ใครแต่งเพลงกีฬาสี ?

ใครแต่งเพลงกีฬาสี ?
# นายอุ๊ย!!

เมื่อวานนี้ผมขึ้นรถตู้กลับบ้าน บังเอิญได้ยินน้องผู้หญิงที่นั่งข้าง ๆ พูดถึงงาน "กีฬาสี" เลยทำให้นึกถึงเรื่องสมัยเด็ก ๆ ขึ้นมา

"กีฬาสี" เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ผมชอบมาก ที่จริงก็ชอบทุกกิจกรรมที่ได้หยุดเรียน ผมเองก็ไม่ค่อยมีความสามารถด้านการกีฬาเท่าไร ตัวผอม ๆ แคระแกร็น ไปชักเย่อก็ไม่มีแรง เกะกะคนอื่นเขา แข่งกินวิบากก็กินไม่ไหว เล่นแชร์บอลก็ตัวเตี้ย วิ่งเปรี้ยวก็วิ่งช้า (แต่ถ้าแข่งเหม็นเปรี้ยวอาจชนะ) วิ่งสามขาก็ไม่ได้มีความสามัคคีกับใคร จะไปเป็นดรัมเมเยอร์ก็หน้าตาไม่ดี ไปเล่นดนตรีวงโย ฯ ก็ตีจังหวะผิด

บางคนอาจถามว่า "สรุปแล้ว เมิงไม่มีอะไรที่เป็นประโยชน์กับกีฬาสีเลยใช่มั้ย"

คำตอบคือ เกือบใช่ครับ แต่มีส่วนงานหนึ่งที่ผมคิดว่าผมทำได้ดี นั่นคือ "การเป็นกองเชียร์"

ผมเองพบพรสวรรค์ด้านการสันทนาการครั้งแรกตอนประมาณ ป.4 ตอนนั้นจำได้ว่ามีกีฬาสี ผมก็เชียร์อยู่บนสแตนด์ ตอนนั้นกลองตีสามช่ามันส์มาก เลยเผลอออก step แรงไปหน่อย ยังจำสายตาของครูประจำสีที่มองมาได้เลย คือมองด้วยหางตาอย่างเหยียดหยามมากครับ ประมาณว่า "เมิงเป็นอะไร"

ตอนนั้นบี้ก็บี้เหอะ เจออุ๊ยเข้าไปหน่อย อาจจะตกใจ ณ บัดนั้นเลยก็ได้

พอโตขึ้น ผมก็ยังวนเวียนอยู่ในวงการนี้ จุดสูงสุดของชีวิตน่าจะเป็นแกนสันทนาการตอนสมัยมหาวิทยาลัย ตอนนั้นทำทั้งงานคณะ งานค่าย เรียกได้ว่ามีงานรื่นเริงที่ไหน ต้องมีอุ๊ยที่นั่น การเรียนไม่เคยทำให้กิจกรรมเสียเลยแม้แต่นิดเดียว

พูดถึงกีฬาสี ก็มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ยังคงค้างอยู่ในใจมาจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือ


"ใครเป็นคนแต่งเพลงกีฬาสี"


ทำไมเพลงเหล่านั้นถึงเป็น Single Hit ขับร้องกันได้ทุกโรงเรียน ใครเป็นคนสอนจากรุ่นสู่รุ่น ทำไมถึงร้องกันได้ตั้งแต่เด็กประถมยันมหาวิทยาลัย ทั้ง ๆ ที่เนื้อเพลงก็ไม่ได้เปี่ยมไปด้วยความหมายหรือเร้าอารมณ์ให้ฮึกเหิมมากนัก

วันนี้ผมจะลองยกตัวอย่างเพลงกีฬาสีมาให้ทุกท่านร่วมขบคิดกัน

ถ้าพูดถึงเพลงเชียร์กีฬา เพลงแรกที่ผมนึกถึงคือ เพลง พายุ

"พายุ
พระอาทิตย์
อิทธิฤทธิ์
สีฟ้าผู้พิชิต"

เพลงนี้ถือเป็นเพลงยอดนิยม มีกีฬาสีที่ไหน ต้องมีเพลงนี้ที่นั่น

แต่เป็นเพลงที่โคตรสั้นและจบได้ห้วนมาก

สมมติว่าผมเป็นนักกีฬาตัวแทนของสี กำลังขับเคี่ยวแข่งขันกับคู่แข่งอยู่ ข้าง ๆ มีกองเชียร์ร้องเพลงให้กำลังใจ กำลังรู้สึกฮึกเหิมยิ่งใหญ่

"พายุ
พระอาทิตย์
อิทธิฤทธิ์
สีฟ้าผู้พิชิต"

แล้วทั้งสนามก็เงียบไป

อ้าว!! จบแล้วเหรอ!!

ยังไม่ทันรู้เลยว่า พายุ กับ พระอาทิตย์ เมิงมาเกี่ยวกันได้ไง แล้วอิทธิฤทธิ์นี่คือกรูมีอิทธิฤทธิ์เนี่ยนะ

กรูแค่แข่งกินวิบาก ไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น!!

เพลงนี้ยังไม่ค่อยเท่าไร แต่เพลงที่ผมฮาสุดน่าจะเป็นเพลงนี้

เพลงเย้ยฟ้า

"เย้ยฟ้า
ท้าดิน
ได้ยิน
ถึงสวรรค์
ปิดถนน
เปิดสวรรค์
เทวดา
ลงมาเชียร์"

นับเป็นเพลงที่เว่อมากกกกกก

คือเมิงแค่แข่งวิ่งเปรี้ยว ถึงกับต้องเย้ยฟ้าท้าดินเชียวหรือนี่ ถึงกับต้องอัญเชิญเทวดาลงมาเชียร์ เทวดาท่านมิต้องใส่เสื้อแบ่งเป็นสี ๆ ด้วยเหรอ

นอกจากจะฮึกเหิมแล้ว เพลงนี้ยังเป็นเพลงสะท้อนสังคมอีกด้วย เนื้อเพลงปลูกฝังค่านิยมผิด ๆ เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง คิดดู แค่เด็กประถมแข่งกีฬา เนื้อเพลงมันยังมีให้ปิดถนนเลย เด็กโตมาจะไม่ปิดถนนได้ยังไง

แต่ก็ยังดีที่เนื้อเพลงไม่ได้เป็นแบบนี้

"เย้ยฟ้า ท้าดิน ปิดสนามบิน เผาเซ็นทรัล ปิดสะพาน มัฆวานรังสรรค์ เทวดา ลงมาเชียร์"

เด็กร้องอย่างนี้นี่ซวยเลยนะ อนาคตประเทศชาติดับวูบแน่

เพลงต่อไปที่ผมงงไม่แพ้กันก็คือ เพลงนกน้อย

"เจ้านกน้อยคล้อยบินสู่เวหา
เจ้าถลาเล่นลมชมฤดี
บิน บิน ถลา ถลา เล่นลม บินล่องบินลอย
บิน บิน ถลา ถลา เล่นลม บินล่องบินลอย"

ไม่รู้คิดไปเองรึเปล่า แต่ผมรู้สึกว่าเพลงนกน้อยนี่ไม่เข้าพวกอย่างมาก เพลงเชียร์เพลงอื่นถึงจะเว่อ ๆ ไปหน่อย แต่มันก็ปลุกใจ แต่เพลงนกน้อยนี่มันอะไร เกี่ยวอะไรกับการเชียร์กีฬา น่าจะเป็นเพลงกล่อมลูกมากกว่า

ยิ่งถ้าเพลงนกน้อยมาร้องต่อเพลงอื่นนี่ยิ่งแล้วใหญ่

สมมติเอาเพลงนกน้อยมาต่อเพลงเย้ยฟ้านะ

เย้ยฟ้า!!
ท้าดิน!!
ได้ยิน!!
ถึงสวรรค์!!
ปิดถนน!!
เปิดสวรรค์!!
เทวดา!!
ลงมาเชียร์!!

เฮ้ย!! กำลังฮึกเหิมสุดขีด อะดรีนาลีน พลุ่งพล่าน

วะฮ่าฮ่า เทวดาลงมาเชียร์กรูแล้ว!!

แล้วฟิลเพลงก็เปลี่ยนไป

"เอ้า เจ้านกน้อยคล้อยบินสู่เวหา เจ้าถลาเล่นลมชมฤดี บิน บิน ถลา ถลา เล่นลม บินล่องบินลอย บิน บิน ถลา ถลา เล่นลม บินล่องบินลอย"

อารมณ์เพลงโคตรมั่วซั่วเลย ไม่รู้จะรู้สึกอยากเอาชนะ หรือ อยากโผบินอย่างนกกันแน่

เพลงต่อไปเป็นเพลงอ้อนหน่อย ๆ เพลง เค้ามาเชียร์ตัว

"เค้ามาเชียร์ตัวนะ
เออน่ะ เออน่ะ
ตัวอย่าแพ้เขานะ
เออน่ะ เออน่ะ
ถ้าแพ้เค้าโป้งตัวนะ
เออน่ะ เออน่ะ
ตัวไม่แพ้หรอกน่า
เออน่ะ เออน่ะ"


อันนี้ออกแนวรำคาญหน่อย ๆ ประมาณว่าเมิงจะพูดอะไรก็พูด กรูตอบแค่ "เออน่ะ เออน่ะ"

เพลงนี้เป็นเพลงที่ร้องง่ายที่สุดแล้วครับ เอะอะก็ "เออน่ะ เออน่ะ" อย่างเดียว ไม่ต้องจำเนื้ออย่างอื่น

เพลงนี้ก็เหมือนกัน ไม่รู้มาเชียร์กีฬาหรือว่าง้อแฟน

เพลงต่อมาเป็นเพลงที่ร้องแล้วเครียดมาก

"เหนื่อยเราไม่เหนื่อย
เมื่อยเราไม่เมื่อย
เราเชียร์ไปเรื่อย ๆ
เราไม่เมื่อย เราไม่เหนื่อย"

เพลงนี้เหมือนแต่งมาเพื่อสะกดจิตตัวเอง "กรูไม่เหนื่อย กรูไม่เหนื่อย" ทั้งที่ตอนนั้นคอแหบแห้ง เหนื่อยสายตัวแทบขาด แต่เราก็จะเชียร์ไปเรื่อย ๆ เราไม่เมื่อย เราไม่เหนื่อย

ปิดท้ายกันด้วยเพลงสุดท้าย

เพลงที่ผมโคตรจะงง

เพลง ซู่ซ่า

"ซู่.....
ซ่า.....
ซู่.....
ซ่า!!

ซู่ ๆ ซ่า ๆ ปาทังก้า ปาทังกี้
ซู่ ๆ ซี่ ๆ ปาทังกี้ ปาทังก้า
สีแดงซู่ซ่า ปาทังก้า ปาทังกี้
หลีดเดอร์เซ็กซี่ ปาทังกี้ ปาทังก้า"

โอ้ววววว

เป็นเพลงที่โคตรจะ Abstract มีการเล่นคำ ซู่ ซา ปาทังก้า ปาทังกี้ ได้อย่างไพเราะเร้าใจ แต่ที่มึนคือความหมายของเพลง

"ปาทังก้า" ยังพอเข้าใจ อาจอนุมานได้ว่าเป็นชื่อตั๊กแตน นักกีฬาอาจรู้สึกฮึกเหิมเมื่อได้ยินชื่อตั๊กแตนปาทังก้า

แต่ไอ้ "ปาทังกี้" นี่สิ คืออะไร เพลงแต่งได้มั่วซั่วไปหมด

โดยส่วนตัว ผมชอบบรรยากาศของงานกีฬาสีนะ มันมั่ว ๆ ดี

นักกีฬาก็เล่นกีฬากันไป กองเชียร์ก็ร้องรำทำเพลงกันไป หลีดก็เต้นกันไป มองเผิน ๆ ทุกคนมีปฏิสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันหมด แต่ที่จริงนักกีฬามันก็เล่นของมันไม่ได้แคร์ว่ากองเชียร์จะตั้งใจเชียร์แค่ไหน ส่วนกองเชียร์ก็ง่วนอยู่กับการร้องเพลง ไม่ได้อินหรอกว่าพวกนักกีฬากำลังทำอะไร

พูดถึงก็อยากกลับไปสัมผัสบรรยากาศงานกีฬาสีอีกครั้ง ถ้าโรงเรียนน้อง ๆ คนไหนมีกีฬาสี ก็อย่าลืมชวนผมไปด้วยนะครับ อยากไปปล่อยแก่ซะหน่อย

เพื่อน ๆ ล่ะครับ ยังจำบรรยากาศงานกีฬาสีกันได้รึเปล่า ^^

Credit: นายอุ๊ย!!

*** ติดตามเรื่องราวสนุก ๆ ได้ที่เพจ นายอุ๊ย!! นะครับ --> https://www.facebook.com/lovenaioui ***


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่