"คืนทุนเร็ว กำไรสูง" โมเดลลงทุน GUNKUL

กระทู้สนทนา
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

  

“สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย” เอ็มดีใหญ่ “กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง” สลัดอาชีพเล่นหุ้นชั่วคราว มุ่งหน้าสานฝัน 5 ปี ขึ้นแท่น Holding Energy Company

21.45 บาท คือ “ต้นทุนสูงปริ๊ด” ในการเก็บ หุ้น กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง หรือ GUNKULของ “ชายวัย 42 ปี” “บูรณ์-สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย” กรรมการผู้จัดการ “กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง” นับตั้งแต่ “บูรณ์” เข้ารับตำแหน่งเอ็มดีใหญ่ เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2556 ซึ่งเป็นวันที่ราคาหุ้นทำสถิติซื้อขายสูงสุดระดับ 39 บาท เขาได้ทยอยซื้อหุ้น GUNKULอย่างต่อเนื่อง

โดยราคาต่ำสุดที่ “บูรณ์” ทำได้ คือ 10.20 บาทต่อหุ้น (ตัวเลข ณ วันที่ 10 ม.ค.2557) ปัจจุบันหุ้น GUNKUL ซื้อขายเฉลี่ย 10.30 บาท ล่าสุดบล.ธนชาต ออกบทวิเคราะห์แนะนำ “เก็งกำไร” หุ้น GUNKUL ราคาเป้าหมาย 11.70 บาท ขณะที่ “กัลกุล ดำรงปิยวุฒิ์” เจ้าของ “กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง” มีความเชื่อลึกๆในใจว่า ไม่นานเกินรอราคาหุ้นGUNKULจะทะยานแตะ 30 บาทอีกครั้ง

“สมบูรณ์” มีประสบการณ์เล่นหุ้นมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี จากทุนตั้งต้น 200,000 บาท เปลี่ยนรูปแบบการลงทุนมาแล้วหลากหลาย สุดท้ายตัดสินใจเลือกลงทุนแนววีไอ ตามรอย “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ผู้เผยแพร่แนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่าคนแรกในประเทศไทย “บูรณ์” มีความฝันอยากเห็นพอร์ตลงทุนของตนเองพุ่งทะยานจาก “หลักสิบล้านบาท” เป็น “ร้อยล้านบาท”

“ผมเริ่มล้างพอร์ตมาตั้งแต่ปี 2556 หลังเศรษฐกิจและการเมืองไทยส่อแววไม่แน่นอน หากยังฝืนลงทุนต่อไป “ความเสี่ยง” อาจมาเยือนได้ สภาพตลาดทุนที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วตามปัจจัยต่างๆ ทำให้ตลาดหุ้นมีความหวือหวา และไม่นิ่ง ฉะนั้นเป็นเหตุให้วันนี้ไม่มีหุ้นเหลือในพอร์ตสักตัว” สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย เล่าให้ฟังด้วยสีหน้าจริงจัง

อีกอย่างไม่ค่อยมีเวลาดูหุ้นแล้ว ถามว่าจะเลิกเล่นหุ้นเลยหรือไม่ เขาหัวเราะก่อนตอบสั้นๆว่า สำนักงานก.ล.ต.จ้องเล่นงานผมอยู่ อนาคตจะหวนคืนวงการหรือไม่ “บูรณ์” ส่งความ เงียบเป็นคำตอบสุดท้าย

วันนี้ขอทุ่มน้ำหนักการลงทุน ทั้งแรงกายและแรงใจไปให้ “กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง” บุรุษวัยกลางคน ดีกรีปริญญาโท สาขาบัญชีบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกเจตนารมณ์ของตนเอง

เขาย้อนประวัติส่วนตัวสั้นๆว่า ผมเริ่มทำงานมาตั้งแต่อายุ 15 ปี ผ่านมาแล้วหลากหลายอาชีพ เริ่มต้นตั้งแต่ช่วยที่บ้านขายปลาเค็ม ก่อนจะมาเป็นกุ๊ก ด้วยความที่เป็นเด็กเกเรชอบชกต่อยกับพี่น้องในบ้านทุกวัน ครอบครัวจึงดัดนิสัย ส่งไปอยู่บ้านญาติที่ทำธุรกิจภัตตาคารอาหารจีนแถวฝั่งธน

อายุไม่ถึง 20 ปี เรามีเงินเก็บ “หลักหมื่นบาท” ช่วงนั้นน่าจะปี 2532 มีโอกาสยึดอาชีพนักเคาะกระดานหุ้น เรียกว่าซื้อขายหุ้นตามคำสั่งของลูกค้า ได้ค่าจ้างวันละ 150 บาท นั่นหละ คือ จุดเริ่มต้นของการก้าวสู่สังเวียนตลาดหุ้นแบบ “รู้ลึกรู้จริง” แต่ทำได้สักพักรู้สึกอยากแสวงหาความท้าทายใหม่ๆ จึงผันตัวไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนเด็กมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่ง ช่วงนั้นเงินเก็บขยับเป็น “หลักแสนบาท”

ผมเข้ามาทำงานใน “กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง” ตามคำชักชวนของ “เฮียกัลกุล” เริ่มทำงานตั้งแต่บริษัทกำลังปรับโครงสร้างหนี้ เงื่อนไขการทำงานตอนโน้น คือ คุณต้องลดเงินเดือนเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ จาก 150,000 บาทต่อเดือน “เจ๋งมั้ย” เขาสถบพร้อมเปล่งเสียงหัวเราะ “ผมยอมหั่นเงินเดือนตัวเอง เพราะเล็งเห็นโอกาสที่ดีของบริษัท”

“เอ็มดีใหญ่” เล่าถึงภารกิจสำคัญในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2557-2562) ให้ฟังว่า โจทย์ใหญ่ที่ต้องมุ่งหน้าไปให้ถึง คือ การขึ้นแท่นเป็น Holding Energy Company ในฐานะที่บริษัทเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนครบวงจร เราจึงต้องกระจายการลงทุนไปในกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น เพื่อรองรับแนวคิดการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบพลังงานและสาธารณูปโภคในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ และน้ำ โดยผ่านระบบเชื่อมโยงไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid) ในอนาคต “เราพร้อมแล้ว” เขายืนยัน

แต่ตอนนี้ขอให้น้ำหนักการลงทุนต่างประเทศในประเทศเมียนมาร์เป็นหลัก โดยจะเน้นลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง เพราะจะคืนทุนค่อนข้างเร็วๆ เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ส่งผลให้เรามีรายได้เข้ามาเร็วขึ้น บริษัทจะยึดสเป็คการลงทุนแบบนี้เป็นหลัก พูดง่ายๆ อะไรที่ “คืนทุนเร็ว ให้ผลตอบแทนสูง” เราชอบมาก หัวเราะ

ส่วนการลงทุนในประเทศยังคงล้อไปกับนโยบายของกระทรวงพลังงานที่สนับสนุนการลงทุนในโครงการพลังงานทดแทน เราเองจะโฟกัสที่พลังงานแสงแดดและลมเป็นหลัก บริษัทเตรียมใส่เงินลงทุนในส่วนที่บริษัทต้องจ่ายเองปีละ 1,200 ล้านบาทต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี (2557-2559) รวมประมาณ 3,600 ล้านบาท

แบ่งเป็นเงินกู้ประมาณ 3,000 ล้านบาท จากมูลค่าโครงการรวมประมาณ 4,200 ล้านบาท นักลงทุนไม่ต้องห่วงตัวเลขอัตราหนี้สินต่อทุน หรือ D/E ตอนนี้ยังมีระดับต่ำเพียง 0.5 เท่าเรายังสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างๆ ได้มากถึง 5,000-6,000 ล้านบาท

“สมบูรณ์” เล่าต่อว่า อีกหนึ่งแผนงานสำคัญของเรา คือ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2557-2559) บริษัทต้องมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 300 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นในประเทศ 150 เมกะวัตต์ และต่างประเทศ 150 เมกะวัตต์ โดยในประเทศจะเป็นพลังงานประเภทแสงแดดและลม ส่วนในต่างประเทศจะเป็นโรงไฟฟ้าแก๊ส ที่ทำได้เร็วที่สุดคงเป็นโรงไฟฟ้าแก๊ส 150 เมกะวัตต์ รับรองเราจะงานมีที่อื่นด้วยไม่เฉพาะที่ประเทศเมียนมาร์เท่านั้น

สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในอนาคตอย่างน้อยจะต้องมี 150 เมกะวัตต์ โครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ไม่น้อยกว่า 28 เมกะวัตต์ ไม่รวมกับ Solar Rooftop ซึ่งคาดว่า ในไตรมาส 1/2557 เราจะได้รับงานรับเหมาก่อสร้าง 14 เมกะวัตต์ แต่ในส่วนที่บริษัทเป็นเจ้าของเองประมาณ 3 เมกะวัตต์

ถามถึงทิศทางผลประกอบการในปี 2557 เขาเล่าโจทย์ใหญ่ของ “เฮียกันกุล” ว่า บริษัทต้องมีรายได้เติบโตไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่มีรายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท เราชื่อว่ารายได้ในปีนี้จะแตะระดับ 3,000 ล้านบาท เผลอๆอาจไปไกลถึง 3,500 ล้านบาท

รายได้ปีนี้จะมาจากส่วนใดบ้าง เขาอธิบายว่า เราจะทยอยรับรู้รายได้จากงานที่ค้างส่งมอบเมื่อปี 2556 ประกอบด้วย งานก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ของบริษัท บางจาก โซลาร์เอ็นเนอร์ยี่ (ชัยภูมิ1) จำกัด และบริษัท บางจาก โซลาร์เอ็นเนอร์ยี่ (นครราชสีมา) จำกัด ขนาด 12.5 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โครงการ มูลค่า 700 ล้านบาท

งานติดตั้งระบบไฟฟ้ารวมถึงการจัดหาอุปกรณ์ในการติดตั้งระบบไฟฟ้าสำหรับโรงผลิตปูนซีเมนต์ โรงที่ 4 ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) มูลค่า 367 ล้านบาท และงานผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือ Solar PV Rooftop มูลค่าประมาณ 600-700 ล้านบาท และอื่นๆ อีกประมาณ 400 ล้านบาท หากคิดเป็นมูลค่างานในมือ หรือ Backlog จะสูงถึงประมาณ 2,200 ล้านบาท โดยจะรับรู้ในปีนี้ทั้งหมด

ขณะเดียวกันในปี 2557 เรายังจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจพลังงานทดแทนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่บริษัทเข้าไปก่อสร้างและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในนามบริษัทย่อยจำนวน 27 เมกะวัตต์ ประมาณ 260-270 ล้านบาทต่อปี เป็นระยะเวลา 10 ปี

ปัจจุบันบริษัทยังคงเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมห้วยบง โดยโปรเจกต์แรกเราร่วมลงทุนกับ บริษัท พัฒนาพลังงานลม จำกัด หรือ WED ขนาด 60 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 70 เปอร์เซ็นต์ ล่าสุดได้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 1 สัญญา กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์

ส่วนการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 2 สัญญา กำลังการผลิต 8 และ 2 เมกะวัตต์ ตามลำดับ คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในกลางปี 2557 สำหรับการลงทุนโรงไฟฟ้าจากเครื่องยนต์ (Gas Engine) ขนาด 50 เมกะวัตต์ ที่ประเทศเมียนมาร์ เราจะดำเนินการเฟส 2 ทันที หากเจรจากับรัฐบาลพม่าสำเร็จเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราซื้อขายไฟฟ้า จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 1 บาทกว่า หรือ 0.34 เซ็นต์ต่อหน่วย

อนาคตเรามีแผนจะเข้าไปลงทุนโครงการโรงไฟฟ้า Gas Engine ในประเทศญี่ปุ่น หลังพบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นและเริ่มไม่เพียงพอ หากรัฐบาลญี่ปุ่นดำเนินการตามแผนลดการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ หลังได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงจากกรณีโรงไฟฟ้าฟูกุชิมา

ขณะเดียวกันเรายังสนใจจะเข้าไปลงทุนในประเทศเมียนมาร์เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม จำนวน 1,000 เมกะวัตต์ ตอนนี้ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ(MOU) กับทางรัฐบาลพม่าเรียบร้อยแล้ว ใน 5 รัฐสำคัญ เช่น ทวาย คะฉิ่น และมอญ เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาอัตราความเร็วของลม และพื้นที่โดยรอบ “สมบูรณ์” เล่าข่าวดีเรียกเรตติ้งหุ้นGUNKUL ปิดท้ายบทสนทนา

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส เชื่อว่า ในปี 2557 “กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง” อาจมีรายได้ประมาณ 3,428 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิประมาณ 450 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.68 บาท

เนื่องจากบริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้า Gas Engine ในประเทศเมียมมาร์เต็มทั้งปี ขณะที่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง EPC ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นเราแนะนำถือลงทุนหุ้น GUNKUL ราคาเป้าหมาย 15.83 บาท
บทวิเคราะห์ยังระบุอีกว่า หากพิจารณาจากอัตราหนี้สินต่อหุ้น หรือ D/E ณ สิ้นงวดไตรมาส 3/2556 ที่อยู่ระดับต่ำเพียง 0.5 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่สูงถึง 2 เท่า ถือว่าไม่น่าเป็นห่วง

บริษัทยังมีเงินสดและสามารถกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้อีก โดยโครงการหลักของบริษัทจะเริ่มลงทุนในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมห้วยบง ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จเชิงพาณิชย์ในช่วงต้นปี 2558 เป็นต้น

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่