เสวนาทีวีดิจิตอล อนาคตประเทศไทย ใคร?ได้รับผลประโยชน์

งานเสวนา ทีวีดิจิตอล อนาคตประเทศไทย ใคร...? ได้รับผลประโยชน์
วันที่ 25 มกราคม 2557
ณ ห้อง 407 อาคารธรรมศาสตร์ 60 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


ภาพจาก Twitter @apetanque

------ขอนำความรู้ที่ได้ และคำตอบจากคำถามในงานมาเล่ารวดเดียวเลยนะครับ------

แน่นอนว่าทีวีดิจิตอลที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้เป็นเทคโนโลยีที่จะมาแทนที่ระบบอนาล็อกภาคพื้นดิน
ส่งสัญญาณเป็นดิจิตอลผ่านคลื่น เครื่องรับนั้นก็ต้องมี tuner ดิจิตอลเพื่อ decode สัญญาณเพื่อให้รับชมได้
ในส่วนของการถ่ายทำการผลิตนั้น ได้เปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิตอลนานแล้วเช่นกัน

ทีวีดิจิตอลในครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการปฏิรูปสื่อครั้งใหญ่ของเมืองไทย
เปลี่ยนจากระบบสัมปทานโดยรัฐควบคุมได้ มาเป็นระบบใบอนุญาต โดยกสทช.เป็นผู้จัดการ
ดังนั้นเราอาจเห็นสื่อที่มีความอิสระมากขึ้น ไม่ต้องกลัวปัญหากับคู่สัมปทานอีกต่อไป
ข้อดีของทีวีดิจิตอลนั้นมีหลายประการอย่างเช่น การใช้คลื่นความถี่ให้คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ
จากอนาล็อก 1 คลื่นความถี่ส่งได้แค่ 1 ช่อง แต่ดิจิตอลเราสามารถส่งได้มากถึง 8-25 ช่อง
รวมทั้งการเข้าถึงของประชาชนที่สามารถรับชมได้ในทุกๆที่ โดย MUX เป็นผู้ทำโครงข่ายส่งสัญญาณ
ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศและต้องปฏิบัติตามกฎของ กสทช. เพื่อให้ทุกครัวเรือนสามารถเข้าถึงได้
จากอดีตที่ฟรีทีวีเดิมตั้งเสาส่ง บอกว่าครอบคลุมแล้วแต่สัญญาณไม่ได้คุณภาพ หลายพื้นที่รับไม่ได้

โทรทัศน์เมืองไทยได้ผ่านการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ในยุคทีวีขาวดำไปสู่ทีวีสี ครั้งนั้นก็ต้องมีการปรับตัวและใช้เวลาพอสมควร
กว่าจะเปลี่ยนได้สำเร็จ ครั้งนี้ก็คงเหมือนกัน ต้องใช้เวลาเปลี่ยนผ่านจนสามารถยุติอนาล็อกได้ในที่สุด ไม่เกิน3-5 ปี

กสทช.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ ...
ได้เล่าถึงกระบวนการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอลที่ผ่านมา
นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง กสทช. ฝั่งบอร์ดกระจายเสียงได้ทำ Roadmap การเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอล
เพื่อให้เป็นแผนในการปฏิบัติงาน หลังจากนั้นจึงได้มีการเลือกเทคโนโลยีที่ใช้
ซึ่งก็เลือกระบบ DVB-T2 ซึ่งเป็นระบบของยุโรป ที่ใหม่ล่าสุดและเหมาะสมที่จะใช้ในเมืองไทย
ต่อมาคือการวางแผนคลื่นความถี่และช่องรายการซึ่งก็ได้มีการหารือกับ ITU ด้วย สรุปว่าได้ประมาณ 50 ช่อง
และก็มาถึงขั้นการทำร่าง กฎ/ประกาศต่างๆ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตอลได้อย่างสมบูรณ์

ซึ่งกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์แบ่งออกได้ 3 ประเภทคือ บริการสาธารณะ บริการธุรกิจ และบริการชุมชน
ในกฎหมายนั้น ต้องแบ่งคลื่นความถี่ให้ทีวีชุมชนร้อยละ 20 รูปแบบนั้นมีตัวอย่างแบบของอเมริกาคือเป็นช่องท้องถิ่นมีรายการของถิ่นนั้นๆ
แล้วค่อยตัดกลับไปรายการของสถานีใหญ่ ปัญหาอยู่ที่ว่าลงทุนสูง และห้ามมีโฆษณาซึ่งต้องหวังจากเงินบริจาค
ส่วนทีวีสาธารณะที่ กสทช.หวังจะให้เกิดก่อนทีวีธุรกิจนั้น หลังจากมีเสียงทักท้วงจากหลายฝ่ายทำให้ต้องพักไปก่อน!!!
ส่วนทีวีธุรกิจนั้นก็ถือว่าสำเร็จแล้ว เหลือเพียงเรื่องเล็กน้อยนิดหน่อยเท่านั้น
ซึ่งการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่นั้น ต่างประเทศใช้ Beauty Contest แต่ไทยนั้นเราใช้การประมูล (ตัวเงินสะท้อนความพร้อม)

คุณวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย...
ได้เล่าถึงข้อสังเกตขององค์กรสื่อต่อ กสทช.ในการจัดสรรทีวีดิจิตอลบริการสาธารณะ
คุณวิสุทธิ์บอกว่า "เป็นเรื่องใหญ่มาก" ที่จะให้ช่องทีวีแก่หน่วยงานใด
จะกลายเป็นทีวีเพื่อหน่วยงานรัฐ เพื่อตอบสนองกลุ่มบุคคลใดหรือไม่ เพราะการจัดสรรคลื่นครานี้ต้องตอบสนองการปฏิรูปสื่ออย่างแท้จริง

คุณอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์เปอเรชั่น...
พูดถึงภาพรวมของการเกิดทีวีดิจิตอล ถือเป็นการปฏิวัติวงการสื่อทั้งเชิงโครงสร้างและอุตสาหกรรม
Media Landscape ของวงการทีวีจะเปลี่ยนไป ซึ่งมีรายเก่า 3 ราย (ช่อง3/7/9) และรายใหม่ 14 ราย
แบ่งตามประเภทธุรกิจที่เข้ามาคือ
*ธุรกิจสิ่งพิมพ์
(ไทยรัฐ/เดลินิวส์/อมรินทร์/เนชั่น/ทีวีพูล)
เริ่มกระโดดเข้าเล่นวงการบรอดคาสต์ซึ่งมี 7 ช่อง คุณอดิศักดิ์ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
*ผู้เล่นรายเก่า
(ช่อง 3 BEC/ ช่อง 7 /อสมท)
เริ่มตั้งแต่ ช่อง 7 ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นยุค นับถอยหลังของช่อง 7 เพราะประมูลได้ช่อง HD
ช่องเดียวซึ่งก็จะเอามาออกอากาศคู่ขนานกับอนาล็อก  
ส่วนช่อง 3 ได้ครบทั้ง 3 ช่องที่ส่งประมูล น่าจับาว่าจะเป็น ผู้นำวงการโทรทัศน์ไทยในยุคใหม่
ส่วนช่อง 9 อสมท ได้ 2 ช่องคือ HD และเด็ก ซึ่งมองดูแล้วช่องเด็กเหมือนเป็นของแถมเสียมากกว่า ถ้าช่อง 9 ไม่ตัดสินใจ
ออกอากาศคู่ขนาน HD ไม่เกิน 5 ปีนับจากนี้ ช่อง 9 (โมเดิร์นไนน์)ก็คงล้มหายตายจากไป และอาจเกิดเหตุการณ์
ช่อง 3 กบฎ คืนคลื่นอนาล็อก เพื่อไม่ต้องทนจ่ายค่าสัมปทานอีก ยิ่งทำให้ อสมท รายได้น้อยลง
และถ้าไม่คิดเปลี่ยนแปลงตัวเอง อาจทำให้ อสมท ขาดทุนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้
*ธุรกิจบันเทิง
(GMM/RS/Workpoint)
ซึ่งถือว่าเป็นผู้เลนที่สำคัญซึ่งได้เปรียบในการแข่งกันด้าน content รายการ ซึ่งจะได้รายได้จากละครและรายการวาไรตี้ต่างๆ
ซึ่งต้องดูว่า อนาคตอาจถอนรายการของตัวเองออกจากฟรีทีวีเดิมทั้งหมด
*ธุรกิจสื่อสาร
(ทรู/โมโน)
อาจมีการ convergence กับธุรกิจสื่อสารของตัวเอง 3G/4G และอื่นๆ
*และ ผู้เล่นรายใหม่
(PPTV หมอปราเสริฐ/3A/Voice)

นอกจากนั้นยังเกิดการปฏิวัติเชิงโครงสร้าง แต่ก่อนช่องทีวีทำทุกอย่าตั้งแต่ตั้งเสายันทำรายการ แต่ตอนนี้ทุกอย่างมีการกระจาย
บริษัทที่เป็น content provider จะมีอำนาจต่อรองกับสถานีโทรทัศน์ต่างๆเพิ่มมากขึ้น
การเกิดทีวีดิจิตอลทำให้เกิดผลกระทบต่อเคเบิลท้องถิ่น และทีวีดาวเทียม ซึ่งอาจทำให้รายได้ลดลง รวมทั้งหนังสือพิมพ์ด้วย

อาจารย์สมเกียรติ อ่อนวิมล...
มองว่าเป็นวิกฤตของวงการโทรทัศน์ไทย เพราะจำนวนช่องมากขึ้น เวลาออกอากาศมากขึ้น บุคลาการที่ผลิตต่องมากขึ้นเช่นกัน
ดังนั้นต้องดูว่า Content ของรายการมีคุณภาพหรือไม่
วิกฤตของมันอยู่ที่ต้องสร้างบุคลาการสายนิเทศศาสตร์/วารสารศาสตร์/สื่อสารมวลชนให้มากขึ้น และต้องมีคุณภาพด้วย
เพราะจะมีบุคคลากรที่ทำงานสายอื่นที่ไม่ใช่สื่อสารมวลชนมาทำงานทีวีมากขึ้น แต่บุคคลเหล่านี้จะไม่รู้ถึงจรรยาบรรณของสื่อ
จึงอยากให้มหาวิทยาลัยต่างๆปรับเรื่องงบประมาณ รับคนเรียนเพิ่ม รับอาจารย์เพิ่ม ปรับปรุงหลักสูตรให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
อาจารย์ทิ้งท้ายว่า ณ ตอนนี้เป็นโอกาสอันดีของเด็กนิเทศฯ อาจผันตัวเป็น Freelance Studio รวมตัวผลิตรายการส่งสถานี
รับงานต่างๆเองโดยไม่ต้องไปอยู่ตามสถานีโทรทัศน์ต่างๆก็ได้

อาจารย์พิรงรอง รามสูตร อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ...
ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงของโทรทัศน์และผลกระทบในด้านต่างๆ ตั้งแต่ดัชนีชี้วัดสารสนเทศ(IDI)
ซึ่งไทยอยู่ในเส้นของกำลังพัฒนาพอดิบพอดี
ปัจจัยที่จะทำให้ค่า IDI สูงขึ้นประการหนึ่งคือการแพร่ขยายของทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน ซึ่งถือเป็นการใช้ทรัพยากรสาธารณะอย่างคุ้มค่านั่นเอง
สำหรับการออกอากาศทีวีดิจิตอลนั้นในแถบยุโรปถือว่ามีมากที่สุด รองลงมาเป็นประเทศกลุ่มอาหรับ ประเทศโซนอเมริกา และเอเชียตามลำดับ
การเปิดรับทีวีของคนไทยในปัจจุบันนั้น การชมผ่านดาวเทียม/เคเบิลมีจำนวน 10.7 ล้านครัวเรือน มากกว่าการชมทีวีอนาลอกที่มี 8.3 ล้านครัวเรือน โดย 83% จะชมแค่ฟรีทีวีหลักเดิม มีเพียงแค่ 17 %ที่จะชมรายการช่องเคเบิลดาวเทียม
อาจารย์ได้พูดถึงกรณี Must carry อย่างกรณีฟุตบอลยูโรที่เราต้องหาหนวดกุ้งมาเพื่อดูบอล ซึ่งอาจารย์ย้ำว่าไม่ว่ายังไงก็ตามช่องทีวีดิจิตอล
ต้องออกอากาศทุกแพลตฟอร์ม เรื่องต่อมาคือ Digital Dividend หรือคลื่นที่เหลือหลังจากการคืนคลื่นอนาล็อกนั้น ในต่างประเทศนำมาทำ
เครือข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สาย รวมทั้งเครือข่ายเตือนภัย แต่ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องความถี่ 700 MHz ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นเช่นไร
อีกเรื่องนึงคือ Value Chain ห่วงโซ่ทางธุรกิจจะแตกต่างจากทีวีอนาล็อกเดิมซึ่งเป็น monopoly ถือเป็นการสลายห่วงโซ่เดิม
รายได้โฆษณาจะกระจายตัวและอาจมีการอัพเกรดค่าตัวขึ้น
รวมทั้งแผน Switchover ในเรื่องคูปอง ซึ่งอาจารย์บอกว่าสามารถนำไปลดราคาเครื่องทีวี/กล่อง set top box หรือเสาอากาศก็ได้
มีอยู่ประเด็นนึงคือ ทีวีดิจิตอลทำให้มีเสรีภาพในการนำเสนอมากขึ้น ในสไลด์มีภาพ...
เหนือเมฆ 2 -- สองตอนสุดท้ายหายไป กับ ตาดูดาว เท้าติดดิน -- อดฉายเพราะรัฐประหาร
คนฮาทั้งห้อง

ต่อไปเป็นคำตอบจากงานเสวนาทั้งคำถามที่ท่านฝากถามในกระทู้นี้(อาจถามไม่หมด)และบุคคลอื่นในงานครับ
ขออนุญาตเล่าสรุปนะครับ

มีคนถามว่าเรื่องสัดส่วนเม็ดเงินโฆษณาจะเป็นเช่นไร คุณอดิศักดิ์อธิบายว่า อีกสัก 2-3 ปีโฆษณาทางทีวีดิจิตอลถึงจะขยายตัว
เพราะต้องรอการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม รวมทั้งเป็นโอกาสในการวางเม็ดเงินโฆษณาเพราะสามารถเลือก Segment ให้ตรงกับเป้าหมาย
ได้มากขึ้น จากเดิม ช่อง 3 ช่อง 7 มองไม่ออกว่า Segment ของช่องคืออะไร
สำหรับภาวะผูกขาดของวงการทีวีน่าจะหายไปภายใน 2-3 ปี แต่ละช่องอาจมีกลยุทธ์เอา content ในช่องดาวเทียมมาช่วยเสริมได้

**คำถามเรื่อง Must Carry กสทช.ธวัชชัยบอกเลยว่ายังไม่ชัดเจนครับ
ในอดีตคนเอาสัญญาณขึ้นคือแต่ละช่องทำเอง ในส่วน 24 ช่องในกลไกการตลาดถือว่าเป็น access / Premium program
ยังไงแต่ละแพลตฟอร์มก็ต้องเอาไปออก ในความจริงนั้น ตัวแพลตฟอร์มน่าจะเป็นคนจ่ายเงินค่านำสัญญาณขึ้น
สำหรับช่องสาธารณะ กสทช. อาจจะรับผิดชอบค่าใช้จ่าย แต่ถ้ามันมีปัญหามาก กสทช.อาจจะจ่ายค่ายิงสัญญาณให้ทุกช่องเลย

**เรื่องเครื่องทีวีที่รองรับ ตอนนี้มีมากขึ้นและคงมีเรื่อยๆครับขึ้นอยู่กับแต่ละเจ้า สังเกตน้องดูดีและสติ๊กเกอร์ กสทช.

**เรื่องอัพเกรดช่องจาก SD ไป HD รอการคืนคลื่นส่วนที่เหลือครับ อาจทำ 4K เลยก็ได้
(เป็นเรื่องของอนาคตน่ะครับ ถึงตอนนั้นมี 8K แล้ว-คหสต.)

**เรื่องโฆษณาแฝง กสทช.พยายามจัดการอยู่ มีการทำประกาศเพื่อควบคุมโฆษณาต่างๆรวมทั้งโฆษณาแฝง
ตัวอย่างเช่นกรณีทรูวิชั่นส์ ที่เวลากดเปลี่ยนช่องในแถบข้อมูลมีโฆษณาติดอยู่ กสทช.จัดการไปแล้ว

**ส่วนเรื่องประชาสัมพันธ์ท่านก็ยอมรับว่ายังไม่เต็มที่แต่ก็จะพยายามทำให้เต็มที่ด้วยความร่วมมือหลายฝ่าย
(เรื่องใช้งบ PR ให้คุ้มค่าได้พูดให้ท่านไดยินแล้วนะครับ)

มีเรื่องมาตรา 37 พรบ.ประกอบกิจการฯ กสทช.และผู้ร่วมเสวนาเห็นว่าอยากให้มีการตั้งองค์กรเพื่อตรวจสอบกันเอง
มากกว่าให้อำนาจ กสทช. แล้วให้ตัดสินเหมือนศาล

เรื่องสัดส่วนรายการ กสทช.ยอมรับว่าเส้นแบ่งระหว่างข่าวสาร สาระ บันเทิง ยังไม่ชัดเจน ต้องตามแก้ครับ

มีคนถามว่า กสทช.จะทำยังไงถ้ามีรายที่ขาดทุน - กสทช.ธวัชชัยตอบว่า
การเจ๊งเป็นสิ่งที่ดีครับ เป็นการคัดเลือกโดยธรรมชาติ
เสียงฮาดังทั้งห้อง

ปิดท้ายครับ อาจารย์สมเกียรติฝากว่า
ขอให้นิเทศศาสตร์ยังคงสาขาวิชา "ฟิล์ม" ไว้ แม้ว่าจะเชยหรือล้าสมัยแต่ยังมีคุณค่าและความงดงาม

......................................

อาจมีบางประเด็นที่ตกไป หรือบางคำถามที่ผมไม่ได้ถาม ต้องขออภัยจริงๆนะครับ
แต่ไม่ว่ายังไง คนที่ได้ประโยชน์ก็คือประชาชนคนดูอย่างๆเราๆทั้งหลายครับ มีทางเลือกให้ชมอีกมากมายหลากหลายช่อง

ร่วมเกาะติดการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของวงการทีวีเมืองไทยกันต่อไปนะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่