หนัง "เพลงของข้าว" คว้ารางวัลที่รอตเทอร์ดัม

ฉากชีวิตชาวนาไทยใน The Song Of Rice หรือ เพลงของข้าว ภาพยนตร์กึ่งสารคดีของผู้กำกับ อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ ประสบความสำเร็จในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองรอตเทอร์ดัม ด้วยการคว้า รางวัลฟีเพรสซี่ อวอร์ดส์ ซึ่งมอบให้กับผลงานที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์

ชาวนาที่ต้องทำงานเกี่ยวข้าวจนค่ำมืด ตัดสลับกับการเฉลิมฉลองหลังฤดูเก็บเกี่ยว คือการบันทึกวิถีชีวิตของชาวนาไทยจาก The Song Of Rice หรือ เพลงของข้าว ภาพยนตร์กึ่งสารคดีของผู้กำกับ อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ ที่เปรียบการทำงานของชาวนาแต่ละภาคเหมือนดั่งท่วงทำนองที่แตกต่าง หากเมื่อนำมารวมกันแล้วก่อให้เกิดบทเพลงอันแสนไพเราะ ความคมคายในการเล่าเรื่องทำให้ผลงานเรื่องนี้เป็นหนังไทยเพียงเรื่องเดียวจาก 7 เรื่องที่ได้ร่วมประกวดในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองรอตเทอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่คว้ารางวัลในสาขาฟีเพรสซี่ อวอร์ดส์ ซึ่งโหวตโดยกลุ่มนักวิจารณ์และสื่อมวลชนในแวดวงภาพยนตร์จากกว่า 50 ประเทศ ให้กับผลงานที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์

เพลงของข้าว เป็นตอนจบของภาพยนตร์ไตรภาคที่ อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ นำชีวิตชาวนามาถ่ายทอดด้วยวิธีนำเสนอที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละตอน หลังความสำเร็จของ เรื่องเล่าจากเมืองเหนือ และ สวรรค์บ้านนา ผลงานภาค 2 ที่เคยคว้ารางวัล ยูเนสโก อวอร์ด ในฐานะภาพยนตร์ที่โดดเด่นด้านการส่งเสริมและอนุรักษ์ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในงานเอเชีย แปซิฟิก สกรีน อวอร์ดส์ เมื่อปี 2009

อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ ยังเป็นหนึ่งในเจ้าของผลงานหนังสั้นในโครงการ เล่าเรื่องโกง ที่เครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป และ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ร่วมกันนำเสนอหนังสั้นที่ตีแผ่การทุจริตในสังคมไทย ซึ่งผลงานเรื่อง เชียงราย 0250 ที่ถ่ายทอดชีวิตชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของกรมพัฒนาที่ดิน ได้นำมาออกอากาศในรายการ เล่าเรื่องโกง ตอน คนไทย-ผลลัพธ์-การโกง? ทางไทยพีบีเอสเมื่อปี 2556

รางวัลใหญ่ของเทศกาลภาพยนตร์รอตเธอร์ดัมหรือ Tiger Award ปีนี้ ผู้ชนะ2 จาก 3 รายเป็นตัวแทนจากเอเชีย ทั้ง Anatomy of a Paper Clip ของ อิเคดะ อากิระ ผู้กำกับชาวญี่ปุ่น กับหนังรักแหวกแนว ระหว่างชายหัวอ่อนในโรงงานคลิปหนีบกระดาษแ ละหญิงสาวที่เขาเชื่อว่าเป็นร่างจำแลงของผีเสื้อ และ ฮานกงจู ของ อีซูจิน ผู้กำกับเกาหลีใต้ ที่โดดเด่นด้วยเทคนิคการเล่าเรื่องผ่านชีวิตเด็กสาวผู้ถูกผลักไสจากชุมชน ส่วนอีกรางวัลตกเป็นของ Something Must Break ผลงานจากประเทศเดนมาร์กของผู้กำกับ เอสเตอร์ มาร์ติน เบิร์สมาร์ค ที่สะท้อนชีวิตวัยรุ่นผู้มีความหลากหลายทางเพศ

Tiger Award ของเทศกาลภาพยนตร์รอตเธอร์ดัม ถือเป็นรางวัลที่นักสร้างหนังชาวไทยประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง เมืองเหงาซ่อนรัก ของ อาทิตย์ อัสสรัตน์ ในปี 2008 เจ้านกกระจอก ของ อโนชา สุวิชากรพงศ์ ในปี 2010 และ ที่รัก ของ ศิวโรจณ์ คงสกุล ที่คว้ามาได้เมื่อ 3 ปีก่อน

http://news.thaipbs.or.th/

http://bit.ly/เพจข่าวดี
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่