งใจ ... “บทว่า ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย ได้แก่มีจิตคิดขโมย คือมีจิตคิดลัก” (ตรงจุดนี้
อธิบายว่าการมีจิตคิดขโมยคิดลัก บ่งบอกความว่าตั้งใจนั่นเอง)
2.    ลักษณะแห่งการถือเอา ... “บทว่า ถือเอา คือ ยึดเอา เอาไป เอาลง ยังอิริยาบถให้กำเริบ ให้เคลื่อนรากฐาน
ให้ล่วงเลยเขตหมาย”
3.    ลักษณะแห่งทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ ... “ที่ชื่อว่า ทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ มีอธิบายว่า ทรัพย์ใดอันเจ้าของ
ไม่ได้ให้ ไม่ได้ละวาง ยังรักษาปกครองอยู่ ยังถือกรรมสิทธิอยู่ว่าเป็นของเรา ยังมีผู้อื่นหวงแหน ทรัพย์นั้นชื่อว่า ทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้”
4.    ราคาของทรัพย์ ... “ที่ชื่อว่า เห็นปานใด คือ หนึ่งบาทก็ดี ควรแก่หนึ่งบาทก็ดี เกินกว่าหนึ่งบาทก็ดี” (หนึ่งบาท
นี้ไม่ใช่หนึ่งบาทไทยที่ใช้ทุกวันนี้นะครับ เป็นอัตราเงินในครั้งพุทธกาลมีค่าเท่ากับ 5 มาสก ซึ่งก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกันแน่นอนว่าถ้าเทียบกับปัจจุบัน จะตกอยู่เท่าไร แต่ก็คงต้องพอมีราคาบ้าง เพราะในวินีตวัตถุหรือว่าเรื่องตัวอย่างในพระวินัยนั่นเอง ผ้าโผกที่ขโมยจากตลาด บางอันก็ราคาไม่ถึง 5 มาสกก็ไม่ปรับอาบัติปาราชิก บางอันราคาถึง 5 มาสก ถึงปรับอาบัติปาราชิก  .... แต่จากเหตุแห่งการบัญญัติพระวินัยข้อนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสถามพระที่เคยเป็นผู้พิพากษามาก่อนว่า บ้านเมืองจะเอาโทษกับผู้ที่ลักขโมยกำหนดด้วยทรัพย์เท่าไร ทรงได้รับคำตอบว่ากำหนดด้วยทรัพย์หนึ่งบาทหรือ 5 มาสกขึ้น จึงทรงบัญญัติโทษปาราชิกที่ หนึ่งบาทหรือ 5 มาสกขึ้นด้วยนั่นเอง หากพิจารณาจากจุดนี้พออนุโลมได้ว่า บ้านเมืองฟ้องร้องอรรถคดีความเริ่มต้นที่เท่าไร ก็น่าจะประมาณนั้น แต่ว่านี่เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ)

เมื่อมาพิจารณาถึงพฤติกรรมของพุทธอิสระ ที่ตนเองนำพวกเข้าบุกยึดกงศุลกระทรวงการต่างประเทศ บุกยึดDSI บุกยึดกระทรวงยุติธรรม บุกยึดที่หลักสี่ไม่ให้ขนหีบบัตรเลือกตั้งได้และได้ทำการยึดหีบบัตรเลือกตั้งเหล่านั้นไว้ (ไม่รู้ว่าที่กระทรวงแรงงาน และคราวที่บุกไปโรงพิมพ์คุรุสภา เพื่อเผาทำลายบัตรเลือกตั้งพุทธอิสระไปด้วยหรือเปล่าและมีส่วนด้วยหรือเปล่า) ... อันนี้เท่าที่พอรู้ ไม่รู้ว่ามีมากกว่านี้หรือเปล่า?

ทีนี้มาพิจารณาพฤติกรรมของพุทธอิสระว่าเข้าข่ายตามพระวินัยหรือเปล่า
     ประเด็นที่ 1 ลักษณะแห่งความตั้งใจ ...สิกขาบทวิภังค์กล่าวไว้ว่า “บทว่า ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย ได้แก่มีจิตคิดขโมย คือมีจิตคิดลัก” จากความหมายแล้วการมีจิตมุ่งกระทำแบบขโมยหรือโจร ไม่ดำเนินการไปตามวิถีทางปกติเยี่ยงสามัญปฏิบัติทั่วไป เรียกว่ามีความจงใจตั้งใจนั่นเอง การที่พุทธอิสระนำพรรคพวกไปกระทำการบุกยึดสถานที่และสิ่งของซึ่งไม่ใช่วิถีทางที่กฏหมายและวิญญูชนตลอดถึงวิถีแห่งความเป็นพระจะยอมรับตามปกติ หลังจากที่กระทำไปแล้วแสดงความหวงแหน(เป็นเจ้าของ) มิยอมให้ผู้อื่นเข้าดำเนินการจัดการตามสมควร เป็นการแสดงถึงความตั้งใจชัดเจน
     ประเด็นที่ 2 ลักษณะแห่งการถือเอา... เมื่อพิจารณาความหมายจากสิกขาบทวิภังค์ “บทว่า ถือเอา คือ ยึดเอา เอาไป เอาลง ยังอิริยาบถให้กำเริบ ให้เคลื่อนรากฐาน ให้ล่วงเลยเขตหมาย”  ก็เข้าข่ายชัดเจนเพราะว่า เข้าไปยึดเอาทรัพย์สินพื้นที่ของหน่วยงานต่างๆมาให้ตนและกลุ่มพวกของตน แม้จะกำหนดด้วยระยะเวลาเช่นไรก็ตาม(เพราะนี่ไม่ใช่การยืม) ถือเข้าจัดการไม่ยอมให้คนอื่น พร้อมทั้งก่อทรัพย์และผลประโยชน์ของราชการและผู้คนเสียหาย เช่นงานต่างๆที่จะดำเนินการและสั่งการก็จะเสียหาย(นับเป็นมูลค่าเงินเท่าไรกัน) ผู้ที่จะมาติดต่อราชการผู้ที่จะทำหนังสือเดินทางไปต่างประเทศก็ทำไม่ได้ ต้องเปลี่ยนเปลี่ยนแปลง และบางอย่างอาจจะเสียหาย(นับเป็นมูลค่าเท่าไร) ที่สำคัญการขัดขวางและยึดหีบบัตรเลือกตั้งที่หลักสี่ เป็นการชัดเจนเลยว่ายึดเอาทรัพย์สินของหลวงเยี่ยงโจร มิได้กระทำเยี่ยงสามัญปฏิบัติทั่วไปอันคนพึงปฏิบัติกัน(จะนับกล่าวถึงความเป็นพระไปไย)
     ประเด็นที่ 3 ลักษณะแห่งทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ ... “ที่ชื่อว่า ทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ มีอธิบายว่า ทรัพย์ใดอันเจ้าของไม่ได้ให้ ไม่ได้ละวาง ยังรักษาปกครองอยู่ ยังถือกรรมสิทธิอยู่ว่าเป็นของเรา ยังมีผู้อื่นหวงแหน ทรัพย์นั้นชื่อว่า ทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้”  พื้นที่และอุปกรณ์ของหน่วยงานต่างๆเป็นของแผ่นดิน ล้วนแล้วแต่ไม่ได้ให้ ไม่ได้ละวาง รักษาปกครองอยู่ ดังนั้นก็เข้าข่ายเลยว่าเป็นทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้  ที่สำคัญเมื่อดูจากมูลบัญญัติแห่งทุติยปาราชิกซึ่งเกี่ยวข้องกับของหลวงของแผ่นดิน  ก็จะเห็นข้อชัดเจนยิ่งขึ้น  ซึ่งคือเรื่องของพระธนิยะที่เข้าไปขอไม้ของหลวงที่ใช้ซ่อมแซมบ้านเมืองด้วยเลศเยี่ยงโจร...

เรื่องราวนั้นมีอยู่ว่า คราวที่พระเจ้าพิมพิสารขึ้นครองราชได้กล่าวไว้ว่า.. "หญ้าไม้และน้ำขอถวายสำหรับให้สมณพราหมณ์ได้ใช้สอย".. โดยความหมายนั้นคือภูเขาและป่าไม้ให้สมณพราหมณ์บำเพ็ญสมณธรรมได้ตามสบาย แต่พระธนิยะถือเอาคำพูดของพระเจ้าพิมพิสารนั้นเป็นเลศนำไปบอกแก่คนเฝ้าไม้หลวงว่าพระเจ้าพิมพิสารอนุญาตแล้ว แล้วขนไม้มาทำประโยชน์ให้ตนเอง เรื่องรู้ถึงพระเจ้าพิมพิสาร ไต่สวนความจริงก็ปรากฏ ผู้คนก็ติเตียนโพนทนาด้วยประการต่างๆ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงประชุมสงฆ์ ไต่สวน และจึงเป็นที่มาแห่งพุทธบัญญัติทุติยปาราชิก

     ประเด็นที่ 4 มูลค่าราคาของทรัพย์ ...เรื่องนี้ไม่ว่าจะคิดราคา 5 มาสกเท่ากับเท่าไร เมื่อพิจารณาจากประเด็นที่ 2 และ 3 แล้วมูลค่าที่พุทธอิสระยึดเอา ย่อมเกินกว่าแน่นอน

ดังนั้นผมจึงเห็นว่าพุทธอิสระต้องอาบัติ"ปาราชิก"แล้ว แต่ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตนเท่านั้น อาจจะผิดหรือถูกหรือเป็นอื่น ขอท่านผู้รู้และวิญญูชนชี้แนะและโปรดช่วยแสดงความเห็นครับ.

นี้เป็นวินีตวัตถุ พระที่ขัดขวางงานของทางการก็อาบัติปาราชิกได้ เอาไว้ดูเป็นตัวอย่างประกอบครับ  

..."ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางไกลไปกับพวกเกวียน บุรุษคนหนึ่งเกลี้ยกล่อม
ภิกษุนั้นด้วยอามิสแล้ว เห็นด่านภาษี จึงส่งแก้วมณีซึ่งมีราคามากให้แก่ภิกษุนั้น ด้วยขอร้องว่า
ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงช่วยนำแก้วมณีนี้ผ่านด่านภาษีด้วย จึงภิกษุนั้นนำแก้วมณีนั้นให้ผ่านด่านภาษี
ไปแล้ว ได้มีความรังเกียจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกแล้ว กระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้
มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว"...
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ศาสนาพุทธ พระไตรปิฎก
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่