OSCARS BEST PICTURE NOMINEES 2014 : #1 'HER' THE WEIRD LOVE STORY

ตอนนี้กำลังพยายามตามเก็บหนังหลายๆเรื่องที่พลาดไปเมื่อช่วงต้นปีถึงกลางปี เลยนึกขึ้นได้ว่าอยากเขียนรีวิวเกี่ยวกับหนังที่ได้เข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งเราดูไปแล้วเกือบครึ่งนึง และส่วนใหญ่จะเป็นหนังใหม่ๆ ทั้งสิ้น

ใครเคยอ่านรีวิวหนังของเรามาก่อนคงพอจะจำได้ว่าเป็นคนชอบเขียนยาวๆๆๆๆมากๆๆๆๆๆ แต่คราวนี้ขออณุญาติเขียนสั้นๆค่ะ เพราะว่านี่เป็นหนังอีกเรื่องที่เราสับสนกับการเขียนรีวิวพอสมควร และยังต้องพยายามเขียนแบบหนีสปอล์ยด้วย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราเขียนความเห็นหลังชมไปแล้วรอบนึงในเพจตัวเองด้วยแหละ

ใครรอชมเรื่องนี้อยู่ ไปอ่านรีวิวกันได้เลยค่ะ รีวิวตามตัวอย่างภาพยนตร์และเรื่องย่อไม่เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ (คิดว่าไม่เปิดสุดๆแล้วนะคะ)
อีก 8 เรื่องพยายามจะอัพให้เร็วที่สุด รอติดตามนะจ๊ะ

https://www.facebook.com/poprockonfilm





'HER' THE WEIRD LOVE STORY


เรื่องย่อของ her คือ ผู้ชายคนหนึ่งหลงรัก เสียงผู้หญิง(คนหนึ่ง)ที่อยู่ในเครื่องตอบรับอัติโนมัติ

แน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องจบลงด้วยความรักที่ "ไม่สมหวัง"

จากพลอตเรื่อง จากการดำเนินเรื่อง จากรายละเอียดยิบย่อย และ ความจงใจบางอย่างที่หนังพยายามสอดแทรกมาตลอดทั้งเรื่องทำให้เราอาจรู้สึกว่าหนังพยายามจะ "สะท้อน" โลกในยุคโซเชียล ที่ผู้คนให้ความสนใจกับตัวเองและบุคคลในโลกออกไลน์มากกว่า จนอาจหลงลืมคนใกล้ตัวและการสนทนาต่อหน้าไปแล้ว แต่ที่จริงแล้วหนังมันค่อนข้างซับซ้อนกว่านั้นมาก

เรื่องโลกโซเชียลนั่นเป็นแค่ประเด็นผิวเผินไปเลย




HER


นี่เป็นหนังเรื่องนึงที่เราดูแล้วรู้สึกสับสนมากๆกับการอธิบายให้คนอื่นฟังว่ามันเป็นหนังแนวไหน หรือ หนังอะไร แน่นอนว่ามันเป็นหนัง Romantic-Drama แต่การเล่าเรื่องและเหตุการณ์ในเรื่องมันออกจะ Sci-fi อยู่บ้าง และเอาเข้าจริง หนังมันก็ดำเนินอยู่บนเงื่อนไขทั้ง 3 นั่นแหละ "เรื่องรักสุดเศร้าบนเงื่อนไขที่เกิดขึ้นในโลกอนาคต"

จะว่าไปแล้ว เราก็อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านนะ ..

เพราะถ้าจะให้ระบุให้ชี้ชัดไปหน่อยจริงๆ นี่คือหนัง ที่ผู้ชายโรแมนติคคนหนึ่ง หลงรักหญิงสาวสุดฉลาดเฉลียวแต่เธอเป็นแค่เพียงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งที่มองเห็นใกล้เคียงที่สุดในยุคนี้คือ เขาหลงรักโปรแกรม Siri : Operating System ที่พัฒนาโดย Apple นั่นแหละ

ซึ่งสไปก์ โจนซ์เองก็บอกว่า ตอนที่เขาเริ่มเขียนบทของ her ได้คือตอนที่ Siri เปิดตัวตอนปี 2011 นั่นแหละ และความหมายของคำว่า Siri (ภาษานอรเวย์) ที่แทบจะกลายมาเป็นเรื่องย่อของหนังได้เลยก็คือ "หญิงสาวแสนสวยผู้ที่จะพาคุณไปสู่ชัยชนะ"

โจนซ์บอกว่า จริงๆแล้วเขามีไอเดียเกี่ยวกับการทำหนังรัก ทำนองนี้มานานมาก ราวๆ 10 ปีก่อนเขาเคยได้อ่านบทความวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถพูดคุยโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้ จนกระทั่งเมื่อวิทยาการมันกลายมาเป็นเรื่องจริงในปัจจุบัน โจนซ์จึงเริ่มต้นกับการทำหนังเรื่องนี้อย่างจริงจังเสียที




THE WEIRD


ประโยคนึงที่ ธีโอดอร์ (วาคีน ฟินิกซ์) เผลอหลุดพูดไปในหนังคือ "นี่มันประหลาดเป็นบ้า"

นั่นเป็นประโยคหนึ่งที่ผู้ชายไม่ควรพูดหากเขากำลัง เฟลิร์ตกับผู้หญิง และนั่นทำให้หนังรักเรื่องนี้เต็มไปด้วยจังหวะขึ้นๆลงๆตลอดเวลา เหมือนจังหวะชีพจรหัวใจนั่นแหละ มันอาจเต้นรัวเร็วตลอดเวลาตอนที่เราตื่น และบางครั้งมันก็เนิบช้าจนน่าเศร้าตอนที่เราหลับ ...

ความแปลกที่ว่านี้ไม่ได้มาจากการที่หนังแสดงให้เห็นค่านิยม หรือ พฤติกรรมประหลาดๆอะไร แบบที่หนังที่เรานิยามว่า "WEIRD" หลายๆเรื่องเป็น แต่ถ้าเทียบกับ "หนังรักทั่วไป" และ "ความรักทั่วไป" นี่ก็เป็นความประหลาดพอสมควรเลยทีเดียว และในความประหลาดจาก "ไอเดียเริ่มต้น" ของหนังยังซ้อนทับไปด้วยพฤติกรรมและการตัดสินใจประหลาดๆของตัวละคร ที่สุดท้ายแล้วมันไม่ได้ทำให้เรารู้สึกแปลกใจ แต่เรากลับรู้สึก "เศร้า" มากกว่า

หากคุณคิดว่า "โอ้ นี่มันคงเป็นหนังรักอินดี้ประหลาดๆสินะ" นั่นเป็นความเข้าใจผิดอย่างแรง เพราะงานของสไปก์ โจนซ์ แม้จะประหลาด แต่เขาห่างไกลกับคำว่าอินดี้พอสมควร .. เพราะจริงๆแล้ว หนังของสไปก์ไม่น่าจะถูกเรียกว่าอินดี้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณนิยามคำว่าอินดี้ไว้ว่าอย่างไร หนังเงียบๆ วิ้งๆ เนิบๆ พูดกันน้อยๆ ภาพแช่ๆ แสดงออกทางสีหน้าและอารมณ์บนใบหน้าไม่ใช่บทพูด ... ถ้านิยามหนังอินดี้เป็นเช่นนั้น ก็ตัด her ทิ้งไปได้เลย

นี่มันหนังรักธรรมดา แต่มันทำให้เราเศร้าแทบ "บ้า" แค่นั้นเอง

โจนซ์บอกว่า ตอนที่เขากำกับและเขียนบท her เขาพยายามยึดลักษณะการทำงานมาจาก Charlie Kaufman ตอนที่เขาได้ร่วมงานอำนวยการสร้างและคอฟแมนรับหน้าที่เขียนบท Synecdoche, New York (2008) โจนซ์บอกว่า เขาชอบไอเดียการทำงานของคัฟแมนมากๆตอนที่เขาทำ Synecdoche,New York คอฟแมนเป็นคนเขียนบทประเภทที่ คิดอะไรก็ก็เขียนไปเลย ไอเดียอะไรที่นึกออกก็ใส่ไปไม่ยั้ง โจนซ?เลยพยายามทำแบบนั้นบ้างกับ her เพราะฉะนั้น her มันเลยเป็นหนังที่เต็มไปด้วยจังหวะอารมณ์ที่หลากหลายมากๆ

ทั้ง flash back, เสียงดนตรี, บทพูด, การเฟดภาพ ทุกอย่างมันละเอียดไปหมด
คุณลองจินตนาการการใช้ชีวิตและสิ่งที่คุณคิดอยู่ในสมองของคุณดู สไปก์ โจนซ์ เล่าเรื่องแบบนั้น..
ความคิดชั่วแล่น,ภาพตัดสลับ,มุมมองแทนสายตา,เสียงที่ดังขึ้นในสมอง
ถามว่ามันดูมั่วไหม บอกเลยว่าไม่ แต่คุณจะรู้สึกว่า นี่คือข้อเท็จจริง อยู่บนหลักวิทยาศาสตร์

มีสองสิ่งที่ไม่อาจห้ามได้ คือ "ห้ามใจ" และ "ห้ามความคิด"
สมองอันวุ่นวาย และ หัวใจที่เต้นรัว

คุณห้ามมันไม่ได้หรอกนะ ...



LOVE STORY


"เรื่องราวความรักระหว่าง มนุษย์ และ โปรแกรมคอมพิวเตอร์" อันที่จริงแล้วมันดูน้ำเน่าเอามากๆ เหมือนที่ก่อนหน้านี้เคยมีเรื่องทำนองเดียวกันแบบว่า หุ่นยนต์มีความรัก ตุ๊กตาไม้อยากเป็นคน อะไรทำนองนี้ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่อย่าลืมว่านี่คือ สไปก์ โจนซ์ ผู้กำกับเด็กแนว ... หนังของเขาไม่เคยมีคำว่า "ทั่วไป"

เมื่อคุณได้รู้เรื่องย่อ เราขอเดาว่าเกือบ 100 เปอร์เซนต์ ทุกคนต้องแอบเดาตอนจบว่าจะจบอย่างไร เพราะนี่มันเป็นความรักบนเงื่อนไขที่สมหวังได้ยากเหลือเกิน แต่ "ความรักชนะทุกอย่างได้นะ" ก็มาลองดูกันว่า บนเงื่อนไขนี้ ความรักจะเอาชนะมันได้จริงๆหรือไม่?

แม้ไม่อาจเอาไปเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆได้ แต่หนังก็ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะคิดถึง Ruby Sparks (2012) และ Like Crazy (2011) แม้มันจะไม่เหมือนกันเลยก็ตาม แต่ด้วยความเหงาๆ เปลี่ยวๆ แต่ไม่ถึงขั้น วิ้ง เนิบนาบ ของหนัง ทำให้เรารู้สึกว่า มันมีบางอารมณ์ที่คล้ายๆกันอยู่

ธีโอดอร์ ทวอมลีย์ (วาคีน ฟินิกซ์) เป็นนักเขียนจดหมายรัก แต่ดันมีปัญหากับควมรักของตนเองจนต้องแยกกันอยู่กับภรรยา (รูนี่ย์ มาร่า) และลูกสาว ... ซาแมนธา (สการ์เลต โจแฮนสัน) คือ โปรแกรมตอบรับอัติโนมัติที่เขาพึ่งทำความรู้จัก และด้วยความฉลาดและความเอาใจใส่ของเธอ ธีโอดอร์ก็หลงรักเธอแบบไม่รู้ตัว ระหว่างนั้นยังมีความสัมพันธ์ของเพื่อนรักคนเดียวของเขาอย่าง เอมี่ (เอมี่ อดัมส์) เป็นกรณีศึกษาให้ธีโอดอร์ได้เฝ้าดู และสุดท้าย ความรักของเขากับโปรแกรมตอบรับจะจบลงอย่างไร คุณคงเดาออก ..

คงจะดี.. หากมันเป็นเหมือนตอนจบของหนังรักทั่วไปๆ

หนังพยายามสร้างคู่รักแบบต่างๆเพื่อเปรียบเทียบกับความรักของ ธีโอดอร์ ทั้งคู่รักข้าวใหม่ปลามัน คู่รักที่เลิกรา คู่รักชั่วข้ามคืน เหนืออื่นใด หนังไม่ได้ตัดสินว่า ความรักแบบไหนที่จีรังยั่งยืน หรือ ความรักแบบไหนจึงจะถูกต้องเหมาะสม เพราะหนังเองก็ดำเนินอยู่บนปัจจัยที่ฟังดูเน่าๆของความรักคือ

ความรักไม่เคยเลือก เวลาและสถานที่ รวมทั้งไม่เคยเลือกว่าจะเกิดขึ้นกับใคร

สิ่งที่โดดเด่นนอกจากจะเป็นการแสดงแบบ "โซโล่เดี่ยว" ลุย(คุย)คนเดียวของ วาคีน ฟินิกซ์ แล้วยังต้องขอยืนยันว่า (เสียง)สกาเล็ต โจฮันสันเป็นอะไรที่เพริศแพร้วและสุดยอดจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เธอหัวเราะจนเสียงแหบ, การหยอกล้อแบบติดสำเนียงขี้เล่นเซ็กซี่ รวมทั้งเสียงคราง(กระเส่า) ของเธอ ทำให้เราหลงรักเสียงเธอได้ไม่ยากจริงๆ (มิน่า ทำไมธีโอดอร์เคลิ้มขนาดนั้น)



OSCARS NOMINATIONS

ทำไมหนังได้เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
: อาจเพราะความจัดจ้านและความสดใหม่ทางการเล่าเรื่อง รวมทั้งการแสดงของนักแสดงที่แทบไม่หลุดออกนอกวงโคจร วี่แววออกทะเลไม่มีมาให้เห็น เป็นหนังที่แน่วแน่กับแกนหลักของเรื่องมาก และส่วนหนึ่งอาจเพราะ ให้เข้าชิงหนังยอดเยี่ยมเป็นรางวัลปลอบใจที่ สไปก์ โจนซ์ไม่ได้เข้าขิงสาขา ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมนั่นเอง

ทำไมหนังได้เข้าชิงออสการ์สาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยม
: นี่เป็นหนังที่แทบไม่ได้มีการร้องเพลงแบบจริงจัง แต่การที่ตัวละครร้องเพลงออกมา รวมทั้งเพลงประกอบมันทำให้เรารู้สึกว่า เพลงเพลงนี้มันกระแทกใจจริงๆ ถือเป็นส่วนผสมนึงที่แทบขาดไม่ได้ และสำคัญมากที่ทำให้เราอินกับหนังได้ขนาดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเลือก The Moon Song ของ Yeah yeah Yeah! มา Cover!!!!

ทำไมหนังได้เข้าชิงออสการ์สาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
: เหมือนข้างบนคือ เพลงและดนตรี เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยบิวด์หนังมากจริงๆ จนบางครั้งเรายังแอบคิดว่า เหมือนดูมิวสิควิดิโอขนาดความยาว เกือบ 2 ช.ม. อยู่ ... เปียโน เป็นเครื่องดนตรีที่เหมาะสมมากๆสำหรับหนังเรื่องนี้ เพราะมันสามารถให้เสียงที่เศร้าและอบอุ่นได้ในเวลาเดียวกัน อ้อ ยังมีเสียง อุเคเลเล่ด้วยนะ ..

ทำไมหนังได้เข้าชิงออสการ์สาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม
: หนังเรื่องนี้ไม่ได้มีแฟชั่นหรูหราฟูฟ่าอลังการ ไม่ได้เป็นแฟชั่นแนวย้อนยุคเก็บรายละเอียดดีเยี่ยม รวมทั้งไม่ใช่เสื้อผ้าล้ำนำเทรนด์โลกอนาคต แต่เสื้อผ้าของนักแสดงในเรื่องเป็นแฟชั่นยุคปัจจุบัน ที่คุณจะรู้สึกว่า มันกลมกลืนไปกับหนังแทบแยกกันไม่ออก จุดสำคัญคือ การ Match สี  ของเสื้อผ้าและธีมของหนังรวมทั้งสถานที่ คุณจะเห็นได้ว่า เมื่อเราได้เห็นเสื้อผ้าของนักแสดงแต่ละครั้ง มันทำให้เราแทบจะอุทานว่า "โอยยย สีสวยมากเลย" หรือไม่ก็ "ชอบชุดนี้มากเลยยยยย" เกือบจะตลอดทั้งเรื่อง

ทำไมหนังได้เข้าชิงออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม
: แน่นอนว่ามันมีเหตุผลคล้ายๆกับที่ทำไมได้เข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เพียงแต่ว่า สาขานี้ไม่น่าใช่เพียงเพื่อการปลอบใจ แต่เพราะ her มีดีและโดดเด่นมากพอจะเต็งเข้าวินได้เลยในสาขานี้


รอบสื่อมวลชน : 28 มกราคม 2014
เข้าฉายจริง :  6 กุมภาพันธ์ 2014
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่