10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีเหนือ

กระทู้ข่าว
10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีเหนือ

ในภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรามักจะเห็นผู้ร้ายเป็นชาวเกาหลีเหนืออยู่บ่อยๆ เนื่องจากประเทศนี้ มีภาพลักษณ์ของความชั่วร้าย และบ่อนทำลายความมั่นคงของโลก แต่ในขณะเดียวกัน น้อยคนนักที่จะรู้ว่า เกาหลีเหนือก็มีอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นของตัวเอง และที่สำคัญยิ่งใหญ่ไม่แพ้ที่ใดในโลก เราจึงรวบรวม 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีเหนือมาฝากคุณผู้ชมกัน

จุดประสงค์หลักของการสร้างภาพยนตร์ในเกาหลีเหนือ นอกจากจะใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อแล้ว ยังเป็นการตอบสนองความต้องการของอดีตท่านผู้นำ อย่างนายคิมจองอิล ผู้หลงใหลและชื่นชอบภาพยนตร์เป็นชีวิตจิตใจอีกด้วย และนี่คือ 10 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในเกาหลีเหนือ ที่อาจสร้างความประหลาดใจให้กับใครหลายคน

ข้อแรก ภาพยนตร์ยอดฮิตหลายเรื่องของเกาหลีเหนือสร้างโดยผู้กำกับชาวเกาหลีใต้  ในยุคทศวรรษที่ 1970 ถึง 1980 คิมจองอิล ทุ่มงบประมาณมหาศาลไปกับการสร้างภาพยนตร์โดยใช้ทีมงานชาวเกาหลีเหนือ แต่ผลงานที่ออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจนัก จึงสั่งการให้ลักพาตัวผู้กำกับชื่อดังชาวเกาหลีใต้ อย่างนายชินซาง-อก มารับหน้าที่ผลิตภาพยนตร์ในเกาหลีเหนือ ซึ่งนายชินได้สร้างภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องดังอย่าง Runaway และ Pulgasari ผลงานของเขาสร้างความพอใจให้กับท่านผู้นำเป็นอย่างมาก ต่อมาในปี 2529 นายชินได้หลบหนีระหว่างการเดินทางเยือนกรุงเวียนนา โดยเขาได้ใช้ชีวิตในบั้นปลายผลิตภาพยนตร์ต่อไป ในสหรัฐฯและเกาหลีใต้ จนกระทั่งเสียชีวิต

ข้อที่ 2 ภาพยนตร์เกาหลีเหนือมักจะกำหนดให้ผู้ร้ายเป็นชาวอเมริกัน ส่วนนักแสดงที่จะมารับบทเป็นผู้ร้ายนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติที่อยู่ในเกาหลีเหนืออยู่แล้ว มีตั้งแต่นักเรียน ครู และผู้ฝึกสอนกีฬา พวกเขาจะถูกบังคับให้แสดงบทบาทตามที่กำหนด โดยที่ไม่มีการชี้แจงว่า สิ่งที่พวกเขากำลังแสดงอยู่นั้นเป็นบทบาทอะไร

ข้อที่ 3 ภาพยนตร์เป็นความบันเทิงเพียงน้อยนิด ที่มีอยู่ในเกาหลีเหนือ เนื่องจากรัฐบาลจำกัดการเข้าถึงสื่อบันเทิงต่างๆ ซึ่งการรับชมภาพยนตร์ในเกาหลีเหนือนั้น เรียกได้ว่าไม่ต้องออกไปขวนขวายที่ไหนไกล เพราะรัฐบาลจะเสิร์ฟถึงที่ ไม่ว่าจะเป็นในค่ายทหาร โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ไปจนถึงกลุ่มชาวนา โดยการฉายภาพยนตร์แต่ละเรื่องนั้นจะอยู่ในตางรางที่ทางการกำหนด และหลังจากภาพยนตร์จบ ก็จะมีเจ้าหน้าที่สอบถาม และให้ผู้ชมประเมินภาพยนตร์เรื่องนั้นๆด้วย

ข้อที่ 4 ไม่ว่าภาพยนตร์แต่ละเรื่องจะมีเนื้อหาอย่างไร แต่สิ่งที่ทุกเรื่องมีเหมือนกันก็คือ การยกย่องเทิดทูนท่านผู้นำของประเทศ ตั้งแต่คิมอิลซุง คิมจองอิล และพรรคแรงงานเกาหลีเหนือ พร้อมกันนี้ ภาพยนตร์บางเรื่องยังสอดแทรกเนื้อหาเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เปรียบเทียบให้เห็นระหว่างยุคก่อนและยุคหลังที่ตระกูลคิมจะก้าวขึ้นมาปกครองประเทศ ว่าแตกต่างกันมากเพียงใด

ข้อที่ 5 แม้ว่าภาพยนตร์ทุกเรื่องจะยกย่องบรรดาท่านผู้นำมากเพียงใด แต่ไม่เคยมีเรื่องใดเลย ที่ปรากฏภาพของท่านผู้นำโดยตรง ในทางตรงกันข้ามจะมีการนำเสนอสิ่งเหล่านี้ทางอ้อม เช่น การให้ตัวนำของเรื่องรับโทรศัพท์ของท่านผู้นำ หรืออย่างในเรื่อง Marathon Runner ตัวเอกของเรื่องพยายามวิ่งขึ้นเขา เพื่อให้ได้เห็นขบวนรถของท่านผู้นำสักครั้งในชีวิต แต่ท้ายที่สุดเขาวิ่งไม่ทัน จึงได้เห็นแค่รอยทางของรถยนต์ที่เคลื่อนผ่านไปแล้วเท่านั้น

ข้อที่ 6 กองทัพเกาหลีเหนือถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีเหนือ โดยทางกองทัพจะสนับสนุนทุกอย่างที่ทางผู้กำกับภาพยนตร์ต้องการ โดยเฉพาะภาพยนตร์สงคราม ทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ รวมถึงตัวนักแสดงประกอบ ซึ่งเป็นทหารเกาหลีเหนือนั่นเอง โดยทหารเหล่านี้จะเข้าร่วมการแสดงแบบไม่ได้รับค่าจ้างแต่อย่างใด

ข้อที่ 7 แม้ว่าภาพยนตร์เกาหลีเหนือจะชูตัวละครผู้ชายในบทบาทนำต่างๆ แต่ในขณะเดียวกัน ตัวละครนำที่เป็นผู้หญิงก็ได้รับการยกย่องเชิดชูไม่แพ้กัน โดยบทบาทของผู้หญิงเกาหลีเหนือนั้น จะเป็นคนที่แข็งแกร่ง ทำงานหนัก  และยอมสละชีวิตได้เพื่อท่านผู้นำ ซึ่งบทสำคัญที่เป็นตัวละครนำของผู้หญิงเกาหลีเหนือนั้น ส่วนใหญ่เป็นบทนักกีฬา สายลับ ทหาร หรือแม้กระทั่งตำรวจจราจร แต่สุดท้ายแล้ว แทบจะทุกเรื่อง ตัวละครเหล่านี้จะจบบทบาทลงด้วยการแต่งงานมีครอบครัว และสอนให้ลูกเคารพรักท่านผู้นำต่อไป

ข้อที่ 8 เกาหลีเหนือมีการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเหมือนกับประเทศอื่นๆ โดยจะจัดขึ้น 2 ปีครั้ง และภาพยนตร์ต่างประเทศ ที่ได้รับเกียรติเข้าฉายในงานดังกล่าว มีตั้งแต่ Mr Bean และ Elizabeth: The Golden Age ส่วนเรื่อง Evita  เป็นภาพยนตร์เพียงเรื่องเดียวจากสหรัฐฯ ที่ได้รับอนุญาตให้ฉายในเกาหลีเหนือ

ข้อที่ 9 ชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีในเกาหลีเหนือ  จะต้องส่งภาพที่ถ่ายทำได้ในแต่ละวันให้กับหน่วยเซ็นเซอร์ ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่า ภาพส่วนใหญ่ที่ทางเจ้าหน้าที่ขอร้องให้ตัดออกไปนั้น ส่วนใหญ่เป็นภาพของชาวบ้านที่ปั่นจักรยาน หรือประชาชนที่แต่งกายไม่เรียบร้อย ซึ่งผู้สร้างภาพยนตร์จำนวนหนึ่งวิเคราะห์ว่า ทางการเกาหลีเหนือคงไม่ต้องการให้โลกภายนอกเห็นความไร้ระเบียบของประเทศ

ข้อสุดท้าย การถ่ายภาพท่านผู้นำต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม บ่อยครั้งที่หน่วยเซ็นเซอร์ของเกาหลีเหนือ ขอให้ลบภาพที่ปรากฏในภาพยนตร์ซึ่งเป็นภาพของท่านผู้นำแบบไม่เต็มตัว หรือเป็นภาพที่ไม่สมส่วน ซึ่งภาพของท่านผู้นำต้องเป็นภาพแบบเต็มตัวเท่านั้น โดยผู้กำกับที่เคยมีประสบการณ์การเข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์ในเกาหลีเหนือเล่าให้ฟังว่า เป็นการยากมากที่จะถ่ายภาพของท่านผู้นำได้แบบเต็มตัวทั้งหมด เพราะไม่ว่าจะไปตรงไหนก็มีแต่รูปท่านผู้นำเต็มไปหมด การจัดตำแหน่งภาพที่มีท่านผู้นำติดมาด้วยนั้น จึงเป็นเรื่องยากลำบากอย่างยิ่ง กับการถ่ายทำในเกาหลีเหนือ
http://shows.voicetv.co.th/world-update/93141.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่