"จิตวิทยาแห่งการสื่อสารด้วยการสัมผัส" the Psychology of Skinship กับความรู้สึกของศาสตราจารย์โทมินจุน


สวัสดีค่ะ หลังจากที่หลายๆท่านกำลังก้าวผ่านมรสุมดราม่าในช่วงตอนที่ 11-12 วันนี้ เรามาหาอะไรที่มันบันเทิงใจมาดับอารมณ์ดราม่ากันดีกว่าค่ะ อมยิ้ม01




บ่อยครั้งที่อาจารย์มหาวิทยาลัยจะใช้ประสบการณ์ที่ได้พบมาใช้ในการประกอบเนื้อหาการบรรยายให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัย และแน่นอนว่าเลคเชอร์ของศาสตราจารย์โทมินจุนก็มีประสบการณ์ตรงอยู่ในบทเรียนที่สอนนักศึกษาในคาบเรียนนั้นด้วย (แต่อย่างที่รู้ๆ อาจารย์เค้าบอกซะที่ไหนล่ะว่าประสบการณ์นั้นเกิดยังไง –ฮา-) เราสามารถสังเกตเห็นได้จากในตอนที่ 9 ของ You Who Came From The Stars ที่มีการเกริ่นนำเรื่องราวโดยใช้บทเรียนที่มีหัวข้อว่า “The Psychology Of Skinship” (จิตวิทยาของการสื่อสารด้วยการสัมผัส หรือที่เราๆจะเรียกง่ายๆว่า ”สกินชิพ”) เพื่ออธิบายการแสดงความรักของโทมินจุนหลังจากที่ไม่สามารถเก็บความรู้สึกที่มีต่อชอนซองอี มีจุดสนใจบางอย่างอยู่ในฉากนี้ และคิดว่าค่อนข้างที่จะอธิบายพัฒนาการทางความรู้สึกของโทมินจุนได้อย่างดี วันนี้จึงขอหยิบยกเลคเชอร์ในคาบเรียนนี้มาคุยกันค่ะ

การสื่อสารระหว่างสัตว์มีหลายประเภท หนึ่งในนั้นก็คือ Physical Contact/ Tactile Communication (การสื่อสารด้วยการสัมผัส) นั่นเอง การสื่อสารโดยการสัมผัสคือพฤติกรรมทางสังคมโดยใช้อวัยวะสัมผัสสิ่งมีชีวิตเป็นสื่อบอกความหมายของกันและกัน ซึ่งการสื่อสารด้วยการสัมผัสนั้นถือเป็นการสื่อสารที่มีบทบาทอย่างยิ่งในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และยังรวมไปถึงมนุษย์ด้วย

แฮร์รี่ เอฟ ฮาร์โลว์ (Harry F. Harlow) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้ทำการทดลองโดยศึกษาพฤติกรรมของลิงรีซัส โดยการสร้างหุ่นแม่ลิงจำลองขึ้นมา 2 ตัวซึ่งทำด้วยลวดตาข่าย โดยสร้างความแตกต่างด้วยการให้ลิงจำลองตัวหนึ่งมีผ้าขนหนูหนานุ่มห่มไว้ ส่วนลิงจำลองอีกตัวนั้นไม่มีผ้าห่อแต่มีขวดนม ในตอนแรกมีการตั้งสมมติฐานว่าลูกลิงน่าจะเลือกแม่ลิงจำลองที่มีขวดนม แต่ผลการทดลองกลับกลายเป็นว่าลูกลิงเลือกที่จะเข้าหาลิงที่มีผ้าขนหนูมากกว่า แม้ว่าจะไปหาแม่ลิงจำลองที่มีขวดนมในบางครั้งก็ตาม แต่เมื่อใดที่มีเสียงกระทบเพียงเล็กน้อย มันกลับซบที่แม่ลิงที่มีผ้าขนหนูมากกว่า คุณแฮร์รี่ยังคงทำการทดลองต่อด้วยการให้ลูกลิงตัวนั้นอยู่กับแม่ลิงจำลองที่มีขวดนม (โดยจับแยกแม่ลิงจำลองที่มีผ้าขนหนูออกไป) แล้วทำการศึกษาต่อว่าเมื่อโตขึ้น ลูกลิงตัวนั้นจะเป็นอย่างไร ผลปรากฏว่าลูกลิงดังกล่าวมีอาการหวาดระแวง และปรับตัวเข้ากับลิงตัวอื่นๆไม่ได้ ผลการทดลองของคุณแฮร์รี่นำไปสู่การเขียนทฤษฎีข้อหนึ่งในวิชาจิตวิทยาที่เรียกว่า “ทฤษฎีการยึดติดผูกพัน (Attachment Theory)” การทดลองดังกล่าวเป็นข้อพิสูจน์อย่างดียิ่งว่าความผูกพัน การใกล้ชิด การได้รับการดูแลเอาใจใส่ จะทำให้เกิดพัฒนาการทั้งทางร่างกายและจิตใจที่ดียิ่ง หากมองในแง่ของความรักในครอบครัว การดูแลลูกของตนอย่างใกล้ชิดจะทำให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างสมบูรณ์ หรือหากมองในแง่ของความรัก การดูแลกันและกัน ให้เกียรติกัน เอาใจเขามาใส่ใจเรา ก็จะทำให้ความสัมพันธ์แนบแน่นขึ้นและได้รับการพัฒนาต่อไปในระดับที่สูงขึ้น

ในแง่ของความรักของมนุษย์ Physical Contact ของมนุษย์มีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งในเวลาต่อมาก็มีการใช้ศัพท์คำอื่นๆคือ Touchship หรือคำว่า Skinship ที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆในปัจจุบัน (ต่อไปนี้ขอใช้คำว่าสกินชิพนะคะ) สกินชิพมีทั้งทางตรง เช่น การจับมือ การกอด การจูบ หรือแม้แต่การกระทำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ หรือทางอ้อม เช่น การใช้สายตา การใช้คำพูด หรือน้ำเสียงที่ทำให้อีกฝ่ายถูกสะกดและตราตรึง เป็นต้น



ใน Lecture Class เรื่อง The Psychology of Skinship ศาสตราจารย์โทมินจุนได้เขียนคำนิยามของ “สกินชิพ” สั้นๆไว้ก็คือ “การสื่อสารกับคนที่เรารักด้วยวิธีการสัมผัสเพื่อแลกเปลี่ยนหรือแสดงความรักซึ่งกันและกัน” ซึ่งหลักฐานที่แสดงถึง “สกินชิพ” อาจารย์ได้เขียนตัวอย่างไว้สามข้อได้แก่

1. ความคิด จินตนาการ หรือความทรงจำที่สวยงามที่เกิดขึ้นภายในจิตใจโดยที่ไม่ได้เกิดจากการสัมผัสแม้เพียงปลายนิ้ว (หมายถึงความทรงจำนี้สามารถเกิดขึ้นได้แค่เพียงนึกถึง ไม่ต้องสัมผัสก็เกิดขึ้นได้)

2. ความห่วงใย การดูแลเอาใจใส่ด้วยการสัมผัสแบบทั่วไป ในฐานะ Partner (ในที่นี้ Partner จะหมายถึง คนสองคนที่ตกลงที่จะอยู่หรือใช้ชีวิตด้วยกัน โดยที่ไม่ได้แต่งงานกัน หรืออีกศัพท์ที่ได้ยินคือ “หุ้นส่วนชีวิต”)

3. การเริ่มต้นที่จะมีความรักหรือการเตรียมความพร้อมรับมือกับผลของความรักที่จะเกิดขึ้นกับคนที่เรามีความสัมพันธ์โดยการสัมผัสด้วย เพื่อให้ความสัมพันธ์ยังคงอยู่ยาวนาน

นอกจากนี้ อาจารย์ยังได้ชี้ผลที่เกิดตามมาในเรื่องความรัก (Love Effect) เมื่อมีการใช้สกินชิพ ซึ่งผลที่ตามมาอย่างชัดเจนมีสามประการคือ

1. คู่รักจะรักกันมากขึ้น มีความสนิทสนมกันมากขึ้น (หมายความว่าความสัมพันธ์จะแนบแน่นขึ้น ช่องว่างในความไม่ชัดเจนของความสัมพันธ์จะเริ่มลดลง)

2. ความรักที่คนสองคนได้มอบให้แก่กันจะได้รับการรับรอง (ความรู้สึกต่างๆที่สับสนในใจจะได้รับการยอมรับ ทำให้แน่ใจมากยิ่งขึ้นว่าคนรักมีความคิดความรู้สึกไปในทิศทางเดียวกัน คำพูดง่ายๆก็คือ “ทำให้รู้ว่าใจเราตรงกันรึเปล่า” เป็นต้น)

3. การสัมผัสทำให้มนุษย์ได้รับการเติมเต็มความต้องการโดยสัญชาตญาณอย่างสมบูรณ์ (หมายความว่าเมื่อคู่รักทำการสกินชิพ หลักฐานที่เกิดขึ้นทั้งหมดในใจจะทำให้คนๆนั้นมีความคิดที่อยากจะอยู่กับคนรักไปด้วยตลอด อยากอยู่ข้างๆ ใช้ชีวิตในบั้นปลายไปด้วยกัน ความคิดเหล่านั้นหากได้รับการพัฒนา ก็จะนำไปสู่การสืบพันธุ์ (ขอไม่พูดถึงประเด็นการแต่งงานนะคะ เพราะคุณอาจจะแต่งงานหรือไม่แต่งงานก็ได้ แต่การสืบพันธุ์ยังคงต้องเกิดเพื่อให้มนุษย์ยังคงอยู่รอดและสืบทอดสายพันธุ์ต่อไป) หรือการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและสังคมได้ดี (อย่างที่ได้เห็นในการทดลองของแฮร์รี่ ฮาร์โลว์ … การสัมผัส ความใกล้ชิด ความผูกพันจะทำให้ตัวเราและคู่รักสามารถปรับตัวให้เข้ากันได้ … และก่อให้เกิดพัฒนาการด้านความรักตามมา)

“เพราะมนุษย์คือสัตว์สังคม มนุษย์ต้องการเพื่อน ต้องการคู่ชีวิตที่มีความรักให้แก่กันและอยู่ด้วยกันไปตลอดชีวิต…” - Nubeever



ความรัก อารมณ์ และความสัมพันธ์ นั้นเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนในทางจิตใจที่สังเกตได้ยาก เพราะไม่มีตำราใดๆที่จะบ่งบอกชัดเจนว่าหากเกิดแบบนี้ เขากำลังคิดอะไร จึงเกิดคำถามโลกแตกมากมายอาทิเช่น “เขาจะชอบเราไหม?” “แบบนี้ เขาเรียกว่าความรักหรือเปล่า?” แต่สิ่งๆหนึ่งที่เราสามารถสังเกตได้หากเรามีการสัมผัสกับใครสักคนก็คือความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและจิตใจที่เป็นสุขค่ะ อย่างเช่น เวลาที่เรากอดคนในครอบครัว คนในครอบครัวดูแลเราด้วยความรัก เราจะรู้สึกได้เองว่าเรารู้สึกอุ่นใจ มีความสุข แต่มันอาจจะไม่ชัดเจนหากเกิดในทางชู้สาว อาจารย์จึงได้ยกตัวอย่างขึ้นมาคือการสัมผัสด้วยการสบตาและการจูบ (เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับอาจารย์เอง ฮาๆๆๆๆๆ) เพื่อให้เราได้เรียนรู้ผลของการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการเกิดสกินชิพเกิดขึ้นค่ะ

“เมื่อมนุษย์เราได้สบตากับคนที่เรารัก สมองจะหลั่งฮอร์โมนโดปามีนออกมา และทำให้เรามีความสุข … เมื่อคุณจูบ อัตราการเต้นของหัวใจจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากสภาวะปกติ และระดับออกซิเจนในร่างกายจากการสูดหายใจก็จะเพิ่มขึ้น 20 เท่า รวมถึงระดับความดันโลหิตที่จะเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ผลที่ตามมาก็คือคุณจะรู้สึกได้ถึงการเต้นรัวของหัวใจและรู้สึกเหมือนขาดอากาศหายใจ ทำให้คุณอาจจะมึนและทำให้คิดว่าคุณกำลังตกหลุมรักเขาหรือเธออยู่ …” – โทมินจุน





ย้อนไปที่เหตุการณ์จูบ 15 วินาทีนางฟ้าค่ะ การสกินชิพของอาจารย์คือการสบตาและการจูบ ในเวลานั้นคือเวลาที่เขามีความสุข จินตนาการของเขาย้อนกลับไปยังที่ๆเกิดความรักของเขากับเด็กสาวอีฮวาเจ้าของปิ่นแก้วเมื่อ 400 ปีก่อน (ซึ่งก็คือชอนซงอีในชาตินี้) การจูบครั้งนี้ทำให้ชอนซงอีรู้ว่าเธอไม่ใช้ต้นไม้หรือชามกระเบื้องอะไรก็แล้วแต่สำหรับโทมินจุน (ซึ่งตรงกับ Love Effect ข้อที่สอง) และก็เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านความคิดและความสัมพันธ์ด้วยกันทั้งคู่ในเวลาต่อมา (ซึ่งตรงกับ Love Effect ข้อที่หนึ่งและสาม)

สุดท้ายนี้ ลองกลับไปดูฉากๆนี้พร้อมๆกับคิดตาม Lecture Class เรื่องนี้ดูนะคะ เพราะสิ่งที่ทำให้บีได้รับรู้จากการสอนของ Professor ท่านนี้คือ “ศาสตราจารย์โทมินจุนเป็นคนปากไม่ตรงกับใจที่มีหัวใจโรแมนติกมาก!”

ปล. อาจารย์ปิดหัวข้อ Lecture Class นี้ว่า “แต่อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็เป็นแค่การสัมผัสอย่างหนึ่งและการเล่นตลกของฮอร์โมนในร่างกายเท่านั้น ซึ่งคุณไม่ควรหลงกลมัน อย่าโดนหลอกเป็นอันขาด คุณจะต้องแยกให้ออก ระหว่างการที่หัวใจเต้นแรง … กับการตกหลุมรัก” ……… อาจารย์คะ หนูว่าอย่างที่อาจารย์เป็น เค้าเรียกว่าตกหลุมรักแบบไม่ต้องปีนขึ้นมาเลยล่ะค่ะ อิอิ ^^!

Special Thanks:
SBS “You Who came From The Stars” (Wed-Thu. 22:00 KST, SBS)

Media Cr: SBSNOW1, as tagged
Additional Source / Reference : OBEC, Biology Textbook for High-School students
Original Url : http://www.nubeever.com/2014/01/26/the-summary-of-professor-do-min-joons-lecture-class-the-psychology-of-skinship/
****Please Take Out With Full Credit , refer to Nubeever ‘s World Lifestyle Blog and put on the content’s url.****
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่