การรับมือภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ในงานสัมมนา "Delta Cities Battling with Climate Change" /2014 ประเทศเนเธอร์แลนด์

บทความนี้ถูกเขียนขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเล่าเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดในงานสัมมนา ผู้เขียนกำลังศึกษาวิศวกรรมการจัดการน้ำระดับปริญญาตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศเนเธอร์แลนด์ และได้มีโอกาสไปเข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ ในวันที่ 27 มกราคม 2557 และยังไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขานี้เป็นพิเศษแต่อย่างใด หากมีข้อผิดพลาดประการใด ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย

     งานสัมมนาเรื่อง การปรับตัวของเมืองต่างๆต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก จัดขึ้น ณ วันที่ 27-30 มกราคม 2557 ณ watersnood museum ประเทศเนเธอร์แลนด์ (รายละเอียดการจัดประชุม http://www.watersnoodmuseum.nl/NL/actueel/waterconference/ )


     งานสัมมนาเริ่มต้นด้วยการเกริ่นนำถึงประวัติศาสตร์น้ำท่วมใหญ่ของฮอลแลนด์เมื่อปี 1953 สาเหตุ สภาวการณ์ ความสูญเสีย นำไปสู่การตระหนักถึงอันตรายของธรรมชาติ และโครงการการจัดการน้ำขนาดใหญ่ของฮอลแลนด์ (Delta works) ในเวลาต่อมา ต่อด้วยแผนการรับมือต่อปัญหาน้ำต่างๆที่จะเกิดขึ้นในทศวรรษข้างหน้าของเมืองRotterdam เมืองท่าขนาดใหญ่อันดับหนึ่งของฮอลแลนด์ และของยุโรป การจัดการเฮอริเคนแซนดี้ของสหรัฐอเมริกาเมื่อปี2012 การจัดการระบบน้ำในเมืองฮัมบูร์ก(เมืองท่าทางตอนเหนือของเยอรมัน) และที่สำคัญ..ประเด็นที่ผู้เขียนตั้งใจว่าจะไปฟัง.. แผนการปรับตัวของเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ และจาการ์ต้าร์


     ก่อนจะกล่าวถึงการจัดการน้ำในประเทศใดๆ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่อเมืองที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำหลักๆที่คล้ายคลึงกัน ไม่ใช่แค่การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกอย่างที่เรากังวลกัน แต่ยังรวมไปถึงการเพิ่มขึ้นของปริมาณฝน น้ำใต้ดิน การยุบตัวของแผ่นดิน และปรากฏการณ์'เกาะความร้อนเมือง' (Urban Heat Island - UHI : ปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิภายในเมืองใหญ่สูงกว่ารอบนอกมากอันมีเหตุมาจากการสะสมของคลื่นความร้อนของวัสดุก่อสร้างอาคาร)

     สำหรับสามเมืองแรก  ระบบการจัดการน้ำดำเนินการโดยประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้ว การจัดการต่างๆจึงดูจะง่ายกว่าในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่างแถบเอเชียอาคเนย์เหมือนสองประเทศหลัง

      "รอตเตอร์ดัม" เมืองท่าขนาดใหญ่อันดับหนึ่งของยุโรป กำลังดำเนินการขยายขนาดท่าเรือออกไปสู่บริเวณปากน้ำฝั่งทะเลเหนือ ด้วยโครงการ Maavslakte 2 (โครงการถมทะเลสร้างพื้นที่ท่าขนถ่ายสินค้า เขตอุตสาหกรรม และสาธารณูปโภคพื้นฐาน เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 2008 ( รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.maasvlakte2.com/en/ ) พื้นดินริมขอบแม่น้ำ Maas ตลอดเมืองรอตเตอร์ดัมถูกยกให้สูงขึ้นกว่าระดับพื้นดินภายในเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม เทศบาลรอตเตอร์ดัมกำลังรณรงค์การสร้าง Green Roof หรือการปลูกต้นไม้บนหลังคาอาคารบ้านเรือน โดยผู้ที่เข้าร่วมจะได้รับผลตอบแทนจากงบประมาณของเทศบาล ต้นไม้บนหลังคาบ้านเรือนนี้ นอกจากจะลดความร้อนในอาคารบ้านเรือน สะท้อนรังสีจากแสงอาทิตย์กลับสู่บรรยากาศแล้ว ยังช่วยทำหน้าที่เป็นเหมือนฟองน้ำ ที่คอยดูดซับน้ำฝนส่วนเกิน ป้องกันปัญหาการน้ำท่วมขังระบายน้ำไม่ทัน จนถึงปัจจุบันนี้ พื้นที่หลังคาสีเขียวในรอตเตอร์ดัมคิดเป็นบริเวณ 110000 ตารางเมตร และเทศบาลหวังว่าจะเพิ่มเป็น 160000 ตารางเมตร ภายในสิ้นปีนี้


     รอตเตอร์ดัมมีแนวคิดที่ค่อนข้างจะพิเศษกว่าเมืองอื่นอยู่สองประการ หนึ่ง นอกจากจะสร้างสิ่งปลูกสร้างต่อสู้กับการรุกรานของธรรมชาติแล้ว ยังใช้แนวคิด Building with nature คือสร้างเพื่อปรับตัวอาศัยอยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เช่น การวางแผนปล่อยให้บางบริเวณของเมืองถูกน้ำท่วมได้เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่อาจเพิ่มมากขึ้น และยังคงสามารถให้ประโยชน์กับชาวเมืองได้ เรียกบริเวณนี้ว่า Water Plaza เช่น ในบริเวณ Benthemplein Water Plaza ที่จะกลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเล่นกีฬาทางน้ำพร้อมๆไปกับเก็บกักน้ำที่รอการระบายออกโดยระบบระบายน้ำของเมือง (ข้อมูลเพิ่มเติม www.rotterdamclimateinitiative.nl/en/english_2011_design/news/design_of_benthemplein_water_square_revealed?news_id=856 )

     อีกประการคือ เพื่อเป็นการลดปัญหาการขาดแคลนงบประมาณ จึงมีการ(บังคับ)ให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์เอกชนที่หวังผลกำไรเข้ามามีส่วนร่วมแผนการจัดการน้ำของเมือง เช่น ตั้งเกณฑ์ว่า เมื่อมีนายหน้ามากว้านซื้อที่ดินเพื่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆ ต้องมีการกำหนดพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สำหรับการจัดการน้ำ พร้อมสร้างสิ่งปลูกสร้างที่มีประสิทธิภาพในการจัดการน้ำไว้ด้วย หากเกิดเหตุน้ำท่วมหรือปัญหาใดๆ บริษัทนั้นต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ถูกดำเนินการภายใต้แผนภาพรวม 'Rotterdam Approach' (ข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.rotterdamclimateinitiative.nl/en/english_2011_design/news/design_of_benthemplein_water_square_revealed?news_id=856 ) ซึ่งกำหนดไว้ว่า ในปี 2025 เมืองรอตเตอร์ดัมจะปลอดภัยจาก Climate change อย่างสมบูรณ์
     (เทศบาลรอตเตอร์ดัมจัดทำแอพพลิเคชั่นชื่อ 'Delta City Rotterdam' แสดงผังเมืองพร้อมการจัดน้ำโดยภาพรวมเป็นการประชาสัมพันธ์ มีข้อมูลให้ศึกษาเพิ่มเติมได้มากมาย โหลดได้ในแอพสโตร์ และเพลย์สโตร์)
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
      การจัดการผลกระทบของเฮอริเคนแซนดี้ ที่เข้ากระหน่ำพื้นที่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา และสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อมลรัฐ New Jersey ,Manhattan สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2012 ถือว่าเป็นเฮอริเคนที่สร้างความเสียหายแก่สหรัฐมากที่สุดหลังจากเฮอริเคนแคทลีนาเมื่อปี 2005

      วิทยากรพูดถึงผลกระทบและความเสียหายที่พายุก่อขึ้นในแง่ต่างๆ ความช่วยเหลือที่เทศบาลดำเนินการ และหนทางแก้ปัญหาระยะยาว ซึ่งอเมริกาได้ว่าจ้างบริษัทการจัดการน้ำแห่งหนึ่งของเนเธอร์แลนด์เป็นผู้ดำเนินการ และผลลัพธ์ที่ได้ คือแผนการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกของสหรัฐอเมริกา ภายใต้ชื่อรายงาน Climate Change Study Report

      ประเด็นที่น่าสนใจของอเมริกาในความเห็นของผู้เขียน มีอยู่สองเรื่องใหญ่ๆ คือหนึ่ง แนวความคิดในการบริหารจัดการ ที่อเมริกาคิดว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ความสำคัญกับทุกๆพื้นที่อย่างเท่าเทียมกัน จึงมีการประเมินความสำคัญของแต่ละพื้นที่โดยใช้หลักว่า probability x consequence = flood risk และ Risk + Value + Impact = Where to focus เพื่อเป็นการจำกัดขอบเขตของโครงการที่จะดำเนินการ

     อีกประเด็นหนึ่งคือ การก่อสร้าง’Levee’(แนวเขื่อนป้องกันน้ำท่วมประเภทหนึ่ง)ที่ไม่ได้เป็นเพียงการลงทุนสร้างกำแพงป้องกันน้ำท่วมเพื่อความปลอดภัยอย่างเดียว แต่ยังสามารถใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ด้วย เช่น เป็นทางคมนาคม เป็นสถานที่เล่นกีฬาทางน้ำ (เทียบเคียงได้กับการสร้าง Water Plaza ของรอตเตอร์ดัม)

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

     “ฮัมบูร์ก(Hamburg)” เมืองท่าสำคัญอีกแห่งของยุโรปทางตอนเหนือของประเทศเยอรมัน มีเมืองสำคัญที่กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนรับมือผลกระทบจากภาวะโลกร้อน คือ ‘Hofencity’ โครงการของโฮเฟ่นซิตี้มีอยู่หลายซับยูนิต แต่ที่ค่อนข้างโดดเด่น คือการก่อสร้างส่วน Kaiserkai (ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.hafencity.com/en/am-sandtorkai-dalmannkai-quarter/project-16-am-kaiserkai-2-grosser-grasbrook-10.html)  

     โฮเฟ่นซิตี้เป็นเมืองที่พร้อมรับมือสภาวะน้ำท่วมอย่างมีประสิทธิภาพมาก เนื่องจาก พื้นที่ทั้งเมืองรอบแม่น้ำ Elbe ถูกสร้างและออกแบบให้ลดทอนผลกระทบจากน้ำท่วม โดยที่ไม่มีการสร้างกำแพงกั้นน้ำเหมือนเมืองอื่น แต่มีการเชื่อมพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเลต่างกันเข้าด้วยกัน โดยชั้นล่างสุดของอาคารบ้านเรือนทุกหลังริมฝั่งแม่น้ำถูกกำหนดให้มีประตูป้องกันน้ำได้ มีทางเข้าออกในชั้นสอง และพร้อมต่อการถูกท่วมอยู่เสมอ เมื่อระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น องค์การกลางจะมีคำสั่งให้ทุกอาคารปิดประตูกั้นน้ำ น้ำจะเข้าท่วมตัวเมืองตามธรรมชาติ แต่จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน เนื่องจากถนนที่สร้างจะถูกแบ่งไว้เป็นลำดับ เมื่อน้ำท่วมขั้นที่หนึ่ง ถนนขั้นถัดไปก็จะถูกใช้แทน ทางเข้าอาคารต่างๆในชั้นสองจะถูกเปิดใช้แทนชั้นหนึ่งที่ถูกปิดตายด้วยประตูกั้นน้ำไป


(ต่อด้านล่าง: จาการ์ต้า-โฮจิมินห์ซิตี้)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่