แชร์ประสบการณ์ว่าด้วยเรื่อง Law firm (ลอว์ เฟิร์ม)...

....ก่อนอื่นขออธิบายก่อนว่าที่ตั้งกระทู้นี้ขึ้นมา เกิดขึ้นจากสมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัยอยากหาข้อมูลเกี่ยวกับสายอาชีพทางด้านลอว์เฟิร์มด้วย

ตนเอง เพราะไม่ค่อยได้เข้าร่วมแนะแนวจากรุ่นพี่ แล้วรู้สึกว่ามีข้อมูลค่อนข้างน้อย  ตอนนี้เนื่องจากได้เคยฝึกงานและปัจจุบันทำงานในลอว์เฟิร์ม

จึงอยากมาแชร์ประสบการณ์ให้น้องๆที่เรียนอยู่หรือสนใจสาขาอาชีพนี้ได้รู้จักมากขึ้นครับ...

....ลอว์เฟิร์ม คือ อะไร?? ลอว์เฟิร์ม คือ ที่ปรึกษากฎหมาย หรือ สำนักงานกฎหมายที่ให้คำปรึกษา หรือ ให้บริการลูกค้า/ลูกความที่ส่วนมากจะเป็นลูกค้าชาวต่างชาติ โดยลอว์เฟิร์มในประเทศไทยนั้นมีทั้งแบบที่เป็นสาขาของลอว์เฟิร์มจากต่างประเทศและแบบที่เป็นลอว์เฟิร์มที่ตั้งขึ้นเองในประเทศไทย มีทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก (บางคนถามว่าแตกต่างจากสำนักงานทนายความอย่างไร??? - สำนักงานทนายความจะเน้นในการทำคดี หรือ ว่าความในศาลเป็นส่วนมากไม่ว่าจะทางแพ่ง หรือ ทางอาญา อยุ่สำนักงานทนายความควรมีตั๋วทนายเพราะต้องว่าความ แต่ในลอว์เฟิร์มที่ไม่ใช่แผนก litigation ก็อาจไม่จำเป็นจะต้องมีตั๋วทนายก็ได้เพราะจะไม่ได้ใช้เลย อย่างไรก็ตามถึงจะไม่ได้ใช้แต่ก็ควรจะมีตั๋วทนายไว้ติดตัวสำหรับสายอาชีพนี้ครับ)

....ภายในเฟิร์มนั้นแต่ละเฟิร์มจะมีรูปแบบภายในองค์กรที่แตกต่างกัน แล้วแต่ขนาดและความโดดเด่นเฉพาะด้านของแต่ละเฟิร์ม โดยจะมีแผนกต่างๆ เช่น litigation (แผนกว่าความ - ผู้ที่อยากมาทำงานในแผนกนี้อย่างน้อยควรมีตั๋วทนายแล้ว) / corporate - ตามความเข้าใจจะเป็นแผนกเกี่ยวกับการคอยดูแลจัดการเกี่ยวกับบริษัท เช่น จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เปลี่ยนแปลงกรรมการต่างชาติ สายผู้ถือหุ้น ดูสัญญาต่างๆของบริษัท etc. /immigration - เป็นแผนกเกี่ยวกับการทำ visa work permit ให้ลูกค้าต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย /tax - การให้คำปรึกษาทางด้านภาษีและวางแผนภาษีอากร /ip หรือ intellectual property การให้บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญาไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนหรือให้คำแนะนำลูกความในด้านเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร  สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น

จริงๆแล้วยังมีอีกหลายแผนกที่ไม่ได้กล่าวถึงเพราะยังไม่เคยไปสัมผัสด้านนั้นมา   จะเห็นได้ว่างานในลอว์เฟิร์มนั้นหลากหลายมากแต่ละด้านค่อนข้างแตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน แต่บางครั้งก็ต้องขอคำปรึกษาหรือทำงานร่วมกันเป็นครั้งคราวเมื่อมี่ case ที่มีความเกี่ยวข้องกัน  ปล. บางลอว์เฟิร์มที่ใหญ่ๆจะมีครบทุกแผนก หรือ บางลอว์เฟิร์มอาจจะมีแค่บางแผนก หรือ บางลอว์เฟิร์มอาจจะมีแค่แผนกเดียว (เป็นลอว์เฟิร์มเฉพาะด้านจริงๆที่ทำด้านนั้นด้านเดียวเลย)

.....บรรยากาศในการทำงาน เท่าที่ผ่านมา 2 บริษัท ก็จะมีความแตกต่างกันเล็กน้อยแต่ก็คล้ายๆกัน คือ เข้างาน 8 โมงครึ่ง (เลทได้เล็กน้อยแต่ก็ไม่ควรเกิน 9 โมง) เลิกงาน 17.30  (เฉพาะในทางรูปแบบแต่จริงๆแล้วไม่ค่อยได้เลิกห้าโมงครึ่งหรอกครับ) เวลาการทำงานจะขึ้นอยู่กับปริมาณงานที่ได้รับ ถามว่าหนักมั้ยอันนี้แล้วแต่ธรรมชาติของแต่ละบริษัทแล้วก็ช่วงด้วยครับ ช่วงที่เบาก็มี แต่ช่วงที่หนักก็หนักจริงๆ เคยฟังมาจากเพื่อนๆที่ทำอยุ่ หรือ รุ่นพี่ที่เคยทำบริษัทอื่น โดยเฉพาะบริษัทชื่อดังหรือพวกลอว์เฟิร์มใหญ่ๆ ก็จะทำงานค่อนข้างหนักถึงหนักมาก เช่น บางลอว์เฟิร์มเวลางานเข้าเยอะๆเลิกตี 4 ก็มี แต่ก็มาเลทกว่าเดิมได้ เรียกว่า นอนกันที่บริษัทเลยทีเดียว ได้เงินดีก็ใช้งานคุ้มสมราคาน่ะครับ สำหรับเนื้องานนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในแผนกไหนและชอบทำแผนกนั้นหรือไม่

......แต่เดี๋ยวก่อน! ถึงแม้งานลอว์เฟิร์มจะค่อนข้างหนักเมื่อเปรียบเทียบกับอาชีพสายกฎหมายอื่นๆ แต่สำหรับค่าตอบแทนนั้นสายอาชีพนี้ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นสายอาชีพที่มีค่าตอบแทนสูงมากกว่าสายอาชีพอื่นๆทางกฎหมาย เริ่มตั้งแต่ เงินเดือน start ของปริญญาตรี ก็แตกต่างจากสายงานทั่วๆไปแล้ว ดังนั้น ก็ได้อย่างเสียอย่าง (รายละเอียดจำนวนเงินไม่ขอพูดนะครับสงสัยก็หลังไมค์จะดีกว่าแต่ยืนยันตามความเข้าใจของผมว่าในสายกฎหมายนี้ทำลอว์เฟิร์มน่าจะได้เงินดีที่สุดนะครับ)

......คนจะทำงานลอว์เฟิร์ม ต้องอังกฤษเก่งมากๆๆ  ต้องจบเกียรตินิยม ต้องจบมหาลัยดังๆ เราเข้าไม่ได้หรอกเกรดไม่ดี - มันก็ไม่จริงเสมอไปครับ อยากบอกว่าจะพึ่งบั่นทอนกำลังใจตัวเองก่อน สิ่งที่อยากจะแนะนำ คือ

      1. สนใจจะทำงานลอว์เฟิร์มหรือไม่ ถ้าสนใจ แล้วยังไม่เคยลองฝึกงานในลอว์เฟิร์มอยากแนะนำให้ลองไปฝึกงานดู จะได้พอรู้งานคร่าวว่าชอบหรือไม่ (พยายามฝึกให้ได้ summer ปีสาม เพราะ ถ้าจบแล้วจะไปฝึกบางทีก็ยากที่เขาจะรับเพราะเขารับเป็นช่วงๆ อาจจะต้องมีเส้นเล็กน้อย )-- การฝึกงานก็มีแบบให้คณะส่งไป(คิดว่ามีทุกมหาลัยนะครับ) กับ walk in บริษัทที่เราอยากฝึกเลย เขาก็จะดูเกรดแล้วเรียกสัมภาษณ์ทั้งสองแบบ
      2. ภาษาอังกฤษไม่เก่ง อยากบอกว่าตอนเริ่มงานผมเองภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ดีมากครับ แต่สิ่งเหล่านี้พัฒนากันได้ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องอ่านอีเมล์พอรู้เรื่อง และ มีพื้นฐานบ้าง เริ่มงานแรกๆพี่ๆเค้าก็จะไม่ได้ให้เราทำงานที่ยากเกินความสามารถ เพราะ งานยากๆก็มักต้องใช้คนที่มีประสบการณ์ก่อนไม่งั้นบริษัทก็เสียหาย ดังนั้น ระหว่างที่เรายังเป็น rookie อยุ่ก็พยายามเรียนรุ้คำศัพท์ หรือ ประโยคที่ใช้ในงานให้มากที่สุด ทำบ่อยๆก็จะคุ้นและได้ศึกษาไปในตัวครับ หรือถ้าไม่ได้จริงๆก็ต้องขอคำแนะนำจากรุ่นพี่บ้าง (สำหรับคนที่จะสมัคร ตามจริงแล้วลองไปสอบโทอิค หรือ cu-tep tu-get ไว้ก็ดีนะครับ มันอาจจะใช้วัดอะไรในการทำงานไม่ได้มากแต่ก็ถือเป็นการทบทวนภาษาอังกฤษของตัวเองไปในตัวตอนอ่านสอบน่ะครับ) - ขอเพิ่มเติมเรื่องภาษาอังกฤษครับ ว่าสิ่งสำคัญจริงๆที่เห็นจากการทำงานที่จะต้องใช้เวลาทำงานในเฟิร์มนั้นก็จะมีเช่น สื่อสารกับเพื่อนร่วมงานฝรั่ง แปลเอกสารต่างๆ /ทำ data sheet เป็นภาษาอังกฤษ /advise ลูกความ/การทำ report /การอ่าน email ลูกความ เป็นต้น ที่สำคัญอันนี้แล้วแต่รูปแบบเฟิร์มนะครับแต่บางออฟฟิศจะมีการกรองอีเมล์โดยชาวต่างชาติอีกครั้งหนึ่งเพื่อความถูกต้องในแกรมม่า
      3. เกรดไม่ดี - จริงอยู่ว่าตอนสมัครงานเกรดเป็นสิ่งที่นำมาพิจารณา ถ้าตอนนี้เรียนอยุ่ก็แนะนำว่า พยายามทำคะแนนให้ดีหน่อย คือ อย่างน้อยที่สุดขอให้ตอนจบเฉลี่ยออกมาแล้ว ไม่ต่ำกว่า 70% จะดีมาก แต่เอาจริงๆนะครับ เพื่อนผมเฉลี่ย 60% กลางๆก็ทำงานลอว์เฟิร์มมาแล้ว ดังนั้น สิ่งที่สำคัญกว่านั่นคือตอนสัมภาษณ์ครับ (แต่ก็ยอมรับว่าหลายเฟิร์มจะมีการแข่งขันที่สูงมากและเคี่ยวในการสัมภาษณ์จริงๆ)
      4. มหาลัยไม่ใช่ ฬ หรือ มธ. - ต้องยอมรับในทางข้อเท็จจริงว่าหากเป็นมหาวิทยาลัยในไทยด้านกฎหมายกับสายอาชีพนี้ ฬ และ มธ. ย่อมได้รับการพิจารณาก่อนมหาวิทยาลัยอื่น แต่ไม่ใช่จะเหยียดมหาลัยหรือดูถูกกันนะครับ จริงๆแล้วพี่ๆที่ทำงานของทั้งสองบริษัทที่ผ่านมาของผมมีทั้ง รามคำแหง เอแบค หอการค้า ม.ธุรกิจบัณฑิต ดังนั้น หากเราต้องการที่จะทำงานสายนี้จริงๆก็ต้องเดินหน้าไปครับ อย่ากลัวก่อนที่จะได้ลอง
      5. เรียนโทต่อเลยดีมั้ย หรือ ทำงานก่อนค่อยเรียน ความคิดเห็นส่วนตัวและคำแนะนำของผมสำหรับเด็กจบใหม่คือ ควรจะทำงานเพื่อหาประสบการณ์ทำงานก่อนครับ เหตุผลแรก คือ เพื่อดูว่าเราจะไปเรียนโทสายไหนดี หากเราชอบสายที่เราทำงานอยู่จริงๆก็เลือกไปเรียนสายนั้น แต่ถ้าเราทำงานแล้วไม่ชอบสายเฟิร์มด้านนี้ เราจะได้มีโอกาสในการเลือกเรียนโทเพื่อเปลี่ยนไปสายอื่นได้ เหตุผลข้อสอง คือ การเรียนโทจบมาทันทีหลังจากจบป.ตรีแล้วประสบการณ์ทำงานเป็นศูนย์ จะทำให้การสมัครงานอาจยากขึ้นอีกระดับเนื่องจากถูกมองว่าต้องมาเริ่มสอนงานจากต้นเหมือนเด็กจบใหม่เลย แต่มีต้นทุนการจ้างที่สูงกว่า บริษัทก็อาจเลือกเด็กจบใหม่ก่อน อีกทั้งอาจถูกกดเงินเดือนของเรตป.โทอีกด้วย (อย่างไรก็ตาม สำหรับผมเห็นว่า การจะเริ่มเรียนโทก็ไม่ควรปล่อยให้ช้าเกินไป อาจจะเริ่มเรียนหลังจากทำงานไปแล้ว 2-3 ปี อย่าให้ถึง 30 เพราะ ยิ่งแก่ขึ้น ไฟในการอ่านหนังสือและการเรียนยิ่งน้อยลงนะครับ)
      6. การสมัครงาน- ตามจริงแล้วสำหรับน้องๆที่มีรุ่นพี่ทำงานลอว์เฟิร์ม หรือ คอยติดตามงานแนะแนว หรือ พูดคุยกับอาจารย์บ่อยๆ อาจจะไม่มีปัญหาทางด้านนี้ แต่สำหรับคนที่ไม่ใช่นักศึกษาอย่างที่ผมกล่าวมาข้างต้น (ผมเอง) ตอนจะสมัครงานเป็นอะไรที่มืดบอดมากๆ เลยอยากแนะนำเส้นทางที่พอทราบ ดังนี้ครับ
        - ที่แนะนำให้ไปฝึกงานที่ลอว์เฟิร์มนั้น มีข้อดี คือ ได้ connection ในบริษัทนั้นๆครับ จบมามีโอกาสที่สมัครไปยังที่ฝึกงานแล้วจะได้ทำงานที่ันั่นเลยก็มี หรือ ไม่ได้ทำงานที่เคยฝึกงานก็ฟังๆพี่ๆคุยกันก็อาจจะรู้จักลอว์เฟิร์มใหม่ๆจำชื่อไว้แล้วไปสมัครก็ยังได้
        - การสมัครผ่านทางอีเมล์ ผมเป็นคนที่สมัครเข้าลอว์เฟิร์มทางด้านนี้ เพราะอย่างที่บอกคือผมมืดบอดมากๆตอนจะสมัครงาน ไม่รู้จักใครเลย จึงหาในกูเิกิ้ลเพื่อลิสต์รายชื่อลอว์เฟิร์มที่มีในไทยมา แล้วเข้าเว็บไซต์บริษัทเพื่อส่งเรซูเม่สมัครทางอีเมล์บริษัท และบริษัทก็โทรมาเรียกสัมภาษณ์ครับ
        - การ walk in ข้อดีคือ ในบางกรณีที่ผู้สัมภาษณ์เราว่างอยู่พอดีอาจมมีโอกาสได้สัมภาษณ์ตั้งแต่วันไปยื่นใบสมัครเลย แต่ส่วนมากจะได้รับการนัดหมายและพิจารณาอีกทีหนึ่งก่อน  อย่างแรกคือควรดู location ของแต่ละบริษัทว่าบริเวณนั้นมีกี่เฟิร์ม วันนี้ไปจะไปยื่นกี่เฟิร์ม เพื่อให้คุ้มค่าในการเดินสมัครงานแต่ละวัน
        - การมี connection กับคนภายในบริษัท ข้อนี้จะเป็นข้อได้เปรียบสุดๆ พูดง่ายๆคือการใช้เส้นนั่นเองครับ 555 เรียกว่า ใครมีก็ถือเป็นโชคดีไป คนไม่มีก็สู้ต่อไปครับ อย่ามัวแต่โทษโชคชะตาเลย

......สุดท้ายแล้วก็อยากจะบอกว่า สายกฎหมายนั้นมีทั้งเป็นผู้พิพากษา อัยการ อินเฮ้าส์ นิติกร ข้าราชการ อาจารย์ หรือ อื่นๆอีกมากมายแล้วแต่เราจะเลือก แต่สายลอว์เฟิร์มก็เป็นอีกสายหนึ่งที่บางคนอาจจะยังไม่รู้จัก หรือ หาข้อมูลได้ไม่มากเพราะไม่มีคนที่รู้จัก(อย่างเช่นผม ตอนเรียนจบมาแล้วไม่รู้จะถามใคร) การทำงานทุกสายอาชีพแน่นอนว่ามีทั้งหนักและเบา บางทีมันก็อาจจะไม่ใช่อย่างที่เราคิด แม้แต่ลอว์เิฟิร์มเองก็มีทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ซึ่งก็ไม่ได้หนักไปทุกเฟิร์มเสมอไป งานกลางๆ ไม่หนักมากก็มีครับ (งานเบาๆอาจจะหายากหน่อย 55) แต่ที่สำคัญ คือ เราชอบหรือไม่ เราทำแล้วโอเคกับมันรึเปล่า ไม่ใช่ได้เงินเยอะหรือไม่ อย่างไงก็หวังว่าข้อมูลจะเป็นประโยชน์นะครับ สู้ๆครับน้องๆนิติทั้งหลาย!

ปล. สำหรับเรื่องเนติบัณฑิตว่าจำเป็นมั้ย สำหรับบริษัทผมเนติบัณฑิตไม่ได้เป็นคุณสมบัติของการสมัครงานและคนในที่ทำงานก็มีทั้ง
ที่ได้เนติบัณฑิตกับที่ไม่มีนติบัณฑิตครับ แต่ถ้ามีไว้สำหรับบางบริษัทก็อาจเป็นภาษีที่ดีกว่าในการพิจารณาครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่