ปตท. โชติช่วงชัชวาล พลังงานไทยเพื่อใคร?

เงื่อนปัญหาพลังงานไทย “กลางน้ำ” ...นพ.ระวี มาศฉมาดล กรรมการ กปปส. สะท้อนว่าในเมื่อรัฐบาลสร้างโรงกลั่น สร้างท่อส่งก๊าช สร้างโรงแยกก๊าช พอแปรรูปมาเป็น “ปตท.” โรงกลั่นมูลค่าลงทุนแสนล้านแต่ตีมูลค่าเหลือบาทเดียว เป็นไปได้อย่างไร กรณี “ท่อก๊าช” ก็แบบเดียวกัน กระทั่งมีการฟ้องร้อง สุดท้ายศาลมีคำสั่งต้องคืนท่อให้ประชาชน แล้ววันนี้คืนหรือยัง คำถามสำคัญมีว่า ปตท.ฉ้อฉลตอนแปรรูปหรือไม่? และโปร่งใสแค่ไหน?



ปตท. ทำธุรกิจฉ้อฉลจริงหรือ...ไม่เป็นความจริง” ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บอกอีกว่า การที่กล่าวอ้างว่าโรงกลั่นมีมูลค่าการลงทุนนับแสนล้านแต่ตีมูลค่าแค่บาทเดียวนั้น ความจริงแล้ว ปตท. เข้าไปซื้อหุ้นบริษัท Shell เนื่องจากรัฐบาลไม่ต้องการให้โรงกลั่นตกอยู่ในมือต่างชาติ โดยซื้อในราคา 5 ล้านเหรียญฯ แต่ ปตท.ต้องแบกรับหนี้สินของ Shell ไปอีกจำนวนถึง 1,335 ล้านเหรียญฯ หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 41,000 ล้านบาท

หลังจากนั้น ปตท.ได้บริหารงานจนสามารถชำระหนี้ได้และผลประกอบการดีขึ้น มีกำไร และได้เป็นสินทรัพย์ของประเทศ ทำให้มีความมั่นคงทางด้านพลังงานมากยิ่งขึ้น

ประเด็น...การคืนท่อก๊าซฯ ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ว่า ปตท.ได้คืนท่อก๊าซครบถ้วนตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้น ปตท.ได้เช่าท่อก๊าซจากกรมธนารักษ์ ดังนั้นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน ประกอบด้วยระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่เป็นทรัพย์สินของ ปตท. และระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติตามสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์ เกี่ยวกับการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ หรือค่าผ่านท่อ กำหนดโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ปตท.เป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามนโยบายของภาครัฐเท่านั้น

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 ที่ประเทศไทยมีการขุดพบก๊าซในอ่าวไทย รัฐบาลได้ขอให้เอกชนมาลงทุนสร้างระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ แต่ไม่มีเอกชนรายใดสนใจลงทุนเนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูงและมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของปริมาณก๊าซ รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้ ปตท.เข้าไปลงทุน และดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ระบบท่อส่งก๊าซฯ ในประเทศมีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 4,056 กิโลเมตร โดยได้ใช้เงินลงทุนไปเป็นจำนวนมากกว่า 200,000 ล้านบาท

ปัจจุบันรัฐเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาลงทุนสร้างระบบส่งก๊าซได้อย่างเสรี โดยขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำหรับประเด็น ปตท.ผูกขาดก็ไม่เป็นความจริงดร.ไพรินทร์ อธิบายว่า ปตท. ไม่ได้ผูกขาดธุรกิจพลังงาน ปตท.เป็นผู้ปฏิบัติภายใต้นโยบายรัฐเป็นหลัก เช่นเดียวกันกับบริษัทน้ำมันอื่นๆ อาทิ เชลล์ เอสโซ่ คาลเท็กซ์ ฯลฯ

“ธุรกิจต้นน้ำ” ซึ่งหมายถึง ธุรกิจสำรวจและผลิต มีผู้ประกอบการหลายราย ซึ่ง ปตท.สผ.เป็นเพียงบริษัทหนึ่งในนั้น โดยได้รับสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทยคิดเป็นประมาณ 27% ของจำนวนแหล่งสัมปทานทั้งหมดในประเทศ “ธุรกิจการกลั่น” ปตท.ก็ไม่ได้มีการผูกขาดแต่อย่างใด โดย ปตท.ถือหุ้นในโรงกลั่นจำนวน 5 แห่ง จากทั้งหมด 7 แห่ง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการกลั่นเพียง 36% ของกำลังการกลั่นทั้งประเทศ

การเข้าถือหุ้นในโรงกลั่นของ ปตท. เป็นไปตามนโยบายรัฐที่ต้องการสร้างเสถียรภาพด้านพลังงาน เช่น โรงกลั่นน้ำมันระยอง ซึ่งควบรวมเป็น PTTGC ในปัจจุบัน ก็เผชิญภาวะขาดทุนสะสมและขาดสภาพคล่องอย่างมากในปี 2540 ทำให้บริษัท Shell ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในขณะนั้นตัดสินใจเลิกประกอบธุรกิจในเมืองไทย... รัฐบาลจึงมอบหมายให้ ปตท.เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดจาก Shell และโรงกลั่น IRPC (TPI เดิม) ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติอย่างหนักจนต้องใช้เวลาการปรับโครงสร้างหนี้อยู่นาน จนในที่สุด...รัฐบาลมอบหมายให้ ปตท.เข้าไปถือหุ้นทำให้ไม่ต้องล้มละลายหรือตกเป็นของต่างชาติ สำหรับ...โรงกลั่น SPRC ซึ่งเป็นโรงกลั่นที่ตั้งขึ้นโดยบริษัทต่างชาติ รัฐบาลจึงให้ ปตท.เข้าถือหุ้นด้วย เพื่อเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการกำกับดูแลการกลั่นน้ำมัน เพื่อสนองความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐในระยะยาว

ประเด็นสำคัญที่ต้องฉายภาพให้ชัดเจน “การกำหนดราคาของธุรกิจการกลั่น” ดร.ไพรินทร์ ย้ำว่า เป็นไปอย่างเป็นธรรมตามหลักการของการแข่งขันเสรีตามกลไกตลาดและสภาพการแข่งขัน โดยมีหน่วยงานรัฐกำกับดูแล คือ สนพ. หรือ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน “ปตท. หรือโรงกลั่นไม่มีการกำหนดเงื่อนไขบังคับอย่างไม่เป็นธรรมกับลูกค้าในการซื้อน้ำมัน ผู้ค้าน้ำมันจะเลือกซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นใดก็ได้อย่างเสรี รวมทั้งการนำเข้า”

ต้องย้ำว่า...ปตท.เป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายหนึ่งและผู้ซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากโรงกลั่น การดำเนินนโยบายใดๆของบริษัทโรงกลั่นน้ำมันแต่ละแห่งจะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการบริษัทและการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทโรงกลั่นน้ำมันเหล่านั้นเอง อีกทั้งโรงกลั่น 4 ใน 5 โรงกลั่นที่ ปตท.ถือหุ้นนั้น เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยมีประชาชนและนักลงทุนถือหุ้นที่เหลือระหว่างร้อยละ 50.9 ถึง 72.78 สำหรับโรงกลั่นอีก 1 โรง คือ SPRC มีบริษัท Chevron เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร้อยละ 64 นอกจากนี้ยังมีโรงกลั่น ESSO อีก 1 แห่งที่ ปตท.ไม่ได้เข้าไปถือหุ้นใดๆเลย

สุดท้าย...ธุรกิจการจำหน่าย ปตท. เป็นเพียงหนึ่งในผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรา 7 จากจำนวนผู้ค้าทั้งสิ้น 41 ราย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 37 เปอร์เซ็นต์ และการกำหนดราคาน้ำมันจะมีหน่วยงานรัฐเป็นผู้ดูแลให้เป็นไปอย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม การเป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ทำให้ ปตท.สามารถผลักดันให้มีการลดราคาน้ำมันขายปลีกเร็วขึ้น ในภาวะที่ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง และชะลอการปรับราคาให้ช้าลงได้ระยะหนึ่ง ในขณะที่ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น...ทั้งนี้ตลอดปี 2556 ที่ผ่านมา ปตท.ได้ชะลอการปรับราคาขายปลีกได้ถึง 30 ครั้ง คิดเป็นมูลค่าลดผลกระทบจากการปรับราคาน้ำมันประมาณ 474 ล้านบาท

ทั้งหมดเหล่านี้เป็นประเด็นชี้แจงจาก ปตท.ที่แม้ภาพจะเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ในคราบรัฐวิสาหกิจผู้ทรงอำนาจทางการตลาด แต่ก็ยังยืนอยู่คู่คนไทย เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทย.

ปตท. โชติช่วงชัชวาล พลังงานไทยเพื่อใคร?
http://www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/400678
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  น้ำมันเชื้อเพลิง การเมือง เศรษฐกิจ
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่