การเปิดเพลงและลิขสิทธิ์ของเพลง

รูปแบบของร้าน- ถ้าผม เปิดร้านอาหารซักร้านหนึ่งขึ้นมา ลักษณะเป็นห้องแถวมีโต๊ะ อยู่บนฟุตบาทด้วย อยากสอบถามดังนี้ครับ
1.ถ้าเปิดเพลง จากแผ่นแท้ เพื่อให้ลูกค้าฟัง โดยไม่คิดค่าบริการเพิ่ม ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของเพลง หรือไม่
2.ถ้าเปิดเพลงจาก Youtube โดยไม่คิดค่าบริการเพิ่ม ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของเพลง หรือไม่
3.การจ้างนักดนตรีมาเล่นดนตรีสด โดยไม่คิดค่าบริการเพิ่ม จะถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของเพลง หรือไม่

ในกรณีที่ ถือว่าผมละเมิดลิขสิทธิ์ของเพลง จะทำอย่างให้ถูกกฏหมายได้อย่างไร และ มีค่าใช้จ่ายอย่างไรครับ

ขอบคุณครับ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 2
ลองอ่านเป็นแนวทางดูครับ ผมเปิดร้านอาหาร เปิดเพลงให้ลุกค้าฟัง ลิขสิทธ์เข้ามาก็ เอาว่าจะเอาเอกสารอันนี้ให้เขาดู
ผมเคยให้เอกสารนี้ กับคนรู้จัก เขาเล่าให้ฟังว่า พอให้ดู แล้วลิขสิทธ์บอกว่าหัวหมอหรอ........เขาตอบว่า ถ้าคุณหมอมา ผมก็หมอไป ไปหากินกับคนที่ไม่รู้เถอะ คนที่รู้ก็เว้นไว้และกัน แล้วพวกเขาก็ไปอย่างเงียบๆๆ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8220/2553


โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยประกอบกิจการค้าขายอาหารตามสั่งและเครื่องดื่ม จำเลยเปิดแผ่นวีซีดีเพลง “กำลังใจที่เธอไม่รู้” อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นหรือดัดแปลงขึ้นให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยฟัง   ไม่ปรากฎว่าจำเลยเปิดเพลงเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าฟังเพลงโดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนหรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด     การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าว ซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง




* การจับกุมคดีลิขสิทธิ์ตามพรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เป็นเรื่องส่วนตัว เป็นความผิดอันยอมความได้ อยู่ดี ๆ ตำรวจจะเดินเข้าไปจับกุมคนละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น ซีดีเถื่อน หรือ เช่นกรณีนี้ไม่ได้ เจ้าของลิขสิทธิ์จะต้องไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และมอบคดีให้พนักงานสอบสวนก่อน

* หลังจากนั้นตำรวจจึงจะเข้าจับกุมได้ ตัวแทนลิขสิทธิ์จะมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด เช่น การล่อซื้อ ไม่สามารถทำได้ และถ้าล่อซื้อถือว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ไม่ใช่ผู้เสียหาย เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกามาหลายคดีแล้ว


* การจับกุมหรือการค้นต้องมีหมายศาล จะทำแบบลุแก่อำนาจไ ม่ได้ กรณีนี้ ถือว่าการจับกุมไม่ชอบ จะอ้างว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าก็ไม่ได้ และไม่ว่าพวกตัวแทน หรือตำรวจขอเข้าจับกุม จึงไม่ถือว่ามีการกระทำความผิด ตำรวจเข้าไปจับกุมถือว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

*** จะเป็นความผิดซึ่งหน้า ต้องดูที่ลักษณะของการกระทำ ไม่ใช่ดูที่ตัวผู้ล่อเล่นว่าเป็นตำรวจหรือไม่เป็นตำรวจ ความผิดซึ่งหน้า หมายถึง ความผิดซึ่งเห็นกำลังกระทำ หรือพบในอาการใด ซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าได้กระทำผิดมาแล้วสดๆ (ดูประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 80)

*** ดูที่ประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญามาตรา 79 ราษฎรก็สามารถจับความผิดซึ่งหน้าได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ แต่ต้องเป็นความผิดบางประเภทเท่านั้น (คือความผิดที่บัญญัติไว้ท้ายประมวลป.วิอาญา) เช่น ฐานฆ่าคนตาย เป็นต้น แต่ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ใช่ความผิดท้ายประมวลฯ ราษฎรจึงจับไม่ได้แม้เห็นความผิดเกิดขึ้นซึ่งหน้า

*** ข้อยกเว้น จะจับโดยไม่มีหมายจับก็ได้ เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า
การละเมิดลิขสิทธิ์ต้องเกิดซึ่งหน้าตำรวจเท่านั้นเช่นนั่งไลท์แผ่นต่อหน้าต่อตาตำรวจ ตำรวจจึงจะมีอำนาจจับกุม (และต้องมีการแจ้งความแล้ว ถ้ายังไม่แจ้งความก็ไม่มีสิทธิ์จับในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์) ถ้าการละเมิดเกิดต่อหน้าตัวแทนบริษัท (หน้าม้า) แม้จะถ่ายรูปไว้ ถ้าขณะนั้นตำรวจไม่ได้เห็นด้วย (ตำรวจอยู่นอกร้าน-มาทีหลัง) ก็ไม่มีอำนาจจับกุมครับ

- จำไว้นะครับ หากโดนลักษณะนี้ ขอหมายค้นก่อนครับ หากไม่มีไล่พวกมันกลับครับ หากถูกเชิญไปโรงพัก ก็ไม่ต้องไป อย่าขึ้นรถมันเด็ดขาด หากตำหนวดพูดมาก ขู่มาก บอกไปว่า คุณไปออกหมายเรียกมา . . . จบ . . . . หยุดการสนทนาทุกชนิด เดินหน้าทำมาหากินต่อไป...

ก่อนจากขอประชาสัมพันธ์แถมอีกนิด ....

1. พี่น้องประชาชนที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าทางทรัพย์สินทางปัญญาควรมีความเข้าใจ และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ รวมทั้งแนวทางการป้องกันผู้ที่แอบอ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หาผลประโยชน์ การตรวจสอบเบื้องต้นเพื่อป้องกันการแอบอ้าง ในการปฏิบัติการทุกครั้ง เจ้าหน้าที่จะต้องแสดงหมายค้นที่อนุมัติโดยศาลจังหวัด ผู้ประกอบการควรตรวจสอบความถูกต้องของหมายค้นให้ละเอียด

2. ต้องมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นสัญญาบัตร ที่มีชื่อระบุในหมายค้น ผู้ประกอบการสามารถอนุญาตให้เฉพาะคนที่มีชื่อในหมายค้นเข้าตรวจสอบภายในร้าน ผู้ที่ไม่ปรากฎชื่อในหมายค้นไม่ควรให้เข้าไป

3. สำหรับแก๊งมิจฉาชีพจับลิขสิทธิ์นั้นจะไม่มีหมายค้นจากศาลฯ มักจะนำใบบันทึกประจำวันมาแอบอ้าง ขอให้ผู้ประกอบการ ที่มีความเสียงต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ จงปฏิเสธการตรวจจับเมื่อไม่มีหมายค้น อย่างไรก็ตาม การละเมิดลิขสิทธิ์นั้นสามารถที่จะยอมความได้ แต่ต้องยึดหลักความถูกต้อง หากมีการเรียกค่าปรับมากเกินเหตุ เพื่อเป็นข้อต่อรองมิให้ดำเนินคดี เบื้องต้นควรยื่นขอประกันตัวออกมาเสียก่อน แล้วให้ผู้พิพากษาตัดสินในชั้นศาล อย่าไปยอมความอย่างเด็ดขาด

4. ขอให้ทุกท่าน หนักแน่นเข้าไว้ " ไม่มีหมายศาล ไม่ให้ค้น "

ถ้าไม่มีหมายค้นมา ให้ไล่มิจฉาชีพเหล่านั้นออกไป ไล่ไม่ไป โทร 1195

กองบังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

5. กรณีนี้ โดนจับยัดคุกตาราง ก็ต้องประกันตัวมาสู้คดี ก็จัดหนักให้ตำรวจชุดที่ไปจับกุม (ไปขอร้อยเวร ขอถ่ายใบบันทึกการจับกุม) จากนั้นก็ตามนี้ครับ

ส่ง จดหมายร้องเรียนขอความเป็นธรรม แบบ ems หรือ ลงทะเบียนมาที่หน่วยงาน ดังต่อไปนี้

1 สำนักงานจเรตำรวจ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 4 เขตหลักสี่ แขวงทุ่งสองห้อง กรุงเทพฯ 10210 โทร. 02-142-1153

2 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
เลขที่ 361 ถ.นนทบุรี - สนามบินน้ำ ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 หรือ ตู้ ปณ. 100 เขตดุสิต กทม. 10300

3 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคารบี ชั้น 5 เลขที่ 120หมู่ที่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210

4 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ
99 หมู่ 4 อาคารซอฟต์แวร์ พาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120

หมายเหตุ : ข้อความข้างต้น ผมไม่ได้คิดเองหรอกครับ ผมนำมาจากผู้รู้ นักวิชาการ อาจารย์ ผู้คว่ำหวอดในวงการลิขสิทธิ์ (ขอยกเครดิตให้ท่านเหล่านี้) จริงๆ แล้วก็เหมือนดาบสองคม อยู่ที่การนำไปใช้ หากเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จริง จับตามขั้นตอนกฎหมายจริง ปรับในชั้นศาลจริง อย่างนี้สนับสนุนครับ



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8220/2553
พนักงานอัยการจังหวัดระยอง
โจทก์

นางสุรินทร์ คำพวง
จำเลย

ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31, 70 วรรคสอง

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยประกอบกิจการค้าขายอาหารตามสั่งและเครื่องดื่ม จำเลยเปิดแผ่นวีซีดีเพลง “กำลังใจที่เธอไม่รู้” อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นหรือดัดแปลงขึ้นให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยฟัง ไม่ปรากฎว่าจำเลยเปิดเพลงเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าฟังเพลงโดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนหรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าว ซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

________________________________

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 28, 29, 30, 31, 69, 70, 75, 76 ริบโทรทัศน์สี เครื่องเล่นซีดี ดีวีดี และให้แผ่นซีดีเพลงจำนวน 19 แผ่น ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ของกลางตกเป็นของผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ของกลางคืนให้แก่เจ้าของ

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง เห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน...” ความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องเป็นการเผยแพร่งานนั้นต่อสาธารณชน “เพื่อหากำไร” ซึ่งหมายความว่า กำไรนั้นหากจำเลยได้มาหรือจะได้มาจะต้องเกิดจากการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น แต่ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องได้ความว่า จำเลยประกอบกิจการค้าขายอาหารตามสั่งและเครื่องดื่ม จำเลยเปิดแผ่นวีซีดีเพลง “กำลังใจที่เธอไม่รู้” อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นหรือดัดแปลงขึ้นให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยฟัง ไม่ปรากฏว่าจำเลยเปิดเพลงเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ฟังเพลง โดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลง หรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่