ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัย-ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรธน.ที่นำทูลเกล้าฯถวาย

กระทู้สนทนา


สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และอดีตกรรมการป.ป.ช. อาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชาระบบศาล และการพิจารณาคดี (พระธรรมนูญศาลยุติธรรม) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โต้แย้งต่อ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้

“ผู้เขียนได้พิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธ ศักราช 2550 ประกอบเจตนารมณ์ของส.ส.ร.ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว มีความเห็นโดยสุจริตใจว่า"

1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ที่มีการแก้ไขที่มาของสมาชิกวุฒิสภา เพราะว่าเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีบทบัญญัติไว้เป็นเฉพาะในหมวด 15 มาตรา 291 สรุปได้ว่า การพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมจะต้องมีการพิจารณาโดยที่ประชุมร่วมของทั้ง 2 สภา ตามรัฐธรรม นูญ มาตรา 136(16) และไม่มีบทบัญญัติมาตราใดในหมวดนี้ที่บัญญัติให้ทำร่างที่แก้ไขเพิ่มเติมไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบก่อน ก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ

หากเป็นร่างกฎหมายอื่นที่มิใช่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หากกฎหมายรัฐธรรมนูญต้องการให้มีการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เช่น ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายรัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบเสียก่อนภายใน 30 วันตามมาตรา 141 หรือกรณีที่เป็นร่าง พ.ร.บ.อื่นๆ ในกรณีที่สมาชิกทั้ง 2 สภาจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนทั้งหมดเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีความขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ สามารถเสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพ.ร.บ.นั้น ได้ตามมาตรา 154 วรรค 2

จะเห็นได้ว่ากรณีที่รัฐธรรมนูญต้อง การให้ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ รัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้ชัดเจน ส่วนเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น เนื่อง จากรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด การออกแบบกฎหมายรัฐธรรมนูญให้มีรูปร่างสาระสำคัญ อย่างไร จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ 40 ส.ว.และส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จึงเป็นกรณีที่ฝ่ายตุลาการก้าวล่วงเข้ามาในอำนาจนิติบัญญัติ ขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ เป็นการกระทำผิดร่างรัฐธรรมนูญอย่างเห็นได้ชัด

2.กระบวนการที่ยื่นคำร้องตามมาตรา 68 ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยอัยการสูงสุดก่อนตามมาตรา 68 วรรค 2 เรื่องนี้เป็นประเด็นที่รัฐสภากำลังดำเนินการแก้ไขมาตรา 68 ให้มีความชัดเจนไม่คลุมเครือ เพราะตามเจตนารมณ์ของส.ส.ร.ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้บัญญัติเรื่องการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญไว้ตามมาตรา 68 วรรค 1 ซึ่งเป็นเรื่องการกระทำของบุคคลหรือพรรค การเมือง มิใช่การกระทำของรัฐสภา แต่เมื่อมีบุคคลธรรมดายื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่ผ่านการตรวจสอบของอัยการสูงสุด ศาลรัฐธรรมนูญก็ตีความแบบขยายความ รับคำร้องจากบุคคลธรรมดา โดยตนเองไม่มีอำนาจ ซึ่งผิดไปจากเจตนารมณ์เดิมของการร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะเป็นการนำอำนาจนิติบัญญัติไปให้ฝ่ายตุลาการวินิจฉัย โดยไม่มีบทบัญญัติกำหนดให้อำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญ และไม่กระทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ผ่านอัยการสูงสุดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 2 เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญกระทำผิดรัฐธรรม นูญเสียเอง

3.ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ 40 ส.ว.และส.ส.พรรคประชาธิปัตย์นั้น เกินกำหนดเวลาที่ศาลจะรับไว้พิจารณาแล้ว เพราะนายกรัฐมนตรีได้นำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว เพราะการนำร่างกฎหมายส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญตามมาตรา 141 และ 154 เขียนไว้โดยชัดแจ้งว่า จะต้องดำเนินการก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯในกรณีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นายกรัฐมนตรีได้นำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยภายใน 120 วันนับแต่ได้รับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจากรัฐสภา ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 150 ครบถ้วนแล้ว ฉะนั้น นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจึงเป็นผู้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัดตามมาตรา 281(7) ประกอบมาตรา 150

4.เป็นคำวินิจฉัยที่คลุมเครือ คือ การที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้อง กระทำผิดมาตรา 68 วรรค 1 แต่ไม่สั่งให้ผู้ถูกร้องกระทำการแก้ไขอย่างไรก็ตาม วรรค 2 เป็นเหตุให้ผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ทราบจะปฏิบัติอย่างไรต่อไป ซึ่งโดยหลักแล้วเมื่อมีการล้มล้างการปกครองตามวรรค 1 หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีการกระทำดังกล่าวจริง ต้องมีคำสั่งให้เลิกดำเนินการตามวรรค 2 แต่คำวินิจฉัยในเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ปรากฏว่าศาลมิได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ได้แก่ รัฐสภา หรือนายกรัฐมนตรีจะต้องปฏิบัติอย่างไร

5.ไม่มีผลบังคับตามมาตรา 216 วรรค 5 กล่าวคือ เมื่อเป็นการวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจที่จะรับคำร้อง จึงเป็นวินิจฉัยที่มิชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นโมฆะ ไม่มีมูลผูกพันต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรของรัฐอื่นๆ ตามมาตรา 136 วรรค 5

คำวินิจฉัยที่ผิดพลาดของรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง เช่น มีผู้นำคำวินิจฉัยนี้อ้างเพื่อ     ปลุกเร้าอารมณ์ของมวลชน ว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรม เพราะไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งๆ ที่เป็นกรณีที่ฝ่ายตุลาการเข้าไปก้าวล่วงนิติบัญญัติ เพราะว่าศาลมีอำนาจเข้าไปวินิจฉัยเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ผ่านวาระ 3 ไปแล้วบุคคลที่ไม่ต้องการให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ว่าฉบับใดๆ ก็จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบทุกระยะไป ไม่ว่าในวาระ 1 วาระ 2 วาระ 3 แห่งผลการนี้จึงดูเสมือนว่าศาลรัฐธรรมนูญคุมอำนาจในการร่างหรือแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอำนาจของรัฐสภาไว้อย่างเบ็ดเสร็จ

http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNE56YzVNelk1Tnc9PQ==&subcatid=
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่