รัฐโหมระบายข้าวจ่ายหนี้ชาวนา

กระทู้สนทนา


http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/business/20140204/560825/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B9%82%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%B2.html

รัฐบาลเร่งระบายข้าว หวังนำเงินจ่ายหนี้ชาวนาสัปดาห์หน้าเปิดประมูลอีกล็อต 5 แสนตัน หลังเทสต็อกให้ผู้ส่งออก 4 ราย 8 แสนตันราคา1.1หมื่นบาท/ตัน

การจัดหาแหล่งเงินสำหรับโครงการจำนำข้าวปี 2556/57 ยังคงไม่สามารถหาข้อสรุปในประเด็นการกู้เงินจากสถาบันการเงินที่เกรงว่าจะขัดต่อกฎหมาย ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์จำเป็นต้องเร่งระบายข้าวอย่างเต็มที่เพื่อเร่งรัดนำเงินมาจ่ายหนี้ชาวนาที่ค้างอยู่กว่าแสนล้านบาท

แหล่งข่าวจาก กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมการค้าต่างประเทศ ได้สรุปแผนระบายข้าวแบบเปิดประมูลเป็นการทั่วไปเสนอให้ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ พิจารณาแล้ว เบื้องต้นกำหนดปริมาณระบายหลายแสนตัน อาจจะถึงปริมาณ 5 แสนตัน และคาดว่าจะเปิดประมูลได้ภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเพราะสถานการณ์ราคาข้าวไทย อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถแข่งขันได้ คาดว่าจะมีเอกชนให้ความสนใจเข้าร่วมประมูลจำนวนมาก

เทข้าวผู้ส่งออก 4 ราย 8 แสนตัน

แหล่งข่าวผู้ส่งออกข้าว เปิดเผยว่า ตามที่นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้ออกมาแถลงว่าได้มีการระบายข้าวแบบเฉพาะเจาะจงให้เอกชน 7 ราย ปริมาณ 8 แสนตันนั้น ได้รับการยืนยันจากผู้ส่งออกข้าวว่าภาครัฐได้เรียกไปทำสัญญาจริง โดยขอให้ช่วยเหลือเนื่องจากรัฐบาลไม่มีเงินจ่ายค่าข้าวให้กับชาวนา จึงต้องการให้มาช่วยซื้อ โดยมีเอกชน 4 รายเข้าไปรับซื้อ ได้แก่ บริษัทข้าวไชยพร บริษัทนครหลวงค้าข้าว บริษัทเอเซียโกลเด้นไร้ซ์ บริษัท เม้งไต๋ ข้าวที่ตกลงขายกันนั้นเป็นข้าวขาว 5 % ในฤดูกาลผลิตปี 2555/56

ทั้งนี้ รัฐบาลได้เปิดเงื่อนไขให้เอกชนอย่างอิสระเต็มที่ ให้สามารถเลือกกองข้าว เลือกโกดังได้ ตกลงขายในราคาเฉลี่ยตันละ 11,000 หรือ 11 บาทต่อกก.จากราคาตลาดขณะนี้ที่ซื้อขายกันในราคา 13,500 บาทต่อตัน หรือ 13.5 บาทต่อกก.จากราคาต้นทุนไม่รวมค่าเก็บรักษาและค่าดอกเบี้ยที่รัฐบาลรับจำนำ 1.5 หมื่นบาทต่อตันข้าวเปลือก คิดเป็นข้าวสารราคา 2.4 หมื่นบาทต่อตัน เท่ากับขาดทุนทันที 1.3 หมื่นบาทต่อตัน

ขาดทุนล็อตนี้ทันที 1.04 หมื่นล้า

"เข้าใจว่ารัฐยอมเฉือนเนื้อเพื่อนำเงินมาจ่ายชาวนา ได้เงินก้อนนี้มาสัก 8.8 พันล้านบาท ขาดทุนล็อตนี้ไปประมาณ 10,400 ล้านบาท แต่คงไม่ได้เงินทันทีและเป็นจำนวนเพียงน้อยนิด เมื่อเทียบกับหนี้ที่ค้างอยู่แสนล้าน ถึงอย่างไรก็ต้องให้ส่งออกก่อน จึงจะได้เงินเข้ามา เร็วสุดน่าจะเป็นประมาณ 1 เดือน เว้นแต่ให้ผู้ส่งออกไปทำแพ็คกิ้งเครดิตไว้และนำเงินสดมาจ่ายให้รัฐก่อน หรือให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.สำรองจ่ายเงินไปก่อน ถ้ามั่นใจได้เงินแน่ แต่ไม่รู้ว่าผู้ส่งออกจะเอาด้วยหรือไม่กับวิธีการนี้ "

ผู้เชี่ยวชาญการค้าข้าว กล่าวว่า วิธีการที่รัฐดำเนินการด้วยการระบายข้าวถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่เงื่อนไขยังเป็นที่เอาเปรียบของภาคเอกชน สะท้อนให้เห็นว่ารัฐหมดสิ้นหนทางในการระบาย ต้องหันมาพึ่งผู้ส่งออก ถ้าคิดได้ตั้งแต่แรกปัญหาคงไม่บานปลายมากเหมือนในขณะนี้

"ถ้าไม่หวังขายให้รายเดียวอย่างสยามอินดิก้า รับผูกขาดข้าวทั้งหมดแล้วไม่มีเครือข่ายตลาด คงไม่มีปัญหามากมายขนาดนี้ ถึงอย่างไรก็ยังเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องอยู่ดี การแทรกแซงด้วยเงินสูงๆ ทำให้ตลาดบิดเบือน ดั๊มพ์ขายราคาต่ำๆ ทำให้งบประมาณสูญเสียโดยใช่เหตุ สู้นำเงินไปจ่ายตรงช่วยปัจจัยการผลิตชาวนาดีกว่า"

ห่วงไร้รัฐบาลฉุดค้าข้าวไร้ทิศทาง

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลไม่สามารถจัดตั้งได้ไม่ต่ำกว่า 6 เดือนจากนี้ จะทำให้การกำหนดนโยบายข้าวไม่เกิดขึ้น ขณะที่ทิศทางตลาดมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะสงครามแข่งขันด้านราคา และมีทิศทางที่ราคาจะตกต่ำลง เห็นได้จากสัญญาณราคาข้าวเปลือกเจ้าในตลาดขณะนี้เฉลี่ยที่ตันละ 8,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคารับจำนำที่กำหนดไว้ที่ตันละ 1.5 หมื่นบาท ทำให้รายได้ของชาวนามีโอกาสลดลงและหากประเมินภาวะการแข่งขันในตลาดโลก ประกอบด้วยแล้วมีโอกาสที่ข้าวไทยจะลดลงอีก

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาข้าวตกต่ำลงมาจาก การที่รัฐบาลไทยมีสต็อกข้าวสูงถึง 17-18 ล้านตันและมีความต้องการระบายออก เพื่อนำเงินมาจ่ายให้ชาวนาที่ร่วมโครงการ ทำให้ตลาดรับรู้ว่ามีซัพพลายสูง

ชี้สถานการณ์ราคาข้าวขาลง

นอกจากนี้ คู่แข่งประเทศอื่น ได้แก่ เวียดนาม ผลผลิตกำลังจะออกสู่ตลาดและจำเป็นต้องเร่งระบายข้าวออกนอกประเทศ ทำให้ทิศทางราคาข้าวของเวียดนาม จะลดลงต่ำกว่า ตันละ 400 ดอลลาร์ และอาจเป็นตัวฉุดราคาข้าวไทยลงอีก หากต้องมีการแข่งขันกันขายในตลาดใดตลาดหนึ่งร่วมกัน

"การค้าข้าวในตลาดโลกแต่ละปีประมาณ 48-39 ล้านตัน ก่อนหน้านี้ไทยเป็นรายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาด 1 ใน 3 หรือประมาณ 10 ล้านตัน แต่หลังดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวทำให้ราคาข้าวไทยสูงขึ้นมาก จนตลาดรองรับไม่ได้ หากต้องการระบาย 17-18 ล้านตันต้องใช้เวลานานและมีความเสี่ยงสูงที่ราคาจะไม่เป็นไปอย่างที่ต้องการ"นายชูเกียรติ กล่าว

ทั้งนี้ หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องควรปรับวิธีการดูแลรายได้ของชาวนาไม่ให้ได้รับผลกระทบจากภาวะการแข่งขันด้านราคาที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะข้าวนาปรังที่ผลผลิตกำลังจะออกสู่ตลาด ด้วยการนำโครงการประกันรายได้กลับมาใช้

เผยราคาตลาดข้าวเปลือก 8 พันต่อตัน

นายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ราคาข้าวเปลือกเจ้าในตลาดขณะนี้เฉลี่ยที่ตันละ 8,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาปกติเมื่อเทียบกับภาวะตลาดที่พบว่าความต้องการซื้อไม่ได้มีสูงมาก อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าขณะนี้เป็นช่วงที่ไม่มีข้าวออกสู่ตลาดแต่ราคากลับไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นชี้ให้เห็นว่าทิศทางราคาข้าวจากนี้มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ข้าวนาปรังจะออกสู่ตลาดจริงในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. และช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. ปริมาณรวม 8-9 ล้านตันข้าวเปลือก ผลผลิตนี้ช่วงนี้มีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับปัญหาราคาข้าวตกต่ำจนกระทบต่อรายได้ของชาวนา ขณะเดียวกันรัฐบาลรักษาการก็ไม่น่าจะมีความสามารถในการเข้ามาดูแลราคาข้าวในตลาดได้จึงถือเป็นความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

"ตอนนี้ รัฐคงใช้วิธีระบายข้าวในสต็อกเพื่อนำเงินมาจ่ายค่าข้าวให้ชาวนา ซึ่งช่วง 1 เดือนจากนี้ ถือเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะดำเนินการเพราะผลผลิตยังไม่ออกสู่ตลาด วิธีการระบายเห็นว่าการเปิดประมูลเป็นการทั่วไปน่าจะเหมาะสมที่สุดแต่ไม่ควรกำหนดปริมาณสูงสุด แต่ให้เอกชนเสนอซื้อตามความต้องการ"นายชาญชัย กล่าว

คลังปวดหัวหาแหล่งเงินจำนำข้าว

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวยอมรับว่ากระทรวงการคลัง พยายามหาแหล่งเงินทุกช่องทาง โดยเฉพาะการกู้เงินจากธนาคาร โดยธนาคารต่างๆ ต้องการให้กู้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ที่ได้ใบประทวนไปนานแล้วแต่ไม่ได้เงิน แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะหากปล่อยกู้ จะได้รับแรงกดดันจากกลุ่มผู้ชุมนุม และยังสร้างกระแสถอนเงินฝาก

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลได้พยายามผลักดันกระทรวงพาณิชย์ ให้เร่งระบายข้าว แม้ขายขาดทุนก็ต้องยอม ขณะที่ สบน.เองก็ เร่งหาเงินทุกแนวทาง แต่ยอมรับเมื่อถูกโจตีจากม็อบ กปปส.ทำให้ขั้นตอนหาเงินติดขัดไปทุกทาง

ทั้งนี้ ทาง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้จัดประมูลวงเงินกู้แล้ว 2 หมื่นล้านบาท แต่ประสบความล้มเหลวสถาบันการเงินไม่สนใจเข้าร่วม จึงจะเชิญตัวแทนจากสถาบันการเงินมาหารือ เพื่อปรับเงื่อนไขการกู้เงินให้มีความจูงใจมากขึ้น เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา แต่ก็มีการเลื่อนการหารือออกไปก่อนเนื่องจากทางธนาคารแจ้งขอยกเลิกมาประชุมเนื่องจากความไม่ชัดเจนในข้อกฎหมายเกี่ยวกับการกู้เงินครั้งนี้ยังเป็นกังวลของทั้งฝั่งผู้ให้กู้และผู้ที่จะขอกู้

สบน.ปัดกล่อมแบงก์ปล่อยกู้

"สบน.ได้แจ้งยกเลิกการประชุมผู้บริหารของสถาบันการเงินในประเทศ เพื่อชี้แจงแผนการกู้เงินที่จะนำมาใช้จ่ายในโครงการรับจำนำข้าว โดยเป็นการยกเลิกอย่างกะทันหัน ก่อนเวลาที่จะประชุมเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนการประชุม" รายงานข่าวกล่าว

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่ สบน.จะดำเนินการเปิดประมูลเงินกู้เพื่อโครงการจำนำข้าวเป็นครั้งที่สอง หลังจากเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ได้ยกเลิกการประมูลเงินกู้วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากสถาบันการเงินส่วนใหญ่ไม่สนใจเข้าร่วมประมูล

นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่า สบน.ไม่ได้มีการนัดประชุมร่วมกับสถาบันการเงินตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

ขณะที่แหล่งข่าวจาก ธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า วานนี้ (3 ก.พ.) ธนาคารยังไม่ได้รับหนังสือเชิญร่วมประมูลเงินกู้เพื่อใช้ในโครงการจำนำข้าวรอบใหม่ ที่ สบน.จะเปิดประมูลวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ธนาคารต้องพิจารณาข้อกฎหมายอย่างรอบคอบในการจะปล่อยกู้หรือไม่

บอร์ดกรุงไทยปฏิเสธปล่อยกู้

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า บอร์ดกรุงไทย ไม่ได้รับการเสนอจากฝ่ายจัดการ หรือ จากนายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในการปล่อยกู้ โครงการรับจำนำข้าวแต่อย่างใด ซึ่งก่อนหน้านี้นายวรภัคก็ได้ปฏิเสธข่าวไปแล้ว และคิดว่าข่าวที่ออกมาในสังคมออนไลน์ เกิดจากผู้ที่ไม่ประสงค์ดี ที่ต้องการให้เกิดความเข้าใจผิด

ในฐานะที่ธนาคารกรุงไทยดำเนินธุรกิจ ทางฝ่ายจัดการจะดำเนินการบนระเบียบและทำในสิ่งที่มีกฎหมายรองรับ เป็นธรรมาภิบาล ซึ่งจะทำธุรกิจที่มีผลตอบแทนหรือประโยชน์แก่องค์กร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง บนพื้นฐานความรอบคอบ

"บอร์ดจะพิจารณาเรื่องใดๆ ก็รอฝ่ายจัดการเสนอมา แต่ในขณะนี้ไม่มีเรื่องนี้ และในการประชุมบอร์ดวันที่ 4 ก.พ. นี้ ก็มีแต่วาระประชุมตามปกติ" นายพยุงศักดิ์ กล่าว

สตง.เตือน"กิตติรัตน์"อย่าขัดก.ม.กู้เงิน

ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้ตรวจสอบพบว่าล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2557 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ ตผ 0012/0300 ถึงนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรมว.คลัง เรื่องการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่การแจ้งเตือนให้ นายกิตติรัตน์ ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเกี่ยวกับการจัดหาแหล่งเงินกู้เพื่อนำมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าว

"สตง. มีความห่วงใยต่อการดำเนินการใดๆ ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีปัญหาการจ่ายเงินรับจำนำข้าวดังกล่าวข้างต้น พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า การจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือก (นาปี) ปีการผลิต 2556/57 จากแหล่งใดๆ ก็ตาม จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ไม่ขัดหรือแย้งต่อบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ ตลอดจนขั้นตอนการดำเนินงานที่กำหนดไว้อย่างถูกต้องโดยเคร่งครัดและรอบคอบ เพราะหากการดำเนินการดังกล่าวเข้าสู่การวินิจฉัยชี้ขาดโดยองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแล้วปรากฏว่าการดำเนินการไม่ถูกต้อง ผู้อนุมัติและผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น" หนังสือ สตง.ระบุ

แนะยิ่งลักษณ์ทบทวนจำนำข้าว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา สตง. ยังได้ทำหนังสือแจ้งถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนและยุติการโครงการรับจำนำข้าวในฤดูกาลต่อไป ภายหลังตรวจสอบพบปัญหาในขั้นตอนการดำเนินงานจำนวนมาก และทำให้รัฐบาลขาดทุนเป็นจำนวนเงินหลายแสนล้านบาทด้วย
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  รัฐบาล เศรษฐกิจ
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่